คุณภาพของกำไร : คเชนทร์ เบญจกุล (Invisible Hand)

เพื่อนๆหลายคนอาจจะเคยสงสัยว่า หุ้นบางตัวทำไม p/e ต่ำมาก แต่เมื่อซื้อไปแล้ว ราคาหุ้นก็ไม่ไปไหน บางตัวอาจจะต่ำกว่าพื้นฐานจริงๆ แต่หลายๆตัวอาจจะซื้อขายอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมแล้ว เพราะตัวที่กำหนด p/e  ปัจจัยหนึ่งคือ “ คุณภาพของกำไร ” ครับ

คุณภาพของกำไรจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้ครับ

1. แนวโน้มของความสม่ำเสมอของกำไร

– หุ้นบางตัวอาจจะมีกำไรดีเพียงปีใดปีหนึ่งหรือชั่วครั้งชั่วคราว และมีผลการดำเนินงานย้อนหลังไม่สม่ำเสมอ เช่น บางปีกำไรน้อย บางปีกำไรมาก หรือบางปีขาดทุน บางปีกำไร หุ้นประเภทเหล่านี้มีคุณภาพของกำไรต่ำครับ หุ้นเหล่านี้มักจะเป็นหุ้นวัฎจักร ที่มีผลการดำเนินงานขึ้นลงตามรอบของราคาผลิตภัณฑ์ หรือเป็นหุ้นที่มียอดขายแปรผันตามเศรษฐกิจมากๆ หรืออาจจะเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูง เช่น หุ้นที่ต้องใช้แร่ธาตุเป็นสัดส่วนสูงในการผลิต หรือหุ้นการเกษตรที่กำไรในแต่ละปีมีความสัมพันธ์กับราคาวัตถุดิบ ดินฟ้าอากาศ หรือโรคระบาด หุ้นเหล่านี้ถือว่ามีคุณภาพของกำไรต่ำครับ

– ส่วนหุ้นที่มีคุณภาพของกำไรสูง คือหุ้นที่มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่องของกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำไรสามารถเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วย หุ้นเหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่มีความนิยมในตัวแบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์สูงและลูกค้ามักจะมีการซื้อซ้ำ หรือมีต้นทุนในการ switching ไปใช้สินค้าคู่แข่งสูง

– นอกจากนี้ยังรวมถึงหุ้นที่มีฐานรายได้มั่นคงจากการให้เช่า ซึ่งหมายความว่าหากลูกค้าเดิมยังอยู่ รายได้ในปีนี้จะเป็นฐานของปีต่อไป และหากมีลูกค้าเพิ่มหรือมีการขยาย ก็จะทำให้ฐานรายได้เพิ่มขึ้นไปตลอด

2. รูปแบบการรับรู้รายได้

– หุ้นบางตัวมีการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรสูง แต่รายได้ทั้งหมดเป็นลูกหนี้การค้า คือ ให้เครดิตกับลูกค้า หุ้นประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพของกำไรต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากระยะเวลาที่ให้เครดิตกับลูกค้านานกว่าระยะเวลาการได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้การค้าด้วย (A/R day ต่ำว่า A/P day) หุ้นประเภทเหล่านี้เวลารายได้เพิ่มขึ้นจะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง และมีความเสี่ยงจากการเกิดหนี้สูญในอนาคตด้วย

– นอกจากนี้ หากหุ้นดังกล่าวมี net margin คืออัตรากำไรเทียบยอดขายต่ำ ก็จะยิ่งทำให้คุณภาพของกำไรแย่ลงไปอีก เนื่องจากแสดงว่าการจะได้มาซึ่งกำไรเพิ่มขึ้น 1 บาท จะต้องใช้ยอดขายเพิ่มจำนวนมาก  ซึ่งต้องหมายความว่าจะใช้เงินทุนหมุนเวียนสูงกว่าหุ้นที่มี net margin สูง

– หุ้นที่มีการรับค่าสินค้าและบริการเป็นเงินสด หรือจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือสูง เช่น จากผู้ให้บริการบัตรเครดิต จะเป็นหุ้นที่มีคุณภาพของกำไรสูงกว่า

3. หุ้นที่ต้องการใช้เงินลงทุนสูงในการเพิ่มกำไร

– ธุรกิจบางประเภทหากต้องการเพิ่มกำไร จะต้องมีการลงทุนใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้กำไรที่ได้ในปีปัจจุบันจะต้องถูกเก็บไว้สำหรับลงทุนใหม่ๆตลอดเวลาเพื่อเพิ่มยอดขาย หุ้นเหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่เรียกว่า capital intensive ถือว่ามีแนวโน้มของคุณภาพกำไรที่ต่ำ

– โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นธุรกิจที่การขยายโครงการให้ผลตอบแทนโดยวัดจาก IRR หรือ ROA ไม่สูงนัก เมื่อผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำ ก็จะทำให้ต้องใช้เงินทุนสูงในการสร้างกำไรที่เพิ่มขึ้น 1 หน่วย หุ้นดังกล่าวมักจะต้องมีต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น

– ดังนั้นหุ้นประเภทนี้ หากรายได้ลดลงเมื่อไหร่ กำไรจะลงเร็วมาก เพราะต้นทุนคงที่ที่เพิ่มขึ้นไปแล้วจะไม่ลดลง หุ้นประเภทดังกล่าวมักจะต้องมีเงินกู้ระดับสูงตลอดเวลา จึงทำให้มีความเสี่ยงทางการเงินสูง นอกจากนี้จะส่งผลต่ออัตราการจ่ายเงินปันผลด้วย กล่าวคือ หุ้นประเภทดังกล่าวมักจะมี p/e ต่ำ แต่มี dividend yield ต่ำเช่นกัน หุ้นประเภทดังกล่าวมักจะเป็นหุ้นโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ของตัวเอง

4. หุ้นที่มีคุณภาพของกำไรที่ต่ำมากไปอีกคือ หุ้นที่จะต้องมีการลงทุนตลอดเวลาเพื่อรักษารายได้และกำไรให้คงที่

– หุ้นประเภทนี้มักจะเป็นหุ้นที่กระบวนการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเร็วมาก ดังนั้นหุ้นประเภทดังกล่าวนอกจากกำไรจะแทบไม่เพิ่มแล้ว ปันผลก็จะอยู่ในระดับต่ำตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการลงทุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือก้าวตามเทคโนโลยีไม่ทันอีกด้วย

หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่า หุ้นธนาคาร ก็เป็นหุ้นที่มีคุณภาพของกำไรค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ ปัจจุบันธนาคารมีต้นทุนเงินฝาก 2% โดยประมาณ และปล่อยกู้ได้เฉลี่ย 6% ดังนั้นผลตอบแทนของสินทรัพย์หลังหักค่าใช้จ่ายจะอยู่ประมาณ 3% ดังนั้น การที่ธนาคารจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 3 บาท จะต้องเพิ่มสินทรัพย์ถึง 100 บาท โดยสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นก็มีความเสี่ยงด้วยเพราะเป็นลูกหนี้ธนาคาร ดังนั้นก็เท่ากับว่าหากลูกหนี้ 100 บาท ที่เพิ่มมานั้น สามารถชำระได้เพียง 50 บาท ก็เท่ากับว่า ธนาคารต้องทำงานเพื่อชดเชยเงินให้กู้ที่หายไปถึง 16 ปี

หุ้นที่มีคุณภาพของกำไรสูงคือ หุ้นที่สามารถเพิ่มรายได้และกำไร โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มหรือลงทุนค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น

ข้อสังเกตของหุ้นที่มีคุณภาพของกำไรต่ำก็คือ แม้ว่า p/e จะต่ำ แต่ก็จะมีอัตราการจ่ายปันผลที่ต่ำ และจำนวนหนี้สินไม่ลดลง หรือเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และท้ายสุดอาจจะต้องเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาขยายกิจการ

และหุ้นทึ่มีคุณภาพของกำไรต่ำ หลายบริษัทไม่สามารถยืนได้ในระยะยาวๆ วันหนึ่งมักจะพบกับปัญหาต่างๆ เช่น หนี้สูญ ภาวะถดถอยของธุรกิจที่ทำให้ต้องมีปัญหาด้านการชำระเงินกู้ หรือการลดลงของรายได้หรือกำไรอย่างรวดเร็วที่เกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาวัตถุดิบ ปัจจัยด้านธรรมชาติหรือโรคระบาดต่างๆ

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของกำไร ยังมีประเด็นปลีกย่อยอยู่บ้าง และผมอาจจะเสริมอีกที หวังว่าบทความนี้ คงจะเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า ทำไมหุ้นบางตัว p/e ต่ำแต่ไม่น่าซื้อ หรือหุ้นบางตัว p/e สูง แต่ทำไมยังขึ้นไปอีกเรื่อยๆครับ

คุณภาพของกำไร

โดย คเชนทร์ เบญจกุล (Invisible Hand)

ที่มา : http://www.thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=16119

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.