IQ , EQ , PQ : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 4660

นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จสูงในระยะยาวได้นั้น ผมคิดว่าจะต้องมีความสามารถหรือความฉลาดในหลายมิติทั้งในด้านของความคิด อารมณ์ และร่างกาย พูดให้เท่ก็คือต้องมี IQ , EQ และ PQ ในระดับที่สูงพอสมควร จะเด่นเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งมากโดยที่อีกด้านหนึ่งขาดแคลนไม่ได้

IQ หรือความฉลาดทางด้านความคิดนั้น ผมคิดว่ามีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ตัวธุรกิจและหุ้นที่จะลงทุน แต่ผมเชื่อว่าคนที่มี IQ ตั้งแต่ 100 ขึ้นไปจะสามารถเรียนรู้การวิเคราะห์หุ้นที่จำเป็นได้โดยที่คุณภาพอาจจะต่างจากคนที่มี IQ 130 ไม่มาก

สิ่งที่จะต้องเรียนรู้ในการที่จะเลือกหุ้นเพื่อลงทุนนั้น นอกจากจะต้องเข้าใจตัวธุรกิจว่าเขาค้าขายอะไรและทำงานกันอย่างไรแล้ว นักลงทุนควรจะต้องรู้เรื่องบัญชีซึ่งประกอบด้วยงบดุล ซึ่งแสดงถึงฐานะการเงินของกิจการ และงบกำไรขาดทุนซึ่งบอกถึงผลการดำเนินงานในแต่ละปีด้วย

พูดถึงเรื่องบัญชีแล้วก็ทำให้คนที่ไม่ได้เรียนมาทางสายธุรกิจหวั่นวิตกว่าจะไม่สามารถเรียนรู้ให้เข้าใจได้เพราะไปนึกถึงตัวเลขต่างๆ มากมาย ข้อนี้ขอให้สบายใจได้ เพราะงบบัญชีที่นักลงทุนจะต้องเรียนรู้นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องลึกซึ้งแบบนักบัญชีหรือนักการเงิน ดังนั้นคนธรรมดาที่มี IQ ปกติและไม่เคยเรียนบัญชีมาก่อน รวมทั้งไม่มีความชำนาญในด้านของตัวเลขก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้โดยใช้เวลาไม่มาก
                        
นอกจากเรื่องของบัญชีแล้ว การวิเคราะห์ความถูกความแพงของหุ้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ ตัวเลขมาตรฐานที่ใช้กันมากก็คือค่า PE , PB , DP หรือการเอาราคาหุ้นในตลาดมาเปรียบเทียบกับกำไร มูลค่าหุ้นทางบัญชี และปันผล ซึ่งได้มาจากงบการเงินที่กล่าวข้างต้น ตัวเลขเหล่านี้มีแสดงในหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจ และในเวบไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ด้วย

ข้อสรุปก็คือ เรื่องของ IQ ที่ต้องใช้ในการวิเคราะห์หรือเลือกหุ้นที่น่าลงทุนนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องสูงมาก ว่าที่จริง การวิเคราะห์หุ้นนั้นใช้ Common Sense หรือสามัญสำนึกมากกว่าทักษะทางด้านบัญชีและตัวเลขมาก ดังนั้นความแตกต่างของ IQ จึงน่าจะมีส่วนต่อความสำเร็จทางการลงทุนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับองค์ประกอบต่อไปนั่นคือ EQ

EQ หรือบางทีเรียกว่าเป็นความฉลาดทางอารมณ์นั้น ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันนักในเรื่องของการลงทุน แต่ผมคิดว่า EQ มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อความสำเร็จในการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยที่ตลาดเต็มไปด้วยการเก็งกำไรและการลงทุนเรียกว่าการ “เล่น” หุ้น

EQ ที่จำเป็นและผมเชื่อว่าเป็นตัวที่จะกำหนดความสำเร็จของการลงทุนค่อนข้างมากก็คือความมีเหตุผล ไม่หวั่นไหวกับสิ่งเร้าใจที่มาจากตลาด ความพึงพอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน พูดง่ายๆ ก็คืออย่าโลภ

ผมคิดว่าคุณสมบัติทางด้าน EQ ที่สำคัญมากอีกอย่างในการลงทุนก็คือความอดทน อดกลั้น และความใจเย็น  ซึ่งจะทำให้การซื้อขายหุ้นแต่ละครั้งมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและทำแต่น้อยซึ่งจะช่วยประหยัดค่าคอมมิชชั่นและการซื้อขายมีความถูกต้องแน่นอนกว่าการซื้อขายที่เกิดจากสิ่งเร้าใจภายนอก หรือพูดง่ายๆ ว่าในเรื่องของการลงทุนนั้นอย่ารีบ

ความฉลาดทางอารมณ์อีกข้อหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าที่กล่าวมาแล้วก็คือ เรื่องของความศรัทธา ความเชื่อมั่นที่มีต่อหลักการในการลงทุนที่ตนเองยึดมั่น หลังจากที่ได้ศึกษาไตร่ตรองและปฏิบัติจนเห็นว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมและถูกต้องกับตนเองแล้ว

พูดถึงเรื่องความเชื่อหรือความศรัทธานั้นโดยส่วนตัวผมคิดว่านักลงทุนที่มีความสามารถสูงและประสบความสำเร็จในระยะยาวจำเป็นที่จะต้องมีสไตล์หรือรูปแบบที่มองเห็นได้ชัดเจนและแนวความคิดหรือวิธีการที่ใช้นั้นมักจะมีพื้นฐานหรือแนวทางจาก “อาจารย์” หรือความคิดของปราชญ์รุ่นก่อนๆ ที่ได้ศึกษาค้นคว้าและเสนอแนวความคิดและทฤษฎีที่มีคุณค่าเหล่านั้น

วอเรน บัฟเฟตต์ เป็นตัวอย่างที่นักลงทุนทุกคนควรเอาเป็นตัวอย่างในแง่ที่ว่า เขาเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในโลก แต่เมื่อพูดว่าใครคือคนที่สร้างให้เขาเป็นอย่างนั้น เขาบอกว่าเบน เกรแฮม คือคนคนนั้น และแม้ว่าวิธีการการลงทุนของบัฟเฟต จะแตกต่างจากแนวความคิดของ เบน เกรแฮม มาก แต่บัฟเฟตไม่เคยพูดวิจารณ์ เบน เกรแฮมในทางที่เสียหายตรงกันข้ามเขาบอกว่า หลักการของเบนเกรแฮมคือสิ่งที่ถูกต้องตลอดกาล พูดสั้นๆ ก็คือเขาบูชา เบน เกรแฮม และถือว่าเป็นอาจารย์ที่มีอิทธิพลต่อเขารองจากพ่อของตัวเอง

องค์ประกอบสำคัญตัวสุดท้ายที่ผมใช้คำว่า PQ นั้นย่อมาจากคำว่า Physical  Quotient เลียนแบบ IQ และ EQ ความหมายก็คือความสามารถทางด้านของร่างกายของนักลงทุน

ที่จริงการลงทุนนั้นไม่ได้ใช้กำลังทางร่างกายอะไรนัก แต่ร่างกายและจิตใจนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งแค่ไหนผมคงไม่ต้องพูดถึง ดังนั้นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็จะได้เปรียบคนที่อ่อนแอหรือเป็นโรคในแง่ของการใช้ความคิดวิเคราะห์และศึกษาหาหุ้นที่จะลงทุน

แต่เรื่องที่ทำให้ PQ มีผลต่อความสำเร็จในการลงทุนมากนั้นผมคิดว่าอยู่ที่เรื่องของอายุของนักลงทุน หรือถ้าพูดให้เฉพาะเจาะจงก็คือเวลาที่เหลืออยู่สำหรับการลงทุน

ผมเองคิดว่าถ้าไม่เป็นโรคภัยอะไรและมีสุขภาพดีพอประมาณ คนรุ่นนี้น่าจะมีความสามารถในการลงทุนได้จนอายุประมาณ 75 – 80 ปี สำหรับคนที่เลือกที่จะลงทุนตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นคนที่ยังมีอายุน้อยเช่นเด็กที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ และเริ่มเข้ามาศึกษาและลงทุนย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนสูงกว่าผมซึ่งอายุขึ้นเลขห้าแล้ว

เหตุที่ระยะเวลาการลงทุนมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการลงทุน ผมได้เคยเขียนไว้แล้วหลายครั้ง แต่ถ้าจะทบทวนสั้นๆ อีกครั้งก็คือ ถ้านักลงทุนสามารถทำผลตอบแทนได้เฉลี่ยปีละ 15% ภายใน 5 ปี ก็สามารถทำเงินเพิ่มเป็นหนึ่งเท่าตัว และเงิน 1 ล้านบาทภายในเวลา 50 ปี ก็จะกลายเป็น 1,000 ล้านบาท ดังนั้นสำหรับคนอายุ 25 ปี และตั้งใจลงทุนตลอดชีวิตด้วยหลักการลงทุนที่ถูกต้องจึงมีโอกาสที่จะเป็นเศรษฐี 1,000 ล้านบาทได้ ในขณะที่คนอายุ 50 ปีจะมีโอกาสทำเงินเพิ่มได้เพียงไม่เกิน 20-30 เท่า

วอเรน บัฟเฟตต์ เป็นตัวอย่างของความสมบูรณ์แบบของ IQ , EQ และ PQ เขาเป็นคนที่มี IQ สูงทีเดียวตามที่ผมเห็น EQ นั้นไม่ต้องพูดถึง และเขาได้อาจารย์ที่ดีตั้งแต่แรก และตลอดชีวิตที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเขาจะยึดอาชีพการลงทุนเพียงประการเดียว สุขภาพเขาก็ดีเป็นเลิศแม้ว่าขณะนี้จะมีอายุกว่า 70 ปี แล้วก็ยังคึกคักมาก

ในเมืองไทยนั้นผมมองดูแล้วอีก 40 – 50 ปี เราก็อาจจะมีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงมากเช่นเดียวกัน มองจาก Value Investor หนุ่มๆ สาวๆ ที่กำลังศึกษาและเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น คิดไปแล้วก็รู้สึกอิจฉาอยู่เหมือนกัน เพราะคนเหล่านี้จะมีทั้ง IQ , EQ และ PQ ที่สูงกว่าคนรุ่นก่อนๆอย่างผม

IQ , EQ , PQ
โลกในมุมมองของ Value Investor

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.