Blog 17 : ‘บริหารพอร์ตเหมือนบริหารสต็อคสินค้า กับแนวคิดของ William O’Neil’ [Updated 2017]

 

‘เทรดหุ้นให้เหมือนทำธุรกิจ’ , ‘บริหารพอร์ตเหมือนบริหารสต็อคสินค้า’ ..ครั้งแรกที่ผมอ่านเจอสองประโยคนี้จากหนังสือ How to Make Money in Stock เมื่อปี 2011 ทำให้ผมสนใจมากว่าวิธีการเล่นหุ้นให้เหมือนกับการทำธุรกิจนั้นเป็นยังไง และพยายามนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้กับการเทรดของผมเองนับจากนั้นมา
 
หลังจากลองทำตามที่ปู่โอนีลสอนอยู่หลายปี ผมก็พบว่าถ้าเราบริหารพอร์ตให้เหมือนกับการบริหารสต็อคสินค้าได้ มันจะช่วยให้พอร์ตของเรามีลักษณะดังนี้
 
– ส่วนใหญ่แล้วถ้าเรา ‘เลือกหุ้นดี’ และ ‘ซื้อในจังหวะที่ถูกต้องจริงๆ’ พอร์ตของเราจะโชว์หุ้นตัวที่เขียวเยอะกว่าตัวที่แดง หรือ best case คือ ‘เขียวทุกตัว’
 
– ผลขาดทุนแต่ละครั้งจะไม่เกิน 4-7% ต่อหุ้นหนึ่งตัว ในขณะที่เวลากำไรส่วนใหญ่จะได้มากกว่า 15-20% ขึ้นไป (ไม่รวมว่าบางครั้งเราจับได้หุ้นเทพของปีอีกด้วย) ส่งผลให้ reward to risk ratio เป็นบวก ซึ่งแสดงว่าถ้าเราเทรดต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะคล้ายกับธุรกิจที่สามารถทำกำไรให้เราได้ในระยะยาว
 
– เราไม่ต้องตุนสินค้า(หุ้น)ไว้ตลอดเวลา ในช่วงที่ตลาดไม่ดีก็เหมือนกับการที่สินค้าเริ่มขายไม่ออกคนไม่ซื้อของ(หุ้น) เวลาแบบนี้ธุรกิจของเราก็จะมีเงินสดในมือจำนวนมาก เพื่อรอโอกาสครั้งใหม่จากสินค้าที่น่าสนใจตัวใหม่ๆในอนาคต
 
– บางช่วงที่เราเจอหุ้นที่ขายดีไม่กี่ตัว พอร์ตก็อาจจะมีหุ้นแค่ 1-2 ตัว ประมาณ 20-30% พอร์ต ที่เหลือเป็นเงินสดกว่า 70% ซึ่งข้อดีคือเราไม่จำเป็นต้องถือหุ้นทั้งตัวที่ขึ้นและลง ที่พอถือไปนานๆสรุปบวกลบกันแล้วไม่ได้อะไร …เราจะต้องโฟกัสเฉพาะหุ้นที่มีแนวโน้มขึ้นเท่านั้น
 
– เงินของเราจะไม่จมกับสินค้าที่ตกยุค ล้าสมัย ขายไม่ออก ซึ่งกรณีนี้จะหมายถึงหุ้นที่ไม่มี momentum , หุ้นที่จบรอบใหญ่ของมันแล้วเริ่มพังลงมาแรงๆ , หุ้นที่ไม่วิ่ง นิ่งๆเงียบๆ หรือยังร่วงลงเรื่อย
 
สำหรับคนที่สนใจแนวคิดนี้ แนะนำให้อ่านบทความนี้เพื่อเปิดมุมมองคร่าวๆก่อน แล้วศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือของปู่โอนีลและ Mark Minervini นะครับ
.
####
.
‘บริหารพอร์ตเหมือนบริหารสต็อคสินค้า กับแนวคิดของ William O’Neil’
.
เซียนหุ้นอย่าง William O’Neil และ Jesse Livermore มักจะบอกว่าการเล่นหุ้นนั้น ก็เหมือนกับการทำธุรกิจ (ธุรกิจเก็งกำไร) คุณต้องบริหารกิจการของคุณให้อยู่รอดและสร้างผลกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ นั่นทำให้คุณต้องรู้จักการบริหารเงินทุน(หน้าตัก), บริหารพอร์ตลงทุน, บริหารความเสี่ยง ซึ่งก็ไม่ต่างจากการทำธุรกิจเท่าไหร่เลย
.
และเป็นที่แน่นอนว่า ถ้าคุณไม่จริงจังหรือไม่ได้ใส่ใจธุรกิจของคุณ ก็คงยากที่คุณจะประสบความสำเร็จจากธุรกิจนั้นๆ
.

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในตลาดหุ้น เพราะคนส่วนใหญ่มักคิดว่า การเล่นหุ้นก็น่าจะเล่นง่ายๆ แค่สั่งซื้อหุ้นพอขึ้นก็ขายลงก็ซื้อ หรือมักคิดว่ากำไรจากการเล่นหุ้นนั้นหามาได้โดยง่าย

ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิดอย่างมาก เพราะคนที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น ‘ทุกคน ทุกแนว’ ต่างก็ต้องใช้ความพยายาม ความขยัน และอดทน กว่าที่จะพบเจอความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ครับ

ในส่วนของการบริหารพอร์ต ผมอ่านจากหนังสือ ‘How to Make Money in Stocks’ ของ O’Neil เป็นหัวข้อที่มีเนื้อหาสั้นๆแต่อ่านแล้วรู้สึกชอบมาก เพราะเค้าเปรียบเทียบการบริหารพอร์ตกับการบริหารสต็อคสินค้าของธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ

สมมติว่า คุณเปิดร้านขายเสื้อผ้าร้านเล็กๆสำหรับผู้หญิง

หลังจากเปิดร้านเรียบร้อยแล้ว คุณก็ได้สั่งเสื้อมาสต็อคเก็บไว้ 3 สี คือ สีฟ้า สีดำ และ สีเขียว

หลังสินค้าเข้ามาไม่นานนัก เสื้อสีฟ้า ขายดีมากและหมดไปอย่างรวดเร็ว, ส่วน เสื้อสีดำ ขายได้ครึ่งนึง, เหลือแต่ เสื้อสีเขียว ที่ขายไม่ออกซักชิ้นเดียว

หลังจากเห็นผลการขายสินค้าล็อตแรกผ่านไป คุณจะทำอะไรต่อไป?

คุณจะเดินเข้าไปหาลูกค้าที่อยากได้เสื้อสีฟ้า แล้วคุยแบบนี้ไหมครับ

“ตอนนี้เสื้อสีฟ้าขายหมดแล้วครับ เหลือแต่เสื้อสีเขียวที่ยังไม่มีใครซื้อเลย แต่ผมคิดว่ามันสวยดีนะ และส่วนตัวผมก็ชอบสีเขียวมากที่สุดด้วย เพราะงั้นคุณช่วยซื้อสีเขียวแทนแล้วกันนะครับ”

แน่นอนว่า ถ้าคุณเปิดร้านขายของจริงๆ คุณไม่สามารถพูดแบบนี้ได้!

ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ นักธุรกิจหรือพ่อค้าแม่ค้าที่ชาญฉลาดและสามารถเอาตัวรอดในธุรกิจการค้าได้ จะต้องนึกในใจแล้วว่า

“สงสัยจะมีอะไรผิดพลาดซะแล้ว เราต้องรีบระบายเสื้อสีเขียวออกให้หมด เริ่มจากลดราคาซัก 10% ดูก่อน ถ้าลด 10% แล้วยังขายไม่ออกอีก ก็ลด 20% ไปเลย (ลดล้างสต็อค) รีบๆขายให้หมด เราต้องเอาเงินทุนคืนจากสินค้าที่ไม่มีใครต้องการให้เร็วที่สุด จากนั้นก็ไปสั่งสต็อคสินค้าที่กำลังขายดีเพิ่ม นั่นก็คือ เสื้อสีฟ้า ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก” >> นี่ถือเป็น common sense ทั่วไปในธุรกิจค้าขาย

แล้วคุณเคยคิดแบบนี้กับการบริหารพอร์ตลงทุนของคุณหรือไม่? ถ้าลองเปลี่ยนจากร้านขายเสื้อมาเป็นพอร์ตหุ้นของคุณล่ะ?

สถานการณ์คือ คุณซื้อหุ้นมา 3 ตัว

ผ่านไปซักพักใหญ่ๆ (มากกว่า 2 เดือน หรือ 8-10 สัปดาห์) หุ้นตัวที่คุณคิดว่าดีมากและชอบมากมันไม่ไปไหนเลย แต่หุ้นตัวที่คุณไม่ชอบเท่าไหร่กลับค่อยๆขึ้นไปอย่างสม่ำเสมอ และดูเหมือนตลาดจะชอบตัวนี้มากกว่า แต่คุณก็ไม่เห็นด้วย เพราะคุณไม่ชอบด้วยเหตุผลและข้อเสียต่างๆของมันตามที่คุณได้วิเคราะห์เอาไว้

แน่นอนว่าทุกคนเคยเลือกหุ้นผิดพลาด เคยเลือกหุ้นตัวที่ไม่ดี แต่การที่หุ้นบางตัวขายดีมากๆ ก็แสดงว่ามีคนต้องการซื้อ (หุ้นมี Demand สูง) จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ (และอาจจะเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้) ซึ่งนั่นถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณกำลังถือหุ้นตัวนั้นอยู่ด้วย

แต่ถ้าคุณมัวแต่คิดว่า หุ้นตัวนี้ไม่เห็นจะมีอะไรดีขนาดนั้น คุณมองว่าคนอื่นน่าจะคิดผิดแน่ๆ เลยรีบขายทำกำไรจนหมด แล้วย้ายไปซื้อหุ้นตัวอื่นๆที่คุณคิดว่าดีกว่า นั่นก็จะทำให้คุณกำลังพลาดการทำกำไรก้อนใหญ่จากหุ้นที่ถืออยู่นั่นเอง (ขายหมูตัวใหญ่)

ถึงแม้ว่าหลังจากหุ้นขึ้นไปมากๆ (จากจุดที่คุณขาย) มันจะร่วงลงมาแรงตามพื้นฐานที่คุณเคยคิด แต่ในระหว่างทางที่มันได้ขึ้นไปหลายเท่าตัว คุณก็ได้แต่นั่งมองมันขึ้นไปด้วยความเสียดาย เพราะถึงคุณจะไม่ได้ขายที่จุดสูงสุดก็เถอะ แต่ยังไงก็จะได้ขายในราคาที่สูงกว่าจุดที่คุณขายไปจริงๆนั่นเอง

และหลายคนก็มักเอาเงินไปจมกับหุ้นที่ตนคิดว่าดีมากๆที่ยังไม่ขึ้น แต่กลับต้องเจอกับการรอคอยอย่างยาวนาน กว่าที่ตลาดจะมาสนใจหุ้นคุณ ซึ่งบางครั้งอาจจะนานเป็นปี

นั่นถือว่าเป็นการเสียโอกาสอย่างมากในมุมมองการลงทุนของ O’Neil ในเรื่องของ ‘Time Value Of Money’ ครับ คือ แทนที่คุณจะเอาเงินไปทำกำไรจากหุ้นตัวอื่น แต่เงินลงทุนนั้นกลับจมและเสียเวลาอยู่กับหุ้นตัวที่ขายไม่ออก ซึ่งก็คล้ายๆกับการบริหารสต็อคสินค้าตามตัวอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นเอง

“สรุปแล้ว การบริหารพอร์ตในลักษณะแบบนี้ จะทำให้พอร์ตหุ้นของคุณมีหุ้นที่มีแนวโน้มแข็งแกร่ง และมีโอกาสทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้น ที่สำคัญคือ เป็นการลดค่าเสียโอกาส จากการที่เงินจะไปจมอยู่กับตัวที่อ่อนแอนั่นเอง”

ดังนั้น คุณไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกหุ้นถูกต้องทุกครั้ง (Stock Selection) ถึงจะได้กำไรมากๆ กำไรมากน้อยมันอยู่ที่การบริหารหุ้นในพอร์ตและจังหวะเวลาด้วยครับ

‘ถ้าคุณเจอหุ้น Winner Stocks แต่ถือแค่ 10% ของพอร์ต แถมรีบขายหมู สรุปคุณก็ไม่ได้กำไรเท่าไหร่เลย แถมตัวที่ถือเยอะกลับไม่ใช่หุ้นที่ทำกำไร บางทีก็ร่วงลงตามตลาดอีก สรุปแล้วผลตอบแทนของคุณก็คงจะไม่ดีเท่าไหร่’

ซึ่งปัจจุบันผมจึงให้ความสำคัญกับทั้ง Stock Selection, Timing , Position Size และ Risk Mangement เท่าๆกัน เพราะผมมองว่าทุกปัจจัยนั้นสำคัญหมด และมันก็มีเหตุผลที่ทำให้แต่ละปัจจัยนั้นมีความสำคัญครับ
.
แถมท้ายด้วยประโยคนี้จากปู่โอนีลที่ทำให้เห็นความสำคัญของ Timing ในการลงทุนครับ

“Good stocks bought at the wrong time can go down as much as poor stocks, and it’s possible they might not be such good stocks in the first place. It may just your personal opinion they’re good”

และจากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น เราสามารถสรุปออกมาเป็น 1 ในกฏการลงทุนของ O’Neil ซึ่งก็คือ

> ‘Buy Strength & Sell Weakness’ <<

Blog 17 : ‘บริหารพอร์ตเหมือนบริหารสต็อคสินค้า กับแนวคิดของ William O’Neil’ [Updated 2017]

www.sarut-homesite.net

24 มีนาคม 2012

Updated : 6 สิงหาคม 2017

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.