‘บัตรเครดิต’ ใช่จริงหรือ? ว่าสิ่งนี้คือพิษภัย : พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน

ถ้าเป็นผู้ที่กำลังอยู่ในวัยทำงานแล้วล่ะก็ ผมค่อนข้างมั่นใจว่ากว่า 50% ต่างเป็นเจ้าของบัตรเครดิตกันอย่างน้อย 1 ใบ หรือแม้กระทั่งบางคนที่มีคุณสมบัติยังไม่ครบพอที่จะสมัครบัตรเครดิตได้ แต่สามารถเป็นผู้ถือบัตรเสริมได้นั้น ก็มีไม่น้อยเช่นกันในสมัยนี้

ผมคิดว่าหลายๆท่านต่างก็รู้จักบัตรเครดิต(Credit Card)กันอย่างดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในยุคสมัยเศรษฐกิจทุนนิยมเช่นนี้ สถาบันการเงินทั้งหลาย ก็ต่างงัดโปรโมชัน ของแถม สิทธิพิเศษ/ประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาเป็นลูกค้าบัตรเครดิตของตน โดยจะเห็นได้ชัดเจนจากโปรแกรมส่งเสริมการขาย(Promotion) ที่ห้างร้านชั้นนำทั่วประเทศ(หรืออาจจะทั่วโลก) ต่างให้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินกันอย่างมาก เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย โดยได้ผลประโยชน์ร่วมกัน

เมื่อเกิดการแพร่หลาย และมีความต้องการใช้บัตรเครดิตกันเป็นจำนวนมากจนแทบจะกลายเป็นอีกปัจจัยสำหรับบุคคลวัยทำงานไปแล้ว สิ่งที่ตามมานอกเหนือไปจากการใช้จ่ายที่คล่องตัวมากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ “หนี้สิน(Debt)”

ถ้าคุณเคยอ่านบทความจากนิตยสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารทั่วไป นิตยสารทางด้านการเงิน หรือแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ คุณจะพบกับบทความบางบทความ ที่กล่าวถึงมหันตภัยของบัตรเครดิต จนกระทั่งพาดพิงไปถึงสินเชื่อ(Credit) หรือระบบการผ่อนชำระ(Pay by Installment)รูปแบบต่างๆ

ซึ่งผมเองก็เป็นอีก 1 คนที่เคยได้อ่านบทความเหล่านี้มาบ้างในจำนวนไม่น้อย ซึ่งขอเรียนตามตรงว่า “หลายๆบทความมีสาระน่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันเองก็น่าขันพอๆกับสาระด้วย…”

ทำไมถึงกลายเป็นเรื่องน่าขัน? คำถามนี้ผมตอบได้อย่างง่ายดายเลยว่า เพราะหลายๆบทความนั้นต่างพาดพิงถึงอันตรายและกล่าวโทษบัตรเครดิตกันทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่แหล่งแลก-เปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น กระดานสนทนา(Web-Board) เป็นต้น ซึ่งผมไม่ขัดข้องกับหลายเหตุผล หลายข้อมูลที่ต่างคนก็ต่างนำมาเสนอและโต้เถียงกัน แต่จากการสังเกตุของผมก็ค้นพบว่า “มีเพียงแค่ 1 ใน 30 คนเท่านั้นที่มองว่าต้นเหตุของปัญหา มาจากมนุษย์ ไม่ได้มาจากตัวบัตรเครดิต”

ทีนี้ เรามาดูข้อดี-ข้อเสียของบัตรเครดิตกันนะครับ เริ่มกันที่ข้อดีก่อน ข้อดีของบัตรเครดิตมีมากมาย ที่ผมอธิบายนี้ไม่ได้สนับสนุนให้เป็นหนี้กันนะครับ แต่ผมอยากจะอธิบายว่า บัตรเครดิตถ้าใช้ให้เป็นนอกจากจะช่วยให้คุณถนอมเงินสดไว้ได้จำนวนมากแล้ว ยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำลงไปได้อีกวิธี

ยกตัวอย่างเช่น แพ็คเกจดอกเบี้ย 0% ต่างๆ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงิน และห้างร้าน เพื่อกระตุ้นยอดขาย แพ็คเกจที่ว่านี้นอกจากจะช่วยให้คุณเป็นเจ้าของสินค้าได้ง่ายยิ่งขึ้นแล้ว “ยังช่วยให้คุณสามารถเก็บรักษาเงินสดเพื่อสภาพคล่องด้านการใช้จ่ายไว้ได้อีกด้วย” บัตรเครดิตบางรายการเองก็มีสิทธิพิเศษให้ลูกค้า เช่น ที่จอดรถในห้างสรรพสินค้า หรือจะเป็นส่วนลดเมื่อซื้อสินค้า เป็นต้น

มาถึงข้อเสียของบัตรเครดิตกันบ้าง ผมขอตอบสั้นๆเลยว่า “ไม่มี”… อาจจะดูสั้นๆห้วนๆ แต่ก็เป็นความจริง ข้อเสียที่เกิดจากบัตรเครดิตนั้นไม่มีหรอกครับ มันจะมีก็แค่ข้อเสียจาก “พฤติกรรมของมนุษย์(Human Behaviors)” ผู้ที่ใช้บัตรเครดิตเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายจนเกินกำลังตัวเอง การนำเงินในอนาคตมาใช้จนหมด หรือพฤติกรรมการทบหนี้โดยการเบิกเงินสดจากอีกบัตร เพื่อนำมาชำระอีกบัตรก็ตาม ล้วนแต่ก่อให้เกิดปัญหามากมายที่จะค้นพบได้ ณ ปัจจุบันนี้ทั้งสิ้น

บัตรเครดิตเองนั้นแตกต่างจากอาวุธ เพราะอาวุธถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อการทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเอง แต่บัตรเครดิตนั้นไม่ใช่…เพราะบัตรเครดิตนั้นเป็นธุรกรรมทางการเงินที่ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อการใช้จ่ายที่สะดวกยิ่งขึ้น และเป็นการสร้างเครดิตให้แก่ผู้บริโภค

แต่ในทางกลับกันนั้น บัตรเครดิตเองก็เปรียบเสมือนอาวุธได้เช่นกัน ตรงที่ถ้าคุณรู้จักใช้ รู้จักควบคุมตนเอง ผลที่ได้กลับมาก็จะเป็นประโยชน์และความสุขของตัวคุณ ซึ่งในขณะเดียวกัน “ถ้าคุณใช้โดยไม่ระวัง ขาดความรอบคอบและการยั้งคิด ผลจากการกระทำของคุณนั้น จะย้อนกลับมาทำร้ายคุณได้อย่างไม่ยากและเจ็บปวด เช่นกัน”

บัตรเครดิต : ใช่จริงหรือ? ว่าสิ่งนี้คือพิษภัย

Our Columnist @ www.sarut-homesite.net

พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน (Sandels)

8 ต.ค. 2553

Author: admin

1 thought on “‘บัตรเครดิต’ ใช่จริงหรือ? ว่าสิ่งนี้คือพิษภัย : พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน

  1. ยิ่งคุณมีเงินมาก คุณก็จะยิ่งใช้มากขึ้น ยิ่งใช้ง่ายขึ้น รูดปรื้ด รูดปรื้ด คนก็ยิ่งใช้กันจนลืมตัว คนเราพอเห็นอะไรใช้ง่ายๆก็ใช้เพลินหละครับ มันสะดวก ถ้าใช้อย่างระมัดระวังผมว่าก็คงไม่มีปัญหาหรอกครับ บางอย่างที่ผมว่ามันสะดวกจริงๆของบัตรเครดิตก็พวก paypal อะไรพวกนี้ด้วยแหละครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.