อคิติ, ตัวกำหนดขีดจำกัดของการลงทุน : สรสิช ศรีใจภา

ถึงแม้ว่าระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ที่ผมได้เริ่มลงทุนมามันอาจจะไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนาน เมื่อเทียบกับนักลงทุนรุ่นพี่หลายๆท่านที่ผมรู้จัก แต่ผมก็สามารถพูดเต็มปากเลยว่า ผมได้อะไรหลายๆอย่างจาก 3 ปีที่ผ่านมาอย่างรวดเร็วนี้

อย่างแรกเลยคือ ประสบการณ์ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่คุณไม่มีทางได้พบเจอภายนอกตลาดอย่างแน่นอน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในระยะเวลา 3 ปี ก็คือ ความคิดครับ แนวคิดหลายๆอย่างของผมค่อยๆปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามความรู้และหลักการลงทุนต่างๆที่ผมได้ศึกษาเพิ่มเติมในระยะเวลาที่ผ่านมา ผมยิ่งรู้สึกเลยว่า มีอะไรให้เราเรียนรู้อีกมากมายหากว่าเราไม่ปิดกั้นตัวเองด้วยอคติของตัวเรา

ถ้าสังเกตุดูในตลาดหุ้น เราสามารถแบ่งนักลงทุนออกเป็นสองประเภทหลักๆก็คือ สายพื้นฐาน และสายเทคนิค ซึ่งสองฝ่ายต่างก็มีหลักการในการคัดเลือกหุ้นที่น่าสนใจแตกต่างกัน

โดย สายพื้นฐาน เน้นมองที่มูลค่าของธุรกิจ เพื่อมองหาบริษัทที่มีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าแท้จริง แล้วขายเมื่อมูลค่าสูงกว่ามูลค่าแท้จริง

ส่วน สายเทคนิค เน้นมองหาหุ้นที่กำลังเข้าแพทเทิร์น อยู่ในจุดซื้อ และขายเมื่อสัญญาณเทคนิคบอกให้ขาย

ซึ่งแนวคิดทั้งสองแนวนี้ย่อมมีการขัดแย้งกัน และต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลเป็นของตนเอง แต่ตราบใดที่เรายังเลือกที่จะยึดติดอยู่กับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง ก็ย่อมต้องหนีไม่พ้นจุดอ่อนของแต่ละแนวคิดนั่นเองครับ

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยมีอคติเช่นกัน ด้วยความเชื่อฝังหัวว่า หุ้นที่ดีย่อมมาจากพื้นฐานของบริษัทที่ดี กราฟมันจะมาบอกราคาหุ้นได้ยังไง บลาๆๆ ซึ่งแนวคิดของผมก็ยังคงย้ำอยู่จุดเดิมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนแปลงชีวิตการลงทุนของผมอย่างมาก

ก่อนจะขอพูดถึงหนังสือเล่มนั้น ผมขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของผมนะครับ สำหรับผมซึ่งเริ่มต้นลงทุนจากสายพื้นฐานนั้น แน่นอนว่าเราสามารถค้นหาบริษัทที่มีราคาหุ้น ณ ขณะนั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง

แต่ปัญหาก็คือว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าราคาหุ้นจะวิ่งขึ้น? จริงอยู่ว่ามูลค่าของหุ้นตอนนั้นอาจจะถูกมากๆ แต่ก็ไม่มีอะไรมาการันตีได้ หุ้นตัวนั้นอาจจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี หรืออาจจะหลายปีกว่าราคาหุ้นจะวิ่งขึ้น แล้วถ้าเราเกิดถอดใจขายหุ้นทิ้งไปก่อน แล้วหุ้นกลับวิ่งขึ้นในระยะเวลาไม่นานหลังจากนั้น (ขายหมูนั่นเอง)

ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับ Timing ของหุ้นแต่ละตัวนั้น เมื่อมองย้อนกลับไปดูแล้วก็พบว่าเงินกำไรจำนวนไม่น้อยที่หลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย เพราะขายหุ้นก่อนถึงเวลาที่ควรขาย ยึดติดอยู่กับ “Fair value” ของตัวเองนั่นเอง

ปัญหานี้ถ้าหากว่ายึดแต่หลักการลงทุนสายพื้นฐาน ผมคิดว่าเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงมันไปได้ครับ ผมจึงมองย้อนไปที่ต้นตอของปัญหา จริงอยู่ที่เราสามารถหาหุ้นที่เราเชื่อมั่นในพื้นฐานได้แล้ว แต่จังหวะไหนหละ คือจังหวะที่เราควรจะเข้าไปลงทุนในหุ้นนั้นๆ?

เพื่อหาคำตอบของปัญหาที่คาใจผมข้อนี้ ผมจึงตัดสินใจลบอคติที่มีเกี่ยวกับการลงทุนสายเทคนิคของผมทิ้งไป และเริ่มต้นศึกษาสายเทคนิคดู โดยเริ่มต้นจากแนวคิด CANSLIM ซึ่งถือเป็นแนวคิดการลงทุนสายผสมที่ใช้มุมมองการลงทุนทั้งสายเทคนิคและสายพื้นฐานควบคู่ไปด้วยกัน

คำตอบของปัญหาของผมก็คือ “ตลาด” ครับ ต่อให้มุมมองของเราจะถูก แต่ในตลาดแล้ว เราเป็นเพียงนักลงทุนตัวเล็กๆคนหนึ่ง ถ้ากระแสของตลาดไม่เห็นด้วยกับมุมมองของเราแล้ว ก็คงเป็นเรื่องยากที่หุ้นที่เรามองว่าถูกว่าดีนั้นจะสามารถขึ้นไปได้

สำหรับจุดขายก็เช่นกัน “Fair Value” นั้นเรียกได้ว่าเป็นตัวการสำคัญอย่างที่จะคอยลดผลตอบแทนของเราให้น้อยกว่าที่ควรเป็น เพราะไม่มีเหตุผลใดที่ตลาดจะต้องเห็นด้วยกับ “Fair Value” ของเรา

ดังนั้น เมื่อราคาหุ้นขยับขึ้นมาถึงจุดที่เป็น “Fair Value” ของเรา แต่เมื่อดูด้วยเทคนิคแล้วพบว่าราคาหุ้นยังอยู่ใน “กระแส” หรือ “Trend” ที่ดีแล้ว แทนที่จะจำกัดผลตอบแทนอยู่แค่ในมุมมองเล็กๆของเรา ไม่สู้คล้อยตาม “ตลาด” ไปจนถึงจุดที่มุมมองเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้นของ “ตลาด” เปลี่ยนไปไม่ดีกว่าหรือ?

นี่คือหน้าตาของหนังสือการลงทุนเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงแนวคิดของผมไปอย่างมากครับ “How to Make Money in Stocks: William J. O’Neil”  (ขอบคุณเพื่อนเบียร์ (admin เวบ) อีกครั้งสำหรับหนังสือดีๆ)

 

 

หนังสือเล่มนี้ได้ทำให้ผมตระหนักถึงความสำคัญของระบบการลงทุน และแนวคิด CANSLIM ที่ไม่ยึดติดกับทั้งพื้นฐานและเทคนิค แต่เป็นการ Follow Trend ของหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง (Leader Stock) หรือก็คือ มองหุ้นตัวนั้นโดยใช้ความรู้ทั้งเทคนิคและพื้นฐานควบคู่กัน

(ถ้าอยากรู้จัก CANSLIM มากขึ้น ลองอ่านจากลิ้งนี้ครับ | “C-A-N-S-L-I-M” 7 เคล็ดลับ ‘วิลเลียม โอนิล’ โดย วิบูลย์ พึงประเสริฐ | แต่แนะนำให้ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันดูนะครับผม)

นอกจาก How to Make Money in Stocks ของ William J. O’neil แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดนี้ก็คือ เพื่อนๆและพี่ๆนักลงทุนครับ

การได้พูดคุยกับเพื่อนๆและพี่ๆนักลงทุนหลายท่าน ก็ช่วยเปิดมุมมองการลงทุนให้ผมอีกมาก และทำให้ผมรู้ได้ทันทีว่ายังมีอะไรให้ศึกษาอีกมากมายในตลาดหุ้น ซึ่งผมคงไม่มีทางได้รับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ หากว่าผมยังมี อคติ หรือยึดติดอยู่กับแนวคิดแค่วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ผมจึงมองว่า อคติเหล่านี้แหละ ที่ทำให้แนวคิดการลงทุนของเราคับแคบ ซึ่งการลบอคติของเราเองนั้น ขอเพียงเราเลิกคิดว่ามัน “เป็นไปไม่ได้” แล้วค่อยๆลบกรอบความคิดที่สร้างมาด้วยอคติของตัวเราเองทิ้งไป, เปิดใจให้กว้างแล้วเปิดรับความรู้ แนวคิด วิธีการใหม่ๆเข้ามาในวิถีทางการลงทุนของเรา เท่านี้เราก็สามารถพัฒนาวิถีการลงทุนของเราไปได้อีกมากเลยทีเดียวครับ

ปล. บทความนี้เขียนจากประสบการณ์และมุมมองของตัวผมเอง หากมีผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยนะครับ

‘อคิติ, ตัวกำหนดขีดจำกัดของการลงทุน’

สรสิช ศรีใจภา

Our Columnist @ www.sarut-homesite.net

23 กันยายน 2012

Author: admin

1 thought on “อคิติ, ตัวกำหนดขีดจำกัดของการลงทุน : สรสิช ศรีใจภา

  1. คุณ สรสิช ศรีใจภา เขียนได้ดีครับ ไม่ทราบว่ามีเบอร์โทรติดต่อมั้ยครับ อยากจะชวนไปกินสุกี้ 55+

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.