เรื่องของ..หนี้นอกระบบ : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

debt-management

หนี้อะไรก็ไม่ร้ายแรงเท่าแสนยานุภาพของ “หนี้นอกระบบ”

ไม่มีใครอยากเข้าไปคบหากับหนี้นอกระบบ แต่โดยมากเมื่อหลวมตัวไปทำความรู้จักกับหนี้สารพัดสารพันเข้าไปแล้ว และไม่พยายามดิ้นให้พ้น “กับดักหนี้” ท้ายที่สุด มักลงเอยด้วยการมีหนี้นอกระบบเป็นญาติสนิทร่วมชายคา

ไม่มีอะไรเจ็บปวดไปกว่าการนั่งหน้าดำคร่ำเคร่งกับการทำมาหากิน ผลิตเงินมาเพื่อให้ทันจ่ายหนี้เป็นรายวันให้กับเจ้าหนี้ บางคนเจอดอกเบี้ยเบาะๆ แค่เดือนละ 8-10% แต่ก็มีบางรายที่เจอดอกเบี้ยมหาโหดที่เดือนละ 20-30%

การหลุดจากวัฏจักรของหนี้นอกระบบจึงไม่ง่าย สูตรที่นักวางแผนการเงินพูดกันบ่อยที่สุดคือ โอกาสที่คุณจะกำจัดหนี้นอกระบบออกจากชีวิตได้ ต้องพาตัวเองเข้าผลักเข้ามาเป็น “หนี้ในระบบ” ให้ได้เสียก่อน

ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน ที่คุณจะผันหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ เพราะต้นเหตุที่ทุกคนต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบ คือมีคุณสมบัติและหลักฐานไม่เพียงพอที่จะไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่ข่าวดีก็คือ เดือน ธ.ค. 2552 ทั้งเดือน รัฐบาลเปิดโอกาสให้ผู้มีหนี้นอกระบบได้ลงทะเบียนเพื่อกู้เงินไปปลดหนี้นอกระบบ

Fundamentals ฉบับนี้ พาไปติดตามสาเหตุและทัศนะของการเป็นหนี้นอกระบบกัน

มูลหนี้นอกระบบ 1.3-1.6 แสนล้านบาท บวกกับสัดส่วนหนี้นอกระบบ ที่ขยับขึ้นสู่ 20% ของมูลหนี้ทั้งระบบที่ประมาณ 8 ล้านล้านบาท กำลังกลายเป็นปัญหาร้ายแรงทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลเล็งเห็นว่า หากปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งเป็นภัยที่ลุกลามจนยากจะเยียวยา จึงเป็นเจ้าภาพจัดโครงการปล่อยสินเชื่อเพื่อปลดหนี้นอกระบบ โดยสามารถลงทะเบียนที่สาขาของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1-30 ธ.ค. 2552 ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. เว้นเฉพาะวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

O ไม่มีระบบ ใครมาก่อน-ได้ก่อน

รายงานข่าวจากธนาคารออมสินแจ้งว่า ไม่มีระบบใครมาก่อนได้ก่อน  ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการเดินทางไปลงทะเบียน ไม่จำเป็นต้องรีบไปตั้งแต่วันแรก และสามารถทยอยเดินทางไปลงทะเบียนได้ทั้งเดือน ข้อสำคัญคือ วันที่จะเดินทางไปลงทะเบียน จะต้องนำสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และหลักฐานการเป็นหนี้นอกระบบไปด้วย ซึ่งกรณีไม่มีหลักฐานก็ไม่เป็นไร แต่เงื่อนไขคือต้องเป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และไม่เกิน 65 ปี

ส่วนกรณีผู้ค้ำประกัน สำหรับเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท ต้องมีผู้ค้ำประกัน 1 คน และ 2 คน สำหรับวงเงินกู้ 2 แสนบาท ผู้ค้ำประกันต้องมีรายได้รวมกันไม่น้อยกว่า 10% ของเงินกู้ โดยเงินกู้จะมีระยะเวลาการชำระเงินกู้ไม่น้อยกว่า 8 ปี

“ยังไม่ต้องพาผู้ค้ำประกันไปด้วยในวันลงทะเบียน เมื่อได้รับอนุมัติเงินกู้แล้วจึงจำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน ซึ่งหลังปิดการรับลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ข้อมูลทั้งหมดจะส่งไปกรมบัญชีกลางเพื่อคัดแยกหนี้และลูกหนี้”

O คนนิยมกู้นอกระบบ-บัตรเครดิตมากขึ้น

ผลจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าและหอการค้าไทย ที่สำรวจความคิดเห็นสถานะภาพหนี้ภาคครัวเรือนทั่วประเทศจากกลุ่มตัวอย่าง 1,202 คน ระหว่างวันที่ 6-13 พ.ย. 2552 พบว่า ภาพรวมของแหล่งเงินกู้ในปัจจุบันจะเห็นว่า เมื่อต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วนประชาชนหันไปพึ่งพิงแหล่งเงินกู้นอกระบบ และจากบัตรเครดิตมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารประชาชนและกองทุนหมู่บ้านก็เป็นแหล่งหยิบยืมเงินที่ได้รับความนิยมรองลงมา

โดยธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร รวมถึง โรงรับจำนำ ได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ

และจะสังเกตได้ว่า ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท จะมีหนี้นอกระบบเยอะกว่ากลุ่มอื่น ส่วนคนที่มีรายได้ 30,000-50,000 บาท จะมีหนี้ในระบบมากกว่า

สำหรับภาระหนี้ของครัวเรือนในปัจจุบัน พบว่า มีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 147,542 บาท หรือมีภาระต้องผ่อนชำระต่อเดือนประมาณ 9,654 บาท โดยเพิ่มขึ้น 2.8% จากต้นปี 52 คิดเป็นเพิ่มขึ้น 3,000 บาท/ครัวเรือน แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 42.6% และหนี้นอกระบบ 57.4% สาเหตุที่หนี้เพิ่มขึ้น เพราะมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ประกอบกับ ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องหันไปหาแหล่งเงินกู้นำมาใช้ให้จ่ายในชีวิตประจำวัน ลงทุน ซื้อยานพาหนะ และซื้อบ้าน

ทั้งนี้ เมื่อดูการก่อหนี้ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า  34% มีเฉพาะหนี้ในระบบ อีก 34% มีเฉพาะหนี้นอกระบบ และประมาณ 31% มีทั้งหนี้ในและนอกระบบ

โดยมีการสำรวจหนี้ในปัจจุบันและในอนาคต แม้หนี้นอกระบบจะเพิ่มขึ้น แต่ใน 1 ปีข้างหน้า กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า 59% หนี้นอกระบบจะลดลง และ 35% เชื่อว่าจะไม่มีหนี้นอกระบบเลย

O 79% ของผู้มีหนี้ มีปัญหาชำระ

แบบสำรวจยังสอบถามถึงการชำระหนี้ในรอบปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า 79.1% ตอบว่ารอบปีที่ผ่านมา มีปัญหาในการชำระหนี้ มีเพียง 20.9% ตอบว่าไม่มีปัญหา

ซึ่งจากการสอบถามถึงสาเหตุของการเป็นหนี้ พบว่า 42.8% กู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายทั่วไป 30% กู้เงินเพื่อซื้อทรัพย์สิน 18.3% กู้มาเพื่อลงทุนหรือประกอบธุรกิจ 7.9% เป็นหนี้ที่เกิดจากการซื้อบ้าน

สำหรับสถานภาพทางการเงินของครัวเรือนนั้น 75.5% พบว่า มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย มีเพียง 24.5% เท่านั้นที่ตอบว่าไม่มีปัญหา ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่มีปัญหานั้น พวกเขาให้เหตุผลว่า เกิดจากการที่ราคาสินค้าแพงขึ้น 66.5%  21.6% บอกว่าเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น  5.7% บอกว่าเพราะราคาน้ำมันแพง

ซึ่งโดยภาพรวมของกลุ่มที่มีปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายนั้น เมื่อเกิดปัญหา 45%จะหันไปกู้เงิน  20%นำเงินออมออกมาใช้ อีก 20%หันไปขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง อีก 13%นำสินทรัพย์ที่มีอยู่ออกมาขายหรือจำนำ

ส่วนกลุ่มที่บอกว่าไม่มีปัญหา ยังมีรายได้เพียงพอกับรายจ่ายนั้น เพราะพวกเขายังเลือกซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น ซึ่งประมาณ 63%ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่า พวกเขาคิดว่าปัจจุบันหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว

O คนรอบตัวมีหนี้นอกระบบมากขึ้น

หอการค้ายังได้ถามกลุ่มตัวอย่างว่า มีคนรู้จักที่มีหนี้นอกระบบหรือไม่ กลุ่มตัวอย่าง 85.8% ตอบว่า มีคนรู้จักเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาคนรู้จักที่มีหนี้นอกระบบเหล่านั้น มีหนี้นอกระบบเพิ่มมากขึ้นกว่า 32%

ซึ่งรูปแบบการทวงหนี้ของเจ้าหนี้นอกระบบนั้น ที่เจอเยอะที่สุดคือโทรศัพท์มาทวงหนี้ นอกจากนี้ ยังมีที่ส่งคนมาทวงหนี้ หรือร้ายแรงยิ่งกว่านั้นคือส่งนักลงมาข่มขู่ให้จ่ายหนี้

O เชื่อรัฐแก้ไขปัญหานี้นอกระบบไม่ได้

ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่า 76%ของกลุ่มตัวอย่าง ยังไม่เคยเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งเมื่อสอบถามกลุ่มที่เคยเป็นหนี้นอกระบบมาก่อน 59.5%มองว่ารัฐบาลไม่น่าจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ เมื่อดูจากสาเหตุของความพยายามในการแก้ไขหนี้ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่เมื่อแสดงความจำนงในการแก้ไขหนี้ไปแล้ว รัฐบาลไม่ติดต่อกลับมา ขณะที่บางส่วนไม่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน รวมถึงบางคนมีหนี้สูงเกินกำหนดวงเงินช่วยเหลือ

ส่วน 40%ของคนที่คิดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ เพราะเชื่อว่า  72%ของคนที่ได้รับการแก้ไขหนี้นอกระบบ จะไม่กลับมาเป็นหนี้อีก มีส่วนน้อยที่มีโอกาสกลับมาเป็นหนี้อีก เพราะยังมีรายได้ที่ไม่พอกับรายจ่าย บางคนไม่มีเงินทุนหมุนเวียน บางคนประกอบอาชีพแล้วขาดทุน นั่นเป็นสาเหตุให้คนกลุ่มนี้กลับมาเป็นหนี้นอกระบบอีก

“ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลในครั้งนี้อาจจะไม่ได้ผลนัก เพราะรัฐบาลไม่มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง หรือบางรายไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีหนี้สูงกว่าวงเงินที่รัฐกำหนด ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าร่วมโครงการ  อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเขาเห็นด้วยกับมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบของรัฐบาล แม้รูปแบบจะคล้ายประชานิยม และไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก

news_img_89812_1

แต่เป็นโครงการที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะมีผลทำให้ลดรายจ่ายจากภาระดอกเบี้ย และมีการออม การใช้จ่ายมากขึ้น เชื่อว่านโยบายนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะรัฐใช้สถาบันการเงินรัฐช่วยขับเคลื่อน ซึ่งมีระบบการจัดการและบริหารความเสี่ยงดี ทำให้โอกาสเกิดหนี้เสียมีไม่ถึง 10%

“แม้ว่าภาพรวมโครงการจะไม่ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก และมีความเป็นประชานิยม แต่เมื่อพิจารณาจะพบว่า วงเงินการปล่อยกู้แต่ละราย รายละ 2 แสนบาทนั้น ครอบคลุมวงเงินกู้ที่ประชาชนมีอยู่ตามการสำรวจ คือเฉลี่ยรายละ 1.4 แสนบาท และอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 12% หรือ 1% ต่อเดือน เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่ผู้อยู่ในต้องแบกภาระอยู่ 5-10% ต่อเดือนเท่ากับเป็นการลดภาระได้มาก ผมมองว่าประชาชนจะประหยัดค่าดอกเบี้ยได้มาก และมีเงินเหลือมาใช้จ่ายเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง โดยประเมินว่า ในจำนวนคน 1 ล้านคนที่เชื่อว่าอยู่ในวงเงิน 5 หมื่น -1 แสนบาท ก็จะต้องใช้เงิน 3-5 หมื่นล้านบาทในโครงการนี้ แต่ประชาชนจะมีเงินเหลือจากเดิมที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงๆประมาณ 3-5 พันล้านบท เป็นเม็ดเงินนี้ก็จะอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะไม่มีไม่ส่งผลต่อระบบเท่าใดแต่ศูนย์สนับสนุนโครงการนี้ เพราะช่วยบรรเทาภาระประชาชน”

O คนเป็นหนี้อยากเข้าร่วมโครงการ

หอการค้า สำรวจความเห็นถึงการที่รัฐบาลมีโครงการปลดหนี้นอกระบบ ซึ่ง 57% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่าจะเข้าร่วมโครงการ  42% คือกลุ่มที่ไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการ

ซึ่งเมื่อถูกถามถึงทัศนะในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล กลุ่มตัวอย่างประมาณ 32% เห็นด้วยในระดับปานกลาง ส่วนกลุ่มที่เห็นด้วยมากถึงมากที่สุดมีประมาณ 19% ที่เหลือคือกลุ่มที่เห็นด้วยน้อย น้อยมาก จนถึงไม่เห็นด้วยเลย นั่นเพราะพวกเขายังเชื่อว่า รัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้น้อยมาก โดยกลุ่มตัวอย่าง 37% คิดว่าช่วยแก้ปัญหาได้น้อย 35% คิดว่าช่วยได้ในระดับปานกลาง

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังระบุว่า โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของ รัฐบาลในครั้งนี้ 33% มองว่าน่าจะทำให้มีภาระดอกเบี้ยน้อยลงและมีเงินเหลือเก็บ 26% คิดว่าเมื่อไม่มีภาระดอกเบี้ยสูงๆ ทำให้มีเงินเหลือพอซื้อของเพิ่มขึ้นได้ 24% คิดว่าน่าจะมีเงินเหลือไปลงทุน อีก 15% มองว่าปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากการทวงหนี้จะน้อยลง

นอกจากนี้ ผลสำรวจเพิ่มเติมของหอการค้า ยังระบุว่า การที่รัฐบาลจะดำเนินโครงการปลดหนี้นอกระบบให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ต้องมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจริงๆ และเข้าถึงปัญหาของผู้เดือดร้อนที่แท้จริงโดยควรสำรวจความเห็นและช่วยเหลือผู้เป็นหนี้ รวมถึงมีนโยบายสร้างงานและรายได้ขึ้นมารองรับอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมองว่า ในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงปัญหาหนี้นอกระบบเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาอื่นๆอีก ที่รัฐบาลน่าจะช่วยแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ปัญหาความยากจน ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงควรจะมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้มีรายได้น้อยด้วย

ทั้งนี้ เมื่อถูกถามถึงการแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบด้วยการมีสหกรณ์เข้ามาช่วยเหลือได้หรือไม่นั้น กลุ่มตัวอย่าง 85% คิดว่าน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ เพราะสหกรณ์เป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และสามารถให้กู้ในกรณีฉุกเฉินได้ และยังเป็นแหล่งฝากเงินที่ให้ผลตอบแทนดีด้วย

O ยังมีเงินออม-ใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้

ผลสำรวจถึงการเก็บออมในปัจจุบัน ยังพบกว่ากลุ่มตัวอย่าง 90% บอกว่าพวกเขามีเงินออม แต่เมื่อแยกย่อยถึงสัดส่วนของการเก็บออมพบว่า 26.91% คือกลุ่มที่เก็บออมน้อยกว่า 10%ของรายได้ 31.9% เก็บออมประมาณ 10-20%ของรายได้  15%คือกลุ่มที่เก็บออม 20-30%ของรายได้ 4.7%เก็บออม 31-40%ของรายได้  2%เก็บออม 40-50%ของรายได้ แต่ที่น่าแปลกใจคือประมาณ 19% เก็บออมมากกว่า 50%ของรายได้

และเมื่อสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบัน พบว่า  49%ซื้อในปริมาณที่น้อยลง ประมาณ 39% ยังซื้อในปริมาณเท่าเดิม และที่ซื้อมากขึ้นมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น สาเหตุที่ซื้อในปริมาณและมูลค่าน้อยลง 22%ตอบว่าราคาข้าวของแพงขึ้น อีก 22%บอกว่ามีภาระหนี้มาก 20%มีรายได้รับน้อยลง  19%ตอบว่าเพราะพวกเขาดำเนินตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง  16%ตอบว่าไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม 74.7% ของกลุ่มตัวอย่างยังใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ มีเพียง 16% ที่ใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้รับ และ 9% ใช้จ่ายเท่ากับรายได้ที่ได้รับ

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงภาพคร่าวๆของสถานการณ์การออมและการเป็นหนี้ของประชาชนในปัจจุบัน รวมถึงทัศนะและความเห็นของผู้คน ที่คงพอจะขยายภาพความเป็นจริงให้เห็นได้บ้าง

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
6 ธ.ค. 2552

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.