ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่น่าสนใจ – ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์

waitresses-with-dessert-trays

หากท่านผู้อ่านสงสัยว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือยัง ผมขอยืนยันโดยเอาตัวเลขและดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจบางตัวที่พึ่งมีการประกาศออกมาว่า

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หดตัวร้อยละ 4.9 แต่ได้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ ที่เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 7.1 โดยเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ขยายตัวในอัตราสูง รวมทั้งการใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนในประเทศที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสแรกของปี เป็นผลให้อัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี เศรษฐกิจไทยจึงขยายตัวร้อยละ 2.3 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังมีดัชนีชี้วัดอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่เราคุ้นเคยกันมาเล่าสู่กันฟัง

ผมได้อ่านบทความ 2 เรื่องที่น่าสนใจ บทความเรื่องแรกพูดถึงวิธีแปลกๆ ในการประเมินสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยปกติแล้วเรามีวิธีการวัดว่าตอนนี้สภาพเศรษฐกิจอยู่ในช่วงวัฏจักรอย่างไร โดยใช้ตัวชี้วัดที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การบริโภคและการลงทุน ยอดขายปลีก ตัวเลขการว่างงาน และการสร้างบ้านที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งได้พูดถึงดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจทางเลือกอีกตัวหนึ่ง คือ Hot Waitresses Index

ดัชนีชี้วัดตัวนี้ สะท้อนถึงภาวะทางเศรษฐกิจโดยหากยามใดที่พนักงานเสิร์ฟหน้าตาดีแสดงว่าเศรษฐกิจกำลังอ่อนแอ สาเหตุก็เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีโอกาสในการหางานน้อยลง แม้กระทั่งคนหน้าตาดีก็หางานทำลำบากจึงต้องมาเป็นพนักงานเสิร์ฟ ซึ่งอาจเป็นงานชั่วคราวในยามที่เศรษฐกิจหดตัว

เมื่อเศรษฐกิจเริ่มแย่ลง ร้านอาหารและสถานบันเทิงจะเริ่มลดพนักงานลงโดยจะเริ่มจากผู้ชายก่อน ตามมาด้วยพนักงานหญิงที่มีหน้าตาด้อยกว่า และเมื่อเศรษฐกิจแย่มากเราจะเห็นพนักงานเสิร์ฟที่หน้าตาดีเหลืออยู่ภายในร้าน เพราะคนหน้าตาดีจะเป็นคนสุดท้ายที่ถูกเลิกจ้างและบางส่วนเป็นการจ้างใหม่

บทความนี้ ยังให้เหตุผลสนับสนุนทฤษฎีดังกล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปแล้วคนหน้าดีมีโอกาสหางานที่ดีกว่า ได้ง่ายกว่าคนที่หน้าตาด้อย ดังนั้น เมื่อเราเห็นพนักงานเสิร์ฟหน้าตาดีเป็นจำนวนมากออกจากงานในร้านอาหาร เราควรที่จะยินดีไม่ใช่เสียใจเพราะปรากฏการณ์ดังกล่าว แสดงว่า เศรษฐกิจกำลังดีขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น Overeducated Cabbie Index กล่าวคือ ถ้าเราเห็นคนขับรถแท็กซี่มีความรู้สูงๆ แสดงว่า เศรษฐกิจกำลังไม่ดี และยังมีดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง คือ Contractors Return Calls Index กล่าวคือ ถ้าเราโทรศัพท์ไปหาผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วเขาเหล่านั้นสามารถโทรกลับภายใน 24 ชั่วโมง แสดงว่าเศรษฐกิจไม่ดี เนื่องจากผู้รับเหมาว่างไม่มีงานทำ

สำหรับในเมืองไทยแล้ว ผมคิดถึงดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจไทยในทำนองเดียวกับที่กล่าวข้างต้น เช่น หากเศรษฐกิจไม่ดีเราจะเห็นมีคนไปประกอบอาชีพขายแซนด์วิช ไก่ย่าง ส้มตำ ไข่เจียว หรือรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างดังกล่าวได้จากช่วงภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจคราวที่แล้ว

สำหรับบทความที่สองพูดถึงการศึกษา เรื่อง Household Division of Labor and Cross Country Differences in Household Formation Rates โดยจะตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Population Economics ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการแบ่งการทำงานในบ้านของหญิงชาย และอัตราการมีครอบครัว โดยพบว่า ประเทศที่ผู้ชายยอมรับเรื่องการทัดเทียมในการแบ่งการทำงานในบ้าน จะมีอัตราการแต่งงานของผู้หญิงสูงกว่าประเทศที่ผู้ชายไม่ยอมรับเรื่องดังกล่าว

การศึกษาดังกล่าว ใช้ดัชนีชี้วัด Egalitarian Index  เพื่อหาความสัมพันธ์ดังกล่าวและพบว่า ผู้ชายจากประเทศสวีเดนและนอร์เวย์ จะเป็นผู้ชายที่น่าสนใจที่ผู้หญิงจะเลือกเป็นคู่ครองด้วย เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะช่วยทำงานบ้านอย่างเท่าเทียมกัน ตามมาด้วย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ ประเทศที่อยู่ท้ายสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรีย และ ออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชายชอบกีฬา และเหล้า เบียร์ เป็นชีวิตจิตใจ

แล้วท่านผู้อ่านคิดว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่เท่าไร?

อนึ่ง กระทรวงการคลัง จะจัดสัมมนาเรื่อง การสร้างผู้ลงทุนยุคใหม่ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ลงทุนทั้งสถาบันและบุคคลในการลงทุนในตลาดทุนไทย รวมทั้ง เพื่อวางแนวทางและกลยุทธ์ในการให้ความรู้และเพิ่มความเข้าใจให้กับผู้ลงทุนในการวางแผนการเงินและการลงทุน โดยมีวิทยากรชั้นนำจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญจาก Deutsch Bank คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ คุณสรรเสริญ นิลรัตน์ คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ในวันที่ 11 กันยายน 2552 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 13.00 น. ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ถนนเพลินจิต ผู้สนใจสมัครได้ที่ [email protected] <mailto:[email protected]> รับเพียง 30 ท่านแรก เนื่องจากมีผู้ตอบรับแล้วเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจหรือเศรษฐศาสตร์ที่สนใจจะทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัย เรื่องนโยบายการกำกับดูแลเพื่อพัฒนาการแข่งขันในธุรกิจทางการเงินในประเทศไทย สามารถส่งประวัติและสมัครได้ที่ [email protected] <mailto:[email protected]>

Credit ; http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/guru/20090904/74576/ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่น่าสนใจ.html

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.