โลกจะรอดได้ต้องใช้ตลาดเสรี…แบบพอเพียง : ดร.ไสว บุญมา

ความร้ายแรงและยืดเยื้อของวิกฤติเศรษฐกิจทางแถบโลกตะวันตกในปัจจุบัน เปิดโอกาสอีกครั้งให้ผู้ต่อต้านระบบตลาดเสรีประณามความบกพร่องของมันอย่างกว้างขวาง นักประวัติเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าวิกฤติครั้งนี้มีความร้ายแรงสูงสุดนับจากวิกฤติครั้งใหญ่ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เมื่อตลาดหลักทรัพย์อเมริกันพังทลาย วิกฤติครั้งนั้นเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้นิยมชมชอบระบบคอมมิวนิสต์โห่ร้องเพราะมองว่าโลกมีทางเลือกที่ดีกว่า หลังรัสเซียนำมันมาใช้ 12 ปีแล้วดูจะได้ผลดีเมื่อเทียบกับผลของระบบตลาดเสรีที่นั่นก่อนการเปลี่ยนแปลงปี 2460
.
ณ วันนี้ เหตุการณ์ได้พิสูจน์แล้วว่าระบบคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีกว่า ฉะนั้น ชาวโลกควรมุ่งปรับปรุงระบบตลาดเสรีให้ดีขึ้นมากกว่าที่จะเสียเวลาแสวงหาระบบอื่น หรือ จะรื้อฟื้นระบบคอมมิวนิสต์ขึ้นมาใหม่ เนื่องจากระบบตลาดเสรีมีโอกาสยั่งยืน ทั้งนี้เพราะมันได้เปรียบระบบอื่นที่มนุษย์คิดขึ้นมาด้วยปัจจัยสองอย่างที่สะท้อนธรรมชาติธาตุแท้ของมนุษย์เรา
.
กล่าวคือ มันวางอยู่บนฐานของการแลกเปลี่ยนซึ่งไม่มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นทำนอกจากมนุษย์ และบนฐานของการกระทำด้วยความสมัครใจที่มนุษย์ต้องการทำอะไรๆอย่างเสรี ตลาดเสรีจึงมีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มานานก่อน อดัม สมิธ จะรวบรวมแนวคิดขึ้นมาเสนออย่างเป็นระบบว่า จะทำอย่างไรให้มันมีประสิทธิภาพสูงสุด ในหนังสือชื่อ The Wealth of Nations ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2319
.
เมืองไทยใช้ระบบตลาดเสรีมาตั้งแต่ครั้งก่อตั้งประเทศและควรใช้ต่อไปเพราะปัจจัยดังกล่าว แต่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของมันพร้อมกันไปด้วย
.
ระบบตลาดเสรีมีจุดอ่อน เช่น มันมักไม่ให้ความเอื้ออาทรแก่ผู้ด้อยโอกาส และการผูกขาดโดยธรรมชาติอาจเกิดขึ้นได้ในบางกรณี จุดอ่อนเหล่านี้แก้ไขด้วยนโยบายต่างๆทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปในบรรดานักเศรษฐศาสตร์แล้ว นอกจากนั้น ตลาดเสรีมีกฎเกณฑ์เบื้องต้นที่ผู้หวังใช้มันให้ได้ผลดีต้องทำตามโดยเฉพาะในด้านธรรมาภิบาล นั่นคือ ข้าราชการและพนักงานของรัฐจะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบายต่างๆ
.
เนื่องจากประเด็นที่สังคมไทยสนใจอย่างกว้างขวางในปัจจุบันได้แก่ด้าน การลดความเหลื่อมล้ำ และด้านการทำให้การพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างยั่งยืน การแก้จุดอ่อนของระบบตลาดเสรีจึงควรมุ่งไปที่ประเด็นทั้งสอง
.
ในด้านความเหลื่อมล้ำ แม้การลดความเหลื่อมล้ำจะเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง แต่โดยทั่วไปไม่ค่อยมีผู้เข้าใจธรรมชาติของความเหลื่อมล้ำ ทำให้มักหลงประเด็นและมองไม่เห็นทางออกอย่างแจ้งชัด ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติบ่งว่า ทุกครั้งที่เทคโนโลยีใหม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด มันจะทำให้ความเหลื่อมล้ำหรือความแตกต่างทางรายได้เพิ่มขึ้นมากด้วย เท่าที่ผ่านมาเทคโนโลยีใหม่ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นเกิดขึ้นสามครั้งแล้ว
.
เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดครั้งแรกได้แก่ การรู้จักปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เมื่อราว 9,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกษตรกรมีความสามารถในการผลิตสูงกว่าผู้ที่ยังดำเนินชีวิตด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์ อันเป็นวิถีชีวิตของมนุษยชาติมาตั้งแต่ต้น เกษตรกรรม นำไปสู่ความแตกต่างทางรายได้ของคนสองกลุ่มและนำไปสู่ความรุ่งเรืองของอาณาจักรต่างๆ ซึ่งต่อมาล่มสลายด้วยปัจจัยหลายอย่าง ดังมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ Collapse ของ Jared Diamond หนังสือเล่มนี้แปลเป็นไทยแล้วชื่อ “ล่มสลาย” และก่อนนั้นหลายปี ประชาชาติธุรกิจ นำบทคัดย่อมาเสนอซึ่งต่อมาได้รวมอยู่ในหนังสือชื่อ “กะลาภิวัตน์”
.
โลกตกอยู่ในยุคเกษตรกรรมหลายพันปีจึงเกิดเทคโนโลยี เครื่องจักรกล ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด เครื่องจักรกลทำงานแทนแรงงานคน แรงงานสัตว์ และแรงงานธรรมชาติ ยังผลให้คนเพียงคนเดียวผลิตอะไรๆได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ นำไปสู่ช่องว่างทางรายได้ที่กว้างยิ่งขึ้นระหว่างคนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่กับคนที่ยังดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม
.
โลกตกอยู่ในยุคนั้นประมาณ 150 ปี ก็เกิดเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดครั้งที่สามเมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา ครั้งนี้เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้มันสมองของคนและเครื่องจักรกลทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ยังผลให้คนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่มีรายได้สูงกว่าผู้ที่ยังดำเนินชีวิตแบบเดิมเพิ่มขึ้นอีก
.
นอกจากวิวัฒนาการซึ่งก่อให้เกิดความแตกต่างพื้นฐานนั้นแล้ว การศึกษาพบว่า การเร่งรัดพัฒนาซึ่งนำไปสู่การขยายตัวในอัตราเร่งของเศรษฐกิจ มักนำไปสู่ความแตกต่างทางรายได้ของคนในสังคมเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย ที่ผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วต้องเผชิญกับพลังอันมหาศาลสองด้านที่เสริมกัน ผลักดันให้เกิดความแตกต่างทางรายได้ ฉะนั้น คนไทยต้องเข้าใจในวิวัฒนาการอันมีลักษณะคล้ายสัจธรรมนี้ และหาทางปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
.
ทางปรับเปลี่ยนที่เหมาะสมไม่ใช่การลดรายได้ของผู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ หากต้องมุ่งไปที่การจะทำอย่างไรให้ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีมีรายได้เพิ่มขึ้นจนถึงระดับเพียงพอ เราต้องตระหนักว่า ระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลายเพราะบังคับให้คนมีรายได้เท่าๆกัน ส่วนระบบตลาดเสรีที่พยายามกดดัน หรือยึดหนทางทำมาหากินของผู้มีรายได้สูงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ก็มักพบกับความล่มสลายหายนะ ซึ่งในขณะนี้มีตัวอย่างชั้นดีให้ดูกันอยู่ที่ประเทศซิมบับเว
.
ในด้านการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ประวัติศาสตร์บ่งว่า ความไม่ยั่งยืนเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ขัดแย้งรุนแรงกับธรรมชาติ และขัดแย้งกันเอง เหตุพื้นฐานของการขัดแย้งมาจากจำนวนคนที่มากขึ้น และแต่ละคนใช้ทรัพยากรหรือบริโภคมากขึ้น จนทำให้ธรรมชาติขาดสมดุลอย่างร้ายแรง
.
ในปัจจุบันนี้โลกมีลักษณะเช่นนั้น นั่นคือ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และแต่ละคนต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมกันสร้างความกดดันแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีอย่างจำกัดอยู่แล้ว สงครามและความขัดแย้งต่างๆจึงมีอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือในอัฟกานิสถาน ยิ่งกว่านั้น วิกฤติเศรษฐกิจที่ยืดเยื้ออยู่ทางแถบโลกตะวันตกในขณะนี้มีต้นเหตุมาจากการใช้ทรัพยากร หรือบริโภคมากเกินความจำเป็นจนก่อให้เกิดความไร้สมดุลอย่างร้ายแรง
.
ในสภาพเช่นนี้ เรามีทางออกอย่างไร? แน่นอน คำตอบคือการลดจำนวนคนและลดการบริโภคของแต่ละคน
.
ณ วันนี้ เรามีเทคโนโลยีที่สามารถจำกัดการเกิดได้ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ก็พยายามทำ และรัฐบาลไทยก็มีนโยบายสนับสนุนอยู่แล้ว ฉะนั้น การมุ่งเน้นของประเด็นนี้จึงอยู่ที่การจำกัดการบริโภคที่เกินความจำเป็น ซึ่งอาจทำได้โดยความสมัครใจ หรือโดยผ่านนโยบายที่มีเป้าหมายให้สมาชิกในสังคมทำ กรอบนโยบายที่จะนำไปสู่เป้าหมายนี้มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ “ทางข้ามเหว” ซึ่งบริษัทงานดี จำกัด จัดจำหน่ายและได้มอบให้คณะกรรมการปฏิรูปแล้ว
.
ทั้งหลายทั้งปวงที่เขียนมาคงชี้ชัดแล้วว่า เราไม่ควรเสียเวลาไปแสวงหาอะไรมาใช้แทนระบบตลาดเสรี หากใช้ระบบนี้โดยมีการปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ข้อบกพร่องของมันให้เหมาะกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ในปัจจุบันสถานการณ์บ่งชี้ว่า เราต้องพอใจที่จะใช้ทรัพยากรหรือบริโภคในระดับเพียงพอต่อความจำเป็นเท่านั้น นั่นหมายความว่า เราต้องปรับเปลี่ยนระบบตลาดเสรีไปสู่แบบที่มีความพอเพียง โลกทางแถบตะวันตกยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่สังคมไทยจะทำให้เขาดูเป็นตัวอย่าง
.
“โลกจะรอดได้ต้องใช้ตลาดเสรี…แบบพอเพียง”
.
ดร.ไสว บุญมา พิมพ์ใน ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 ธันวาคม 2553
.
Author: admin

1 thought on “โลกจะรอดได้ต้องใช้ตลาดเสรี…แบบพอเพียง : ดร.ไสว บุญมา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.