อัมพวา..โมเดลสร้างสรรค์ เศรษฐกิจชุมชน : สุกัญญา ศุภกิจอำนวย

news_img_77269_1

อัมพวา เป็นเมืองเล็กๆ ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาล แต่ถ้าไม่ได้บริหารให้ถูกทาง สิ่งที่มีก็..สูญเปล่า

เมื่อถูกนำมาพัฒนาใหม่ ใส่ Value ต่อยอดจากภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม อัมพวาก็เปล่ง “พลัง” แค่ 4-5 ปี อัมพวาเปลี่ยนจากตลาดน้ำที่ถูกทิ้งร้าง มีคนเดินทางมาเที่ยวไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนต่อปี

มีทั้งไทยไปจนถึงต่างชาติ ไม่รู้จักคำว่า โลว์ ซีซัน มีแต่คำว่า ไฮ ซีซัน ไม่สะเทือนแม้เศรษฐกิจตก สร้างเม็ดเงินให้ชุมชน 500 ล้านบาทต่อปี ประเมินจากการใช้จ่ายต่อคนประมาณ 1,000 บาท ส่งผลสู่บรรทัดสุดท้าย ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพิงตนเองได้ ไร้อาชญากรรม

อัมพวา โมเดล ทำได้อย่างไร

ความสำเร็จของตลาดน้ำอัมพวาที่แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 5 ปีนับจากวันแรกของการรื้อฟื้นตลาดน้ำขึ้นมาเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2547 หากวิเคราะห์กันดีๆ จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของ การสร้างสรรค์ต่อยอดจาก “ภูมิสังคม”  (แม่น้ำ) และทุนทางสังคม (ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน) ที่มีในตำบลแห่งนี้ จนกลายเป็น “ความได้เปรียบ” ในเชิงอัตลักษณ์ (Character) ของพื้นที่

“Key Area ของอัมพวา คือ ปอดของกรุงเทพ เป็นพื้นที่สีเขียวของภาคกลาง คนกรุงเทพอยากมีปอดหายใจ อยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ นี่คือทุนทางสังคมที่มีอยู่แล้ว สำคัญอยู่ที่การรู้จักจัดกระบวนการนำเสนอใหม่ (present) สุดท้ายก็จะเป็นมูลค่าเพิ่ม (value) ” รท.พัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา ผู้ริเริ่มแนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่อัมพวาในรูปแบบใหม่กล่าว

เขาให้ภาพย้อนหลังว่า เมื่อ 10 ปีก่อน อัมพวาแทบจะเป็นเมืองร้าง ตำบลที่ในอดีตเคยมีประชากรกว่า 1 หมื่นคน ลดลงเหลือ 5,000 คน ที่สำคัญกลุ่มคนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเด็กและคนแก่ ขณะที่คนวัยทำงานจากไป พร้อมกับการเกิดขึ้นของโครงข่ายคมนาคมทางบกที่เข้ามาทดแทนทางน้ำ

“ผมเข้ามาเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวาสมัยแรก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 ก็มานั่งคิดว่า จะแก้ปัญหา “เศรษฐกิจระดับชุมชน” ของคนอัมพวาอย่างไร จนได้คำตอบว่าจะต้องทำให้อัมพวากลับมาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำเหมือนในอดีตอีกครั้ง โดยอาศัย “ชุมชน” เป็นตัวขับเคลื่อน”

รท.พัชโรดมคลี่ปมปริศนาดังกล่าวด้วยการแปลงแนวคิดออกมาเป็นยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

“เราเคยมีเรือใช้เดินทาง1-2 วัน เพื่อไปกรุงเทพฯ เมื่อเรือหายไปก็ไม่ตอบโจทย์การพัฒนา ดังนั้น ถ้าเราจะเอาเมืองกลับคืนมา น้ำต้องกลับมาด้วย”

ปฏิบัติการ “ฟื้นตลาดน้ำ” ในปี 2547 จึงเกิดขึ้น ในปีเดียวกันที่เขารับตำแหน่งนายกฯ แต่กว่าจะถึงจุดนั้น ก็เต็มไปด้วยเสียงค้านของคนในพื้นที่ที่มักจะถามกลับมาว่า…

“ใครจะมาเที่ยว ที่ผ่านมามีแต่คนเดินออก”

หรือกรณีการซ่อมแซมเรือนแถวริมน้ำเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ แม้จะได้เงินสนับสนุนบางส่วนจากสำนักงานความช่วยเหลือทางวิชาการจากเดนมาร์ค ชาวบ้านก็ไม่วายถามว่า…ซ่อมแล้วจะได้อะไร

กรณีการผุดแนวคิดล่องเรือชมหิ่งห้อย ก็เช่นกัน ชาวบ้านถามอีกว่า… “นายกๆ แล้วใครจะมาดูหิ่งห้อย !!!”

โจทย์ถัดมาของการทำตลาดน้ำ รท.พัชโรดมบอกว่า จะต้องหา “จุดขาย” เพื่อสร้างความต่างจากตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่ห่างกันเพียง 15 ก.ม.

จึงมาลงตัวที่การจับจุดได้ว่าเมื่อตลาดน้ำดำเนินสะดวกเป็น…ตลาดเช้า อัมพวาก็ต้องเป็น “ตลาดเย็น”

ตลาดน้ำดำเนินสะดวกเน้นลูกค้าต่างชาติ ถ้างั้นคนไทยสัก 10 ล้านคนจะเป็นลูกค้าเราได้ไหม? 

หลังตลาดน้ำเกิดขึ้น การเพิ่มทริปเส้นทาง “ล่องเรือชมหิ่งห้อย” ก็ตามมา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และเมื่อคนมาเที่ยวเริ่มถามหาที่พัก ธุรกิจ “โฮมสเตย์” จึงเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อปี 48-49

ตามด้วยแนวคิดล่าสุด พัฒนาสินค้าจากท้องถิ่น เพื่อให้เป็นธุรกิจที่เกิดจากความเข้มแข็งของภูมิสังคมของที่นี่ ใส่ความรู้และเทคโนโลยีที่ไปกันได้กับพื้นที่ เช่น การพัฒนาน้ำดอกไม้ท้องถิ่น 5 ชนิด

เพื่อสร้าง “ความพิเศษ” ให้กับสินค้า นั่นคือไม่ใช่สิ่งที่จะซื้อหาจากแหล่งอื่นได้ ต้องดั้นด้นมาถึงอัมพวา !!

กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ค่อยๆ เกิดขึ้นจากการเรียนรู้จากการปฏิบัติ จนกลายเป็นวงจรของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่เกือบครบเครื่อง

คงเหลือแต่โครงการพัฒนาผู้ประกอบการที่เริ่มทำจริงจังในปี 2551 หากทำได้สำเร็จ รท.พัชโรดมเชื่อว่า ต่อไปตลาดน้ำอัมพวาคงไม่ต้องลุ้นว่า เมื่อไรตลาดจะวาย เพราะความ “ยั่งยืน” จะเกิดขึ้นตามมา

การเกิดขึ้นของตลาดน้ำอัมพวาจึงผ่านกระบวนการคิด การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และวิธีการไว้เสร็จสรรพ ไม่ใช่เกิดขึ้นแบบฟลุคๆ

ขณะเดียวกันเมืองก็กลับมามีชีวิต ด้วยการกลับคืนมาของคนรุ่นใหม่

“สังคมต่างจังหวัด ลูกหลานเรียนจบเข้ากรุงเทพฯ แต่ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่เริ่มกลับเข้ามามากขึ้น ซึ่งเป็นทุนภายในของที่นี่ แต่ก็ต้องระวังการแทรกแซงจากทุนภายนอกมาใส่จะพังหรือไม่”

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้ประกอบการของชุมชนอัมพวาแห่งนี้ จึงเน้นให้คนท้องถิ่นในเจนเนอเรชั่นที่ 2 และ 3 กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เพื่อผสานประสบการณ์การทำธุรกิจของคนรุ่นพ่อ เข้ากับความรู้ของคนรุ่นใหม่

“คนที่นี่เก่งในเรื่องประสบการณ์ เช่น คั่วกาแฟมาหลายช่วงอายุคน แต่ขาดความเก่งในเรื่องวิชาการ ทำอย่างไรให้กาแฟที่นี่มีขีดความสามารถเท่ากับสตาร์บัคส์ เจ้าของต้องเข้าใจจุดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนรุ่นถัดมาจะมาสานต่อด้วยแนวคิดใหม่ๆ”

เมื่อริเริ่มใส่ความรู้เข้าไปในการพัฒนาสินค้าท้องถิ่น รท.พัชโรดมใช้วิธีประสานความร่วมมือไปยังเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้า ตอบโจทย์แต่ละด้าน

ทำให้อัมพวากลายเป็น “แล็ป” ขนาดใหญ่ของหน่วยงานต่างๆ เมื่อทดลอง เห็นผล ก็สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา

สร้างบรรยากาศที่คึกคัก ขณะนี้จึงเริ่มเห็นการกลับมาร่วมแจมของบรรดาเจนเอ็กซ์ เจนวาย มากขึ้นเรื่อยๆ

“ผู้ประกอบการที่อัมพวามีประมาณ 400-500 ราย ตอนนี้มีผู้ประกอบการสนใจร่วมโครงการประมาณ 10 ราย ในจำนวนนี้ประสบความสำเร็จแล้ว 2-3 ราย ผมตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาสินค้าไว้ที่ 10% (กว่า 40 ราย) ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีจากนี้”

แม้จะเป็นตัวเลขไม่สูง แต่รท.พัชโรดมวางแผนไว้ว่า ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เองที่เขาจะสร้างให้เป็นเหมือน “แม่เหล็ก” ดึงคนรุ่นใหม่ให้กลับมา เพราะกลับมาแล้ว เห็นโอกาสในการประกอบอาชีพ ดึงทั้งนักท่องเที่ยวเพราะเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

ไม่เพียงการพัฒนาผู้ประกอบการด้วยการพัฒนาสินค้าท้องถิ่น นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา ยังต้องการจะขยายไปถึงการสร้างแบรนด์ “อัมพวา” (Ampawa) แปะไว้บนแพ็คเกจจิงของสินค้าท้องถิ่น เพื่อสร้างความเป็น “โลคัล แบรนด์” และช่วยพัฒนาคุณภาพสินค้าท้องถิ่นอีกทาง

เพราะกว่าที่แบรนด์อัมพวาจะถูกประทับลงไปในสินค้าใด ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบในหลายขั้นตอน

“อัมพวาแบรนด์ไม่ได้ไปครอบสินค้า แต่จะไปคู่กับแบรนด์เดิมของสินค้า คนที่มาเที่ยวอัมพวาบางคนอยากรู้ว่า อะไรคือสินค้าอัมพวา เพราะตอนนี้มีสินค้าที่อื่นมาขายกันมาก ที่เราทำได้คือ การใช้กลไกรัฐเข้าไปช่วยทำให้แบรนด์ท้องถิ่นแข็งแกร่งขึ้น เป็นมาตรฐานของโลคัลแบรนด์”

นี่คือความชาญฉลาดในการ “แยก” สินค้าท้องถิ่นกับสินค้าต่างถิ่น

ไม่เพียงเท่านั้น ความเจริญของที่นี่อาจจะดึงดูดให้นักลงทุนต่างถิ่นเข้ามาทำธุรกิจต่างๆ จนกระทบต่อธุรกิจของชาวบ้านในท้องถิ่น แต่ผู้บริหารของชุมชนที่นี่ได้วางแผน “สกัด” ไว้แล้ว

รท.พัชโรดมบอกว่า วิธีง่ายๆ ที่จะจำกัดกลุ่มทุนเหล่านี้ก็คือ การกำหนดให้เปิดตลาดน้ำแค่ 3 วันต่อสัปดาห์

ทำให้แม้แต่เซเว่น อีเลฟเว่น ก็ยังไม่กล้าผุดขึ้นมาในพื้นที่ เพราะใครจะกล้ามาตั้งในเมื่อรีเทิร์น ออฟ อินเวนเวสท์ มีอยู่แค่ 12 วันต่อเดือน ตามการเปิดตลาดน้ำสัปดาห์ละ 3 วัน

“ไม่มีการพัฒนาใดที่สมบูรณ์แบบ เราไม่ได้ห้ามให้ธุรกิจอื่นเข้ามา ตอนนี้ก็มีบ้างแต่ยังไม่น่าวิตก เพราะพวกเขาจะถูกบังคับไปในตัว เนื่องจากตลาดน้ำเปิดแค่ 3 วัน เป็นเจตนาของเราที่ต้องการ keep ความเจริญไว้เท่านี้ เพราะไม่ต้องการให้ทุนภายนอกเข้ามาทำลายทุนภายใน เราต้องการทำให้อัมพวาเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาตัวเองได้ มีภูมิคุ้มกันภายใน”

เป็นแนวทางการบริหารจัดการ ไม่ให้เกิดภาวะ “บูมแล้วเละ” เหมือนแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ

วิธีนี้นอกจากจะเปิดโอกาสให้เมืองได้พักแล้ว ชาวบ้านที่หันมาทำหน้าที่พ่อค้าแม่ขายในวันสุดสัปดาห์ ก็มีเวลา “ลงสวน” ไปสร้างผลผลิต เป็นการรักษาอาชีพดั้งเดิมของท้องถิ่นไว้อีกทาง และช่วยให้ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างถิ่นขยาดไปโดยปริยาย คือ ราคาที่ดินที่อัมพวาซึ่งแพงลิ่ว โดยที่ดินติดริมน้ำราคาไร่ละ 4 ล้าน ไม่คุ้มค่าถ้าใครจะเข้ามาลงทุนแล้วมีรายได้เป็นกอบเป็นกำแค่ 12 วันต่อเดือน

ในมุมของการอนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนซึ่งต้องดำเนินควบคู่ไปกับความเจริญที่เข้ามาของอัมพวายังได้รับความสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนาภายใต้ชื่อ “โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์” ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้นำที่ดินของประยงค์ นาคะวะรังค์ ชาวอัมพวาที่น้อมเกล้าฯ ถวายมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน

ความสำเร็จของอัมพวาทำให้ที่ผ่านมามีหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนสนใจเดินทางมาดูงาน เพื่อสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า ไม่ใช่ทุกหน่วยงานจะประสบความสำเร็จจากการนำโมเดลนี้ไปใช้ เพราะขึ้นอยู่กับตัวแปรในเรื่องของกระบวนการ เป้าหมาย และปัญหาของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป

“อัมพวาโมเดล มันเหมือนกับเรารู้วิธีตัดเสื้อในแบบฉบับของเราให้ใส่แล้วสบายตัว ใครจะเอาโมเดลเราไปพัฒนา ก็ต้องไป dressing ใหม่ให้เหมาะสมกับตัวเอง”

รท.พัชโรดมย้ำว่า อัมพวาใช้การท่องเที่ยวเป็นแค่ “เครื่องมือ” เท่านั้น มิติที่สำคัญที่สุดในฐานะหน่วยงานรัฐ คือ คุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาชุมชน ซึ่งขณะนี้นอกจากชาวบ้านที่นี่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ ยังช่วยแก้ปัญหาสังคม เช่นปัญหาหนี้สิน

หรือที่เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง คือ อัมพวาไม่มีคดีโจรผู้ร้ายเลย

อัมพวา..โมเดลสร้างสรรค์ เศรษฐกิจชุมชน 

สุกัญญา ศุภกิจอำนวย

กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 กันยายน 2552

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.