‘Contingency Planning’ – แผนสำรองเมื่อผิดคาด : โดย Mark Minervini

วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เรามั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จจากตลาดหุ้นได้คือ การมีแผนสำรองฉุกเฉิน โดยการใช้หลัก “ถ้าหากว่า…เกิดขึ้น”

และคอยปรับแผนเวลาที่คุณพบเจอเหตุการณ์ใหม่ๆ จดบันทึกเป็นสมุดที่รวบรวมแผนสำรองฉุกเฉินของคุณเอาไว้

ในฐานะที่เป็นนักเก็งกำไรหุ้น เป้าหมายของคุณคือการเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อที่จะเทรดโดยมีเรื่องผิดคาดน้อยที่สุด

การจะทำเช่นนั้นคุณจำเป็นต้องคิดวิธีการที่วางใจได้ ในการรับมือกับแทบทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

การประเมินถึงสถานการณ์ต่างๆเอาไว้ล่วงหน้าเป็นกุญแจสำคัญของการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างพอร์ตลงทุนของคุณให้เติบโต

คุณลักษณะอย่างหนึ่งของมืออาชีพคือ การเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม

ก่อนที่จะเทรด ผมเตรียมตัวและพร้อมที่จะตอบสนองกับเหตุการณ์ใดๆก็ตามที่อาจเกิดขึ้น

และหากเกิดสถานการณ์หรือปัญหาใหม่ๆที่ไม่ได้คาดไว้ ผมก็จะเพิ่มพวกมันลงไปในแผนสำรองทำให้สมุดบันทึกแผนสำรองของผมมีเนื้อหาครอบคลุมมากขึ้นด้วย

การนำแผนสำรองที่เตรียมไว้มาใช้จะทำให้คุณสามารถตัดสินใจลงมือได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด

เมื่อการเทรดของคุณเริ่มมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปหรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมา แผนสำรองของคุณจะถูกใช้งานเมื่อหุ้นมีอาการที่ทำให้ผิดหวัง

โดยเฉพาะตอนที่คุณต้องขายหุ้นเพื่อตัดขาดทุน และขายหุ้นเพื่อปกป้องผลกำไรของคุณ

และเวลาที่เขียนแผนสำรองคุณควรเตรียมแผนรองรับเหตุหายนะและภัยพิบัติด้วย (disaster plan)

แผนสำรองของผมนั้นครอบคลุมทุกเรื่องที่ผมไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในขณะที่ผมกำลังเทรดหรือมีสถานะอยู่

เช่น ไฟดับหรืออินเทอร์เน็ตขัดข้อง เพราะผมเคยมีประสบการณ์ระบบเทรดของโบรกเกอร์ล่มมาแล้ว

ทำให้ผมต้องเปิดพอร์ตใหม่อีกบัญชีเพื่อที่จะสามารถขาย short หุ้นชดเชยกับสถานะ long ของผมได้หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก

การมีแผนรองรับภัยพิบัติทำให้ผมรู้สึกสงบและไม่กังวลใจ เพราะถ้ามีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น ผมจะรู้ทันทีว่าควรตอบสนองกับสถานการณ์นั้นอย่างไร

คุณควรเตรียมแผนสำรองฉุกเฉินเพื่อรองรับสถานการณ์เหล่านี้ :

  1. ถ้าหุ้นวิ่งสวนทางกับสถานะของคุณ คุณจะตัดขาดทุนตรงไหน
  2. ในกรณีที่คุณขายตัดขาดทุนไปแล้ว หุ้นตัวนั้นควรทำตัวอย่างไรถึงจะพิจารณาซื้อกลับมาใหม่อีกครั้ง
  3. กฏเกณฑ์สำหรับการขายหุ้นช่วงที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง (selling into strength) และการเก็บกำไรเมื่อได้มาพอสมควรแล้ว
  4. เมื่อไหร่ถึงจะขายหุ้นที่เริ่มอ่อนแอ เพื่อปกป้องกำไรของคุณ
  5. วิธีที่คุณจะรับมือกับเหตุภัยพิบัติรุนแรง หรือเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่ต้องลงมืออย่างรวดเร็วและเด็ดขาด ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน

แผนสำรองฉุกเฉินของคุณควรมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ :

•• จุดตัดขาดทุนแรก (Initial stop-loss) ; ก่อนที่ผมจะซื้อหุ้น ผมจะประเมินล่วงหน้าว่าจะยอมขาดทุนมากที่สุดเท่าไหร่ถ้าหุ้นวิ่งสวนทางกับสถานะของผม

จุดตัดขาดทุนแรกคือราคาที่ผมจะออกจากการเทรดนั้นเมื่อใดก็ตามที่ราคาลงมาถึงจุดนี้ ผมจะขายหุ้นตัวนั้นทันทีโดยไม่ลังเลหรือมีข้อสงสัย

เมื่อผมออกจากหุ้นตัวนั้นแล้ว ผมจึงสามารถประเมินสถานการณ์ใหม่ได้อย่างปลอดโปร่งโดยที่ไม่มีความกดดัน

จุดตัดขาดทุนแรกจะมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดในช่วงต้นของการเทรด

เมื่อหุ้นวิ่งขึ้นไปพอสมควรแล้ว จุด stop ควรจะถูกยกขึ้นไปเพื่อปกป้องกำไรของคุณด้วยการใช้ trailing stop หรือจุดเก็บกำไร (back stop)

•• เกณฑ์ในการกลับมาซื้อหุ้นใหม่ (Re-entry) ; หุ้นบางตัวจะทำรูปแบบกราฟที่ดูดีและดึงดูดให้หลายคนเข้ามาซื้อ

แต่แล้วไม่นานพวกมันก็ร่วงลงไปปรับฐานใหม่หรือเกิดการย่อตัวอย่างแรงจนทำให้คุณต้องขายตัดขาดทุนออกมา

สิ่งนี้มักจะเกิดเมื่อภาวะตลาดอ่อนแอหรือเป็นช่วงที่ตลาดผันผวนสูง

บ่อยครั้ง ราคาของหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งก็สามารถย่อตัวรุนแรงได้เพื่อทำฐานราคาและเกิดจุดซื้อที่ดีครั้งใหม่

และหลายครั้งมากที่การทำฐานรอบสองนี้จะแข็งแรงกว่ารอบแรก เพราะว่าหุ้นตัวนั้นสามารถต้านทานแรงขายและวิ่งขึ้นได้อีกครั้ง

รวมถึงมีการเขย่าให้ผู้ถือหุ้นที่อ่อนแอหรือ weak holder หลายคนทำหุ้นหลุดมือในระหว่างที่หุ้นวิ่งขึ้นมาใหม่ด้วย (shake-out)

แต่คุณไม่ควรเหมารวมว่า หุ้นทุกตัวจะสามารถกลับมาได้เมื่อมันตกลงไปถึงจุด stop ของคุณ คุณยังต้องปกป้องตัวเองและตัดขาดทุนอยู่เสมอ

เพียงแต่ถ้าคุณเพิ่งตัดขาดทุนจากหุ้นบางตัว อย่าเพิ่งเลิกสนใจมัน

เพราะหากหุ้นตัวนั้นยังมีลักษณะของหุ้นผู้ชนะอยู่ ให้คอยมองหาจุดเข้าซื้อใหม่อีกครั้ง (re-entry)

เพราะจังหวะที่คุณซื้อครั้งแรกอาจจะยังไม่ถูกต้องจริงๆ และมันอาจต้องใช้ความพยายาม 2-3 ครั้งในการจับหุ้นผู้ชนะตัวใหญ่

ซึ่งนี่เป็นอีกคุณสมบัติของเทรดเดอร์มืออาชีพ เนื่องจากมือสมัครเล่นมักจะกลัวเมื่อพวกเขาขาดทุนจากหุ้นตัวนั้นไปแล้ว 1-2 ครั้ง

แต่มืออาชีพจะไม่มีความรู้สึกกลัว และไม่มีอคติกับหุ้นตัวใดก็ตาม

พวกเขาประเมินการเทรดแต่ละครั้งในแง่ของผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยง (risk/reward) และมองการทำรูปแบบแต่ละครั้งของหุ้นว่าเป็นโอกาสครั้งใหม่

•• การขายทำกำไร ; หลังจากที่คุณซื้อแล้วหุ้นวิ่งขึ้นไปจนมีกำไรพอสมควร โดยทั่วไปคือหลายเท่าของ stop loss คุณก็ไม่ควรปล่อยให้การเทรดนั้นกลับมาขาดทุน

เช่น สมมติว่าคุณตั้งจุดตัดขาดทุนไว้ที่ 7% ถ้าคุณมีกำไรแล้ว 20% (ผู้แปล ; ประมาณ 3 เท่าของ stop หรือ 3R) คุณก็ไม่ควรปล่อยให้กำไรก้อนนั้นหายไปจนหมดและกลับมาขาดทุน

เพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ คุณสามารถขยับจุด stop ของคุณไปไว้ที่ราคาทุน (breakeven) หรือใช้ trailing stop ในการล็อคผลกำไรส่วนใหญ่เอาไว้

คุณอาจจะรู้สึกแย่เมื่อต้องขายเท่าทุนหรือขายได้กำไรน้อยลงจากที่เคยมีเยอะกว่านั้น แต่คุณจะรู้สึกแย่ยิ่งกว่า หากคุณปล่อยให้กำไรจำนวนพอสมควรกลายมาเป็นผลขาดทุน

มีสองทางเลือกในการขายเพื่อทำกำไร โดยปกติเมื่อคุณซื้อหุ้นแล้วมันจะมี 2 กรณีสำหรับการขายและการเก็บกำไร

ทางเลือกที่ดีคือการขายในช่วงที่หุ้นพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังจากที่หุ้นทำตัวตามที่คุณคาดหวังไว้ (selling into strength)

อีกทางเลือกคือการขายตอนที่หุ้นเริ่มทำตัวอ่อนแอ เพราะหุ้นร่วงลงมาจนถึงระดับที่คุณต้องการปกป้องกำไรที่ทำได้

การขายในช่วงที่หุ้นพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เป็นหลักปฏิบัติที่เทรดเดอร์มืออาชีพจะเรียนรู้และปฎิบัติกันมา

มันสำคัญที่คุณต้องตระหนักได้ว่าช่วงไหนที่หุ้นเริ่มวิ่งขึ้นเร็วเกินไป และอาจเริ่มชะลอตัวหรือร่วงลงมา

คุณสามารถขายหุ้นออกได้อย่างง่ายดายเวลาที่มีคนต้องการซื้อจำนวนมาก หรือคุณอาจจะขายทันทีที่เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนแอเป็นครั้งแรก หลังจากที่หุ้นวิ่งขึ้นมาพอสมควรและเริ่มหักตัวลงมา

คุณต้องมีแผนสำหรับการขายหุ้นทั้งในช่วงที่หุ้นกำลังขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และการขายตอนที่หุ้นเริ่มทำตัวอ่อนแอ

•• แผนรับมือหายนะและภัยพิบัติ ; นี่อาจเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการวางแผนสำรองฉุกเฉินของคุณ

มันมีไว้เพื่อรับมือกับปัญหาเช่น ถ้าระบบอินเทอร์เน็ตล่มหรือไฟดับคุณมีระบบสำรองหรือยัง?

หรือคุณจะตอบสนองอย่างไรถ้าคุณตื่นมาตอนเช้าและพบว่าหุ้นที่คุณเพิ่งซื้อเมื่อวานเปิดโดดลงอย่างแรง (gap down) เพราะบริษัทถูก ก.ล.ต. ตรวจสอบ

แถมผู้บริหารก็หนีออกนอกประเทศพร้อมกับเงินที่ยักยอกบริษัทไปด้วย

คุณจะทำอย่างไร?

*ตัวอย่างจากหนังสือ Think & Trade Like a Champion ภาษาไทย

Author: admin

2 thoughts on “‘Contingency Planning’ – แผนสำรองเมื่อผิดคาด : โดย Mark Minervini

  1. เป้นข้อมูลดีเทรดหุ้นมา20ปีได้เสียสุดท้ายเราต้องรอดแล้วมาอ่านบทความแล้วเข้าใจเพิ่งผ่านมาเป้นระยะเวลานานปกติไม่ชอบอ่านเรียนน้อยใช้ประสพการณ์เสียส่วนใหญ่ขอบคุณสําหรับความรู้ใหม่ครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.