‘Value Investing’ รักแล้ว…ต้องอดทน

subscribe2

คุณ รู้จัก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ไหม… มหาเศรษฐี ใจบุญคนนี้ เพิ่งบริจาค 85% ของทรัพย์สินที่ เขาหามาทั้งชีวิต คิดเป็นเงินไทยง่ายๆ แค่ 1.48 แสนล้านบาท ให้มูลนิธิบิล-เมลินดา เกตส์ ที่เพื่อนเขาเป็นผู้ก่อตั้ง

แล้ว “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” (ที่คนในตลาดหุ้นเขาร่ำลือกันว่ามีพอร์ตลงทุนเฉียดๆ พันล้าน) ล่ะ รู้จักไหม ถ้าไม่รู้จักก็ต้องรีบหาทางเข้าถึงตัวให้ได้เหมือนกัน

เพราะ เป็นที่รู้กันว่า ทั้งสองคนนี้ประสบความสำเร็จจาก “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” (Value Investing) จึงเป็นเหมือน “ปรมาจารย์” ของนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “Value Investor” หรือเรียกชื่อเล่นๆ ว่า VI

สำหรับคนที่คิดจะเดินตามรอยนักลงทุน ผู้ ยิ่งใหญ่ ทั้งสองท่านนี้ รับรองว่าถ้าได้ลิ้มรสวิถีชีวิตสุขสงบแบบ “นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า” แล้วจะถอนตัวไม่ขึ้น แต่ต้องบอกกันก่อนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้อง…

— อดทน… ทำงานหนัก

คิด จะเป็น VI กับเขาทั้งที จะแค่ฟังว่านักวิเคราะห์พูดว่าอะไร แนะนำตัวไหน ราคาเท่าไร หรือไปฟังใครๆ เขาพูดกัน แล้วก็ยกหูหามาร์เก็ตติ้งสั่งซื้อ (หรือขาย) มันก็ง่ายเกินไป เสียศักดิ์ศรี Value Investor หมดเลย

เพราะ Value Investor ตัวจริงเสียงจริง เขาต้องอดทนทำงานหนัก เพื่อให้ได้ “Intrinsic Value” หรือมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ ของบริษัทดีๆ ที่ผ่านการ คัดกรองมาแล้วอย่างดี

แม้ว่าคุณบัฟเฟตต์จะไม่ใช่ต้นกำเนิดของการลง ทุน แบบ VI แต่เขาเป็นที่หนึ่งในใจของ Value Investor ทั่วโลกก็ว่าได้ เพราะเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการลงทุนรูปแบบนี้สร้างความมั่งคั่งให้เขา เพียงใด ฉะนั้นเราจะมาดูหลักการเลือกลงทุนของเขาว่ามีอะไรบ้าง

คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน ซึ่งมีวิธีการลงทุนแบบเดียวกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า..

” บัฟเฟตต์” มีหลักการง่ายๆ ในการเลือกบริษัทที่เขาจะลงทุน คือ ต้องเป็นธุรกิจที่ไม่มีความซับซ้อน คาดเดาผลการดำเนินงานได้ โดยที่เขาต้องรู้จักและเข้าใจกิจการนั้นเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังจะต้องมีผู้บริหารที่มี “ธรรมาภิบาล”

“กิจการประเภท ง่ายๆ ไม่วุ่นวายจะสามารถบริหารจัดการได้ง่าย ไม่ต้องใช้เทคนิค บุคลากรพิเศษมากมายนัก รวมทั้งตัวแปรในการทำธุรกิจก็ไม่มาก ผลที่ได้คือ ความผันผวนต่ำ สามารถทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และคงเส้นคงวา”

ธุรกิจ ที่จะเข้าตาก็ต้องมียี่ห้อหรือตราสินค้าที่แข็งแกร่ง หรือมี “ค่าความนิยม” สูง
ทำให้ไม่ต้องแข่งขันกันด้วยราคา และแม้ว่าจะปรับราคาขึ้น หรือราคาสูงกว่าคนอื่นไปบ้าง ลูกค้าก็ยังยินดีที่จะซื้ออยู่เหมือนเดิม

ดูกันถึงขนาดนี้แล้วก็ยังไม่พอ เพราะต้องไปหา “มูลค่าที่แท้จริงของกิจการ” ด้วยเครื่องมือทางการเงิน ที่ Value Investor แต่ละคนก็จะเลือกใช้แตกต่างกันไป

แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้เครื่องมืออะไร ก็ตาม ชาร์ลีส์ เอช. เบรนเดส บอกไว้ในหนังสือชื่อ “Value Investing Today” ว่า การหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการจะมี 3 ด้าน คือ

ความแข็งแกร่ง ด้านรายได้ ที่มักจะวัดจากกำไรต่อหุ้น (EPS) ความแข็งแกร่งด้านการเงิน เช่น อัตราส่วนหนี้ต่อทุน (D/E Ratio) และ ราคาถูก ซึ่งมักจะวัดจากอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV Ratio) หรืออัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio)

โดยที่ เบนจามิน เกรแฮม ผู้ริเริ่มแนวการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และอาจารย์ของบัฟเฟตต์ กำหนดไว้ว่า บริษัทที่เข้าข่ายน่าลงทุนในสายตา VI จะต้องมี P/E Ratio ต่ำกว่า 10 เท่า, P/BV Ratio น้อยกว่า 2 เท่า และ D/E Ratio ต่ำกว่า 1 (เพราะ VI เขาไม่ชอบบริษัทที่มีหนี้เยอะ เพราะฉะนั้นยิ่งหนี้น้อยเท่าไรก็ยิ่งดี)

แต่สำหรับสาวกของ “บัฟเฟตต์” จะรู้ดีว่า เขามักใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “วิธีส่วนลดกระแสเงินสด” (Discount Cash Flow) ในการหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ

ทั้งยังให้ความสำคัญกับผลตอบแทน จาก ส่วนของเงินลงทุน (ROE) ที่จะต้องมากกว่า 12% สำหรับธุรกิจประเภทผลิตสินค้า แต่หากเป็นธุรกิจสถาบันการเงินจะดูผลตอบแทนรวมของสินทรัพย์ (ROA) ซึ่งหากว่าสูงกว่า 1% ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

การประเมินมูลค่าของบริษัทของ VI ไม่ได้มองเฉพาะผลงานในอดีตและการดำเนินงานในปัจจุบัน ยังต้องมองโอกาสในอนาคตด้วย

อย่าง ไรก็ตาม นักลงทุนแต่ละคนจะได้ค่า “มูลค่า ที่แท้จริงของกิจการ” ออกมาไม่เท่ากัน เพราะจะขึ้นอยู่กับมุมมอง แต่ไม่ว่าค่าจะออกมาเป็นอย่างไร “บัฟเฟตต์” แนะนำว่า ควรกำหนดค่าออกมาเป็นช่วง เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

สำหรับคนที่แค่เห็นตัวเลข เยอะๆ ก็พานจะเป็นลมนั้น อย่าเพิ่งหันหลังหนี เพราะคุณ “invisible_hand” พี่ใหญ่ของ VI ในเว็บไซต์ greenbull.net แนะนำรุ่นน้องไว้ว่า การเป็น VI ที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้อง “เรียนสูง” เพียงแค่…

“ควรจะรัก การอ่าน ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม มีทักษะการค้นคว้าด้วยตัวเอง ช่างสังเกต เรียนรู้จากอดีต เป็น ผู้ฟังที่ดี และยอมรับความเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น บางครั้งผู้ที่มีการศึกษาสูงมากๆ อาจจะเชื่อมั่นในตัวเองเกินไปจนไม่ได้ฟังความเห็นที่แตกต่าง หรืออาจจะมองอะไรเพียง มุมเดียวก็ได้”

— อดทน… รอเวลา

อีก เรื่องหนึ่งที่ Value Investor ต้องอดทน คือ อดทนรอเวลา เพราะแม้ว่าจะได้ค่า “Intrinsic Value” ออกมาหลังจากการทำงานหนักแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้าย

เพราะ VI จะตัดสินใจซื้อหุ้นตัวนั้น เมื่อราคาหุ้นต่ำกว่าค่า Intrinsic Value ที่หาได้เท่านั้น เพื่อให้การลงทุนครั้งนี้มีความปลอดภัยมากขึ้นอีก ที่เรียกว่า “Margin of Safety” หรือส่วนเผื่อความปลอดภัย

คุณ นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ Value Investor รุ่นใหม่แต่ฝีมือรุ่นเก๋า ที่จะรู้จักกันในชื่อว่า “สุมาอี้” ในเว็บไซต์ thaivi.com ระบุว่า…

“การซื้อหุ้นทุกครั้งจะ ต้องซื้อใน ราคาที่มีส่วนลดจากมูลค่าที่แท้จริงที่ประเมินไว้เสมอ เพราะการซื้อหุ้นโดยมีส่วนลดจะช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยในการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนเป็นสิ่งที่มีความไม่แน่นอนสูง”

นั่นเพราะคงไม่มี ใครที่จะประเมินได้ “ถูกต้อง” ทุกครั้ง และเมื่อใดก็ตามที่การตัดสินใจผิดพลาด อย่างน้อยก็จะมีส่วนต่างนี้ไว้ช่วยจำกัดการขาดทุน ไม่ให้เจ็บมากเกินไป

ส่วน จะต่ำกว่าเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของ นักลงทุนแต่ละคน ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว VI จะไม่ซื้อหุ้นที่มีส่วนลดไม่ถึง 30% ขณะที่บางคนอาจจะกำหนด “เบาะรองรับความเสี่ยง” ไว้สูงถึง 50%

“การลง ทุนแต่ละครั้งถ้ามีส่วนต่างไม่ถึง 50% ผมจะไม่ลงทุน” คุณฉัตรชัย วงแก้วเจริญ นักลงทุนวัย 38 ปี ที่ขณะนี้เกษียณตัวเองจากงานประจำ และใช้ชีวิตอยู่ด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนจากแนวทาง VI เพียงอย่างเดียว

สำหรับ Value Investor ตัวจริง เขาจะรออย่างอดทนให้ราคาหุ้นลดลงมาจนถึงระดับที่พอใจ และเขาจะไม่กลัวที่จะปล่อยหุ้นตัวนั้นไว้นอกพอร์ต ถ้าเห็นว่าราคาหุ้นตัวนั้นยังแพงเกินไป

เมื่อซื้อได้แล้วก็ถึง ขั้นตอน ที่สำคัญ คือ รอเวลาให้ธุรกิจนั้นเติบโตและสร้างผลตอบแทนกลับมาให้คุ้มค่ากับแรงกาย (และกำลังเงิน) ที่ลงทุนไป ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะใช้เวลานานแค่ไหน

แต่ ที่แน่ๆ คือ คงไม่ใช่แค่วันสองวัน หรือเดือนสองเดือน เพราะมันอาจจะใช้เวลาปีสองปี หรือนานถึงสิบปี แต่สำหรับคุณนรินทร์ มองว่า อย่างน้อยๆ ก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 1 ปี ในการรอคอย

ฉะนั้นในการลงทุน จำ เป็นต้องใช้ “เงินเย็น” เท่านั้น เพราะการลงทุนครั้งนี้อาจจะเป็นการลงทุนชั่วชีวิตก็ได้ เพราะ VI จะมองว่าการซื้อหุ้นก็คือการร่วมลงทุนเพื่อเป็น “เจ้าของธุรกิจ” ไม่ใช่การเล่นหุ้น ที่จะมองหุ้นเป็นเพียงสินค้าที่ซื้อมา-ขายไป

เหมือน อย่างที่ บัฟเฟตต์ลงทุนในหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 ด้วยเงิน 11 ล้านเหรียญสหรัฐ… 32 ปีผ่านไป บัฟเฟตต์ยังคงถือหุ้นนี้อยู่ และได้ผลตอบแทนมาแล้ว 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับคุณฉัตรชัย จะขายหุ้นของเขาภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อเท่านั้น คือ ราคาเกินมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ การวิเคราะห์ผิดพลาด หรือมีหุ้นตัวอื่นที่ดีกว่า

— อดทน… เอาชนะใจตัวเอง

ทีนี้ก็มาถึงความอดทนข้อสุดท้ายที่อาจจะยากที่สุดสำหรับนักลงทุนหลายคน นั่นคือ อดทนที่จะเดินสวนทางกับคนส่วนใหญ่

คุณ นรินทร์ เคยเขียนไว้ใน สิบกฎเหล็กการลงทุนของ “แม่ทัพสุมาอี้” ข้อหนึ่งว่า “นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จร้อยทั้งร้อยมีความคิดที่เป็นอิสระ”

“ถ้า คุณจอดรอไฟแดงอยู่ที่สี่แยกที่ไม่มีรถวิ่งอยู่ แต่รถคันหลังรุมกดดันคุณด้วยการบีบแตรไล่ให้คุณวิ่งออกไปเลย ถ้าคุณไม่สนใจแรงกดดันนั้นและรอจนไฟเขียวจึงค่อยไป คุณมีแนวโน้มที่จะเล่นหุ้นแล้วประสบความสำเร็จครับ”

เพราะ VI ต้องเข้าใจแนวคิดเรื่อง “Mr.Market” ของ เกรแฮม ที่ว่า ราคาหุ้นในกระดานเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ของผู้คนในตลาด จะไม่อาจสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท

“เมื่อใดที่ผู้คนในตลาด อยู่ ในอารมณ์กลัว ราคาหุ้นในกระดานอาจลดลงต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของกิจการได้ ซึ่งนั่นก็เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า”

ว่าแต่ว่า คุณมีความอดทนมากพอไหม?

คอลัมน์ Money Tips โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 18 กันยายน 2549
สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

Author: admin

1 thought on “‘Value Investing’ รักแล้ว…ต้องอดทน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.