แก่นของ VI : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับ Value Investment มานานมาก ตั้งแต่ยังแทบไม่มีคนในตลาดหุ้นไทยรู้จัก จนเดี๋ยวนี้ Value Investment เป็นหลักการลงทุนที่เป็นที่ยอมรับ และหนังสือพิมพ์สามารถเขียนเรื่องเกี่ยวกับ การลงทุนแบบเน้นคุณค่า โดยไม่ต้องบอกว่ามันคือการลงทุนอย่างไรแล้ว แต่พอมานึกดูว่า อะไรคือหัวใจ หรือ แก่นของ Value Investment จริงๆ ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะตอบไม่ได้ ดังนั้น ผมจึงถือโอกาสนี้ทบทวนความคิดเรื่องนี้

แก่นของ Value Investment ที่ผมจะพูดถึงนี้ แน่นอน มาจากสาระสำคัญของหนังสือคลาสสิค 2 เล่มของ เบน เกรแฮม “บิดาแห่ง Value Investment” คือ Security Analysis ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1934 และ  Intelligent Investor ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1949 โดยที่เล่มหลังนี้เป็นเล่มต่อจากเล่มแรกและเขียนสำหรับคนอ่านทั่วๆไป แทนที่จะเพื่อคนที่เป็นมืออาชีพ หรือนักวิชาการอย่างเล่มแรก

แก่นของ VI จากหนังสือ 2 เล่มนี้ สามารถสรุป หลักการลงทุนและวิเคราะห์หลักทรัพย์ ได้เป็น 4 ข้อใหญ่ๆ คือ

1) เวลาลงทุนซื้อหุ้น ให้คิดเหมือนกับว่าเรากำลังจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ต้องคิดว่า เรากำลังเข้าเป็นหุ้นส่วนกับเขา เมื่อเราคิดแบบนี้ เราก็จะต้องวิเคราะห์ว่าธุรกิจของเขาทำอะไร สินค้าเป็นอย่างไร ยอดขายเป็นอย่างไร มีกำไรดีไหม ฐานะการเงินเป็นอย่างไร มีหนี้มากน้อยแค่ไหน ธุรกิจมีความสม่ำเสมอไหม ธุรกิจมีการเติบหรือไม่และจะเติบโตต่อไปหรือเปล่า และจะเติบโตต่อไปอีกนานเท่าไร ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้บริหารมีความน่าเชื่อถือหรือเปล่า ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับราคาหุ้นที่ขึ้นลงหวือหวาที่นักเล่นหุ้นมักจะดูก่อนที่จะเข้ามาซื้อขายหุ้นเลย พูดง่ายๆ ถ้าเป็น Value Investment “ธุรกิจต้องมาก่อน”

2) หา “มูลค่าที่แท้จริง” ของธุรกิจหรือหุ้นที่เราวิเคราะห์ มูลค่าที่แท้จริงหรือ Intrinsic Value นั้น หาได้จากการคิดส่วนลดเงินสดที่เราจะได้รับในอนาคต นี่ก็คือการหามูลค่าทางทฤษฎีซึ่ง ค่อนข้างยุ่งยากมากสำหรับนักลงทุนทั่วๆไป แต่ในทางปฏิบัติเราก็มักจะใช้ค่า PE หรือราคาต่อกำไรต่อหุ้น หรือ ค่า PB หรือ กำไรต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี มาเป็นตัววัดว่าหุ้นมีราคาแพงหรือถูก หรือหุ้นควรมีราคาที่เหมาะสมเท่าไร

3) ซื้อหรือขายหุ้น ต่อเมื่อมีส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริงกับราคาหุ้นในตลาด เพราะในที่สุดแล้ว ราคาหุ้นในตลาดจะวิ่งไปที่มูลค่าที่แท้จริง พูดให้เฉพาะขึ้นก็คือ ถ้าราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก โอกาสที่เราจะกำไรก็จะสูง และโอกาสที่จะขาดทุนก็จะน้อย หรือเรียกว่าเรามีการ “เผื่อความปลอดภัย” สูง ในภาษาของ Value Investor ก็คือ เรามี Margin Of Safety สูง

4) ตลาดหุ้นนั้น เป็นที่ที่จะรับใช้เราไม่ใช่คนที่จะมาสั่งว่าเราจะต้องทำอะไร โดยส่วนใหญ่แล้ว ตลาดหุ้นสามารถกำหนดราคาธุรกิจหรือหุ้นต่างๆในตลาดได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม มีช่วงเวลาที่ตลาดให้ราคาหุ้นสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก หน้าที่ของนักลงทุนก็คือ ค้นหาหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่ามากๆ ซื้อแล้วเก็บไว้รอจนราคาสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงจึงขายออกไป และนี่คือแนวความคิดว่าตลาดหุ้นเป็น “ผู้รับใช้”  ส่วนแนวความคิดว่าตลาดเป็น “ผู้สั่ง” เรานั้น หมายความว่า เราตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นโดยดูจากการขึ้นลงของราคาหุ้น โดยที่เราไม่ได้คำนึงถึงพื้นฐานหรือมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจเลย

ทั้ง 4 ข้อนั้น ก็คือ “แก่น” ของ VI ซึ่ง “ทนทานต่อกาลเวลา” นั่นคือ เป็นหลักการที่ไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะเกิดขึ้นมานานมากแล้ว ส่วน “รายละเอียด” อื่นๆนั้น มีการแตกแขนงออกไปมากมาย บางทีถ้ามีคุณลักษณะที่ชัดเจนเราก็เรียกมันว่าเป็น “สไตล์” เช่น สไตล์แบบ “ก้นบุหรี่”  ที่เน้นหุ้นที่มีราคาถูกเป็นพิเศษ และสไตล์แบบ “บัฟเฟตต์” ที่เน้นหุ้นที่มีคุณภาพทางธุรกิจสูงมาก

แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน สิ่งที่ทุกสไตล์จะต้องยึดถือเหมือนกันก็คือ “แก่น” ของ VI ดังกล่าว ถ้าจะเปรียบเทียบแก่นของ VI ก็เหมือนกับฐานรากของอาคารที่คอยรับน้ำหนักไม่ให้ตัวอาคารเสียหาย ถ้าฐานไม่แน่น โอกาสที่ตัวอาคารจะทรุดหรือถล่มก็จะสูงขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าเราจะใช้สไตล์ไหนหรือมีสไตล์ของตัวเอง ถ้าเราจะเป็น Value Investor แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ เราจะต้องยึดถือ “แก่นของ VI” เสมอ

แก่นของ VI
โลกในมุมมองของ Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Tuesday, 11 December 2007

( หนังสือ The Intelligent Investor ฉบับภาษาอังกฤษ สามารถโหลดได้ที่ link นี้ครับ : http://www.mediafire.com/?eznxnezyniz )

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.