Tulip Mania “สบู่ฟองแรก” ของทุนนิยม : ธนาวรรณ อยู่ประยงค์ (MBA Magazine)

กรณีประวัติศาสตร์ที่ MBA ภูมิใจนำเสนอ เพื่อศึกษาพฤติกรรมความตื่นตระหนก (panic) ของมนุษย์ และเบื้องหลังพฤติกรรมอันชาญฉลาดของนักเก็งกำไรที่ฉกฉวยโอกาสทองเพื่อหวังปั่นราคาให้สูงเกินความเป็นจริง โดยผู้คนส่วนใหญ่ร่วมเห็นดีเห็นงามกับการเก็งกำไรจนโดดเข้าเล่นด้วย และเกิดภาวะฟองสบู่ (asset bubble)

.
“สบู่” ฟองแรกของทุนนิยม ครั้งหนึ่ง อลัน กรีนสแปน เคยแสดงความเห็นไว้ว่า การพุ่งขึ้นของดัชนีดาวน์สโจนส์เมื่อเดือนธันวาคมปี 1996 ซึ่งแตะที่ระดับ 6500 ไม่น่าจะเป็นเรื่องดีนักและเกินความจริง เพราะเขารู้ว่าระดับไหนเป็นระดับที่มันสมควรจะเป็น
.
อลัน กรีนสแปน เลยบอกให้ฟังว่า การพุ่งทะยานของตลาดหุ้นครั้งนั้นอาจเป็น “irrationality afoot” ก็ได้ จากนั้นอีก 3 ปีให้หลัง ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นอีก 50% ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปี 1999 อลัน กรีนสแปน ได้รับคำถามเช่นเดียวกันอีกว่า “การที่หุ้นพุ่งขึ้นมาแบบนี้ยังคงเป็น “irrational exuberance” อยู่อีกหรือไม่” คำตอบที่ได้รับจากท่านผู้เฒ่าท่านนี้คือ “บางอย่างคุณเองก็น่าจะรู้ได้หลังจากความจริงปรากฏ”
.
นัยของอลัน กรีนสแปน กำลังจะบอกให้รู้ว่า รอสักแป๊บ เดี๋ยวก็รู้เองว่าตอนจบเป็นยังไง มันจะสร้างความวุ่นวายอย่างไร อะไรทำนองนั้น
.
เหตุการณ์การพังทลายที่เกิดขึ้นหลายครั้งมีสาเหตุมาจากการที่ผู้คนมักจะแห่ทำอะไรตามๆกัน และเข้าร่วมลงแข่งในสนามเดียวกัน จนท้ายที่สุดแล้ว ผลที่ออกมาก็ไม่ได้มีผู้ชนะ กลับกลายเป็นว่าแต่ละคนก็ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นท่า
.
เหมือนอย่างกรณีความคลั่งของชาวดัชต์ในศตวรรษที่ 17 ที่ชนทุกชั้นโดดเข้าสู่ตลาดเก็งกำไรดอกทิวลิปกันเป็นทิวแถว ใน The Dutch Tulip Mania จนนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจทั้งประเทศ
.
ทิวลิป : ดอกไม้แห่งสัญญะ
.
.
ปฐมบทแรกของ ดอกทิวลิป เกิดขึ้นที่ประเทศตุรกี เมื่อมีการนำดอกทิวลิปเข้ามาในยุโรปจากจักรวรรดิออตโตมัน กลายมาเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเนเธอร์แลนด์ ความชื่นชอบดอกไม้นี้เป็นพิเศษจากผู้หลงใหล (fancier of the flower) ทำให้ทิวลิปได้รับการยกระดับให้เป็นดอกไม้ที่แสดงถึงความมั่งคั่ง ความสวยงาม และอำนาจ
.
โดยเฉพาะเมื่อใดที่ทิวลิปถูกนำไปปลูกไว้ในสวน ค่าความสวยงามของสวนดูดี มีสไตล์เพิ่มขึ้นทันตา ไม่เพียงเท่านั้น แฟชั่นจากดอกทิวลิปแสดงผ่านให้เห็นเครื่องแต่งกายของสุภาพสตรี โดยเฉพาะสุภาพสตรีชาวฝรั่งเศสที่นิยมนำดอกทิวลิปมาประดับบนปกเสื้อคลุมเพื่อบ่งบอกถึงความมีรสนิยม ส่วนชายใดก็ตามที่คิดจะจีบหญิงงาม ก็จะนำดอกทิวลิปไปมอบให้ มันจึงบ่งบอกสถานภาพทางสังคม และความร่ำรวยของผู้ให้ในยุคนั้นเอง
.
สภาพการเมืองและเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ก็กำลังพีคสุดขีดช่วยปลุกให้เกิดการแสวงหาสิ่งของหายาก เพราะอำนาจทางการเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วอิงอยู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สังคมของเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่เป็นสังคมเมือง โดยมีอุตสาหกรรมรองรับ ทั้งการค้า การเงิน การลงทุน
.
สภาพภูมิประเทศของเนเธอร์แลนด์มีชัยภูมิที่ดี เหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ พร้อมกับการพัฒนาระบบการเงิน กรุงอัมสเตอร์ดัมเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ตลาดสินเชื่อขนาดใหญ่และเป็นเมืองศูนย์กลางในการปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศอื่นๆ ระบบการเงินได้รับการพัฒนาให้โตตามความเจริญของเมือง ตลาดหุ้นยุคแรกก็เกิดขึ้นที่นั่น
.
.
Tulip Bubble
.
ความคลั่งไคล้ดอกทิวลิปเริ่มขึ้นจากพวกมือสมัครเล่นหัวใสที่คิดจะเก็งกำไรหัวทิวลิป โดยในปี 1636 เริ่มมีการนำทิวลิปเข้ามาค้าขายในตลาดหลักทรัพย์ตามเมืองต่างๆ เช่น Rotterdam,Harlaem, Leyden, Alkmar, Hoorn มีการขโมยหัวทิวลิปกันอย่างแพร่หลาย กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้เกิดการเก็งกำไรหัวทิวลิปขึ้นเป็นครั้งแรก ตลอดจนมีการพนันขันต่อกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ส่วนพวกนายหน้าหรือโบรกเกอร์ (tulip-jobber) ก็คาดเดากันไปต่างๆนานาว่า จะมีการเก็งราคาเพิ่มขึ้นไปอีก และกักตุนดอกทิวลิปอย่างกว้างขวาง โดยซื้อเมื่อราคาลดลง และขายออกไปเมื่อราคาเพิ่มขึ้น (ซื้อถูก ขายแพง)
.
ชาวดัชต์ต่างหันมาปลูกทิวลิป ละทิ้งผลผลิตทางการเกษตร แข่งกันปลูกแข่งกันขาย เพราะเห็นช่องทางรวย เพื่อนบ้านปลูกแล้วรวยขึ้นมาทันทีจึงเอาอย่างบ้าง ผู้คนต่างทยอยมุ่งหน้าสู่ตลาดดอกทิวลิป เหมือนกับแมลงวันตอมน้ำผึ้ง โดยไม่ได้นึกถึงปลายทางสุดท้ายว่าจะลงเอยอย่างไร ทุกคนจินตนาการถึงความมีเสน่ห์ ความหลงใหลของดอกทิวลิปที่จะคงอยู่ไปชั่วกาลนาน ขณะที่คนอีกฟากหนึ่งก็เดินทางเข้ามาเนเธอร์แลนด์ เพื่อหวังซื้อหัวทิวลิปแล้วนำกลับไปปลูกโดยยอมจ่ายเงินในราคาที่แพงลิบลิ่ว
.
The Tulip Speculators
.
ปรากฏการณ์ “Tulipmania” เกิดจากความคลั่งไคล้ระคนความบ้าคลั่งของคนที่คิดหวังจะกอบโกยจากการเก็งกำไรดอกทิวลิปตั้งแต่หัวยังอยู่ในดิน คิดดูเอาเองก็แล้วกันว่า หัวทิวลิปพันธุ์ Semper Augustus ซึ่งเป็นพันธุ์ดีเหมาะแก่การนำมาแตกหน่อเพื่อให้ได้ดอกทิวลิปที่สวยงาม มีราคาสูงจากการเก็งกำไรถึง 5,500 เหรียญกิลเดอร์ (ค่าเงินสกุลเนเธอร์แลนด์ในช่วงนั้น 1 เหรียญกิลเดอร์ มีค่าเท่ากับ 100 เซนต์)
.
คนยอมที่จะแลกสินค้ามากมายกับหัวทิวลิปเพียงหัวเดียวที่มีราคาถึง 2,500 เหรียญกิลเดอร์ อย่างการเอาข้าวสาลี ข้าวไรส์สี วัวอ้วน หมูหลายตัว เนย แม้กระทั่งเสื้อผ้า นำมาแลกกับหัวทิวลิป 1 หัว ประกอบกับความต้องการหัวทิวลิปที่เพิ่มขึ้นในฝรั่งเศส จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดขายหัวทิวลิปมากยิ่งขึ้น เอาแค่ว่าดอกทิวลิปหักๆ ยังขายได้ในราคา 1,000 เหรียญกิลเดอร์ ก็มีให้เห็น
.
ขณะที่ระบบการเงินและตลาดทุนที่พัฒนาไปไกลของเนเธอร์แลนด์ ช่วยเอื้อต่อตลาดการซื้อขายล่วงหน้า หรือการเข้าไปเก็งกำไร ลงทุนซื้อขายดอกทิวลิปในขณะที่ยังไม่มีสินค้าอยู่ในมือ (อย่าลืมว่าช่วงนั้นเนเธอร์แลนด์เป็นศูนย์กลางทางการเงิน และการปล่อยเงินกู้ เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ตลาดค้าดอกทิวลิปจึงเติบโตอย่างมาก) และการค้าขายหัวทิวลิปไม่ได้มีลักษณะใครอยากขายก็ขาย ใครอยากซื้อก็ซื้อกันอย่างสะเปะสะปะ แต่ต้องมีการกำหนดลักษณะของการค้าขายขึ้นมาโดยเป็นการซื้อขายสัญญามาตรฐานล่วงหน้า เพื่อจับจองหัวทิวลิปตั้งแต่ยังไม่โผล่พ้นดิน
.
รูปแบบของตลาดซื้อขายล่วงหน้าพัฒนาขึ้นมาในปี 1636 มีการพบปะกันในกลุ่มผู้ค้าหัวทิวลิปมากขึ้น จนเกิดเป็นกลุ่มที่เรียกว่า “Colleges” ซึ่งแต่ละคนต้องทำตามกฎระเบียบ การซื้อขายดอกทิวลิปจะเริ่มกันตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน เพราะช่วงนั้นหน่อเล็กๆจะแตกขึ้นมา ผู้ซื้อและผู้ขายก็จะลงนามซื้อขายล่วงหน้าและระบุวันเวลาที่แน่ชัดในการมารับหัวทิวลิป ถึงขนาดมีการแบ่งแยกหัวดอกทิวลิปและตลาดค้าดอกทิวลิปกันอย่างชัดเจน
.
การซื้อขายกลางอากาศนี้เอง เมื่อระดับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนผู้คนเริ่มรู้สึกว่า “เหลือเชื่อ” มันก็เลยกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาและเป็นจุดจบของความบ้าคลั่งดอกทิวลิป เสมือนหนึ่ง “ฟองสบู่แตก”
.
เพราะการซื้อขายล่วงหน้ากลับกลายเป็นว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของสินทรัพย์ ตลาดไม่ได้รองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ชาวดัชต์ก็ไม่ได้เตรียมเผื่อใจไว้ว่า ในปีนั้นพืชผลทางการเกษตรอาจจะตกต่ำหรือว่าฝนตกมากทำให้หัวทิวลิปที่เพาะไว้เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ เล็กไป ใหญ่ไป ไม่ได้คุณภาพตามที่ตกลงกันไว้ การซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นการซื้อขายที่มีลักษณะเป็นการสร้างดีมานด์และซัพพลายเทียม หรือคล้ายๆกับเป็นการซื้อขายที่ยังไม่มีสินค้ามาค้ำประกัน
.
ปิดฉากตำนาน Tulip Mania
.
ความบ้าคลั่งดอกทิวลิป เป็นอันต้องล่มสลายลงเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1637 เพียง 1 ปีให้หลัง วันนั้นเป็นวันที่ดอกทิวลิปมีราคาสูงสุด หัวทิวลิป 40 หัว ขายในราคาถึง 100,000 กิลเดอร์ ตกหัวละ 2,500 กิลเดอร์ ในวันเดียวกัน ราคาดอกหนึ่งมีหลายราคา แล้วก็ร่วงหล่น ความมั่นใจของคนซื้อถูกทำลายจนหมดสิ้น เกิดความตื่นตระหนก
.
.
เช่น ดีลเลอร์ A ลงความเห็นกันว่าให้ซื้อ Semper Augustus 10 หัว จาก B ในราคาหัวละ 4,000 เหรียญกิลเดอร์ จากนั้นอีก 6 สัปดาห์ต่อมา หลังเซ็นสัญญา B ก็ได้หัวดอกไม้ตามเวลาที่นัดหมายกันไว้ แต่ราคาตกลงไปอยู่ที่ 300-400 เหรียญกิลเดอร์ และดีลเลอร์  A ก็ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินส่วนที่หายไป และไม่มีใครรับคืน มีพวกผิดนัดชำระหนี้ทั่วประเทศ การเสนอราคาขายเพียง 1 ใน 3 ก็ยังแทบจะไม่มีคนซื้อ
.
ความพยายามที่จะหาหนทางแก้ไขปัญหา เห็นได้จากการเรียกประชุมกันในกลุ่มผู้ที่มีดอกทิวลิปว่าจะหามาตรการใดที่จะพยุงระบบการเงินเอาไว้ได้ และก็เห็นด้วยว่าควรจะให้รัฐช่วยเหลือกับหายนะครั้งนี้ แต่รัฐบาลก็ปฏิเสธที่จะเข้ามาแทรกแซง
.
วันที่ 27 เมษายน 1637 ท้ายที่สุดแล้ว The States of Holland ได้ตัดสินใจระงับการซื้อขายสัญญาชั่วคราว โดยให้ผู้ขายที่มีหัวทิวลิปได้รับสิทธิในสัญญาการขายหัวทิวลิปช่วงระหว่างการระงับสัญญา ส่วนผู้ซื้อก็ต้องยอมรับสัญญาและความต่างของราคาซื้อระหว่างราคาตลาดจริงกับราคาในช่วงที่ได้ทำสัญญาไปแล้ว แสดงว่าความล่มสลายของตลาดทิวลิปที่เกิดขึ้น
.
แม้ว่ารัฐจะเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้มีการใส่เข้าไปในระบบอย่างเพียงพอเหมือนกับวิกฤติครั้งหลังๆมานี้ ทำให้ราคาทิวลิปลดฮวบอย่างถาวร เป็นการ Wipe-out ความมั่งคั่งของสังคมทุนนิยม ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
.
ปรากฏการณ์นี้ สามารถนำมาเป็นบทเรียนสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่มักจะทำอะไรที่เหมือนกัน พฤติกรรมในการมุ่งแสวงหาทรัพย์ นักลงทุนที่เหมือนจะฉลาดแต่เอาเข้าจริงแล้ว กลับมีพฤติกรรมที่ดูขาดเขลา ไร้เหตุผล โดยกระโจนเข้าไปลงทุนเพราะเลียนแบบ เห็นว่าคนอื่นก็ลงทุนและทำเงินได้ดี
.
ในที่สุดแล้วผู้คนเหล่านั้นก็ลงทุนไปกับเงินจำนวนมหาศาลเพื่อแลกกับของสิ่งเดียว ซึ่งจริงๆแล้ว ตัวมันไม่ได้ควรค่าอะไรเลย คล้ายกับการลงทุนในหัวทิวลิปที่ยกขึ้นเป็นตัวอย่าง หรือแม้กระทั่งการแห่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว กำลังจะล้มละลาย เมื่อกลับมาบ้านอีกทีก็พบว่าพันธบัตรรัฐบาลนั้น มีค่าแค่กระดาษแผ่นเดียว (เมื่อค่าเงินลดลง)
.
ควรพิจารณาให้ดีว่าการทำตามกันนั้นเป็น การเก็งกำไร การเซฟ หรือการลงทุน ที่จะสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริงหรือไม่
.
“When everyone rushes in the same direction, it is hard for financial speculators to stand aside and recall the lessons of past stampedes”
.
.
Tulip Mania “สบู่” ฟองแรกของทุนนิยม
.
ธนาวรรณ อยู่ประยงค์
.
.
(รูปเพิ่มเติมจาก Google)
Author: admin

1 thought on “Tulip Mania “สบู่ฟองแรก” ของทุนนิยม : ธนาวรรณ อยู่ประยงค์ (MBA Magazine)

  1. Pingback: crai | Pearltrees

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.