‘แฮปปี้นอย’ ร้านสะดวกซื้อคนจน ในแดน ‘ตากาล็อก’ : จีราวัฒน์ คงแก้ว

แฮปปี้นอย ‘ผลิตผลธุรกิจน้ำดีแห่งเมือง ‘ตากาล็อก’ เครือข่ายร้านค้าชุมชนสู่ร้านสะดวกซื้อมีแบรนด์ เพื่อนำสินค้าและบริการเข้าถึงคนจนทั่วฟิลิปปินส์

.
มีต้นแบบธุรกิจน้ำดีมากมาย ที่ปรากฏตัวในเวทีสัมมนาธุรกิจเพื่อสังคม Social Entrepreneurship Symposium จากงาน “Soul & Sell Innovating for IMPACT & PROFIT” เวทีประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม GSVC เมื่อเดือนที่ผ่านมา
.
พวกเขาคือเหล่าผู้นำนักคิด ที่ได้รับการยอมรับด้านธุรกิจเพื่อสังคมในเวทีระดับโลก เช่นเดียวกับชายหนุ่มที่ชื่อ “แบม อคีโน” (BAM AQUINO) ผู้ริเริ่มร้านสะดวกซื้อเพื่อคนจน นาม “แฮปปี้นอย” (Hapinoy) ในฟิลิปปินส์ ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและประธานของ “Microventures” บริษัทที่ให้สินเชื่อขนาดเล็กแก่คนจน ฝึกอบรมธุรกิจค้าปลีก และสนับสนุนคนที่มีฐานะยากจน โดยเฉพาะกลุ่มสตรีในฟิลิปปินส์
.
การถือกำเนิดขึ้นของ “แฮปปี้นอย” มาจากแนวคิดที่อยากยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจนในดินแดนตากาล็อก อคีโน บอกเราว่า มีคนฟิลิปปินส์มากถึง 40% ที่จัดอยู่ในกลุ่มคนยากจน คน 1 ใน 4 ของประเทศยังอยู่กันอย่างยากลำบาก ผลิตภัณฑ์และบริการหลายอย่างเข้าไม่ถึงพวกเขา หลายคนไม่มีโอกาสได้พบหมอ และเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่สินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับคนจนล้วนมีราคาแพง
.
แล้วจะทำอย่างไรให้ “คนจน” ไม่ต้องเป็นกลุ่มคนที่ “ตกขอบ”
.
อคีโน จึงชักชวนเพื่อนของเขามาสร้างสรรค์อะไรดีๆให้กับแผ่นดินเกิด ขณะที่เพื่อนเขามีประสบการณ์ด้านธุรกิจ จากการทำงานในบริษัทต่างชาติ อคีโน ก็มีมุมเพื่อสังคม จากการทำงานให้กับรัฐบาล สองมุมคิดที่ผสานเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างลงตัว  กลายเป็นที่มาของร้านสะดวกซื้อเพื่อคนจน “แฮปปี้นอย” ในวันนี้
.
แนวคิดร้านสะดวกซื้อเพื่อคนจนเกิดขึ้นในปี 2006 และเริ่มโครงการของพวกเขาตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา
.
การแก้ปัญหาการเข้าถึงสินค้าและบริการของคนจน ไม่จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีมากมาย แต่พวกเขาสามารถใช้ “ต้นทุน” ที่มีอยู่ภายในประเทศ อย่างร้านค้าชุมชนทั่วฟิลิปปินส์ ที่คนเมืองตากาล็อก พร้อมใจกันเรียกว่า “ส่าหรี ส่าหรี” โดยใช้ร้านเหล่านี้ มาเป็นเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ “แฮปปี้นอย”
.
วิธีคิดที่ไม่ต้องลงทุนไปกับการตั้งร้านค้าขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องห่วงว่าทำเลจะเข้าไม่ถึงคนจน เพราะร้านค้าเหล่านี้อยู่กับคนตากาล็อกมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว สิ่งที่เป็นผลพลอยได้สำคัญ คือกระบวนการนี้ยังสามารถเข้าไปแก้ปัญหาผู้ประกอบธุรกิจ ร้านส่าหรีส่าหรี ได้อีกด้วย
.
“ที่ฟิลิปปินส์ เรามีร้านค้าชุมชนอยู่เยอะมาก ที่เราเรียกว่า ส่าหรี ส่าหรี แต่คนเหล่านี้ไม่มีโอกาสขยับฐานะตัวเองเลย เรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงนำร้านเหล่านี้มาทำ เอาโครงสร้างที่มีอยู่แล้วและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมฟิลิปปินส์ มาเป็นเครือข่ายร้านสะดวกซื้อเพื่อคนจน”
.
วิธีคิดสำหรับการแก้ปัญหา ‘ให้คนจนเข้าถึงสินค้า’ ก็ทำได้แล้ว มาถึงการควบคุมสินค้าคุณภาพดีให้จำหน่ายได้ในราคาที่ถูก ก็คือเข้าสู่ระบบธุรกิจของพวกเขา “แฮปปี้นอย” มีโกดังสินค้าของตัวเอง พวกเขามีระบบการบริหารจัดการที่ดี นำส่งสินค้าไปยังร้านสะดวกซื้อที่เป็นเครือข่าย สามารถขายของให้กับชุมชนได้ในราคาที่ถูก
.
ร้านสะดวกซื้อทั่วไป อาจมีสินค้ามาตรฐานที่เห็นเหมือนกันในทุกร้าน แต่กับ “แฮปปี้นอย” สินค้าเป็นไปตามความต้องการของชุมชน อคีโน บอกว่า บางพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ของที่ขายในร้านก็จะมีแผงโซลาร์เซลล์จำหน่ายด้วย พื้นที่ห่างไกลหมอ ยังมียาคุณภาพจำหน่ายในราคาที่ถูก เหล่านี้คือการพัฒนาร้านค้าชุมชนที่ไปสู่การแก้ปัญหาของชุมชนได้อย่างแท้จริง
.
.
นอกจากนี้ ยังเป็นการขยับคุณภาพชีวิตให้คนจน นั่นคือ การพัฒนาเหล่าเจ้าของร้าน ที่เคยถูกคนฟิลิปปินส์ตราหน้าว่า “อาชีพของคนขี้เกียจ” ให้เป็นธุรกิจที่มีอนาคตขึ้น วิธีการคือ การนำพวกเขามาอบรม ให้ความรู้เรื่องการทำระบบบัญชี การบริหารจัดการร้าน ให้เงินไปลงทุนในการทำธุรกิจ การพัฒนาสินค้าของชุมชน ดึงกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสตรี มาเป็นเจ้าของธุรกิจ เพื่อให้ผู้หญิงลุกขึ้นมามีบทบาทในสังคมมากขึ้น และสามารถมีอำนาจในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
.
เมื่อทำธุรกิจเป็น รู้เรื่องการทำระบบบัญชี ทำให้ผู้ประกอบการ ส่าหรี ส่าหรี ในอดีต ก็มีคุณภาพชีวิตและมีรายได้ที่ดีขึ้น  จากอดีตที่ประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อเดือน ก็สามารถเพิ่มเป็น 200-300 ดอลลาร์ต่อเดือนได้ เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ก็นำมาสู่การขยายเครือข่ายแฮปปี้นอยให้กว้างขวางออกไป
.
เปลี่ยนภาพธุรกิจของคนขี้เกียจ มาเป็นธุรกิจแห่งโอกาสของคนตากาล็อกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
.
ไม่เพียงการแก้ปัญหาของคนจน และพัฒนาคุณภาพชีวิตอาชีพดั้งเดิมของคนฟิลิปปินส์ หากมันยังรวมถึงการใช้เครือข่ายร้านแฮปปี้นอยที่อยู่ในชุมชน มาเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานต่างๆ อย่างการเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ นำข่าวแปลกปลอมมารายงานเจ้าหน้าที่ เป็นการสร้างพลังให้กับชุมชน ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาใหญ่ๆให้กับประเทศได้ในที่สุด
.
“เราพยายามสร้างพลังให้กับประชาชน ให้เขาสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ลุกขึ้นมาในฐานะเจ้าของธุรกิจที่มีศักดิ์ศรี และมีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมของเราได้ด้วย”
.
ปัจจุบัน “ร้านแฮปปี้นอย” เป็นเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ครอบคลุมถึง 160 ชุมชนในฟิลิปปินส์ และมีร้านค้าสมาชิกกว่า 700 ร้าน โดยที่คนขับเคลื่อนไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมากมาย ใช้เพียงเครือข่ายในการค้าขายที่มีอยู่แล้ว และพวกเขาก็มุ่งไปทำเรื่องการวิจัยตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงระบบการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะเดินหน้าต่อไปได้ และสามารถขยายบทบาทตัวเอง ไปสู่บริษัทที่ให้สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก การฝึกอบรมด้านธุรกิจค้าปลีกและให้การสนับสนุนแก่ผู้หญิงที่มีฐานะยากจนในประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อช่วยให้พวกเธอได้เป็นเจ้าของกิจการ “ร้านแฮปปี้นอย”
.
อคีโน บอกเราว่า เป้าหมายของเขา คือ จะขยายร้านแฮปปี้นอย มากถึง 5,000 – 6,000 ชุมชนทั่วฟิลิปปินส์ให้ได้ เพื่อให้ร้านสะดวกซื้อคนจนที่พวกเขาสรรสร้างขึ้นมานั้น ได้งอกงามเป็นธุรกิจน้ำดี ทั่วดินแดนตากาล็อก
.
“ตอนที่พวกผมเริ่มทำแฮปปี้นอย มีแต่คนว่าพวกเราเพี้ยน ที่คิดทำโครงการแบบนี้ มันคงเป็นได้แค่ความฝัน แต่วันนี้พวกเราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้ามุ่งมั่น ทุกอย่างมันสามารถเป็นความจริงขึ้นมาได้”
.
แฮปปี้นอย คือการผสมผสานกันระหว่าง คำว่า Happy ในภาษาอังกฤษ รวมกับ Pinoy ในภาษาตากาล็อก ธุรกิจน้ำดีที่ไม่ได้เข้ามาเพียงแก้ปัญหาให้คนฟิลิปปินส์ หากยังรวมถึง การสร้าง “ความสุขอย่างยั่งยืน” ให้กับประเทศที่พวกเขารักด้วย
.
.
‘แฮปปี้นอย’ คอนวีเนียน สโตร์ คนจน ‘ตากาล็อก’
.
จีราวัฒน์ คงแก้ว
.
กรุงธุรกิจ : BizWeek
.
7 เมษายน 2554
Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.