CDS : คุณค่าแท้จริงมากกว่าสิ่งที่เห็นแค่ภายนอก – จารุพรรณ อิทรรุ้ง

D3408FN2
เมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อนรุ่นน้องดิฉันทำเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กหายที่สนามบินขณะเดินทางไปประชุมต่างประเทศค่ะ 

ตอนแรกดิฉันฟังแล้วยังเสียดายแทนเพราะรู้ว่าเป็นเครื่องที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน แต่เจ้าตัวกลับไม่กังวลอะไรเนื่องจากทำประกันคอมพิวเตอร์แบบที่มีคุ้มครองกรณีเครื่องหายไว้ จึงได้รับเงินชดเชยไปซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่มาทดแทน ซึ่งข้อดีของการมีประกันก็เป็นแบบนี้เองค่ะ คือ การได้รับความคุ้มครองจากความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ระหว่างผู้ซื้อประกันกับผู้ขายประกัน

ในโลกของการลงทุนก็มีเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบริหารหรือจัดการกับความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ เช่นกันค่ะ เช่น ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ หรือความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือที่ว่าก็คือ ตราสารอนุพันธ์ประเภทต่างๆ ได้แก่ ฟิวเจอร์ส ออปชัน ฟอร์เวิร์ด และสวอป โดยดิฉันได้เคยเล่าเป็นตัวอย่างให้ทราบกันไปบ้างแล้วในบทความคราวก่อนเกี่ยวกับกองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ หรือ FIF ได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินสกุลของประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อลดปัญหาความผันผวนของค่าเงินที่จะกระทบต่อมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวม FIF ค่ะ

สำหรับวันนี้ ดิฉันอยากเล่าถึงเครื่องมือบริหารความเสี่ยงประเภทสวอปชนิดหนึ่ง ซึ่งมักใช้บริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับความสามารถในการชำระเงินคืนของผู้ออกตราสารหนี้ (Credit Default Risk) ที่มีใช้กันในต่างประเทศมาแล้วอย่างแพร่หลาย นั่นคือ สัญญาเครดิตอนุพันธ์ หรือ Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นเครื่องมือประกันความเสี่ยงที่ผู้ซื้อ CDS (Default Protection Buyer) จะได้รับความคุ้มครองความเสียหายจากผู้ขาย CDS (Default Protection Seller) หากหุ้นกู้ที่ตนไปลงทุนเกิดไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ (Default)

บางท่านที่ยังนึกภาพไม่ออกว่า CDS นี่หน้าตาเป็นอย่างไร ขอเล่าอย่างนี้แล้วกันค่ะว่า โดยทั่วไปการลงทุนในตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้ของบริษัทเอกชน จะมีความเสี่ยงหลักๆ ก็คือ ผู้ออกหุ้นกู้อาจไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ดังเช่นกรณีวิกฤตเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1997 (ตรงกับช่วงต้มยำกุ้งบ้านเรา พ.ศ. 2540) ที่ผู้ออกหุ้นกู้ในต่างประเทศหลายรายเกิด Default ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้เหล่านั้นไม่ได้รับเงินคืน ดังนั้นเพื่อป้องกันการซ้ำรอยของปัญหาดังกล่าว JP Morgan Chase ซึ่งเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา จึงได้พัฒนา CDS ขึ้นมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน

โดยหลักการในการทำสัญญา CDS ก็ ไม่ต่างอะไรจากการทำสัญญาประกันทั่วๆ ไป คือ ผู้ซื้อ CDS และผู้ขาย CDS มาทำสัญญากันว่าผู้ซื้อ CDS จะได้รับคุ้มครองความเสียหายหากเกิดเหตุการณ์หรือเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ เช่น หากหุ้นกู้ซึ่งอยู่ภายใต้การประกันเกิด Default โดยผู้ขาย CDS จะเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้ เท่ากับเป็นการโอนความเสี่ยงที่มีไปยังผู้ขายประกันค่ะ ส่วนผู้ซื้อก็จ่ายค่าธรรมเนียมแก่ผู้ขายเพื่อรับความคุ้มครอง

ด้วยประโยชน์ในแง่ของการเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงนี่เอง ทางก.ล.ต. จึงได้อนุญาตให้กองทุนต่างๆ ทั้งกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลรายย่อย และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำ CDS มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้หากกองทุนนั้นไปลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ว่ากองทุนจะมีนโยบายเน้นการลงทุนแบบใดก็ตาม ทั้งนี้กองทุนสามารถเข้าเป็นคู่สัญญาใน CDS ได้ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการประกันความเสี่ยงจากการที่ผู้ออกหุ้นกู้เกิดล้มละลาย (Bankruptcy) หรือมีการปรับโครงสร้าง (Restructuring) รวมทั้งกรณีอื่นใดที่หุ้นกู้ที่กองทุนไปลงทุนไม่สามารถชำระหนี้ได้ (Default) เท่านั้น

ดิฉันขอยกตัวอย่างให้เห็นกลไกของ CDS ชัดๆ นะคะ สมมติว่า “กองทุนรวมนักล่าฝัน” ได้ไปลงทุนในหุ้นกู้ระยะเวลา 5 ปี ที่ออกโดย “บริษัท เรียลิตีโชว์” เป็นมูลค่า 100 ล้านบาท และเพื่อให้แน่ใจว่ากองทุนรวมจะได้รับเงินลงทุน 100 ล้านบาทคืนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อถึงเวลาที่หุ้นกู้ครบกำหนด กองทุนรวมจึงตกลงทำสัญญา CDS กับ “ธนาคารเดอะสตาร์” ดังนั้นหากในอนาคตหุ้นกู้ของบริษัท เรียลิตีโชว์ เกิดเป็นหนี้เสียขึ้นมา ไม่สามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ ธนาคารเดอะสตาร์จะเป็นผู้จ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่กองทุนรวม ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา CDS ซึ่งเท่ากับเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงให้ธนาคารเดอะสตาร์รับไปแทน จากเดิมหากไม่มีการทำ CDS แล้ว หากหุ้นกู้ของบริษัท เรียลิตีโชว์ เกิด Default ขึ้นมา ก็ย่อมกระทบต่อมูลค่าหน่วยลงทุนในกองทุนรวมนักล่าฝันของผู้ลงทุนในที่สุดค่ะ

อย่างไรก็ตาม แม้ CDS จะมีประโยชน์ในเรื่องของการเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง แต่ก็จะทำให้กองทุนรวมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะกระทบกับผลตอบแทนของ ผู้ลงทุนด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจึงต้องประเมินและพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบ เช่น ถ้าประเมินแล้วเห็นว่าหากไม่ทำประกันความเสี่ยงไว้ และเกิดเหตุขึ้นมาจริงๆ อาจกระทบกับผลตอบแทนของผู้ลงทุนมากยิ่งกว่า ก็จะตัดสินใจทำประกันความเสี่ยงไว้ ก็เหมือนกรณีซื้อประกันให้คอมพิวเตอร์นั่นแหละค่ะ ถ้าคอมพิวเตอร์อยู่ดีมีสุข ไม่ซ่อม ไม่หาย เราก็เหมือนจ่ายเงินให้บริษัทรับประกันคอมพิวเตอร์ไปเปล่าๆ (จริงๆ แล้วไม่ใช่จ่ายเปล่าๆ นะคะ แต่เป็นการซื้อประกันความเสี่ยง) แต่ถ้าเกิดแจ็กพอต อย่างรุ่นน้องดิฉันที่เครื่องหายขึ้นมา บริษัทรับประกันคอมพิวเตอร์ก็มีหน้าที่รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแทน

น่าเสียดายที่ภาพของ CDS ที่ผ่านมาในต่างประเทศ กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของ ผู้ลงทุน เพราะแทนที่จะถูกใช้ตามวัตถุประสงค์เพื่อบริหารความเสี่ยง แต่ระยะหลังๆ กลับถูกใช้ไปในเรื่องของการเป็นเครื่องมือเก็งกำไร เช่น ในภาวะที่สถานการณ์เศรษฐกิจปกติ ผู้ออกหุ้นกู้ยังไม่มีปัญหาเรื่อง Default ดังนั้นผู้ขายประกัน CDS จึงรู้สึกว่าช่องทางนี้เป็นโอกาสในการสร้างรายได้อย่างง่ายๆ ด้วยการรับประกัน CDS โดยไม่ได้นึกถึงส่วนที่จะต้องจ่ายความคุ้มครองหากเกิด Default และยังมีการพัฒนา CDS ให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น มีการเก็งกำไรเป็นทอดๆ ต่อไปเรื่อยๆ โดยซื้อขายกันแต่เพียงสัญญา ไม่มีตัวหุ้นกู้เป็นสินค้าอ้างอิง (Underlying Asset) ดังนั้นเมื่อ เกิดวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา (Hamburger Crisis) เมื่อปีที่ผ่านมา พอลูกหนี้เริ่มมีปัญหา Default ก็ส่งผลกระทบต่อระบบโดยรวมลุกลามกันไปใหญ่โต ทั้งที่คุณค่าที่แท้จริงของ CDS ในด้านของการประกันความเสี่ยงยังมีอยู่ แต่สำหรับในบ้านเราในขณะนี้ คงไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดกรณีเหล่านี้นะคะ เพราะก.ล.ต. วางเกณฑ์ป้องกันไว้ว่า กองทุนจะเข้าทำสัญญา CDS ได้ เพื่อวัตถุประสงค์ในเรื่องป้องกันความเสี่ยงเท่านั้น โดยจะซื้อประกันความเสี่ยงของหุ้นกู้ตัวใดได้ ก็ต่อเมื่อมีหุ้นกู้ตัวนั้นอยู่ในพอร์ตก่อน (เท่ากับห้ามเก็งกำไรนั่นเอง)

หวังว่าเรื่องราวในวันนี้จะช่วยเพิ่มพูนความรู้และเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของเรานะคะ เผื่อว่าในระยะอันใกล้หากจะมีกองทุนใดที่มีการนำ CDS มาใช้ คุณๆ จะได้มีข้อมูลเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจได้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของคุณอย่างไร วันนี้ลาไปก่อน สวัสดีค่ะ

Credit : http://www.posttoday.com/stockmarket.php?id=59076

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.