ไมโครเครดิต : จันทร์เพ็ญ กิตติเวทย์วิทยา

หลายๆท่านคงเคยได้ฟังข่าวกันบ้างแล้วว่า ประเทศไทยมีแผนที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยหรือธนาคารของต่างชาติ เข้ามาปล่อยสินเชื่อในรูปแบบ ไมโครเครดิต เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

วันนี้จึงถือโอกาสสรุปแนวคิดให้ผู้อ่านได้พอเห็นภาพกันคร่าวๆว่า ไมโครเครดิตคืออะไร จุดเริ่มต้นมาจากไหน มีรูปแบบอย่างไร และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

“ไมโครเครดิต” เป็นแนวคิดของนายธนาคารนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศที่ชื่อว่า มูฮัมหมัด ยูนุส ซึ่งเขาได้ก่อตั้งธนาคาร กรามีน แบงก์ ขึ้นมาเพื่อทำการปล่อยกู้ให้แก่ชาวบังกลาเทศที่ยากจน โดยมีแนวคิดคล้ายๆกับสหกรณ์ออมทรัพย์ในบ้านเรา ที่เป็นเหมือนธนาคารในแหล่งชุมชนที่ช่วยปล่อยกู้ให้แก่สมาชิกของสหกรณ์นั่น เอง

อย่างไรก็ตาม ไมโครเครดิตมีความสำคัญตรงที่ว่า สามารถปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนที่ยากจน หรือไม่มีรายได้เพื่อนำไปสร้างอาชีพเล็กๆน้อยๆ เช่น ค้าขาย โดยจำนวนเงินที่ปล่อยกู้อาจเล็กน้อย ถึงขนาดที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปไม่คิดที่จะปล่อยกู้เลยก็ได้ ที่สำคัญ ผู้มาขอกู้ยังไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันอีกด้วย

ถือว่าเป็นข้อดีอย่างมาก ที่ไมโครเครดิตจะช่วยให้คนยากจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องไปขอกู้จาก จ้าหนี้นอกระบบ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยแบบรายวัน หรือกว่า 20% ต่อปี และช่วยเปิดทางให้คนเหล่านี้มีช่องทางทำมาหากินได้ง่ายขึ้น และเมื่อคนยากจนสามารถกู้เงินเล็กๆน้อยๆ เพื่อมาสร้างอาชีพได้แล้ว ผลกระทบที่สำคัญต่อๆมาคือ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนเหล่านี้ก็จะดีขึ้น สภาพสังคมโดยรวมก็ดีขึ้น เด็กยากจนก็มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น ปัญหาลักขโมยและยาเสพติดก็จะลดน้อยลง หนี้นอกระบบก็จะค่อยๆหมดไป ความต้องการเงินอุดหนุนจากภาครัฐก็จะลดน้อยลง และภาครัฐก็จะสามารถเข้าควบคุมปัญหาระบบการเงินของประชาชนรากหญ้าได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการนำแนวคิดไมโครเครดิตมาใช้ในเบื้องต้นคือ การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ทั้งในแง่ของระเบียบวิธีในการเข้าขอสินเชื่อ การสร้างระเบียบวินัยในการจ่ายชำระคืนเพื่อป้องกันปัญหา NPL ในภายหลัง รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนกล้าที่จะเข้ามาขอใช้บริการ เนื่องจากปัญหาหนึ่งของประชาชนที่ยากจนคือ การไม่รู้หนังสือ ทำให้ไม่กล้าหรือกลัว ที่จะเข้ามาขอใช้บริการ นอกจากนี้สถาบันการเงินหรือองค์กรของรัฐอาจต้องคอยติดตามการนำเงินไปใช้ เพื่อสร้างอาชีพ และให้ความรู้ในส่วนของวิชาชีพต่างๆเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ประชาชนระดับรากหญ้า ถือว่าเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น เมื่อรากฐานของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศมีความแข็งแกร่ง ทั้งในแง่ของสถานะการเงิน และคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ประเทศไทยเรา ก็จะเติบโตและพัฒนาให้มีความก้าวหน้าได้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในอนาคต

ไมโครเครดิต
จันทร์เพ็ญ  กิตติเวทย์วิทยา
วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

Author: admin

3 thoughts on “ไมโครเครดิต : จันทร์เพ็ญ กิตติเวทย์วิทยา

  1. แล้วในเมืองไทยเริ่มมีไมโครเครดิตเมื่อ่ไหร่ครับ แล้วมีกฎเกณฑ์อะไรบ้างครับสำหรับผู้ที่จะมาขอกู้ครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.