Stay Hungry. Stay Foolish : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นักลงทุนจำนวนมาก หรือเกือบทั้งหมด ต่างก็เคยหรือประสบกับความล้มเหลวจากการลงทุน จำนวนมากทิ้งตลาดหุ้นและหันหลังจากการลงทุนในหุ้นอย่างสิ้นเชิง จำนวนที่มากกว่า อาจจะหนีตลาดหุ้นไปชั่วคราวและกลับมาใหม่เมื่อบาดแผลและความเจ็บปวดจางลงหรือลบเลือนไป

นั่นไม่ใช่หลักการลงทุนที่ดี การลงทุนที่ดีก็คงเหมือนกับการทำงานหรือการใช้ชีวิต เราต้องยืนหยัด รักในสิ่งที่ทำ มีศรัทธา  มีกำลังใจ  ไม่ท้อถอย และไม่น้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา

บทเรียนสำหรับ Value Investor ที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ เป็นเรื่องของ สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอของ Apple Computer และเป็นบุคคลที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นผู้นำคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาสู่ประชาชนคนธรรมดาทั้งโลก ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกชื่อของเขาในระนาบเดียวกับหรือเหนือกว่า บิล เกต เจ้าพ่อไมโครซอพท์

แต่ก่อนที่เขาจะมายืนอยู่ตรงจุดนี้ ชีวิตของเขาไม่ได้ราบเรียบ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ชีวิตเขาไม่ได้มี “แต้มต่อ” เลยสักนิด

และต่อไปนี้ คือสิ่งที่เขาเล่าให้เราฟัง เนื่องในโอกาสที่เขาได้รับเชิญให้ไปกล่าวสุนทรพจน์ ในพิธีรับปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในเดือนมิถุนายน 2005 ซึ่งต่อมา นิตยสาร ฟอร์บ ได้นำมาตีพิมพ์ เพราะได้รับการเรียกร้องจากผู้อ่านมาก เนื่องจากสุนทรพจน์ครั้งนั้นเป็นที่ประทับจับใจมาก และผมเชื่อว่ามันคงจะถูกบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นสุนทรพจน์ที่จะช่วยสร้างกำลังใจให้กับคนที่ดีที่สุดบทหนึ่ง และต่อไปนี้ คือใจความสรุปของเหตุการณ์ในชีวิต 3 เรื่อง ที่เขานำมาเปิดเผย

เรื่องแรกคือ ชีวิตที่เกิดมา จ็อบส์ บอกว่า เขาเกิดจากแม่ที่เป็นนักศึกษาที่ท้องโดยไม่ได้แต่งงาน และตัดสินใจยกลูกให้กับคนอื่น โดยมีเงื่อนไขว่า คนที่รับไปจะต้องจบปริญญา แต่โชคไม่เข้าข้าง พ่อแม่บุญธรรมที่รับจ็อบส์ไปเลี้ยงกลับเป็นคนชั้นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งสัญญาว่า จะให้จ็อบส์ได้เรียนจนจบปริญญาตามความตั้งใจของแม่ที่แท้จริงที่อยากให้ลูกกับคนที่มีการศึกษาที่ดี

17  ปีผ่านไป จ็อบส์ ก็ได้เข้ามหาวิทยาลัยจริง แต่อยู่ได้เพียง 6 เดือน เงินที่พ่อแม่สะสมไว้ก็หมด ทำให้เขาต้องพักการเรียนและใช้ชีวิตเตร็ดเตร่เข้าเรียนแบบไม่นับหน่วยกิตในวิชาที่ตนเองชอบอยู่อีก 18 เดือน ก่อนที่จะออกจากมหาวิทยาลัยจริงๆ

ชีวิตในช่วงที่เรียนและเตร็ดเตร่ในมหาวิทยาลัยของเขา เป็นช่วงชีวิตที่ยากลำบาก เขาต้องไปอาศัยอยู่กับเพื่อน เก็บกระป๋องโค๊กไปขายเพื่อหาเงิน และต้องเดินทางฝ่าอากาศที่หนาวเหน็บถึง 7 ไมล์ในวันอาทิตย์ เพื่อที่จะได้กินอาหารดีๆ ที่โบสถ์พราหมณ์จัดเลี้ยง ในตอนนั้น เขาไม่รู้ว่า สิ่งที่เขาประสบและเรียนจะเอาไปใช้อะไรได้   แต่เมื่อมองย้อนกลับ มันก็ให้อะไรกับเขามากมาย ตัวอย่างเช่นวิชาการออกแบบตัวอักษรที่เขาเลือกเรียน ซึ่งต่อมาเมื่อเขาออกแบบคอมพิวเตอร์รุ่นแมค เขาก็ได้นำความรู้นั้นมาใช้ จนทำให้คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันที่เลียนแบบจากแมค มีตัวอักษรที่สวยงาม

จ็อบส์ สรุปว่า ในชีวิตคนเรานั้น เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ก็เหมือนจุดๆหนึ่งที่เราต่อมันไปเรื่อยๆ เราไม่รู้ว่าจุดข้างหน้าจะเป็นอะไร เรารู้ว่ามันเป็นอะไรก็ต่อเมื่อเรามองย้อนหลัง เราต้องเชื่อมั่นหรือศรัทธาในอะไรสักอย่าง ความกล้าหาญ สัญชาติญาณ ชะตาชีวิต หรือ กรรม สิ่งนี้ทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างที่เป็นอยู่

เรื่องที่สอง เกี่ยวกับความรักและการสูญเสีย จ็อบส์ บอกว่า เขาโชคดีที่พบกับสิ่งที่รักจะทำตั้งแต่วัยหนุ่ม เขาก่อตั้งบริษัท  Apple ในโรงรถของพ่อแม่ ตอนอายุ 20 ปี ภายใน 10 ปี แอปเปิลก็กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ คอมพิวเตอร์แมคอินทอชก็เป็นคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุด แต่แล้วเขากลับถูกไล่ออกจากบริษัทที่เขาเป็นคนก่อตั้ง โดยคนที่ทำให้เขาถูกปลด ก็คือคนที่เขารับเข้ามาทำงานเอง เหตุการณ์ที่เขาถูกคณะกรรมการปลดนั้นเป็นเรื่องที่โด่งดังมาก ในตอนนั้นเขารู้สึกว่าเขาไม่เหลืออะไรเลย เขาคิดจะออกจากธุรกิจไอที แต่สุดท้ายเขาก็คิดว่า เขายังรักในสิ่งที่เขาทำ และได้กลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งอย่างคนที่ดูเหมือนไม่มีต้นทุนอะไรที่จะต้องสูญเสียอีก

ในช่วง 5  ปีต่อมา เขาก็ได้สร้างบริษัทใหม่คือ Next  และ Pixar และได้แต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นภรรยาตอนนี้ Pixar ผลิตภาพยนตร์แอนนิเมชั่นเรื่องแรกของโลกคือ Toy Story และเป็นสตูดิโอที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ส่วน Next นั้น ก็ได้มารวมกับ Apple และ จ็อบส์ ก็ได้กลับมาคุม Apple อีกครั้งหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ

จ็อบส์ สรุปว่า สิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จถึงวันนี้ได้นั้น มาจากการที่เขารักในสิ่งที่เขาทำ และเชื่อว่างานที่เขาทำเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีความหมาย ส่วนการที่เขาถูกไล่ออกจากแอปเปิลนั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้น เขาบอกว่า บางทีชีวิตก็เล่นกับเราแรง แต่ขอให้เราอย่าเสียความเชื่อมั่นศรัทธา

เรื่องสุดท้ายก็คือ เรื่องเกี่ยวกับความตาย เขาบอกว่า เมื่อตอนอายุ 17 ปี เขาประทับใจกับคำพูดของคนๆหนึ่ง ที่บอกว่า “ถ้าคุณใช้ชีวิตในแต่ละวันเหมือนกับเป็นวันสุดท้ายในชีวิตของคุณ สักวันคุณจะดีขึ้นอย่างแน่นอน” ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาจะถามตัวเองทุกเช้าว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย เขาอยากจะทำอะไรบ้าง

และถ้าคำตอบคือ เขาไม่รู้จะทำอะไรติดต่อกันหลายๆวัน เขาก็รู้ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแล้ว การทำแบบนี้ จะทำให้เขานึกถึงแต่สิ่งที่เป็นแก่นในชีวิตจริงๆเท่านั้น เพราะเกือบจะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังจากคนภายนอก ความภูมิใจ การกลัว การเสียหน้า หรือความล้มเหลว ล้วนแต่ไม่เป็นสาระทั้งสิ้น เมื่อเราต้องเผชิญกับความตาย

ตอนท้ายของเรื่องนี้ จ็อบส์เล่าว่า เขาเคยถูกตรวจพบว่าตนเองเป็นมะเร็งที่ตับอ่อน และหมอลงความเห็นว่าจะต้องตายภายใน 3-6 เดือน แต่แล้วเมื่อมีการตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ กลับปรากฏว่ าเขาโชคดีที่เป็นมะเร็งที่สามารถรักษาได้ และเขาก็รอดมาได้ เขาไม่อยากตาย และเชื่อว่าไม่มีใครอยากตายแม้ว่าจะได้ไปสวรรค์ แต่เขาคิดว่าความตายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดของชีวิต เพราะมันช่วยกำจัดคนเก่าเพื่อเปิดทางให้คนใหม่ ซึ่งตอนนี้ก็คือ พวกนักศึกษาทั้งหลายที่จะค่อยๆแก่ไปในที่สุด

เพราะฉะนั้น ชีวิตของคนมีเวลาจำกัด จงอย่าเสียเวลาใช้ชีวิตอยู่บนชีวิตของคนอื่น อย่าให้คนอื่นมากดความต้องการที่แท้จริงภายในใจเรา จงมีความกล้าหาญที่จะก้าวเดินตามสิ่งที่หัวใจเรียกร้อง

บทจบของสุนทรพจน์ จ็อบส์ ยกคำบรรยายภาพของนิตยสาร The Whole Earth Catalog ฉบับสุดท้ายที่เขาเคยอ่านในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเขามีอายุเท่าๆ นักศึกษาตอนนี้ คำๆนั้นอยู่ใต้ภาพถนนในชนบทยามเช้า เขียนว่า Stay Hungry. Stay Foolish จงหิวโหย  จงโง่เขลา ผมคงไม่ต้องอธิบายความหมาย เพียงแต่อยากเพิ่มเติมสำหรับนักลงทุน Stay Calm. Stay Invest จงสงบ จงลงทุน ไม่ว่าจะเกิดอะไรกับตลาดหุ้น

Stay Hungry. Stay Foolish

โลกในมุมมอง Value Investor

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

25 ธันวาคม 2550

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.