การลงทุนในตลาดหุ้น – ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร

high-roi-profit-investment

สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา นับเป็นฝันร้ายของนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งนี้ ตลาดหุ้นโดยรวมของโลกลดลง 40% ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นติดลบ 47% ซึ่งการลดลงอย่างรุนแรงนั้นเกิดจากความกลัวของนักลงทุนจึงเทขายหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงไปถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า ด้วยการถือพันธบัตรและเงินสด

แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้ว การลงทุนในหุ้นก็จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล และการฝากเงินกับสถาบันการเงิน เพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น ถ้าหากไม่สามารถรับความผันผวนในระยะสั้นที่อาจติดลบได้แล้ว ก็ไม่สมควรที่จะเลือกลงทุนในตราสารหุ้น

นักลงทุนสถาบัน อาทิเช่น กองทุนเงินบำนาญ (pension fund) มูลนิธิ (foundation) กองทุนมหาวิทยาลัย (endowment fund) หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ต่างก็มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหุ้นและมีในสัดส่วนค่อนข้างสูงด้วย ตัวอย่างเช่น กองทุนเงินบำนาญของครูของรัฐแคลิฟอร์เนีย (CaLPERS) ซึ่งเป็นกองทุนเงินบำนาญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ที่แม้ว่าสัดส่วนของหุ้นจะลดลงมามากแล้ว จากการที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง แต่ก็อยู่สูงอยู่เกือบ 50%

ในปัจจุบัน การที่นักลงทุนสถาบันเหล่านี้ มีสัดส่วนการลงทุนหุ้นในสัดส่วนที่สูง เพราะมีเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญสองประการ คือ หนึ่ง ต้องการที่จะได้รับผลตอบแทนระยะยาวสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และ สอง ความจำเป็นต้องใช้เงินในแต่ละปี ซึ่งถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินมากก็จะต้องเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ (แต่ก็มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย)

ซึ่งได้มีการศึกษาถึงผลตอบแทนการลงทุนเปรียบเทียบทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ซึ่งในที่นี้ใช้ตลาดการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา) พบว่าในช่วง 84 ปี (ค.ศ. 1925-มิ.ย. 2009) ผลตอบแทนเฉลี่ยของการลงทุนในหุ้นจะได้ 9.62% ต่อปี ผลตอบแทนสำหรับพันธบัตรรัฐบาลจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.65% ต่อปี และการฝากเงินหรือหลักทรัพย์ที่ใกล้เคียงกับเงินสด จะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 3.7% เช่นเดียวกันกับตลาดของประเทศไทยพบว่าข้อมูลการลงทุนในประเทศไทยช่วง 35 ปี (ค.ศ. 1974-2008) ด้วยเงินลงทุนจำนวน 100 บาทเท่ากันแล้ว และให้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ณ ปัจจุบันเงินที่ลงทุนในตลาดหุ้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 3,461 บาท เงินที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะมีมูลค่าเป็น 2,093 บาท และการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์จะมีค่า 1,044 บาท

สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่เคยติดลบไป 47% ในปีที่ผ่านมา ก็คงจะมีความสบายใจมากขึ้น ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ ปัจจุบันที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 640 จุด หรือคิดเป็นการปรับตัวสูงขึ้น 40% แล้ว ซึ่งหมายถึงส่วนที่ขาดทุนในปีที่ผ่านมาได้กลับคืนมาแล้วเกือบหมดแล้ว แต่ถ้าพิจารณาว่าแล้วจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร การจะลงทุนหุ้นต่อไปหรือไม่ก็คงจะอยู่ที่ความชอบความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเพิ่มหรือลดการลงทุนในตราสารประเภทใด ก็คงต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท และเช่นเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหุ้น หรือหน่วยลงทุนอื่นๆ

ดังนั้น นักลงทุนในตลาดหุ้นจึงควรเป็นนักลงทุนที่สามารถทนรับได้กับความผันผวนระยะสั้น เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว และหากถ้าหากประกอบกับการมีวินัยในการลงทุนที่ไม่หวั่นไหวปัจจัยระยะสั้นแล้ว ก็จะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้

ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร
กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.