Blog 59 : ‘ตลาดขาลงเป็นแบบไหน?’ – Case Study ตลาดหุ้นเมกาเทียบกับ SET (Updated 2019)

Case study ตลาดหุ้นอเมริกา (S&P 500) ช่วงขาลงเมื่อปี 2001-2003 เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นไทย

หลังจากความรุ่งเรืองเฟื่องฟูผ่านพ้นไป สิ่งที่มักจะตามมาก็คือภาวะตกต่ำและซบเซา ซึ่งถือได้ว่าเป็นธรรมชาติของวัฏจักรเศรษฐกิจ และรวมไปถึงวัฏจักรของตลาดหุ้นด้วย

ในช่วงปี 1991-2000 ตลาดหุ้นอเมริกาได้เข้าสู่ภาวะกระทิงขาขึ้นครั้งใหญ่เกือบ 10 ปี จนกระทั่งฟองสบู่หุ้น internet แตกลงอย่างรุนแรง

หลังจากนั้นตลาดหุ้นอเมริกาก็เข้าสู่ภาวะตลาดหมีขาลง หรือ bear market ที่ซบเซายาวนานถึง 3 ปี (2001-2003)

IMG_20151217_111324_1450325678774

ถ้ามาดูตลาดหุ้นไทย เมื่อปี 2014-2015 เราก็มีฟองสบู่หุ้นพลังงานทดแทน , ฟองสบู่หุ้นขนาดเล็กและหุ้น  ipo ซึ่งฟองสบู่ก็ได้แตกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

set2015

และหลังจากกลับตัวเป็นขาขึ้นได้ในช่วงปี 2016-2017 พอมาถึงปี 2018-2019 ตลาดหุ้นไทยก็เริ่มอาการไม่ค่อยดีอีกครั้ง

สังเกตได้จากความซบเซาของการซื้อขาย การถล่มลงและจบรอบอย่างรุนแรงของหุ้นนำตลาด

รวมถึงการที่ SET เทรดอยู่ใต้เส้นสำคัญคือ MA 200 วันเป็นเวลานาน ก็ยิ่งมีโอกาสที่ SET จะเข้าสู่ภาวะตลาดหมีขาลงเช่นกัน

SET ปี 2017-2019 (กราฟ day)
ภาพรวม SET 5 ปีที่ผ่านมา (กราฟ week)

.

โดยทั่วไปเราสามารถใช้ indicator อย่างเส้น moving average เพียงไม่กี่เส้น ก็สามารถบ่งบอกภาพรวมของตลาดได้แล้ว

จากรูปตัวอย่างคือใช้เส้น MA 50 วัน และ MA 200 วัน (หรือ 40 week) โดยถ้าตลาดยังอ่อนแอและซบเซาก็จะไม่สามารถเทรดเหนือเส้นแนวโน้มหลักเหล่านี้ได้จนกว่าขาลงจะสิ้นสุดลง (เวลาเด้งขึ้นมาก็จะชนเส้นแล้วเริ่มลงต่อ)

นอกจากนี้ เราจะเห็นว่าในช่วงตลาดขาลง slope หรือความชันของเส้น MA 200 วัน , MA 40 Weeks จะเริ่มโค้งต่ำลง บ่งบอกถึงระยะเวลาและความแข็งแกร่งของแนวโน้มใหญ่

ลักษณะของตลาดหมี และแนวคิดการเทรดช่วงตลาดยาก (ขาลง)

– รอบ Rally มักจะเป็นแค่การเด้งสั้นๆ จบเร็ว เวลาโดนขายทำกำไรจะลงเร็วและรุนแรงกว่าปกติ

– ช่วงเด้งตลาดจะขึ้นไปเทสแนวสำคัญ เช่น MA 50 , MA 200 ถ้ายังกลับตัวไม่ได้ก็จะไหลลงต่อ

– หุ้นน่าเล่นมีน้อย มีประมาณไม่ถึง 10% จากทั้งตลาด ราคาหุ้นเหวี่ยงแรงหรือดูตันๆวิ่งขึ้นได้ยาก

– การปรับฐานโดยมากแล้วมักจะกินเวลาไม่นาน ซักพักตลาดก็จะกลับตัวได้ แต่ถ้าปรับฐานนานแล้วตลาดไม่สามารถกลับตัวได้ ก็มีโอกาสที่จะเกิด Bear Market หรือตลาดขาลงจริงจัง

– ถ้าเห็นว่าตลาดยังไม่ดีมากนัก เราควรจะเลือกว่า จะหยุดพักรอดูสถานการณ์ , เทรด size เล็กลง หรือเล่นระยะสั้นลง (ขายตามแนวต้าน – lock กำไร) พยายามรักษาเงินต้นไว้ให้ดี อดทนรอจนกว่าจะเห็นโอกาสเทรดที่น่าสนใจจริงๆจึงค่อยลงมือ

– ก่อนจะเทรดคิดและดูหลายๆอย่างให้ดีเสียก่อน เพราะหุ้นจะไม่ได้ขึ้นง่ายๆเหมือนตอนที่ตลาดเป็นขาขึ้น

– ถ้ามีกำไร เตรียมเก็บกำไรให้ดี อย่าเพลิน อย่าเคลิ้ม อย่าเหลิง

– คุมต้นทุนเฉลี่ย และคุมการขาดทุนให้น้อยที่สุด ไม่งั้นอาจจะเทรดๆไปแล้วเหนื่อยฟรี

– ถ้าช่วงไหนเริ่มคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว สงสัยเริ่มเทพแล้ว ให้ล้างพอร์ต…

ถ้าจะเทรดช่วงที่ตลาดยาก เราต้องใช้ skill หลายอย่างและต้องเข้มงวดขึ้นด้วย ทั้ง stock selection , risk management , money management , รวมถึง timing จังหวะซื้อขาย-การคุมต้นทุน เพราะถ้ามีอะไรผิดพลาดโอกาสขาดทุนจะสูงกว่าได้กำไรทันที

พยายามเทรดแบบระมัดระวังและเข้มงวด หากไม่จำเป็นต้องเทรดก็หยุดพัก รอจนกว่าตลาดจะกลับมาดีจริง…

สำหรับในช่วงขาลง 3 ปีของตลาดหุ้นสหรัฐ ก็ยังมีหุ้นรายตัวที่สามารถขึ้นสวนตลาดได้เช่นกัน ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มหุ้นที่ผลประการกอบยังเติบโตได้ดีอยู่ ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม

แต่ถ้าตลาดยังไม่ดีมาก ราคาหุ้นก็จะเหวี่ยงขึ้นลงรุนแรงทำให้เทรดยากกว่าปกติพอสมควร ต้องระวังดีๆครับ

IMG_20151217_111932
IMG_20151217_111915

ความซบเซาของตลาดทำให้คนส่วนใหญ่เจ็บตัวจนถอดใจ และเริ่มไม่สนใจเรื่องหุ้นเหมือนช่วงเฟื่องฟู แต่เมื่อถึงช่วงที่ตลาดเริ่มกลับตัวได้จริง ในระยะแรกของการฟื้นตัวนี้ถือเป็นโอกาสลงทุนที่ดีมากสำหรับคนที่ยังคงติดตามภาวะตลาดอยู่เป็นประจำ

เพราะฉะนั้น อย่าละเลยสัญญาณต่างๆที่ตลาดส่งออกมา ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณเตือนหรือสัญญาณการกลับตัวของตลาด

และถึงแม้ว่าตลาดเป็นขาลงและซบเซา แต่มันก็อาจจะมีโอกาสดีๆเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ เราจึงต้องคอยติดตามหุ้นและขยันหาโอกาสกันอยู่เสมอต่อไปครับ

Blog 59 : ตลาดขาลงมีลักษณะแบบไหน? Case Study ตลาดหุ้นสหรัฐเทียบกับ SET

www.sarut-homesite.net

8 มกราคม 2016

Updated ธันวาคม 2019

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.