Blog 50 : ‘Plan Your Trade and Trade Your Plan!’ – การวางแผนทำให้พร้อมรับมือทั้งขาขึ้นและขาลง

trading-plan

“Luck is what happens when preparation meets opportunity.”

– Seneca the Younger

การวางแผนเทรดหรือแผนการลงทุนนั้น เป็นสิ่งที่ควร(ต้อง)ทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพราะมันจะช่วยให้เรารับมือเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆในตลาดได้โดยไม่ตื่นตระหนก รู้ว่าเราควรทำอย่างไรเมื่อตลาด-หุ้นแสดงอาการต่างๆในแต่ละช่วง

คนที่ไม่ได้วางแผนเป็นประจำ ก็มักจะเจอปัญหาว่า ตลาดเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นแล้วแต่ไม่รู้จะซื้อหุ้นตัวไหนดี ซื้อเมื่อไหร่ ซื้อเท่าไหร่ หรือเมื่อตลาดเริ่มเป็นขาลง ก็ไม่รู้ว่าควรจะ take profit ตรงไหน , ควรจะอยู่เฉยๆ หรือถัวเฉลี่ยราคา ถือเงินสดดีไหม จะกลับเข้าตลาดเมื่อไหร่ดี ฯลฯ

สรุปคือไม่รู้ว่าเราควรบริหารจัดการพอร์ตอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆนั่นเอง…

อันที่จริง หากว่าเรามีระบบลงทุนของตัวเองด้วยแล้ว การวางแผนประจำวันก็ไม่ได้ใช้เวลามากนัก เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เราต้องดู-ต้องสังเกตพิจารณาในแต่ละวันนั้นมีจุดไหนบ้าง อะไรที่ไม่จำเป็นต้องสนใจก็ตัดทิ้งไปได้เลย ซึ่งจะช่วยร่นเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละวันได้เป็นอย่างดีครับ

(โดยเฉพาะยุคนี้ที่ข้อมูลข่าวสารเยอะและเร็วมาก แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีประโยชน์กับการลงทุนของเราเท่าไหร่)

ผมลองสรุปคร่าวๆให้เห็นว่า การวางแผนเป็นประจำนั้นจะช่วยเราได้อย่างไร ทั้งช่วงเวลาที่ตลาดดีและไม่ดี รวมถึงแนวทางการวางแผนเทรดประจำวันครับ

ช่วงตลาดขาขึ้น

– การวางแผนจะช่วยให้เรารู้ว่า ภาวะตลาดยังดีและเป็นโอกาสในการคัดเลือกหุ้นเพื่อเข้าซื้อ เราจะพบหุ้นที่มี Story พื้นฐาน และกราฟน่าสนใจมากขึ้นในช่วงที่ตลาดดี

– เมื่อหุ้นเกิดสัญญาณซื้อ เราสามารถทำตามระบบได้โดยไม่จำเป็นต้องลังเล เพราะวางแผนเอาไว้แล้วว่าจะซื้อเมื่อไหร่ ซื้อจำนวนเท่าไหร่ และ stop loss ตรงไหน

– เมื่อตลาดและหุ้นเป็นขาขึ้นไปซักพักใหญ่ การวางแผน take profit หรือ exit เพื่อเก็บกำไร จะช่วยให้กำไรที่เราได้มาไม่ถูกตลาดดึงกลับไปหมด เมื่อขาขึ้นเริ่มจบลง (ข้อนี้สำคัญครับ)

– การวางแผนจะทำให้เราไม่เพลิดเลิน หรือหลงระเริงไปกับผลกำไรที่ได้มาในช่วงตลาดดี เพราะเราต้องหมั่นตรวจสอบภาวะตลาดและหุ้นรายตัวอยู่เสมอ เพื่อเตรียมตัวรับมือเมื่อถึงเวลาจบรอบของมัน

ช่วงตลาดขาลง

– ช่วงขาลง เมื่อเรารู้ว่าตลาดยังไม่ดีนัก ก็อาจจะอยู่เฉยๆ พักผ่อน และรอโอกาสไปก่อน ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเข้าซื้อเพราะมักจะเจ็บตัวฟรี หรือถูกตลาดเหวี่ยงเข้า-ออกบ่อยเกินไป จนเกิดการขาดทุนติดๆกัน (losing streak) ซึ่งจะทำให้เราเสียความมั่นใจในระบบของตัวเอง

– สิ่งที่ควรทำช่วงขาลงคือ ทบทวนบทเรียนในช่วงที่ผ่านมา และคัดกรองหุ้นเพื่อเตรียมตัวเล่นเมื่อตลาดกลับตัวเป็นขาขึ้นครั้งใหม่ พยายามมองหาหุ้นที่ยังมี Story พื้นฐานน่าสนใจ และราคาหุ้นที่ดูแข็งแรงกว่าหุ้นตัวอื่นๆในตลาด

– เตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่จะมาถึง เมื่อตลาดและหุ้นที่ดูไว้เริ่มส่งสัญญาณซื้อในช่วงแรกๆที่เริ่มกลับตัว

*ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการทำเงิน คือการเข้าซื้อไม้แรกๆเมื่อตลาดเริ่มกลับตัวและหุ้นเพิ่งเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง ถ้าหากว่าเราไม่เตรียมตัวหรือไม่ได้เข้าซื้อแต่เนิ่นๆ ก็อาจจะเสียโอกาสที่ดีไปได้ เพราะว่าต้องซื้อในจุดที่เสี่ยงกว่าไม้แรกๆ หรืออาจต้องไปซื้อหุ้นที่ laggard กว่ากลุ่ม leader ซึ่งผลตอบแทนมักจะสู้ไม่ได้ครับ

สำหรับแนวทางในการวางแผนประจำวันนั้นก็จะมีประมาณนี้ครับ

1. เลือกหลักการ และมีกฏการลงทุนที่เราต้องทำตาม พยายามจดไว้ตรงจุดที่เราเห็นอยู่บ่อยๆจะได้ไม่ลืมตัว

2. ตรวจสอบตลาด และหุ้นที่คัดไว้ใน watch list

– สำหรับจำนวน watch list ที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถติดตามหุ้นได้มากน้อยแค่ไหน ปกติแล้วผมคิดว่าราวๆ 10-30 ตัวน่าจะกำลังดีครับ (รวมหุ้นที่ถืออยู่ด้วย)

– ถ้าเรามี watch list น้อยไป ก็อาจจะเสียโอกาสหากว่าในอนาคตมีหุ้นตัวใหม่ๆที่น่าสนใจกว่า แต่ถ้าเราดูมากจนเกินไป ก็จะกลายเป็นไม่มี focus ที่ดีพอครับ ดังนั้น ต้องหาจำนวนที่พอเหมาะกับตัวเราให้ได้ (watch list ของผมประมาณ 20 ตัว)

– จาก watch list ทั้งหมด เรามักจะมีหุ้นที่ชอบมากกว่าตัวอื่น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ให้เราคัดมันออกมาเป็น top watch ราวๆ 5-8 ตัว ซึ่งพวกนี้จะเป็นหุ้นชุดแรกที่เราเล็งเอาไว้พร้อมเข้าเทรดครับ

3. ตั้งจุด Entry Point สำหรับหุ้นแต่ละตัวใน watch list หรือเฉพาะ top watch list ก็ได้

4. Position Sizing

– เราควรคิดเอาไว้ก่อนว่าจะซื้อหุ้นจำนวนเท่าไหร่ของพอร์ต เมื่อถึงเวลาจะได้ไม่ลังเล และทำให้เราฝึกเทรดไม้แรกแบบสม่ำเสมอ ซึ่งจะควบคุมความเสี่ยงได้ดีกว่าการเข้าแบบไม่กำหนด Position Size ล่วงหน้า หรือการเข้าทีละเยอะๆจนเสี่ยงมากเกินไป (Over-Bet)

5. Exit Strategy – ข้อนี้จะแบ่งเป็น 2 จุด ได้แก่

– trailing stop : จุดทำกำไร (เมื่อคิดถูก) หลังจากหุ้นขึ้นไปเรื่อยๆแล้วให้ขยับจุดเก็บกำไรตามขึ้นไป โดยใช้ตามแนวทางของเรา

– stop loss : จุดตัดขาดทุน (เมื่อคิดผิด) จะ stop loss ตรงไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรายอมรับว่าเราคิดผิดที่จุดไหนหรือเมื่อไหร่ครับ

ถ้าคนที่ไม่มีเวลามากนัก แนะนำว่าอย่างน้อยก็ควรตรวจสอบตลาด, หุ้นที่เราถือ, หุ้นใน top watch list, และวางแผนจุดซื้อและจุดขาย ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณซัก 30 นาที – 1 ชั่วโมงต่อวัน แล้วถ้ามีเวลาว่างก็ค่อยหาหุ้นหรือวิเคราะห์อย่างอื่นเพิ่มเติมทีหลังครับ…

“Plan Your Trade and Trade Your Plan”

Why? Because stock traders who carefully plan have a much better chance of making money than those who don’t.

In fact, the simple plan can significantly increase the odds that your trade will be profitable.

– RightLine.net

Blog 50 : ‘การวางแผนทำให้พร้อมรับมือทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง’

www.sarut-homesite.net

9 เมษายน 2015

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.