สัมภาษณ์พิเศษ! ‘SEHJU Investment Research’

บทสัมภาษณ์ชิ้นแรกของเวบเราครับ…

‘Sehju’ จากวิศวกรโรงงานสู่การเป็น Full Time Trader ผู้ก่อตั้งเพจหุ้น SEHJU Investment Research เพจที่ให้สาระ-ข้อมูลการลงทุนดีๆมาอย่างต่อเนื่อง

ใช้หลักการลงทุนแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐาน กราฟ จิตวิทยา และมี ‘เสี่ยยักษ์’ (วิชัย วชิรพงศ์) เป็น idol ในการลงทุน

จากประสบการณ์ในตลาดหุ้นกว่า 10 ปีของพี่เค้า ก็น่าจะทำให้บทสัมภาษณ์นี้มีประโยชน์ไม่น้อยสำหรับทุกท่านนะครับ

####

พี่เริ่มสนใจหุ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ครับ?

– พี่ซื้อหนังสือหุ้นเล่มแรกอ่านตอนอายุ 18 ตอนจบ ม.6 เลยครับ หนังสือคัมภีร์หุ้น ของ โสภณ ด่านศิริกุล

พอเริ่มมีเป้าหมาย เราก็พยายามเก็บตังค์ แต่ตอนนั้นยังเด็กก็ไม่ค่อยมีตังค์ พี่ก็เก็บจากค่าเทอม แล้วก็เริ่มเข้ามาอ่านเวบ Thaivi ตอนปี 2007

รู้จัก Thaivi ได้อย่างไร?

– ก็อ่านบัฟเฟตต์ครับ เราเห็นดร.นิเวศน์ เข้าร้านหนังสือเราก็เห็นแต่หนังสือ VI เลยตามเข้าไปอ่านที่เวบ

ประสบการณ์ช่วงแรกๆที่เล่นหุ้น

– ตอนนั้นมีเงินอยู่ 55,000 บาท จากการเก็บออม สองสามเดือนแรกก็หายไปสองสามหมื่นบาท จนมาร์เก็ตติ้งที่รู้จักสงสาร อ่ะให้ตังค์หมื่นนึง จะได้มีกำลังใจเล่นต่อ

เราเล่นแบบความเข้าใจผิดๆ บัฟเฟตต์เค้าบอกให้ถือหุ้นถ้าทนขาดทุน 50% ไม่ได้คุณไม่ควรมาเล่นหุ้น แต่จริงๆคือหุ้นเค้าต้นทุนต่ำมากนะ ราคาหุ้นบางทีขึ้นไปแล้ว drawdown ลงมา 50% เค้าก็ทนได้ อะไรยังเงี้ย แต่พี่ไม่ใช่ไง

พอพี่เอาความเข้าใจตรงนี้ผิดๆมาเล่น ปี 2008 ที่ตลาด crash ก็ออกไม่ทัน

ช่วงนั้นมีหลักการเลือกหุ้นยังไงบ้างครับ?

– VI ล้วนเลย P/E ต่ำ ปันผลดี ก็เลยไปซื้อ KCAR มา เข้าสูตรเลย ขาดทุนเลย คือพอเราไปหลงแบบนี้เราถอนตัวยากมาก เพราะเราไม่ได้มีประสบการณ์มากพอ

เงินพี่ห้าหมื่น พี่ซื้อ KCAR ได้ปันผลแค่ 4-5 พันบาท พอไปดูคนอื่นที่เค้าซื้อด้วยมุมมอง Fundamental ของเค้าที่คล้ายเรา แต่เค้าได้ปันผลมาล้านกว่าบาท คือถึงหุ้นไม่ขึ้น 3-4ปี เค้าก็อยู่ได้

แล้วกราฟตลาดเป็นยังไงนี่ไม่สนเลย คือใครมาพูดเรื่องกราฟนี่จะด่าทันที คืออคติมาก แบบความรู้สึกในใจนี่มันเหยียดมาก คิดว่ากราฟนี่ใช้ไม่ได้แน่นอน

จุดเปลี่ยนของมุมมองในการลงทุนของพี่คือ?

– ปี 2008  พอโดนขาดทุนหนัก แล้วได้เริ่มศึกษาย้อนหลัง ก็รู้ว่ากราฟมันช่วยชีวิตเราได้ เลยเริ่มศึกษาจริงจัง

ตอนนั้นพี่ทำงานโรงงานอยู่กี่ปีถึงลาออกมาเทรดเต็มตัว?

– เป็นวิศกรโรงงานอยู่สามปีหลังจากเรียนจบครับ ก่อนเข้าไปทำก็วางแผนไว้อยู่แล้วว่าจะสะสมทุนรอนเพื่อมาลงทุน ทำงานค่อนข้างหนัก 12hr./day – 6day/week เข้ากะเดย์สลับดึก 15 วันก็สลับกะทีนึง ตอนนั้นเรียกตัวเองว่าสัตว์เงินเดือน คือยิ่งกว่ามนุษย์ 55+ เห็นอะไรหลายอย่าง ทั้งเหนื่อย ทั้งทรมาน และรู้ตัวตลอดเวลาว่านี่ไม่ใช่ทางของเรา

ในระหว่างนั้นก็ศึกษาหาความรู้ด้านหุ้นอยู่ตลอด คือเพื่อนสนิทพี่เนี่ย จะรู้เลยว่าตอนพี่ทำงานโรงงาน พี่แทบจะไม่สนใจงานพี่เลย พี่จะมีหนังสือเหน็บตูด เหน็บก้น เหน็บกระเป๋าไว้ตลอด ปริ้นเอกสารติดตัวไว้ตลอด

เพราะงานมันไม่ค่อยมีอะไร จะเป็นงานซ่อมๆอะไรพวกนี้ แล้วพอเริ่มศึกษากราฟ ตัวแรกที่เริ่มดูเลยก็คือ PTL คือก็ดูมาเยอะ indicator อะไรพี่ก็ดูหมด พี่อ่านหมด

พอมาเจอหุ้น 3 ตัว CPF SMT PTL ก็ทำให้พอร์ตขยายพอที่จะลาออกได้อย่างไม่น่าเกลียด จำได้ว่าไปขอลาออกตอน PTL ประมาณยี่สิบกว่าๆครับ ก็เลยออก กลับไปอยู่บ้านปีสองปี ก็ตัดสินใจสมัครโบรกดีกว่า ทำโบรกซักพักก็ออกมาเทรดเต็มตัว

ทางบ้าน-ครอบครัวสนับสนุนเรื่องหุ้นหรือไม่ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

– ปัจจุบันทางบ้านเห็นดีเห็นงามด้วยแล้วคับ พวกเค้าก็พยายามเอาใจช่วยเพราะเข้าใจแล้วว่าเราทำอะไรอยู่

แต่ก่อนช่วงที่จะลาออกจากงาน ไม่มีใครเห็นด้วยแม้แต่คนเดียวทั้งที่บ้านและญาติๆ แต่เราก็เด็ดเดี่ยว แรงทัดทานตรงนี้ก็ดำเนินไปซักระยะนึงคับ 

แต่เราก็ตั้งใจแล้ว กูน่าจะเกิดมาครั้งเดียว งั้นขอทำในสิ่งที่ตัวเองรักแล้วกัน…

เริ่มต้นศึกษากราฟจากหนังสือเล่มไหนบ้างครับ?

– ที่เป็นไฟล์ PDF ของคุณสุรชัย Asiaplus  แล้วก็ปรินท์ของฝรั่งมาอ่านบ้าง คือพี่จะเอาเหน็บเข้าไปอ่านตอนทำงาน แต่จริงๆแล้วพวกโรงงานอิเล็กเนี่ยเค้าไม่ให้เอากระดาษเข้า ไม่ให้เอาโทรศัพท์เข้า แต่กูก็เอาเข้า (ฮา)

แต่แรกๆก็ยังไม่ค่อยเชื่อกราฟนะ จนมาเจอ PTL พวกเรื่อง climax top อะไรพวกนี้ พี่ก็เลยเริ่มศึกษามากขึ้นอีก ถ้าไปบ้านพี่เนี่ยเอกสารจะเยอะมาก เครื่องปริ้นพี่ก็ใช้งานหนักมาก คือเอกสารอะไรพี่จะปรินท์ออกมาหมด เอามาอ่าน เอามาศึกษาทำ case คือพยายามเน้นทำ case study

จุดเริ่มต้นของเพจ SEHJU Investment Research?

– ตอนแรกที่ทำก็กะจะทำให้เพื่อนอ่าน ไปๆมาๆทำมาเรื่อยคนก็เริ่มเข้ามาเยอะขึ้น ก็อยากดึงคนที่แนวคิดเดียวกัน ลงทุนสไตล์เดียวกันมาคุยๆกัน

จริงๆอัพเดทสภาวะตลาดพี่ก็ไม่ได้อยากทำตลอด เพราะมันจะเป็นภาระเรา ก็เลยพยายามจะนำบทความ ความคิดที่เราทำมานำเสนอ มากกว่าขายดราม่า หรือเอาของคนอื่นมา จริงๆเราก็ทำเพื่อตัวเองนั่นแหละ เป็นการทำเพื่อเช็กตัวเองนั่นแหละ ยิ่งให้ยิ่งได้

ถ้าอ่านในเพจ SEHJU Investment Research จะเห็นว่าเน้น CANSLIM เป็นส่วนใหญ่ อยากให้เล่าให้ฟังได้มั้ยครับ?

– ในบ้านเราเนี่ย เอาจริงๆพี่ก็ไม่ใช่ CANSLIM แท้ๆ คือเราไม่อยากเอาตัวเราไปผูกติดกับแนวทางใดแนวทางหนึ่ง เพราะต่อไปแบบเดี๋ยวมีคนมาแบบ อ้าว ทำไมคุณทำแบบนี้หละ นี่มันไม่ใช่ CANSLIM นะ หรือไม่อยากเป็น VI ก็เพราะปัญหาเดียวกัน

งั้นพี่ช่วยอธิบายแนวทางการลงทุนคร่าวๆได้มั้ยครับ

– ก็อย่างแรก CANSLIM มันถูกจริตเรา คือพื้นฐานเค้าก็ดู กราฟเค้าก็ดู มันคือตัวพี่เลย

คือเราก็ไม่ใช่ประเภทที่จะถือยาว และบางจังหวะกราฟมันก็ช่วยได้จริงๆ จำไม่ได้เหมือนกันว่าไปเริ่มเจอ CANSLIM ตอนไหน แต่คือพี่ก็แบบเป็นคนชอบค้น ก็ค้นไปตลอดจนเริ่มเจอ พี่ๆเค้าก็เริ่มพูดกันใน Twitter เริ่มพูดถึง How to make money in stocks ก็เลยไปซื้อหันงสือมาอ่าน

พออ่านไปปุ้บ ไปถามคนอื่นที่เค้าอ่านมา กลายเป็นว่าคนอื่นที่อ่านเค้าไม่ได้เข้าใจเลยนะ ต่อให้เป็นคนที่แบบ เราดูแล้วว่ามีประสบกาณ์การเล่นหุ้นมานะ แต่พอเค้าอ่านแล้ว เค้าก็ไม่ได้เข้าใจจริงๆ เพราะอะไร?

เพราะว่าต้นตำรับเค้าศึกษาในตลาดเมกา เค้าไม่ได้ศึกษาจริงๆว่าตลาดบ้านเรามันเป็นยังไง พี่เลยคิดว่าหนทางเดียวที่พี่จะเข้าใจได้ก็คือพี่ต้องทำ workshop

ก็เลยเป็นงาน workshop ที่แชร์ในเพจ SEHJU Investment Research?

– ใช่แล้ว ก็เริ่มทำ workshop เอง แล้วก็ให้เพื่อนพี่ช่วย ต้องพึ่งตัวเอง

พี่เน้นอยู่เสมอว่าควรเน้นการทำ workshop เพราะการอ่านหนังสืออย่างเดียว พี่ว่ามันโคตรผิวเลยนะ มันช่วยได้แค่หลักการ แต่ถ้าอยากเข้าใจจริงๆเราต้องทำ workshop ด้วย

การทำ workshop นี่มีขั้นตอนยังไงบ้างครับ?

– พี่ก็จะตั้งหัวข้อมาก่อน อย่าง FT เนี่ย ทำไมพี่ชอบนำเสนอ FT เพราะว่าแหล่งความรู้อื่นๆในเน็ตมันมีเยอะมาก  เช่น VI เนี้ยเยอะมาก เปิดไปทางไหนก็เจอ วิเคราะห์ P/E ROE วนไปวนมา กราฟก็แบบจำๆกันมา

พี่ก็เลยคิดว่าแล้วเราจะนำเสนออะไรกันดี ก็นึกย้อนไปถึงบาดแผลจากปี 2008 ที่เราไม่เชื่อตลาด แม่งโคตรฝังใจเลย เลยคิดว่าวันนึงเราจะทำยังไง ถ้าเราเล่นหุ้นไปนานๆแล้วไม่เข้าใจตลาด มันอาจจะอันตรายได้ พี่เลยคุยกับเพื่อนสนิท บอก ‘มา กูกับมึงช่วยกันจริงจัง ทำความเข้าใจให้ได้เรื่อง FT ว่ามันเป็นยังไง’

พี่เน้นเรื่องการทำ workshop ด้วยตัวเอง อยากทราบว่าที่ผ่านมาได้ทำไปประมาณกี่เรื่องแล้ว แต่ละเคสใช้เวลาศึกษานานหรือไม่ครับ? รบกวนยกตัวอย่างชื่อ workshop ที่เคยทำนิดหน่อย (ให้คนอ่านเหนภาพ)

– งาน workshop ที่เป็นหัวเรื่องใหญ่ๆคือรวมเป็นหนังสือเล่มเล็กๆได้ แต่ละเรื่องอาจทำหลายสัปดาห์หรือเป็นปีๆครับกว่าจะเสร็จ เท่าที่นึกได้ก็น่าจะเกิน 30 เรื่องครับ

ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในหุ้นยานยนต์ (ทำสะสมไปเรื่อยเกิน 1 ปีกว่าจะเสร็จ) , การอ่านวอลุ่มแบบพื้นฐาน , จิตวิทยาการลงทุน : ความโลภความหวังความกลัว , การหาจุดเข้าซื้อ PPBP ในหุ้นไทย , การอ่านภาวะตลาดแบบต่างๆ FT & DD , เหตุการณ์ในอดีตของตลาดหุ้นไทย , การลงทุนในหุ้นเดินเรือ (ทำมาเรื่อยๆเกิน2-3ปี) , หาวิธี MM ที่เหมาะกับการเล่นของตัวเอง , ทำเคสบริษัทที่จะฟื้นตัว (เช่น MALEE) ล่าสุดก็ย่อหนังสือบัฟเฟตต์ หรือแปล text book เล่มที่ประทับใจเก็บไว้ครับ

จะเห็นว่าเยอะมาก ก็จะหาเรื่องที่เราสนใจอยากรู้มาทำ ทำเพื่อจะได้ไม่ต้องทำมันอีกแล้วครับ

rsz_20140319_152641

(รูปตัวอย่าง workshop ของ SEHJU Investment Research)

การที่มีคนบอกว่าอย่าไปดูกราฟหรือเดาตลาด มันเดาไม่ได้ พี่คิดว่ายังไงครับ?

– พี่ว่าเป็น Lack of skill พูดตรงๆเลย อย่างคนดูกราฟเนี้ย เค้าจะตั้ง expectation กับจุดบางจุด มันคือความน่าจะเป็น

คือมันบอกอาการตลาดได้ มันเหมือนคน เราไม่รู้หรอกว่ามันจะ ลง หรือ ขึ้น มากน้อยแค่ไหน แต่อาการแบบเนี้ยเราบอกได้เลยว่ามัน “น่าจะ” ลง หรือขึ้น

อย่างตลาดเนี่ย คนเริ่มงงละว่าทำไม SEHJU Research แม่งแม่นวะ ก็เพราะมันอ่านความน่าจะเป็นได้

โอนีลเค้าบอกอยู่สองคำ เค้าบอกว่า คนที่อ่านภาวะตลาดไม่ได้มีอยู่สองอย่างคือ Lack of knowledge กับ Lack of skill เพราะโดนปลูกฝังมาว่าตลาดอ่านไม่ได้ แล้วเค้ายังบอกอีกว่า ถ้าคุณอ่านสภาวะตลาดได้ การเล่นหุ้นของคุณจะไม่เหมือนเดิม สนุกมากๆ

คือบางทีคนมาอ่านเพจพี่จะนึกว่าพี่เป็น Technical ล้วน แต่คือ fundamental พี่ไม่อยากจะพูดแล้วไง เพราะคนพูดเยอะแยะแล้ว

จะให้พี่พูดก็พูดได้ แต่ fundamental บางทีมันเจือปนไปด้วย Bias ของตัวเอง กูมีหุ้น หุ้นกูดีหมด

แต่ตลาดเนี่ย คุณเถียงไม่ได้เลย Price และ Volume ของตลาด อย่าง Time frame day เนี่ย มันชัดเจนมาก มันดูเรียบง่าย อาจจะดูไม่น่าเชื่อถือ แต่มันซื่อตรงและมันหลอกไม่ได้ คือมันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆคุณจะไปทำ ตลาดมันทำไม่ได้

มีการเทรดครั้งไหนที่ประทับใจที่สุด?

– โห เยอะ เยอะมากๆ cpf smt ptl ฯลฯ พี่เล่าได้ไม่หมด 55+

อย่างตอนที่พี่เล่น cpf ตอนนั้นดูกราฟรึยังครับ?

– ไม่ดู CPF ก็เป็นอีก case นึง ตอนนั้นก็พอเราเริ่มเล่นเป็นเราจะเริ่มมี sense ละ ว่า เฮ้ย หุ้นเวลามันเปลี่ยน P/E จาก 4-5เท่า เนี่ย กำไรเริ่มดีขึ้น stable ขึ้น อย่างเงี้ยตลาดต้องปรับ P/E ให้ เพราะ P/E เหมือนเกรดของหุ้น ถ้าหุ้นมันเป็นนักเรียนที่ดีขึ้น ตลาดมันก็ต้องปรับ P/E ให้

ทีนี้พี่ก็เริ่มเข้าไปดูไปศึกษา ใช้เวลาว่างจากการทำงาน พอลองไปคุยกับพี่ๆ VI คนอื่นๆปรากฏว่าไม่มีใครเห็นด้วยเลย บางคนไม่ชอบหุ้นตัวนี้เพราะมันเดาไม่ได้ พอไปงานสัมมนาก็มีแต่คนบอก โอ้ย มันจะดีหรอ CPF เนี่ย มันเอาเปรียบรายย่อยนะ ซึ่งพี่ว่ามันไม่เกี่ยวกัน คือพี่ก็ต้องยอมรับนะว่ามันก็เป็นอย่างนั้นจริงครับ แต่พี่กลัวว่ามันกำลังจะไม่เหมือนเดิม

เหมือนที่เค้าบอกว่าหุ้น big winner ส่วนใหญ่ตอนแรกๆคนจะไม่ค่อยชอบ?

– ใช่ครับ คือพี่ไม่เถียงว่าหุ้นอย่าง CPF มันคาดเดากำไรยาก แต่พี่ก็คิดว่าทุกอย่างมันจะไม่เหมือนเดิม ก็ซื้อไปเลย 4.26 แต่ก็ขายเร็วมากนะ เพราะเงินมันน้อย เงินแสนสองแสนได้มาจากการทำงาน ซื้อไปมันก็ไม่ได้มีนัยยะกับชีวิตมาก ขายไปน่าจะแถวๆ 10 บาท

ตรงแถว 4 บาทที่พี่ซื้อ พี่มองเห็นจุดเปลี่ยนยังไง?

– ก็ Farm Food Feed 3 อย่าง ด้วย Mkt cap คือพี่จำไม่ได้ว่า mkt cap มันเท่าไหร่ แต่เหมือนรายได้บริษัทประมาณแสนล้าน กำไรพันล้านอ่ะ แล้วแบบ mkt cap มันต่ำมาก อย่างที่ ดร.นิเวศน์ เค้าบอกว่ามันไม่สมศักดิ์ศรี แล้วการเปลี่ยนแปลงขององค์กรขนาดระดับนั้นมันต้องใช้เวลา มันไม่ใช่อยู่ดีๆคุณจะมาเปลี่ยน model ธุรกิจได้เลย มันยาก

พี่ก็ไปลองเอาข้อมูลมา ปรินท์ paper มาวิเคราะห์ คิดออกมา forward P/E น่าจะซัก 5 เท่า ช่วงนั้นเป็น fundamental view ล้วนๆ ก็เลยซื้อไป แต่มันมาจากสามบาทแล้วนะหุ้นอ่ะ แล้วก็เช็กตลอด เช็กทุกวัน 59-2 ผู้บริหารเก็บทุกวัน ไปคุยกับใครเค้าก็ไม่ค่อยเชื่อกันเท่าไหร่ P/E อย่างนี้ หุ้นอย่างนี้ 5 บาท ก็เทพแล้ว

ตอนนั้นพี่หาข้อมูลคนเดียวเลย หรือว่าให้คนอื่นช่วย?

– หาคนเดียว พี่เป็นคนทำงานหนัก คือเราอยากชนะอ่ะ คิดดู ตี 4 พี่ก็จะออกมานอนละ เพื่อจะมีแรงอีกซักเฮือกตอนตลาดเปิด ไม่ก็นั่งศึกษาหาข้อมูลคนเดียว พี่ทำอย่างนี้ตลอด เบรกปุ้บพี่ก็ออกนั่งอ่านนอนอ่านหนังสือคนเดียวอยู่ข้างนอกโรงงาน ยุงกัดก็ช่างมันกูจะอ่าน

อันนี้คือตัวอย่างหุ้นที่ใช้พื้นฐานอย่างเดียว มีหุ้นตัวไหนที่ใช้ทั้งกราฟทั้งพื้นฐานร่วมกันแล้วรู้สึกว่ามันสุดยอดมาก?

– เริ่มใช้กราฟ เอาตัวที่เป็น Big winning ของพี่นะ ก็คือ PTL แต่ตอนนั้นเราไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ คือเราเข้าใจว่ากราฟมันคือเรื่องของ Indicator กับเส้นต่างๆไง เรายังไม่เข้าใจเรื่อง price movement มันเป็นยังไง เราก็ดูแต่กราฟละ อย่างดูระบบของพี่ท่านนึงไว้ ก็กะจะขาย PTL 80 บาทอ่ะ หลักการเยอะมากแต่สุดท้ายก็ขายไป 30 บาท เพราะมันเริ่มลง

แต่ก็ซื้อตั้งแต่ข้างล่างแล้ว?

PTL พี่ซื้อประมาณ 9 บาทนิดๆ ซัก 9.4 แล้วมันลงไป 9 บาททีนึงพี่ก็ขาย ก็ไม่ได้อีกเลย มาดูอีกทีมัน 11-12 บาท เลยเอะใจ มันมีอะไร ก็ลองไปเช็กพื้นฐานดู งบดุลแข็งแกร่ง พื้นฐานโอเค พี่ก็ซื้อหมดเลย

ปกติพี่เล่นอัดหรือเล่นกี่ตัวครับ?

– สมัยก่อนพี่เล่นกระจาย 2-4 ตัว มันก็กระจายพอร์ทอ่ะ คือไม่ได้มีเหตุผลอะไรหรอก คือกูกลัว แล้วเราก็มองไม่ขาดด้วย แต่คนที่เค้ามองขาดอ่านพื้นฐานออก เค้ารู้อยู่แล้วว่าถ้า earning มันมา มันเล่นแปบเดียว P/E ปรับ หุ้นขึ้นแรงแน่ เนี่ยคือหุ้นอย่างเนี้ย ต้องกล้าวัดกับมัน

ผมว่าส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ด้วยเหมือนมีลางสังหรณ์ (gut feeling)?

– ใช่ครับมันต้องมาจากประสบการณ์ ก็ถึงบอกไงว่ามือใหม่ๆ ความแม่นหนะมันฝึกง่าย แต่เราต้องฝึกให้ได้ก่อน ดูกราฟแล้วเป็นยังไง ดูพื้นฐานแล้วเป็นยังไง พอมันเริ่มแม่นแล้วเนี่ย ก็ต้องไปเริ่มฝึกความหนักต่อ

เพราะช่วงแรกถึงเดาผิดก็ไม่ได้รับผลกระทบทางจิตใจมาก แต่ถ้าเริ่ม bet หนักแล้วพลาดเลยเนี่ยแล้วมันจะเสียหายร้ายแรงมาก

พี่เล่นหุ้นมากี่ปีแล้วครับ

– ประมาณเกือบ 10 ปี แต่ด้วยความที่เราเป็นคนไม่มีอะไร เราจะไปเล่นวัดใจ กล้าได้กล้าเสียแบบชาวบ้านไม่ได้ อย่างคนอื่นที่บ้านเค้ามีฐานะ ที่บ้านมีทุนให้ทีละล้านสองล้าน

คนต่างจังหวัดอย่างพี่อย่าไปพูดเงินล้านเลย เงินแสนนี่ยังยาก พี่ยังเคยตั้งเป้าไว้ว่าก่อนอายุ 30 ปี กูต้องมีเงินล้านให้ได้ เพราะเงินล้านนึงมันเยอะมากสำหรับคนต่างจังหวัดแบบพี่ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

พี่ว่าคนเริ่มเล่นใหม่ พยายามหาโค้ช อย่างพี่ก็สอนไม่ค่อยเป็น จะให้มาไล่เรียนทีละบท บทหนึ่งบทสอง พี่ทำไม่เป็นหรอก Teaching ไม่เป็น Coaching พี่พอได้ แล้วเราก็ต้องตั้งใจฝึกเองด้วย ถ้าเราไม่ตั้งใจฝึกเองมันก็เป็นไปไม่ได้

ต้นแบบในการลงทุนของพี่คือใครครับ?

เสี่ยยักษ์คือไอดอลของพี่ครับ ก็ไม่รู้ว่ามาเจอกูรูหุ้นพันล้านยังไงนะ คือพี่ก็อ่านของพี่มาเรื่อยแล้วแบบ เฮ้ยมันใช่นะ มันคือตัวกูเลยนะ

สอนให้คิด ให้เชื่อในสิ่งที่ทำ มันเริ่มต้นคล้ายกัน มีอะไรคล้ายกัน เป็นคนที่มาจากไม่มีอะไร ไม่ได้มีฐานความรู้ของการเป็นนักวิชาการมาก อะไรอย่างเงี้ย ก็ไต่เต้าขึ้นมา เล่นแบบ focus เจอตัวไหนก็เล่นอัด

แล้วมุมมองแกลูกทุ่งไง บ้านๆแต่ลึกซึ้ง ซึ่งมันเหมาะกับตัวพี่ อย่าง CANSLIM พี่มาเรียนรู้ทีหลัง หลังจากเจอแนวเสี่ยยักษ์ เพราะแกก็เคยบอกว่าพื้นฐานก็ดู กราฟก็ดูด้วย ก็เลยเริ่มเอาใจโน้มเอียงออกมาจาก VI ละ มาสาย Momentum มากขึ้น Trend Following มากขึ้น

พูดง่ายๆคือเล่นสายผสม ดูหมด?

– ใช่ๆ เป็นสายผสม อะไรที่มันเหมาะกับเรา เราจะอยู่กับมันได้นาน เราจะทำได้ดี ลองนึกว่าถ้าพี่ดูแต่พื้นฐาน แล้วเมื่อไหร่พี่จะได้ซื้อหุ้น คือมันต้องรอถูกๆ

แต่ถ้าเราพื้นฐานก็เป็น กราฟก็เป็น โอ้ โอกาสมันจะมาหาเราเยอะมาก มีหุ้นให้เลือกเยอะขึ้น

ปัญหาอีกข้อหนึ่งของคนส่วนใหญ่คือจะหาหุ้นเล่นยังไง ถ้าเราจะหาเอง เล่นเอง

– อันนี้ต้องประสบการณ์เยอะหน่อย อย่างแต่ก่อนพี่อ่านเว็บบอร์ด แมนน่วลล้วนๆ เปิดหนังสือพิมพ์ ได้หุ้นจากคนอื่นน้อย เพราะเราไม่ได้ไปสุงสิงกับใครมาก แต่ช่วงหลังๆก็เริ่มใช้โปรแกรม scan บ้าง

และที่สำคัญช่วงหลังที่พี่พัฒนาขึ้นมาคือ ต้องมองดักชาวบ้าน 6 เดือน – 1 ปี เราค่อยๆตามมันไปเรื่อยๆ นี่คือทีเด็ดของคนใช้ fundamental view ที่ทำให้คุณเข้าได้ก่อนคนอื่น

เพราะงั้นถ้าเราอยากซื้อก่อนให้เราดูจาก Fundamental แต่ถ้าเราอยาก follow ก็ใช้ Technical

คือถึงเป็น VI ก็ต้องมี Timing ที่ดี?

– ใช่ครับ รายละเอียดมันเยอะมาก อย่างสายพี่เนี่ย ใช้ทั้ง Technical และ Fundamental มันก็จะมีปัญหาขัดกันเอง

ยกตัวอย่าง บ่อยครั้งที่เราจะเจอกรณีอย่างเช่น หุ้นพื้นฐานดี แต่ตลาดไม่ดี เราจะซื้อดีมั้ย อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเราเข้าใจไปอีกขั้นนึง ตรงนี้จะไม่ใช่ปัญหา

GFPT  ปี 2008 P/E 5-6เท่า พื้นฐานเริ่มดูดีแต่เจอปี 2008 เข้าไป โดนไปครึ่งตัวนะครับ ถ้าพี่อัดไม้เดียวพี่โดนไปครึ่งตัว หายไป 50% นะครับ พอหุ้นลงมา 50% ทีนี้พื้นฐานที่ดูไว้เราก็จะเริ่มลังเลละ มันจะไม่ใช่ละ หุ้นลงก่อนพื้นฐานอีกต่างหาก

ถ้าเราเอากราฟมาช่วยก็จะป้องกันเราได้ ทีนี้พอมีทั้งพื้นฐานและกราฟแล้วทำยังไงต่อ พี่ก็จะใช้ Money management มาช่วย แย็บซ้าย แย็บขวา ค่อยๆเก็บไป วางกลยุทธสะสมหุ้น เพื่อลบล้างความผันผวนของตลาด

แล้วตลาดขาลงเนี้ย หุ้นมันไม่ได้ลงหมด ถ้ามันมีฝั่งนึงได้ประโยชน์จากวิกฤติ หุ้นพวกนั้นก็จะขึ้น ก็ต้องใช้ประสบการณ์คู่ไปกับความเข้าใจ

ถ้าให้อธิบาย FT DD ให้คนธรรมดาเข้าใจง่ายๆได้มั้ยครับ? (Follow-Through Day – Distribution Day)

– ได้ แค่พูดคร่าวๆง่ายครับ เพราะจริงๆมันง่ายนะ แต่การเอาไปใช้จริงๆมันต้องมีความเข้าใจ

FT ก็คือการบวกอย่างมีนัยยะ ปัญหามาละ เท่าไหร่ถึงจะมีนัยยะ? เพราะขนาดโอนีลยังบอกแค่ว่า “Significant” แล้ว significant มันคือเท่าไหร่วะ? อย่างใน How to make money เค้าก็มีหลายเกณฑ์

แต่โดยเจตนารมณ์ของ FT ก็คือการบวกของ index พร้อม vol ที่เราต้องการคือ +มากกว่า 1% โดยที่ Volume มากกว่าค่าเฉลี่ย 50วัน และมากกว่าวันก่อนด้วยจะยิ่งดี แต่ถ้า DD ก็คล้ายกัน คือ Index ลบซักราว 0.2% และ vol มากกว่าวันก่อนหน้า  

มีข้อแนะนำสำหรับมือใหม่มั้ยครับ?

มือใหม่ที่พี่สังเกตช่วงหลังนะ เอาแต่อ่านหนังสือมากเกินไป เอาแต่สะสมหนังสือมากเกินไป แล้วความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือพี่ว่ามันผิวๆมาก มันไม่ได้ซึมซับมากเท่ากับการลงสนามจริง

พี่ใช้คำว่าทำ workshop ศึกษา case ย้อนหลัง ลงมือทำ project อยากรู้เรื่องไหนก็ลองไปศึกษาอย่างที่พี่ทำ อย่างเพื่อนพี่เค้าจะมีความสามารถเรื่องโปรแกรม แต่พี่ไม่มี เราก็ช่วยกันทำตลอด

“คุณอย่าคิดว่าโอกาสมันจะมาบ่อยๆ” เสียยักษ์แกพูดไว้ พี่ซาบซึ้งมาก เคยมีโอกาสคุยกับแก แกถามว่าคุณถืออะไรอยู่ OISHI ครับ CCP ครับ TMI ครับ เสี่ยก็ถามว่าทำไมถึงถือ พี่ก็เล่าไป

เสี่ยก็บอก ‘เฮ้ย คุณนี่แพ้ยากนะ เชื่อผม คุณแพ้ยากมาก เพราะคุณดูทั้งพื้นฐานทั้งเทคนิคอล แค่โอกาสยังมาไม่ถึง เราก็ต้องรอให้เป็น แต่คุณอย่านึกว่าโอกาสมันจะมาบ่อย ดังนั้น ถ้าโอกาสมาแล้วต้องตั้งใจกับมัน focus กับมัน’

ก็คือมือใหม่ควรลองเล่นของจริงไปเลย?

ใช่ แต่ก็ต้องฝึกความแม่นก่อนนะ ค่อยๆเล่นก่อน แต่อย่าไปยึดติดกับความกลัว อย่างคุณพอร์ทแสนสองแสนคุณไม่กล้าอัด แล้วกระจายพอร์ทเกินไปอย่างนี้เมื่อไหร่คุณจะเกิด ใช่มั้ย แต่คุณก็ต้องดูให้ออกก่อนว่าหุ้นแบบไหนที่ต้องกล้ากับมัน

ฝึกความแม่นก่อน แล้วค่อยฝึกความหนัก ไม่งั้นกว่าพอร์ทเราจะโตมันต้องใช้เวลานานมาก

เพจ SEHJU Investment Research คาดว่าจะมีโปรเจคอะไรใหม่ๆในอนาคตฝากแฟนเพจไหมครับ?

เพจนี้ ตอนแรกทำเพื่อเอางานที่เราทำให้เพื่อนๆเราได้อ่าน แล้วก็มันมีความแค้นใจแอบแฝงอยู่คือ ตอนเราเล่นหุ้นใหม่ๆไม่มีใครสอน ไม่มีพี่เลี้ยง ผลลัพธ์ก็คือเละ!

พอเราเริ่มเล่นเป็นบ้างก็อยากจะช่วยคนอื่น ต่อไปถ้ามีเวลาว่างก็คงจะนำงานมาแชร์เช่นเดิม แต่จะจะทำเป็น pdf file สวยๆมากขึ้น จะได้น่าอ่านน่าสะสมครับ

####

ติดตามผลงานของ Sehju ได้ที่ >> https://www.facebook.com/SEHJuInvestmentResearch

sehju

สัมภาษณ์พิเศษ! ‘SEHJU Investment Research’

www.sarut-homesite.net

27 เม.ย. 2014

Author: admin

3 thoughts on “สัมภาษณ์พิเศษ! ‘SEHJU Investment Research’

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.