เศรษฐศาสตร์ มิใช่เพียงเรื่องของตัวเอง : วีรกร ตรีเศศ

ผู้คนเข้าใจมานานแล้วว่า ความรู้สึกลึกๆ ในใจของตนเองมีส่วนสำคัญ ในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุน การบริโภค หรือการประกอบกิจกรรมเศรษฐกิจใดๆ ก็ตาม แต่ก็ไม่มีใคร อธิบายชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ความรู้สึกดังกล่าวมความสำคัญอย่างไร จนกระทั่งเกิดกลุ่มของนักเศรษฐศาสตร์ ที่ศึกษาสิ่งที่เรียกว่า Behavioral Economics ซึ่งศึกษาเศรษฐศาสตร์ จากแง่มุมพฤติกรรมมนุษย์

ROBERT J.SCHILLER แห่งมหาวิทยาลัยเยล ถือได้ว่าเป็นหัวหอกสำคัญ ของการศึกษาเศรษฐศาสตร์ ในแนวดังกล่าว

ในการศึกษาเรื่องความบ้าคลั่งหุ้นไฮเทค ของตลาดหุ้น NASDAQ ในนิวยอร์ค SCHILLER พบว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ขาดเหตุผล เพราะหุ้น DOT.COM ทั้งหลายนั้น ยังไม่มีกำไรให้ปรากฎเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ตื่นเต้นกันยกใหญ่

ความรู้สึกของนักลงทุน ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างอัศจรรย์ และถึงจุดผกผันครั้งใหญ่ ในวันที่ 14 เมษายน 2000 เขาเรียกปรากฎการณ์ของความรู้สึกอย่างนี้ ซึ่งมีอยู่ในทุกชาติว่า IRRATIONAL EXUBERANCE (ความกระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวาอย่างไม่มีเหตุผล) ซึ่งคนที่ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมา คือนาย ALAN GREENSPAN ผู้ว่าการธนาคารกลางองสหรัฐ

เขาเชื่อว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์คที่ตลาด NASDAQ มีดัชนีขึ้นฮือฮา ในช่วงปลายศตวรรษ 1990’s อย่างน่าตกใจนั้น เป็นผลพวงของการเก็งกำไร มิใช่เนื่องมาจากผลประกอบการอย่างแน่นอน และเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล เป็นฟองสบู่ ที่ผลักดันพองขึ้นด้วยตัวมันเอง

SCHILLER แสดงหลักฐาน ให้เห็นอย่างชัดเจนในหนังสือชื่อ IRRATIONAL EXUBERANCE ซึ่งวางตลาดไปก่อนที่ฟองสบู่จะแตกไม่กี่วัน และกลายเป็นหนังสือติดอันดับ พร้อมกับการเป็น GURU ของ SCHILLER ในเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

SCHILLER เชื่อว่าเศรษฐศาสตร์ มิใช่เรื่องของข้อมูล และตัวเลขเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่งอของจิตวิทยา และอารมณ์ความรู้สึกด้วย ดัชนีของตลาดหุ้นมิใช่ผลพวงของข้อมูลและตัวเลข หากเป็นผลพวงของอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ซึ่งผูกพัน อยู่กับการเก็งกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของการพุ่งสูงขึ้น ของดัชนีของตลาดหุ้นนิวยอร์ค

เขาไม่เชื่อทฤษฎีประสิทธิภาพของตลาด (Efficient-Market Theory) ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชือกัน ทฤษฎีประสิทธิภาพของตลาดระบุว่า ราคาของหลักทรัพย์ทั้งหมด จะสะท้อนซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่เปิดเผย เป็นสาธารณะอย่างแม่นยำเสมอ

กล่าวคือ ด้วยข้อมูลที่ทราบกันในสาธารณะ ราคาของหลักทรัพย์ จะถูกกำหนดอย่างถูกต้องเสมอ

พูดง่ายๆ ก็คือ หากเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นสาธารณะ อย่างเสรีแล้ว ราคาหลักทรัพย์นี้จะสะท้อนความจริงออกมาเสมอ ราคาหลักทรัพย์จะมีราคาที่เป็นไปตามความเป็นจริงของข้อมูลในเรื่อง ผลตอบแทน ศักยภาพ ความมั่นคง ฯลฯ

ด้วยความเชื่อเช่นนี้ ราคาหลักทรัพย์ที่สูงหรือต่ำเกินไปบ้างจากความเป็นจริง อาจเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น เป็นเพียงภาพลวงตาชั่วคราว แต่หากทำให้ข้อมูลเป็นเสรีแล้ว ราคาหลักทรัพย์ จะกลับมาเป็นปกติ โดยสะท้อนซึ่งข้อเท็จจริงเสมอ

ภายใต้ทฤษฎีประสิทธิภาพของตลาด การบูมของหุ้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าหวาดหวั่น เพราะราคาหุ้นย่อมสะท้อนซึ่งความเป็นจริง ของการประกอบการเสมอ ตราบที่มีความเป็นเสรีของข้อมูลข่าวสาร สิ่งซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผลจึงเกิดขึ้นไม่ได้

SCHILLER เห็นว่าทฤษฎีนี้เป็นเรื่องไร้สาระ โดยเขาพิสูจน์ในเชิงสถิติว่า ความผันผวนของราคาหุ้นนั้นสูงกว่า ความผันผวนของเงินปันผลเป็นอย่างมาก (แสดงว่า ราคาหุ้นมิได้เคลื่อนไหวตามที่ทฤษฎีระบุ) เขาเห็นวาราคาหุ้นผันผวน ไปตามจิตวิทยา ความรู้สึก และอารมณ์ของผู้คน มากกว่าโดยเป็นอารมณ์ร่วมกันของคนหมู่ใหญ่ ซึ่งเขาเชื่อว่า อะไรก็เป็นได้ทั้งนั้น โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเงินปันผลแต่อย่างใด

(ถ้า SCHILLER มาตลาดหุ้นไทย คงไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์)

ไม่เพียงแต่ในเรื่องหุ้นเท่านั้น SCHILLER เชื่อว่า พลังของจิตวิทยามนุษย์ สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจพุ่งขึ้น หรือตกลงได้อย่างไม่มีเหตุผล และอย่างไม่เชื่อมโยงกับข้อมูลสถิติเศรษฐกิจด้วยซ้ำ

SCHILLER เชื่อว่า มีสิ่งหนึ่งอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ZEITGEIST ( SPIRIT OF THE TIMES หรืออารมณ์ความร้สึกในช่วงนั้น) ซึ่งมีพลังอย่างมหาศาล ในการทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ในทิศทางใด หรืออยู่กับที่ก็ยังได้

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ ถ้าผู้คนมีความรู้สึกในด้านดี หรือโลภ มองโลกในแง่ดี ตลาดก็จะชุ่มชื่น ราคาหุ้นขยับขึ้น

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าพลังพื้นฐานคือความหดหู่ มองโลกในแง่ร้าย เงินปันผลที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่อาจหยุดยั้ง การตกของราคาได้

สำหรับเศรษฐกิจในระดับมหภาคก็เหมือนกัน ความรู้สึกดังกล่าวมีอยู่เสมอ แรงบ้างเบาบ้าง แล้วแต่สภาวการณ์ชองเศรษฐกิจ และสถานกาณ์รอบข้างภายนอก

ในความเห็นของผม ญึ่ปุ่นคือตัวอย่างที่ดี ของการมีอยู่จริงของ ZEITGEIST ญี่ปุ่น มีทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่า และมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ในความหมายหนึ่ง รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ไขเศรษฐกิจมาเป็นเวลา 10 ปี ทุ่มเทเงินทอง และสติปัญญาไปมากมาย แต่ก็แทบไม่เป็นผล เพราะคนญี่ปุ่น มีความรู้สึกในด้านลบเกี่ยวกับระบบการเมือง ความมั่นคงของการงาน ความมั่นคงของสถาบันการเงิน ความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ ฯลฯ อย่างแทบไม่อาจแก้ไขได้ ทั้งที่ความเจริง อาจไม่เลวร้ายขนาดนั้น

ประเทศไทยของเราก็เช่นกัน หากปล่อยให้ ZEITGEIST ออกอาละวาด ครอบงำความรู้สึกของเราได้อย่างเหนียวแน่นแล้ว ความมีเหตุผล ก็จะโบยบินไป เหลืออยู่แต่อารมณ์ และความรู้สึก ต่อให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกันอย่างไร ก็ยากที่จะหลุดพ้นได้

ยิ่งถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการมี MINDSET ของการใช้จ่ายอย่างมโหฬารแล้ว เราก็มีโอกาสสูงที่จะกลายร่างเป็นคนละตินอเมริกา แดนหนี้ท่วมหัว แต่พูดภาษาญี่ปุ่น

จะโทษประชาชนไทย ในกรณีที่เกิด ZEITGEIST ไปในทางลบ คงจะไม่เป็นธรรมนัก เพราะประชาชนมิได้กินแกลบเสมอหน้า ความจริงเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ก็เป็นความจริงที่หลอกกันไม่ได้

คำถามก็คือ รัฐบาลจะทำอย่างไร ที่จะให้ผู้คนมีความหวัง และหลุดเข้าไปอยู่ใน ZEITGEIST เหมือนกัน แต่ในด้านบวก

วีรกร ตรีเศศ : มติชนสุดสัปดาห์ จันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2544 ปีที่ 22 ฉบับที่ 1113 หน้า 26

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.