ประชานิยม หรือ ไม่ประชานิยม ก็ติดหล่มพอกัน : ดร.ไสว บุญมา

พอรัฐบาลประกาศว่าจะต่ออายุโครงการที่ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้า น้ำประปา รถประจำทาง และรถไฟ โดยไม่ต้องจ่ายเงิน พร้อมกับเสนอแนวคิดว่า จะทำบางอย่างเป็นนโยบายถาวร ก็มีการถกเถียงกันว่ามันเป็นประชานิยม หรือรัฐสวัสดิการกันแน่ ประสบการณ์ในหลายประเทศบ่งว่า จะเป็นอะไรคงไม่สำคัญเท่ากับรัฐมีเงินพอจ่ายหรือไม่ ถ้ามีไม่พอแล้วยังดันทุรังทำต่อไป ผลสุดท้าย เศรษฐกิจก็จะติดหล่มเช่นเดียวกัน

พูดถึงประชานิยม ตัวอย่างที่มักอ้างถึงกันอย่างกว้างขวางได้แก่ อาร์เจนตินา ผมเองก็ศึกษาวิวัฒนาการในประเทศนั้น โดยเฉพาะในด้านการใช้นโยบายประชานิยมแบบเข้มข้น จนมีข้อมูลมากพอสำหรับเขียนหนังสือชื่อ ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย ซึ่งเนชั่นบุ๊คส์พิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 แรงจูงใจที่ทำให้ผมเขียนหนังสือเล่มนั้น ได้แก่ การเริ่มนำนโยบายประชานิยมแบบเข้มข้นมาใช้ในเมืองไทยในปี 2544 ผมมองว่า ถ้าชาวไทยไม่ศึกษาการใช้นโยบายประชานิยมแบบเข้มข้นจนแตกฉาน โอกาสที่เมืองไทยจะประสบภาวะล้มละลาย ยังผลให้เศรษฐกิจติดหล่มเช่นเดียวกับอาร์เจนตินามีสูงมาก เนื่องจากได้มีการพูดถึงการล้มละลายหลายครั้งของประเทศนั้นกันมากแล้ว จึงจะไม่ขอพูดซ้ำอีก

ในบรรดาประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา เวเนซุเอลา เป็นอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งควรจะพัฒนาไปได้ไกลไม่แพ้ประเทศในยุโรปตะวันตก แต่กลับต้องตกอยู่ในภาวะติดหล่มไม่ต่างกับ อาร์เจนตินา มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่มีน้ำมันมากถึงขนาดเคยเป็นผู้ส่งน้ำมันออกมากที่สุดในโลก มีผู้มองว่าต้นตอของปัญหาของ เวเนซุเอลา คือ คำสาปที่มากับทรัพยากร (Resource Curse) ซึ่งประเทศที่มีน้ำมันและแร่ธาตุมากๆมักประสบ แต่นั่นเป็นการมองแบบง่ายๆ ซึ่งไม่เป็นจริงเสมอไป ทั้งนี้ เพราะสหรัฐอเมริกาและแคนาดาไม่มีปัญหาเช่นนั้น ทั้งที่มีทรัพยากรมากมาย ผมได้นำเรื่องราวของ เวเนซุเอลา มาเขียนไว้ในหนังสือชื่อ เล่าเรื่องเมืองน้ำมัน ซึ่งพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม 2545 ขอยกบางอย่างมาเล่า เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ทั้งที่ไม่มีใครตรานโยบายของเวเนซุเอลาว่าเป็นประชานิยม เวเนซุเอลาก็พัฒนาติดหล่มเช่นกัน

เมื่อมีรายได้จากการขายน้ำมันจำนวนมหาศาล รัฐบาลก็ริเริ่มโครงการและนโยบายจำพวกใช้จ่ายแบบแทบไม่อั้น รวมทั้งการลงทุนขนาดใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า การขึ้นเงินเดือนพนักงานของรัฐ และเอาใจทหารโดยให้สวัสดิการสูงเป็นพิเศษ ซื้ออาวุธได้ตามใจชอบ และมีอัตรานายพลชนิดล้นกองทัพ และการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมาตรการต่างๆ รวมทั้งการให้เงินสนับสนุน การยกหนี้และการใช้อัตราการแลกเปลี่ยนที่มีผลทำให้สินค้านำเข้าราคาถูกมาก โครงการและนโยบายเหล่านั้น มีผลทั้งในด้านการทำให้ประชาชนเพาะบ่มนิสัยไม่พึงปรารถนา และในด้านการสร้างภาระระยะยาวให้แก่รัฐ เมื่อน้ำมันราคาตก ประเทศก็ประสบภาวะล้มละลาย ต้องคลานไปหากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

เมื่อไม่นานมานี้ กรีซ มีปัญหาหนักหนาสาหัส จนสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟต้องเข้าช่วย นักวิเคราะห์และสื่อมักพูดถึง กรีซ ในด้านการเป็นผู้รับเคราะห์ของวิกฤติเศรษฐกิจโลก และการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินของสถาบันการเงินข้ามชาติ แม้ปัจจัยเหล่านั้นจะเป็นความจริง แต่มันเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ปัจจัยสำคัญๆบางครั้งก็ไม่ถูกพูดถึง โดยเฉพาะปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณสูงถึงเกือบ 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เช่น รัฐบาลที่ผ่านๆมา ต่างเอาใจประชาชนด้วยการจ้างพนักงานของรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พนักงานเหล่านั้นได้เงินเดือนและสวัสดิการดีมาก ซึ่งเป็นภาระระยะยาวของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เก็บภาษีได้ต่ำมาก เนื่องจากกระบวนการเก็บภาษีมีความฉ้อฉลสูง เมื่อรัฐบาลพยายามตัดการใช้จ่ายโดยการลดเงินเดือนพนักงาน การจลาจลถึงมีคนตายก็เกิดขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีบทบาทสูงมากในเศรษฐกิจ เพราะเป็นผู้ผลิตราว 40% ของจีดีพี เมื่อรัฐตัดการใช้จ่าย เศรษฐกิจย่อมติดหล่ม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศก้าวหน้านัดประชุมกันที่ แคนาดา เพื่อหาวิธีป้องกันมิให้เศรษฐกิจที่กำลังมีทีท่าว่าจะฟื้นจากวิกฤติต้องถดถอยซ้ำอีก ประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และหาทางลงที่ทุกฝ่ายพอใจไม่ได้คือ จะกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปหรือไม่ เพราะถ้ากระตุ้นต่อไปปัญหาหนักหนาสาหัสจะตามมาในอนาคต ปัจจัยที่หลายประเทศไม่ต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปโดยเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐ ได้แก่ รัฐบาลต่างขาดดุลงบประมาณและมีหนี้สูงมากกันอยู่แล้ว การขาดดุลงบประมาณอันเป็นบ่อเกิดของหนี้ จะเป็นตัวสร้างปัญหาถ้ามันยืดเยื้อต่อไปเป็นเวลานาน โดยการทำให้เศรษฐกิจติดหล่ม ญี่ปุ่นเคยประสบปัญหาที่เรียกกันว่าทศวรรษแห่งความหลงป่ามาแล้ว เพราะภาระหนี้ทำให้เศรษฐกิจติดหล่มอยู่ราวสิบปีติดต่อกัน

ในระบอบประชาธิปไตย ปัจจัยที่ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณ มักเป็นการเอาใจผู้ออกเสียงเลือกตั้งจากสองด้านพร้อมๆกัน นั่นคือ ด้านแรก รัฐบาลและฝ่ายค้านมักต้องการชูนโยบายว่าตนเป็นผู้เก็บภาษีน้อย ด้านที่สอง ได้แก่ การให้สวัสดิการด้านต่างๆแก่ประชาชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล การทดแทนการตกงาน หรือการให้บำนาญสูงๆ

เมื่อเริ่มทำใหม่ๆ โครงการเหล่านี้ ดูจะไม่มีผลในการทำให้งบประมาณขาดดุลจนรัฐต้องแบกหนี้แบบล้นพ้นตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไปพวกมันจะค่อยๆกลายเป็นภาระเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังนี้ เมื่อประเทศต่างๆมีอัตราคนชราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการประชุมกันที่ แคนาดา ไม่มีใครเอ่ยถึงคำว่าประชานิยม แต่ประเทศเหล่านั้นต่างประสบปัญหาอันเกิดจากการใช้จ่ายที่ทำให้ภาระหนี้หนักมากจนแทบกระดิกตัวไม่ได้ ภาวะเช่นนี้กำลังมีผลทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในสภาพติดหล่ม

ฉะนั้น การขาดดุลงบประมาณติดต่อกันนานๆ จะมาจากโครงการชื่ออะไรไม่มีความสำคัญ ผลของมันคงเดิม เฉกเช่นอุตพิดจะเรียกมันว่ากระดังงา มันก็ยังเหม็นเช่นอุจจาระอยู่ดี

“ประชานิยมหรือไม่ประชานิยมก็ติดหล่มพอกัน”

ดร.ไสว บุญมา

คอลัมน์ บ้านเขาเมืองเรา

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

9 กรกฎาคม พ.ศ.2533

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.