Blog 13 : ‘กาละฟ้า ชัยภูมิดิน ประชากรหนุน’ – จากพิชัยสงครามสู่การลงทุน [Revised]

“ตลาดหุ้นมันคือสงคราม การที่คุณจะมาหวังกำไร 10% 20% จบกันไป แล้วจะหวังให้ตลาดหุ้นมันปราณีคุณตอนที่หุ้นตก มันไม่ใช่แบบนั้น มันเอาจนคุณหมดตัว

สึนามิมา มันก็พัดพาไปหมด”

– วิชัย วชิรพงศ์ –

กลศึกต่างๆหรือพิชัยสงครามนั้น เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนในตลาดหุ้นได้ เหมือนกับที่มีการนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารธุรกิจและการจัดการอื่นๆอีกมากมาย

อย่างในการ์ตูนสามก๊กเรื่องหงสาจอมราชันย์ ก็จะมีกลยุทธ์ ‘กาละฟ้า ชัยภูมิดิน ประชากรหนุน’ เป็นพิชัยสงครามที่ถูกหยิบนำมาใช้อยู่บ่อยครั้ง

ฝ่ายใดที่สามารถควบคุมหรือใช้ประโยชน์จากปัจจัยทั้ง 3 นี้ได้ จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะชนะการศึกในครั้งนั้น

ผมจึงนำพิชัยสงครามนี้ มาเขียนประยุกต์ใช้กับการลงทุนในตลาดหุ้น สำหรับนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ เพื่อให้สามารถเอาตัวรอดได้ในสนามรบตลาดหุ้นแห่งนี้

ลองดูกันว่าจะเอามาใช้ด้วยกันได้จริงหรือไม่ โดยผมจะอธิบายทีละปัจจัย ทั้งจากมุมมองแบบพื้นฐาน (VI) และ Trend Following นะครับ…

1. เริ่มจากปัจจัยแรก คือ ‘กาละฟ้า’

ในการศึกสงคราม คำว่า กาละฟ้า หมายถึง วัน เวลา สภาพภูมิอากาศ ที่เหมาะสม

เวลาทำสงคราม แม่ทัพ(หรือกุนซือ) จะต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำศึก รวมถึงการใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิอากาศ เช่น การใช้ ฝน หรือ หิมะ ช่วยในการตั้งรับ เป็นต้น

เมื่อนำมาเปรียบในตลาดหุ้น กาละฟ้า จึงเปรียบเหมือนการดูทิศทางลม ภาพใหญ่ของตลาดหุ้นและของหุ้นรายตัวนั่นเอง ว่าเราควรจะหันหัวเรือไปทางไหน

วิเคราะห์ตลาดเพื่อหา Timing ในการลงทุน เช่น ช่วงเวลาไหนที่เราควรลงทุนในตลาดหุ้น ถือยาวได้? Trading เล่นรอบเก็บกำไร?

หรือการดู Timing ทางพื้นฐานรายตัว เพื่อเลือกว่าจะลงทุนในหุ้นตัวไหนก่อนตัวไหนทีหลัง ระยะเวลาที่หวังผล เป็นต้น…

โดยทั่วไปแล้ว กาละฟ้า ที่เหมาะกับการลงทุนจริงๆก็คือ เข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็น Uptrend หรือเป็น กระทิง (ฟ้าเปิด) ไม่ใช่ช่วงตลาดหมี ที่ภาพใหญ่ดูขมุกขมัวและมีความเสี่ยงสูงกว่า

แต่ในบางช่วงของตลาดหมี ก็จะเกิดช่วงกระทิงเล็กๆ หรือที่เรียกว่า ช่วง bear market rally ซึ่งหากเราพอมีเวลาจับจังหวะซื้อ-ขายได้ ก็จะสามารถทำกำไรในช่วงตลาหมีได้เหมือนกัน

เพียงแต่ว่าระยะเวลาคงไม่ขึ้นยาวนานแบบช่วงตลาดกระทิงดุครับ เพราะช่วงตลาดหมี มันมักจะ side-way ขึ้นๆลงๆ ไม่เหมือนช่วงกระทิงที่ตลาดจะเป็นขาขึ้นยาวเลย (แต่ก็จะมีหุ้นบางกลุ่ม-บางตัว ที่สามารถขึ้นได้มากๆในช่วงตลาดหมีเช่นกัน)

bull market ของไทยล่าสุดคือ ปี 2009 – ต้นปี 2011 (ก่อนน้ำท่วม) ซึ่งเป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่น่าจะได้กำไรกันถ้วนหน้า ถือลงทุนอยู่เฉยๆก็กำไรเยอะแล้ว เพราะช่วงนั้นฟ้าเปิดจริงๆ

ยกตัวอย่างเพิ่มเติมสำหรับแนว VI… ปกติแล้วเรามักจะเลือกหุ้นที่มี upside มากสุด หรือ บริษัทที่คาดว่าผลกำไรจะโตมากที่สุด ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด หรือเป็นหุ้นที่มี story โดดเด่น จากบรรดา Watch List หุ้นทั้งหมดของเรา

นี่จึงเป็นการดู Timing ด้านพื้นฐาน ซึ่งก็ต้องแล้วแต่เกณฑ์การลงทุนของแต่ละท่านว่ามีกรอบการลงทุนยาวนานแค่ไหน (time frame)

นอกจากนี้ กาละฟ้า อาจหมายถึง การมองภาพรวมเศรษฐกิจ-การเมืองของประเทศและของโลก นำมาวิเคราะห์ประกอบกันครับ แต่ว่าตลาดหุ้นมักจะสะท้อนข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจ-การเมืองไปแล้ว ซึ่งทำให้เราไม่จำเป็นต้องสนใจข่าวสารทั่วไปมากนัก

ยกเว้นว่าเป็นช่วงที่คนในตลาดมองด้านใดด้านนึงมากไป เช่น มองดีมากไป (เป็นฟองสบู่) หรือ มองแง่ร้ายมากไป (หุ้นถูกเกินไป)

2. ปัจจัยต่อมาคือ ‘ชัยภูมิดิน’

ในสงคราม แน่นอนว่าชัยภูมิดินย่อมหมายถึง การวิเคราะห์และศึกษาสภาพภูมิประเทศในสนามรบ มองหาทางหนีทีไล่ พื้นที่สำคัญเพื่อวางกลยุทธ์ต่างๆ เช่น ซุ่มโจมตี โอบล้อม หรือใช้ไฟ เป็นต้น แม้กระทั่งหาจุดถอยทัพกรณีที่พ่ายแพ้

สำหรับการลงทุนนั้น ถ้าในมุมของนักลงทุนแนวพื้นฐาน ‘ชัยภูมิดิน ก็คือ การวิเคราะห์เจาะลึกตัวบริษัทที่เราสนใจ’

วิเคราะห์กันตั้งแต่ ภาพรวมลักษณะธุรกิจ งบการเงิน ปัจจัยที่จะส่งผลต่อบริษัท และที่สำคัญคือ แนวโน้มของธุรกิจ-อุตสาหกรรม และยังรวมไปถึงการวิเคราะห์ Margin of Safety, ช่วงราคาที่น่าซื้อ, และประเมิน Fair Value คร่าวๆเป็นจุดทำกำไร

ซึ่งก็คือการมองหาโอกาสทางธุรกิจนั่นเอง เหมือนกับการวิเคราะห์ภูมิประเทศเพื่อหาประโยชน์จากมัน เช่น บริษัทที่มี DCA ก็เหมือนมีคูเมืองที่ไม่ให้คู่แข่งเข้ามาง่ายๆ

ในขณะที่ Trend Following หรือการใช้กราฟ ‘ชัยภูมิดิน’ ผมคิดว่าน่าจะเป็น การวิเคราะห์ระบบการลงทุนของเรา วางแผนการเทรด และทำตามแผนนั้นๆ

นั่นคือ จุดเข้าซื้อ (จู่โจมหรือตั้งรับ – หุ้นที่เข้ามาในโซนซื้อของเรา) , จุดขายทำกำไร (พิชิตศึก – ถึงจุดที่ต้องทำกำไรตามระบบ) , จุดตัดขาดทุนกรณีผิดคาด (หาทางหนีไม่ให้เจ็บตัวมาก) และ Risk & Money Management (กำลังหนุน และประเมินความเสี่ยงเสมอ)

ซึ่งระบบของแต่ละท่านก็จะแตกต่างกันไปตามการทดลองและประสบการณ์ครับ

p1

3. สำหรับปัจจัยสุดท้ายก็คือ ‘ประชากรหนุน’

ในสงครามและการเมือง ‘ประชากรหนุน’ คือปัจจัยที่ชี้ขาดว่าคุณจะได้ชัยชนะอย่างแท้จริงหรือไม่

ประชากรหนุนในเบื้องต้นได้แก่ การมีแม่ทัพ กุนซือ ลูกน้อง เหล่าพลทหารที่เก่งกาจและมีผีมือ ผู้ที่จะสามารถช่วยให้เราได้ชัยชนะในการศึก

แต่ถึงแม้ว่าเราจะมีแม่ทัพ กุนซือ หรือพลทหารที่เก่งกาจแค่ไหนก็ตาม หากประชาชนส่วนใหญ่ในเมืองหรือในประเทศไม่สนับสนุน และเกิดการต่อต้าน บ้านเมืองย่อมไม่สงบและไม่สามารถปกครองได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น ประชากรหนุนจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการทำสงครามและการเมือง…

เช่นเดียวกัน สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น ผมคิดว่าปัจจัยนี้ไม่ว่าเราจะมองในมุมของ VI หรือ Trend Following ก็ตาม มันจะเป็นตัวชี้ขาดว่าเราจะได้กำไร(ที่คาดหวัง)หรือไม่?

ลองวิเคราะห์กันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น..

ในแง่ของ VI ที่เน้นมองตัวบริษัท ประชากรหนุน ก็คือ บุคลากรต่างๆ ไล่ตั้งแต่ ผู้บริหาร, ผู้ถือหุ้นใหญ่, พนักงาน, IR

หากบริษัทมีบุคลากรที่ดี มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ผู้บริหารเอาใจใส่ผู้ถือหุ้น ขยันให้ข้อมูล ก็จะสามารถสร้างกำไรและผลตอบแทนกลับมาให้ผู้ถือหุ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งนี่คือ ประชากรหนุน นั่นเอง

แต่ถ้าไปเจอบริษัทที่บุคลากรไม่ดี ต่อให้ธุรกิจดีแค่ไหน ก็คงหวังจะได้กำไรจากหุ้นยากครับ เช่น บริษัทที่ไม่โปร่งใส ปกปิดข้อมูล มีการโกงงบการเงิน หรือกำไรดีแต่ไม่จ่ายปันผล เป็นต้น

ลองมาดูในมุม Trend Following กันบ้าง ประชากรหนุน ก็เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน เพราะว่าเราต้องการที่จะเทรดไปตามแนวโน้ม (Trend) ไม่ว่าจะเป็นช่วงตลาดขาขึ้น (Long) หรือขาลง (Short หรือถือเงินสด) โดยที่จะไม่ฝืน Trend

สำหรับหุ้นรายตัวนั้น ประชากรหนุน คือ Demand ในหุ้นตัวนั้นๆ โดยปกติแล้ว หุ้นที่เป็น Uptrend มักจะขึ้นไปได้เร็วกว่าหุ้นที่อยู่ในช่วง Sideways หรือ Downtrend ครับ เพราะมีแรงซื้อหรือความต้องการ มากกว่าแรงขายในช่วงเวลานั้น

เคยสังเกตไหมครับว่า หุ้นพื้นฐานดีหลายๆตัว กว่าจะขึ้นใช้เวลานานมาก แต่บางตัวที่พื้นฐานไม่ได้ดีอะไรมากหรือราคาดูแพงแล้ว กลับขึ้นเอาๆ นั่นเป็นเพราะ หุ้นพื้นฐานดีตัวนั้น ‘ยังไม่มี Demand หรือ ขาดปัจจัย ประชากรหนุน’ นั่นเอง

ถึงมีคำว่า ‘หุ้นถูกเรื้อรัง’ (เพราะประชากรไม่หนุนซักที) แต่ในอีกมุมหนึ่ง หุ้นที่พื้นฐานเฉยๆหรือไม่ดี แต่มี Demand มันก็สามารถขึ้นไปได้

ในตลาดหุ้นนั้นมีการซื้อขายเสมอ ต่างกับการถือหุ้นนอกตลาดที่ไม่ค่อยมีการซื้อขาย ดังนั้น ถ้าหุ้นไม่มี Demand เลย ราคาก็คงขึ้นยากหรือขึ้นช้าครับ และในช่วงที่หุ้นเป็นขาลง (Downtrend) จะเป็นช่วงที่มีแต่คนอยากขาย เมื่อ Supply มาก ก็ย่อมกดราคาหุ้นลงมาได้มากเช่นกัน

ถึงแม้ว่าสุดท้าย ราคาหุ้นจะไปตามผลกำไรเสมอ แต่ถ้าระยะเวลารอนานเกินไปก็จะกลายเป็นค่าเสียโอกาสได้ครับ ผมจึงคิดว่า ไม่ว่าเราจะลงทุนแนวไหนก็ตาม ก็ต้องอย่าลืมดูปัจจัย demand-supply ของหุ้นด้วยครับ…

จากที่ได้กล่าวมา เราจึงจะเห็นว่า ‘ประชากรหนุน’ จะเป็นตัวชี้ขาดว่าเราจะได้กำไรที่คาดหวังหรือไม่ (ถ้าประชากรไม่หนุน หุ้นก็ยังไม่ขึ้น)

ทั้งหมดนี้ก็เป็น หลักพิชัยยุทธ ที่ผมคิดว่าสามารถเอามาใช้ได้จริงกับการลงทุนในตลาดหุ้น

ก่อนจะซื้อหุ้นตัวไหน ลองวิเคราะห์คร่าวๆเล่นๆดูก่อนว่า หุ้นตัวนั้น มี ‘กาละฟ้า ชัยภูมิดิน ประชากรหนุน’ พร้อมแล้วหรือยัง

ถ้ามีครบแล้ว ผมคิดว่าโอกาสที่จะได้กำไรนั้นสูงกว่าขาดทุนแน่นอน และน่าจะไม่ต้องรอนานมากเกินไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์และเลือกใช้ปัจจัยต่างๆนั้น เราต้องยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ การมีประสบการณ์ในตลาดที่ยาวนาน จะช่วยให้ท่านสามารถปรับปรุงกลยุทธ์การลงทุนของตนเองต่อไปได้อยู่เรื่อยๆครับ…

ปล. , ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ อาจจะไม่ถูกต้องไปทั้งหมด เพราะมาจากความคิดและประสบการณ์ของผมเองครับ

ปล. 2 , ช่วงนี้ติดการ์ตูนหงสาจอมราชันย์ครับ จริงๆมันเก่าแล้วละแต่เพิ่งเคยอ่าน อ่านรวดเดียว 40 กว่าเล่มเลย เป็นสามก๊กฉบับดัดแปลงเนื้อหาออกมาในมุมใหม่ๆดีครับ อ่านแล้วก็ไ้ด้รู้กลยุทธ์พิชัยสงครามมากขึ้นเยอะเลย แถมได้มองเนื้อเรื่องและตัวละครต่างๆในอีกด้านที่ไม่เหมือนสามก๊กฉบับอื่นๆดีครับ เนื้อหาเรื่องนี้แม้ว่าจะจริงหรือไม่จริง แต่ก็ดูสมเหตุสมผลดีครับ

‘Blog 13 : กาละฟ้า ชัยภูมิดิน ประชากรหนุน [การลงทุน]’

www.sarut-homesite.net

6 ธันวาคม 2554

Revised : 7 มกราคม 2557

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.