ว่าด้วย Brand กับ Beer : พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน

[Mini] Business Column

‘ว่าด้วย Brand กับ Beer’

โดย พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน

15 มกราคม 2555

พบกับมินิเอ็นทรีแรกประจำปีมะโรง (มังกรทอง) พ.ศ.2555 กันนะครับ สำหรับมินิเอ็นทรีนี้จะว่าด้วยเรื่องของ “แบรนด์ กับ เบียร์” ครับ 

คงไม่มีผู้อ่านท่านใดไม่รู้จักเบียร์นะครับ เบียร์ เป็นผลิตภัณฑ์ในสายแอลกอฮอล์ที่เกิดจากการหมักข้าว พืชชนิดต่างๆ และยีสต์ เป็นระยะเวลาจำนวนหนึ่ง จนเมื่อครบกระบวนการผลิตแล้วก็จะกลั่นออกมาเป็นเครื่องดื่มเบียร์อย่างที่เรารู้จักกัน ทั้งนี้ เบียร์ในตลาดของประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายยี่ห้อ

ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเบียร์ที่ผลิตขึ้นภายใต้ยี่ห้อบริษัทของประเทศไทยนะครับ

ผมเชื่อว่าคงมีผู้อ่านบางท่านเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมเบียร์ถึงต้องใช้สัญลักษณ์ประจำยี่ห้อของตนเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งโดยมากมักเป็นสัตว์ที่เราคุ้นเคยกันดี และมักเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และมีพละกำลังหรือมีความดุร้าย เช่น สิงห์ ช้าง หรือ ม้า (อาชา) เป็นต้น ทำไมถึงไม่มีเบียร์ยี่ห้อ กระต่าย หรือเบียร์ยี่ห้อ นกพิราบ ซึ่งก็เป็นสัตว์ป่าที่มนุษย์หรือผู้บริโภคมีความคุ้นเคยเช่นกัน??

คำตอบนั้นง่ายมากครับ “เพราะมันเป็นสัตว์ที่ไม่กินใจผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเบียร์แต่ละยี่ห้อนั่นเอง”

แล้วทำไมมันต้องกินใจผู้บริโภคด้วย เพราะมันมีโลโก้ของยี่ห้อนั้นๆติดอยู่บนขวดหรือบรรจุภัณฑ์ทั้งหลายครับ เวลาซื้อหรือเวลาดื่มก็จะเป็นการโปรโมทผลิตภัณฑ์นั้นไปในตัว และสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละยี่ห้อ ก็จะเป็นตัวบ่งบอกถึงคาแร็กเตอร์ ( Character ) ของผู้บริโภคไปในตัวด้วย ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงคุณค่าและภูมิใจไปกับการดื่มเบียร์ยี่ห้อนั้นเอง เช่น การบริโภคเบียร์สิงห์ทำให้รู้สึกถึงความเป็นชนชั้นสูง มีความเด็ดเดี่ยวและคลาสสิค หรือ การดื่มเบียร์ช้างก็จะให้ความรู้สึกถึงพละกำลัง เป็นต้น

ลองนึกภาพดูว่า หากมีเบียร์ยี่ห้อ ‘กระต่าย’ ขึ้นมาคุณจะรู้สึกอย่างไรกับเบียร์ยี่ห้อนั้นๆ (โดยส่วนตัวของผู้เขียนนั้นรู้สึกได้เลยว่ามันเป็นภาพที่ดูขัดกันมากๆ)

จึงทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มเบียร์ทั้งหลายไม่ว่าจะของยี่ห้อไหนก็ตาม ต่างเลือกโฆษณาภาพลักษณ์ของผู้บริโภคที่มีความคล้ายคลึง หรือสอดรับกับสัญลักษณ์ประจำยี่ห้อของตนด้วยกันทั้งสิ้น

ทั้งนี้ จากกรณีเบียร์และแบรนด์จึงเป็นอีกข้อสำคัญที่ต้องคำนึงถึงการสร้างแบรนด์อยู่เสมอว่า การสร้างแบรนด์ที่ดีให้เกิดขึ้นได้นั้นไม่เพียงแต่จะต้องง่ายต่อการจดจำหรือการรับรู้ แต่จะต้องสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในการบริโภคให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

(หมายเหตุ : การดื่มสุราและเบียร์เป็นอันตรายต่อร่างกายและเป็นเหตุของอาชญากรรม บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรดื่ม บทความนี้ไม่มีผลประโยชน์ร่วมหรือเป็นการเขียนขึ้นเพื่อการโฆษณาแต่อย่างใด)

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.