‘ขนาดการเทรดเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด’ : โดย Mark Minervini

หนึ่งในคำถามที่ผมถูกถามบ่อยที่สุดก็คือ มีวิธีการอย่างไรในการกำหนดขนาดการเทรด (position size) ให้เหมาะสมในแต่ละครั้ง

และการถามตอบหัวข้อนี้ก็จะนำไปสู่คำถามต่อไปว่า “เราควรถือหุ้นกี่ตัวในพอร์ต?”

จริงอยู่ที่หากพอร์ตของคุณโฟกัสกับหุ้นเพียงไม่กี่ตัว คุณก็มีโอกาสทำกำไรได้มากขึ้นในเวลาที่สั้นลง ซึ่งมันขึ้นอยู่กับว่าการเทรดนั้นไปตามที่คุณต้องการหรือเปล่า

แต่กฏข้อแรกเลยก็คือ คุณต้องไม่ทุ่มซื้อหุ้นตัวเดียวหมดพอร์ต เพราะมันเป็นการเสี่ยงที่มากเกินไป

ถ้าคุณหวังว่าจะทำผลตอบแทนขั้นเทพได้ด้วยการเสี่ยงหมดพอร์ต คุณก็น่าจะขาดทุนเละเทะจนแทบหมดตัวซะมากกว่า!

ถึงจะมีโอกาสแค่ 1% ที่จะหมดตัวก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ คุณต้องจำไว้ว่า คุณไม่ได้เทรดอีกแค่ครั้งเดียวในชีวิตนี้

แม้ว่ามันจะมีโอกาสแค่ 1 ใน 100 ที่จะเกิดหายนะเลวร้าย แต่ความโชคร้ายก็อาจเกิดขึ้นได้กับคุณ

เพราะว่าคุณจะต้องเทรดไปอีกอย่างน้อยหนึ่งร้อยครั้ง และอาจจะเทรดอีกเป็นพันๆครั้งตลอดช่วงชีวิตของคุณ

ดังนั้น ทุกครั้งที่คุณทุ่มหมดพอร์ตกับหุ้นตัวเดียว คุณก็กำลังท้าทายโชคชะตาของตัวเอง

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าคุณต้องการผลตอบแทนระดับสุดยอด การกระจายพอร์ตของคุณมากจนเกินไปก็ไม่เป็นผลดีเช่นกัน

การกระจายพอร์ตเป็นกลยุทธ์ที่หว่านการลงทุนออกไปในหุ้นหลายๆตัวที่แตกต่างกัน เพื่อจำกัดการขาดทุนหากมีเหตุการณ์หรือการร่วงลงอย่างแรงในหุ้นหรืออุตสาหกรรมตัวใดตัวหนึ่งเป็นการเฉพาะ

กลยุทธ์นี้เกิดขึ้นจากแนวคิดว่าโดยเฉลี่ยแล้วหุ้นทั้งหมดจะมีผลตอบแทนคาดหวังเป็นบวก การกระจายพอร์ตยังช่วยในเรื่องจิตวิทยาและอารมณ์ได้ดีกว่าการลงทุนหุ้นตัวเดียว

เพราะว่าความผันผวนในระยะสั้นในหุ้นตัวเดียวนั้นอาจจะถูกชดเชยได้จากหุ้นตัวอื่นๆในพอร์ต จึงทำให้ความผันผวนในระยะสั้นของพอร์ตลงทุนจะไม่รุนแรงมากนัก

แต่เป้าหมายของคุณควรจะเป็นการใช้ขนาดการเทรดที่เหมาะสม ขนาดการเทรดของคุณควรจะถูกกำหนดโดยความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ ถ้าหากการเทรดนั้นไม่เป็นไปตามที่คุณคาด

สมมติว่าพอร์ตของคุณคือ 100,000 เหรียญ และคุณซื้อหุ้นตัวเดียว 50% ของพอร์ต (50,000 เหรียญ) หากคุณใช้จุด stop 10% ก็เท่ากับว่าคุณจำกัดการขาดทุนเอาไว้ที่ 5,000 เหรียญ ซึ่งจะเท่ากับ 5% ของเงินลงทุนทั้งหมด (total equity) ของคุณ

แต่ก็ยังนับว่าเป็นการเสี่ยงมากเกินไป เพราะถ้าคุณพบกับช่วงที่ขาดทุนติดต่อกันหลายครั้ง คุณก็กำลังมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนติดต่อกันจนหมดตัว

แทนที่จะกำหนดตัวเลขความเสี่ยงตามใจชอบ คุณควรจำกัดระดับความเสี่ยงสูงสุด (maximum risk) ในการเทรดแต่ละครั้งไว้ไม่เกิน 1.25% – 2.5% ของเงินลงทุนทั้งหมดของคุณ

ยิ่งคุณมีประสบการณ์น้อยเท่าไร คุณก็ควรจะรับความเสี่ยงให้น้อยลง เพราะคุณยังอยู่ในช่วงแรกของการเรียนรู้ ทำให้มีโอกาสทำผิดพลาดและขาดทุนบ่อยกว่าคนที่มีประสบการณ์พอสมควร

แนวทางในการกำหนดขนาดการเทรด (position sizing)

• กำหนดความเสี่ยงในกรอบ 1.25%–2.50% ของเงินลงทุนทั้งหมด

• ตั้งจุดตัดขาดทุน (stop) สูงสุดไม่เกิน 10%

• ผลขาดทุนเฉลี่ยไม่ควรเกิน 5-6%

• อย่าถือหุ้นตัวเดียวมากกว่า 50% ของพอร์ต

• ตั้งเป้าขนาดการเทรดที่ 20-25% ในหุ้นตัวที่ดีที่สุด

• ถือหุ้นไม่เกิน 10-12 ตัว (16-20 ตัวสำหรับนักลงทุนมืออาชีพที่พอร์ตใหญ่มาก)

มันขึ้นอยู่กับขนาดของพอร์ตคุณและระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ โดยปกติคุณควรถือหุ้น 4 ถึง 8 ตัว และสำหรับคนที่พอร์ตใหญ่อาจจะถือเยอะถึง 10 หรือ 12 ตัว

ซึ่งจำนวนนี้ก็ทำให้คุณมีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอโดยที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป มันไม่จำเป็นเลยที่จะต้องถือหุ้นมากกว่า 20 ตัว หรือถือหุ้นเพียงตัวละ 5% ของพอร์ต (ถ้าหากถือแต่ละตัวในสัดส่วนที่เท่ากัน)

ผมชอบที่จะมุ่งเน้นให้เงินลงทุนของผมอยู่ในกลุ่มหุ้นตัวที่ดีที่สุด อย่างเช่นการถือหุ้นที่ผมเลือกมาอย่างดีแล้ว 4-5 ตัว ในสัดส่วนตัวละ 20-25% ของพอร์ต

แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนี้ตลอดเวลา บ่อยครั้งผมจะเริ่มต้นเทรดจากขนาดเล็กๆประมาณ 5-10% ของพอร์ต เพื่อที่ความเสี่ยงของผมจะได้ต่ำลง และรอจนกระทั่งหุ้นตัวนั้นพิสูจน์ตัวเองได้

เมื่อหุ้นเริ่มวิ่งขึ้นไปอย่างที่ผมคาดหวัง ผมก็จะเพิ่มขนาดการเทรดหุ้นตัวนั้น หรือซื้อหุ้นตัวอื่นที่ผ่านเกณฑ์ของผมเพิ่มเข้ามาในพอร์ต

เมื่อผมซื้อหุ้นตัวที่ดูดีที่สุด 4-5 ตัวในสัดส่วนมากพอสมควรของพอร์ต ผมไม่ได้หลับหูหลับตาถือมันไปเรื่อยๆโดยที่ไม่สนใจอะไรอีกเลย

ผมยังคงประเมินและตรวจสอบหุ้นในพอร์ตเป็นประจำเพื่อดูว่าหุ้นตัวไหนที่ทำผลงานได้ดีที่สุด และมีหุ้นตัวใหม่ในลิสเริ่มวิ่งขึ้นบ้างหรือใหม่

ถ้าผมมีหุ้นที่ผลงานดีมากอยู่ในพอร์ต ผมก็จะให้เวลากับหุ้นตัวนั้นในการรอให้มันวิ่งขึ้นต่อไป

แต่ถ้าหุ้นตัวไหนไม่วิ่งขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสม หรือเริ่มดูเหมือนจะหมดแรง มันก็อาจจะถึงเวลาที่จะจัดสรรเงินไปหาตัวเลือกใหม่ๆที่ดูน่าสนใจกว่า

นึกภาพพอร์ตหุ้นของคุณเหมือนการทำสวน คุณถอนวัชพืชออกและรดน้ำดอกไม้ ใส่ปุ๋ยใส่ใจกับสิ่งที่คุณต้องการเห็นมันเติบโตและกำจัดสิ่งที่ไม่ต้องการและสิ้นเปลืองทรัพยากรทิ้งไปให้หมด

คุณจะพบว่าหุ้นบางตัวในพอร์ตของคุณไม่ใช่ “ดอกไม้” ที่ออกดอกสวยงามอย่างที่คุณคาดหวังว่ามันจะเป็น แต่มันกลับดูเหมือนจะกลายเป็นวัชพืชเสียมากกว่า

ซึ่งนี่ไม่ได้หมายถึงแค่ว่าหุ้นตัวนั้นร่วงลงมาถึงจุด stop ของคุณ มันอาจจะอยู่นิ่งๆไม่ขยับไปไหน ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆเลย

เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะต้องพิจารณาให้ดีว่าเงินของคุณควรนำไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นที่มีโอกาสเกิดการเคลื่อนไหวมากกว่า..

*ตัวอย่างจากหนังสือ Think & Trade Like a Champion ภาษาไทย

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.