Blog 77 : ‘การประเมินคุณภาพของกำไรสำหรับเทรดเดอร์’

จุดแข็งอีกข้อของปู่โอนีลและหลักการ CANSLIM คือการคัดเลือกหุ้นที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น (ทั้งพื้นฐานและกราฟ)

ดังนั้น Stock Selection จึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยของระบบนี้

โอนีลสอนและย้ำอยู่เสมอทั้งในหนังสือและจากการสัมภาษณ์ต่างๆก็คือ ‘คุณควรเลือกบริษัทที่กำไรเติบโตสูง (High Growth) มีนวัตกรรมหรือคุณภาพที่ดี และเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม (Leading Stock)’ 

เพราะว่าหุ้นที่จะมีแรงซื้อสนับสนุนจากสถาบัน-กองทุนอย่างต่อเนื่องนั้น นอกจากมีผลกำไรเติบโตแล้วยังต้องเป็นการเติบโตที่มีคุณภาพด้วย

แต่สิ่งนึงที่ผมมักจะเห็นในกลุ่มคนที่เทรดหุ้นแนวผสมก็คือ การไม่สนใจคุณภาพของกำไรและคุณภาพของบริษัทมากเท่าที่ควร เห็นแค่ EPS โตๆหน่อยก็ลุยซื้อกันแล้ว

หลายคนจึงมักจะเจอปัญหาว่าราคาหุ้นพังเร็ว หรือราคาหุ้นเล่นไปได้ไม่ไกลอย่างที่หวังไว้ , กราฟเหวี่ยงแรง หุ้นสวิงมากเทรดยาก ฯลฯ

ดังนั้น การที่เทรดเดอร์มีแนวทางการเลือกหุ้นที่ไม่เหมือนกัน ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลตอบแทนและพอร์ตของแต่ละคนมีผลลัพธ์แตกต่างกันไปในแต่ละปี

สำหรับนักลงทุนที่ไม่ดูกราฟ การดูงบให้ละเอียดเป็นสิ่งที่สำคัญมากอยู่แล้วเพราะว่ามันคือจุดชี้เป็นชี้ตายของหุ้น

แต่สำหรับเทรดเดอร์อย่างเราๆที่ต้องการคัดหุ้นที่กำไรเติบโตอย่างมีคุณภาพมาไว้ในลิส แล้วหาจังหวะเทรดตามแนวโน้มและกราฟของหุ้นตัวนั้น ก็ไม่ต้องถึงกับแกะงบลงรายละเอียดมากจนเกินความจำเป็น

แต่ก็ไม่ใช่ดูแบบหยาบๆคร่าวๆเกินไป

เราควรดูในส่วนที่สำคัญ มีนัยยะ และจะส่งผลต่อราคาหุ้นของบริษัทจริงๆ (เน้นสมดุล ไม่ดูเยอะไป ไม่ดูหยาบไป)

บทความนี้จึงเหมาะกับคนที่ต้องการจะอ่านงบให้ดีขึ้น สามารถคัดกรองกำไรของแต่ละบริษัทได้ว่า

การเติบโตในไตรมาสนั้นมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน? บริษัทนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร?

และหุ้นตัวนั้นมัน ‘น่าสนใจ’ จริงๆหรือไม่

เป็นสรุปเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ Trade Like a Stock Market Wizard ของพี่ Mark Minervini ในหัวข้อ ‘Assessing Earning Quality’

ผมจะใส่คอมเม้นท์ส่วนตัวเพิ่มไว้ตรง * นะครับ

‘การประเมินคุณภาพของกำไรสำหรับเทรดเดอร์’

การเติบโตของกำไรที่ยั่งยืน ควรเกิดจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น

– ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากการลดต้นทุน , ต้นทุนวัตถุดิบลดลง (แต่ยอดขายไม่เพิ่ม) , การปิดโรงงาน , หรือการลดต้นทุนแบบที่เรียกกันว่า ‘การปรับปรุงผลิตภาพในการผลิต (productivity enhancements)’ นั้น จะทำให้ผลกำไรเติบโตแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

การเติบโตที่ดีควรจะมาจากยอดขาย-รายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

– สถานการณ์ในอุดมคติ คือ การที่บริษัทมีปริมาณการขายสินค้าใหม่และสินค้าเดิมเพิ่มมากขึ้น (higher sales volume) ทั้งในตลาดเดิมและการเปิดตลาดใหม่ รวมถึงสามารถปรับราคาขายขึ้นและลดต้นทุนได้ด้วย

– สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คือ การที่บริษัทมีอำนาจต่อรองด้านราคาน้อย , ธุรกิจมีลักษณะ capital intensive, อัตรากำไรต่ำหรือถูกกดดันให้ต่ำ, และต้องเผชิญกับกฏเกณฑ์ต่างๆมากมาย หรือไม่ก็มีการแข่งขันเข้มข้นรุนแรง หรือทั้งสองอย่าง

*ในความเป็นจริง การที่เราจะเจอหุ้นในแบบอุดมคติหรือเลวร้ายที่สุดนั้นค่อนข้างยาก เราจึงควรมองหาบริษัทที่งบมีด้านบวกมากกว่าด้านลบ

และมองเห็นพัฒนาการของงบการเงินในด้านต่างๆที่ดูดีขึ้นเรื่อยๆแทนครับ*

คุณภาพของกำไร

– มองหาผลกำไรที่เกิดจากการดำเนินงานของธุรกิจหลัก (core operations) กำไรพิเศษครั้งเดียวหรือเหตุการณ์ต่างๆที่มากระทบชั่วคราวควรถูกตัดออกไปให้หมด

– ในทางกลับกัน ถ้า “กำไรพิเศษครั้งเดียว” นั้นเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ คุณควรตั้งคำถามอย่างจริงจังถึงคุณภาพกำไรของบริษัทนี้

– ระวังการที่กำไรออกมาเติบโตเกินคาดเนื่องจากมีการคาดการณ์ที่ต่ำลงในช่วงก่อนหน้า ถ้าคุณเห็นว่าบริษัท-นักวิเคราะห์เพิ่งปรับลดประมาณการลงเมื่อเร็วๆนี้เนื่องจากผู้บริหารให้มุมมองที่เป็นลบ แต่แล้วบริษัทกลับทำกำไรได้เหนือกว่าที่คาด

นี่ควรเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องระวัง (red flag)

*พี่มาร์กน่าจะหมายถึงว่า ผู้บริหารเล่นไม่ซื่อจากการให้มุมมองที่ไม่ตรงกับความจริง ซึ่งทำให้มีผลกับประมาณการและราคาหุ้นช่วงก่อนงบ*

จับตาดูการตอบสนองของตลาดต่อผลกำไรของบริษัท

– การสังเกต 3 สิ่งสำคัญ

  1. ผลตอบรับในช่วงแรกเป็นอย่างไร ราคาหุ้นขึ้น (+) หรือลง (-)
  2. ถ้าหุ้นถูกขายทำกำไรแรง ให้คอยจับตาดูว่ามันสามารถฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งหรือไม่ (+) หรือหุ้นไม่สามารถเด้งกลับมาได้เลยหลังจากย่อตัวลง (-) หรือแย่กว่านั้นคือถูกขายทิ้งเละเทะ (-)
  3. ช่วงที่หุ้นถูกขายทำกำไร ราคาหุ้นสามารถยืนได้ดีและดูไม่สะทกสะท้านกับแรงขายทำกำไรหรือไม่ (+)

– ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องธรรมดาที่หุ้นจะถูกขายทำกำไรอย่างแรง หลังจากที่วิ่งขึ้นมาเยอะและหลังจากประกาศงบ แต่สุดยอดหุ้นที่เทพจริงๆ (super-performance stock) จะกลับมาได้และเริ่มวิ่งขึ้นทำ new high ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง

– สำหรับหุ้นที่มักจะให้ผลตอบแทนสูงมากๆนั้น มันไม่ควรจะเกิดการเทขายลงมาอย่างรุนแรง หรือการที่ราคาหุ้นร่วงลงทะลุแนวสำคัญๆที่ทำให้ภาพแนวโน้มขาขึ้นของหุ้นเสียหายจนหมด

*สำหรับผม การตอบสนองต่องบการเงินคือสิ่งสำคัญที่เราต้องจับตาดู

ถ้าบริษัทประกาศงบออกมาดีแต่ราคาหุ้นไม่ตอบสนองเชิงบวก ก็ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนที่เราต้องเริ่มระมัดระวังครับ*

ติดตามการให้ข้อมูลแนวโน้มผลประกอบการของบริษัท

– โดยทั่วไปบริษัทมักจะให้ข่าวเรื่องแนวโน้มผลประกอบการในช่วงประกาศงบ (ทั้งก่อนและหลัง)

– ในบางกรณี การตอบสนองของราคาหุ้นต่อข้อมูลแนวโน้มผลประกอบการจะรุนแรงกว่าตอนที่บริษัทประกาศงบออกมาจริงๆ (หุ้นวิ่งขึ้นแรงก่อนงบ พองบออกจริงราคาก็ไม่ขึ้นมากแล้ว)

– จากการติดตามการให้ข้อมูล-ข่าวของบริษัท และดูพัฒนาการต่างๆที่ตามมา ทำให้คุณสามารถดูออกได้ง่ายขึ้นว่า การให้ข่าวของบริษัทนี้มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหนและแนวโน้มธุรกิจเป็นบวกหรือลบ

– อย่าไปให้น้ำหนักกับการคาดการณ์แนวโน้มในระยะยาวมากนัก เพราะไม่ว่าใครก็ตามหรือแม้แต่ผู้บริหารเองก็ไม่สามารถทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำว่า บริษัทจะมีกำไรเท่าไหร่หรือจะโตเฉลี่ยปีละกี่ % ในอีกหลายปีข้างหน้า

*ให้ติดตามจากข้อมูลที่เป็นความจริง และแนวโน้มงบของบริษัทไปทีละไตรมาส-ทีละปี*

มองหา Code 33

– Code 33 คือสถานการณ์ที่ทั้งรายได้, ผลกำไร, และอัตรากำไร ทั้ง 3 อย่างนี้เร่งตัวขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อกัน (+ มาก)

– ถ้าบริษัทมีสินค้า-บริการที่กำลังร้อนแรงเป็นที่นิยม รายได้ควรเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการที่บริษัทขยายตลาดออกไปมากขึ้น

– ถ้าบริษัทมีทีมบริหารที่มีความสามารถ เข้าใจแนวโน้มธุรกิจและรับมือกับปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี อัตรากำไรสุทธิควรเพิ่มขึ้นได้จากการที่บริษัทจะมีประสิทธิภาพในการทำธุรกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ (productivity + )

*ผมขอเสริมเรื่องผู้บริหารว่า เราควรมองหาหุ้นที่ผู้บริหารตั้งใจทำธุรกิจหลักให้ดี ยังมีไฟและ passion ที่อยากให้ธุรกิจของตัวเองเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ไม่ใช่คนที่คอยแต่ให้ข่าวหรือใช้กลไกต่างๆในการทำราคาหุ้น แต่ผลประกอบการจริงไม่ไปไหน*

.

Blog 77 : ‘การประเมินคุณภาพของกำไรสำหรับเทรดเดอร์’

19 มิถุนายน 2017

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.