[บทความแนะนำ] May Day… “กรรมกร” ต้อง Cancel ความฝัน เพราะประเทศไทยไม่ยอมปันผลเสียที! : ประชาชาติธุรกิจ

มีคำพูดเสียงดังๆจากนักธุรกิจเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่บอกให้รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหา “ความยากจน” ของชาติ เพราะผู้ที่มาชุมนุมในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความยากจน แม้หลายส่วนจะไม่ใช่ แต่นัยของผู้มาชุมนุมทั้งเสื้อแดงและเสื้อหลากสีสะท้อนถึงวิถีแห่งสังคม และการขับเคลื่อนประเทศไทยในห้วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีว่า เรา “ได้ทำ-ไม่ได้ทำ” อะไรกันบ้าง

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน “ความยากจน” แทบจะไม่ได้รับการพูดถึงและมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ได้แต่เยียวยาเฉพาะหน้าด้วย “เงินด่วน” ที่มาเร็วไปเร็วไม่ยั่งยืน

“ความยากจน” ของคนไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด หากเขาได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี ก็เชื่อว่าเขาไม่ใช่ “ผู้ยากจน” อย่างที่ใครๆเรียกพวกเขา เพราะบางคนเขาเป็นผู้มั่งมีแรงงานที่เขาสามารถแปลงเป็น “ทุน” ได้

คนจนจึงมักเป็นผู้ใช้ “แรงงาน” เป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆที่ “แรงงาน” คือพลังการผลิตที่สำคัญ ถ้าพลังการผลิตไม่ดี การสืบทอดความเป็นมนุษยชาติก็เกิดขึ้นไม่ได้ด้วย

ศาสตราภิชาน “แล ดิลกวิทยรัตน์” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งรู้เรื่อง “แรงงาน” เป็นอย่างดี กล่าวว่า หากเราเข้าใจปรัชญาของนักแรงงานอย่างลึกซึ้งแล้ว คำขวัญนักแรงงานทั่วโลก คือ แรงงานไม่ใช่สินค้า labour is not commodity ด้วยเหตุนั้นกรรมกรทั่วโลก จงสามัคคีกัน

ปรัชญาที่ว่า “แรงงานไม่ใช่สินค้า” แปลว่า การตอบแทนแรงงานต้องคำนึง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แต่เรามักจะทำให้ “ความเป็นมนุษย์” ด้อยลงไปคือ การใช้คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” “ทุนมนุษย์” โดยไม่รู้สึกว่าคำเหล่านี้ “ลดค่าความเป็นมนุษย์”

คำว่า no work no pay ถ้าไม่มีผลงานไม่มีค่าจ้าง แปลว่า คนคนหนึ่งถ้าผลงานคุณเป็นที่ต้องการของคนอื่น ค่าตอบแทนคุณจะมากกว่าคนอื่นมากมาย แต่หากคำนึงถึง “ค่าความเป็นมนุษย์” คุณไม่ต้องได้เงินเยอะขนาดนั้น การตอบแทนแบบนี้ เป็นการตอบแทนแบบที่ไม่ได้คำนึงให้ค่าความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เอาความเป็นมนุษย์เป็นตัวตั้ง แต่เอาผลงาน ซึ่งแปลว่า เอากำไรให้ผู้ลงทุนเป็นตัวตั้ง คุณทำกำไรให้นายจ้างมากก็ได้ ผลตอบแทนมาก

เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนงาน แรงงานเรียกร้องวันนี้ คือ รักษาพยาบาลฟรีได้ไหม เมื่อเจ็บป่วย เกษียณแล้วมีบำนาญกันหน่อยได้ไหม ถามว่าให้ทำไม คำตอบคือว่าช่วยค้ำจุนความเป็นมนุษย์ ในยามที่เขาไม่สามารถสร้างผลงานได้ คุณช่วยให้ความเป็นมนุษย์ประคับประคองกันหน่อยได้ไหม ด้วยเหตุนี้จึงควรมีค่าตอบแทนการทำงานที่ไม่ใช่ค่าตอบแทนผลงาน

ก่อน ปี 2516 ไม่มีการคุ้มครองไล่ออกจากงาน มีแต่ให้ซองขาว แต่หลังปี 2516 มีการเรียกร้อง “กรรมกรเรียกร้อง ค่าตอบแทนความเป็นมนุษย์” แต่นายจ้างบอกว่า คุณทำงานดีเขาจ่ายเพิ่มเอง นั่นแปลว่าค่าตอบแทนยังขึ้นอยู่กับผลงาน เราตอบแทนความเป็น “ทรัพยากรของคน” ไม่ได้ตอบแทนความเป็น “มนุษย์ของคน” ซึ่ง “กรรมกร” สู้มาตลอด ทำอย่างไรจึงชนะ ก็บอกว่า “กรรมกรทั่วโลกจงสามัคคีกัน” จึงเป็นที่มาของ May Day ซึ่งเป็นการร่วมต่อสู้ จึงสร้างวันที่เป็นสากลของกรรมกร

กรรมกรทั่วโลกเหมือนกัน และมีจิตสำนึกเดียวกัน ถ้าชีวิตที่ดีขึ้นต้องขึ้นกับค่าจ้าง เพราะชีวิตอยู่กับการทำงาน… แต่เรา(ไทย) คิดได้อย่างไรว่า วันที่ 1 พ.ค.เป็นวันแรงงาน แห่งชาติ เขามาฉลองทั่วโลก คุณมาบอกว่า วันแรงงานแห่งชาติ…ชาติไหน(วะ)!!!

การทำงาน การใช้แรงงาน มันมีมาก่อนการมีชาติ เพราะการใช้แรงงานเป็นเครื่องประกันการดำรงอยู่ของชีวิต การใช้แรงงานเป็นการปรับเปลี่ยนธรรมชาติให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เราก็เลยบอกว่า “ความเป็นผู้ใช้แรงงาน” เป็นอะไรที่สากล หากไม่มีแรงงานเราไม่สามารถกำหนดเวลาและสถานที่ได้

อันนี้เรากำลังพูดถึงความยุติธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ เราพูดเสมอว่าเราอยู่ในชาติเดียวกัน แต่โอกาสการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้มีมากน้อยแค่ไหน นั่นประการที่หนึ่ง และประการที่สอง หากคุณมาเน้นกำลังซื้อของคนในประเทศ เพื่อเป็นเครื่องดูดซับแรงกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ จากปัจจัยภายนอก สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ นโยบายรายได้ของแรงงานต้องปรับเพิ่มให้เขา มันมีความสำคัญมาก หากเราจะพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ รายได้ของคนจะต้องสูงขึ้น

ที่ผ่านมา คุณเอาจมูกคนอื่นหายใจ ผลิตเพื่อส่งออก แต่ทำไมไม่ผลิตให้พวกคุณได้กินได้ใช้ คำตอบคือ ในประเทศไม่มีกำลังซื้อพอ เพราะค่าจ้าง “โดนบีบ-โดนกด” ไว้ เงินไม่มากพอที่จะไปช่วยพยุงมูลค่าผลผลิตที่คนพวกนี้ทำทั้งหมดได้

ดังนั้น นโยบายคือ ทำให้คนเหล่านี้มีเงินเพียงพอที่จะสานฝันของคนคนหนึ่งในแง่ของ “ตัวคนงาน” เอง ขณะเดียวกันเป็นแหล่งฝากผีฝากไข้ให้กับผลผลิตของตัวเองได้ ขายข้างนอกไม่ได้แต่ขายข้างในได้

อาจารย์แล ย้ำว่า..หากเป็นแบบนี้ นโยบายค่าจ้างจะต้องปล่อยให้สูงขึ้น เพราะค่าจ้างเป็นต้นทุนน้อยนิดเดียวถ้าเทียบกับต้นทุนส่วนอื่นๆ แต่คุณไปบีบส่วนน้อย ประหยัดส่วนน้อย และไม่ได้ไปแตะต้องการลดต้นทุนส่วนอื่นๆ อาทิ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ความอุ้ยอ้าย ความล่าช้าของระบบราชการ ถามว่า แค่ประหยัดค่าแรงจะ ประหยัดต้นทุนรวมสักแค่ไหน ตอบได้ว่าน้อยมาก

ดังนั้น ในแง่นโยบาย หากคุณยอมรับว่า ค่าแรงต้องให้เขามากขึ้น ให้เขา “อยู่-กิน” ได้ ผมคิดว่าอันแรกที่สำคัญต้องพูดถึงมนุษยธรรม ความยุติธรรมของสังคมที่เราพูดกันเยอะๆวันนี้

“หากคนคนหนึ่งที่เป็นกรรมกรในโรงงาน ทำงานไป 30-40 ปี เมื่อเกษียณแล้วในชีวิตเขาจะเหลืออะไรไหม เหลือลูกสักคนไหมที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือจบมหาวิทยาลัย จะมีบ้านสักหลังไหม ถามว่า ต้องให้เกิดใหม่หรือย่างไรที่จะต้องมีสิ่งเหล่านี้ได้ ผมเคยถามคนงานว่า…ตอนนี้มหาวิทยาลัยกำลังสอบเอนทรานซ์ ใครมีลูกจะสอบเข้าจุฬาฯไหม จะได้ฝากเนื้อฝากตัวกันมา เขามองแบบว่าอาจารย์มาผิดที่หรือเปล่า เรากรรมกรนะ จะมีใครฝันว่าจะมีลูกเข้าจุฬาฯ… ถามว่า แปลกไหม จุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ใครก็เข้ามาได้ นี่คือข้อเท็จจริง…”

คำถามว่า…ทำไมคนเหล่านี้ไม่ฝันเลยว่าลูกเขาจะเข้าจุฬาฯ คำตอบคือว่าเขา “cancel” ความฝันเขาไปแล้วล่ะ ทีนี้ถามว่า อะไรที่มีอิทธิพลที่ทำให้คนสามารถ cancel ความฝันของเขา ขนาดรางวัลที่ 1 เขายังซื้อทุกงวด หวังว่าชีวิตน่าจะดีขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นไปได้ยาก เขายังไม่ cancel เลย ทำไมเขาไม่คิดว่าลูกเขาจะเข้าได้ เขาคิดว่าโอกาสการเข้าจุฬาฯของลูกกรรมกรมันยิ่งกว่าศูนย์อีก

อาจารย์แล ยืนยันว่า..สิ่งที่ใช้ค้ำจุนความเป็น “คน” คือกำลังซื้อ อาทิ ความสามารถในการส่งลูกเรียนสูงๆ ความสามารถในการมีบ้านคุ้มหัว สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้เกิดขึ้น ฉะนั้น ระยะยาวสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ย้ำเตือนแต่ว่าต้องมีการกระทำดำเนินการใดๆ เพื่อให้เห็นความสำคัญในเรื่องที่ว่านี้อย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ

บริษัทประเทศไทยโตมานาน ทำกำไรติดต่อมาหลายปี ถึงเวลาที่ต้องปันผลแล้ว มันควรปันผลกันเสียที และต้องปันผลกันอย่างยุติธรรม

“ผมถือว่าเรื่องนี้สำคัญ ถ้าตราบใดคนที่เป็นกรรมกรยังต้อง cancel ความฝันบางเรื่องของตัวเอง เป็นอะไรที่แย่”

อาจารย์แลเล่าต่อว่า.. ผมไปดูเสื้อแดงที่สยามพารากอน มีรถคันหนึ่งขนคนมาจากพังโคน ดูหน้าตาไทยแท้เลยครับ เขามาลงตรงนี้ บางคนเขายืนมองโปสเตอร์ที่พารากอน คนจำนวนหนึ่งมองบันไดเลื่อนของรถไฟฟ้า ผมเข้าใจว่าคนทั้ง 2 กลุ่มที่มอง เขาคงคิดว่าชาตินี้ไม่เคยขึ้นรถไฟฟ้า หรือไม่เคยเดินสยามพารากอน ไม่มีอะไรในวิสัยที่เขาจะจับต้องได้เลย การที่จะให้เขาเห็นคุณค่ารถไฟฟ้า เห็นคุณค่าห้างสรรพสินค้าราคาแพงระยับ เป็นไปไม่ได้ เมื่อเขาเข้าไม่ถึง การที่เขาจะเห็นคุณค่า หรือการทำลาย เขาจะไม่รู้สึกเสียดาย เพราะเขาไม่รู้สึกความเป็นเจ้าของ

ถามว่า ชีวิตคนเหล่านี้ที่เป็นคนไทยแท้ๆ กับสถานที่แบบนี้มันมีเชื่อมโยงกันตรงไหน…ไม่มีเลย ว่ามันจะเสียหายอย่างไร เพราะเขาไม่ได้ประโยชน์จากมันเลย

หลวงวิจิตร วาทการ เคยพูดถึงชาตินิยมว่า คนจะรักชาติ รักแผ่นดินไม่ได้ ถ้าเขาไม่มีแผ่นดินแม้แต่กระแบะมือเดียว เขาจะรักได้อย่างไร ทำไมต้องรักด้วย การที่จะให้เขามีส่วนร่วม เขาต้องมีความเป็นเจ้าของไม่มากก็น้อย นั่นแหละคือปัญหา

เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องปันผลแล้ว

ด้วยการทำให้ “ค่าจ้างเพิ่มขึ้น” อย่างมีนัยสำคัญ เวลาคุณพูดถึงการพัฒนาประเทศ ประเทศของใคร คนเหล่านี้กำลังกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คุณพูดถึงประชาธิปไตย ประชาธิปไตยของใคร ในเมื่อถ้าคนเหล่านี้ไม่มีส่วน

ถ้าประเทศก็ไม่ใช่ ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ เพราะคุณละเลยคนเหล่านี้ไปหมด ที่สำคัญเวลาผ่านไปคนเหล่านี้จะเดินจากท้องนาชนบทเข้าสู่เมือง เขาเปลี่ยนจากการหาเช้ากินค่ำ มาขายแรงงาน ไปทำกำไรให้คนอื่น เราไม่ดูแลเขาได้อย่างไร

“ค่าจ้างเป็นหัวใจ” ที่ค้ำจุนความดำรงอยู่ของสังคมไทย ฉะนั้น คุณต้องจัดการค่าจ้างให้มีนัยสำคัญ ไม่ใช่มองเขาแล้วบอกว่า มาเมืองไทยเถอะ ค่าแรงถูก วันนี้เราจะลดฐานะลงไปแข่งกับประเทศที่เพิ่งเปิดมาไม่นานอย่างนี้หรือ!!

นโยบายของรัฐบาลทำอย่างไรที่จะดึงนักลงทุนได้มากที่สุด เมื่อจะดึงนักลงทุนก็ทำอย่างไรให้นักลงทุนได้กำไรมากที่สุด ทางหนึ่งคือ บีบต้นทุนต่ำสุด คือบีบให้ค่าแรงต่ำ แทนที่จะปรับปรุงระบบราชการให้คล่องตัวขึ้น

เรากดค่าแรงมาครึ่งศตวรรษแล้ว และเรายังยึดมั่นถือมั่นนโยบายนี้อยู่ อย่างน้อยยังอยู่ในใจของผู้บริหารประเทศ เวลาที่ลูกจ้างขอค่าจ้างเพิ่ม ในใจจะออกมาเลยว่า ..เราจะไปสู้กับต่างประเทศได้อย่างไร มันจะกระทบการส่งออกนะ แต่คุณไม่พูดเลยว่าระหว่างที่คุณไม่ปรับ มันกระทบปากท้องคนส่วนมาก อย่างที่เราเป็นดีทรอยต์เอเชีย ราคารถที่ส่งไปขายตลาดโลกในราคาเท่ากัน แต่ค่าแรงของดีทรอยต์ที่อเมริกา กับดีทรอยต์ของเรา เท่ากันไหม ของเรา 8 ช.ม. 200 กว่าบาท ของอเมริกา 8 ช.ม. 800 บาท

ถามว่า “คน” เหมือนกันหรือเปล่า ทำงานมาตรฐานเดียวกันหรือเปล่า ใช้เครื่องจักรเครื่องมือเดียวกันไหม ทำไมต่างกันขนาดนี้ ทำไมเราไม่ทำให้ “คน” ของเราเงยหน้าอ้าปากได้ หากคุณไม่ทำให้คนส่วนใหญ่อ้าปากได้ คำว่าพัฒนาประเทศไม่มีความหมาย เพราะประเทศของคุณคือ ประเทศของคนกลุ่มเล็กๆเท่านั้น

นี่เป็นทางเดียวที่จะพัฒนาประเทศ เราพูดถึงการกระจายรายได้ เพราะนโยบายค่าจ้างทำได้โดยตรง ไม่ต้องอ้อมไปเรื่องการเก็บภาษี -ไม่เก็บภาษี การเก็บภาษีมันรั่วไหลมากมาย เป็นช่องทางให้คนรวยหลบภาษีอย่างถูกกฎหมายได้อย่างไร

ปกติค่าแรงโดยทั่วๆไปไม่เกิน 10% ของต้นทุนรวมทั้งหมด แต่นายจ้างชอบอ้างว่าที่อื่นให้แค่นี้ ถ้าเราให้มันจะทำให้สูงเกินมาตรฐานอุตสาหกรรมเดียวกัน อันนี้เป็นเรื่องที่คุณเซตมันขึ้นมา แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ หากให้ลูกจ้างคุณกินดีอยู่ดี มีชีวิตที่ดีกว่า มันผิดตรงไหน หากคุณเลี้ยงคนได้ดี ยกเว้นพวกคุณกันเองที่ว่าเป็นตัวอย่างไม่ดีที่ทำให้ค่าใช้จ่ายต้นทุนแพงกว่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้น ปัญหาความเป็นมนุษย์ หากคุณต่ำกว่าคนอื่นมาก คุณมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าคนอื่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันหายไป มันทำให้ฐานะความเป็นมนุษย์ต่างกัน คุณต้องไปง้อเขา ยอมให้เขาโขกเขาสับ ไม่ต่างกับยุคทาส

ภาษิตจีนที่ว่า ไม่เห็นโลงศพคุณไม่หลั่งน้ำตา วันนี้สมาคมนักธุรกิจทั้งหลายเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความยากจน เพราะเสื้อแดงเขามาชุมนุม คุณเห็นแล้วว่าเขายากจน คุณเริ่มเห็นโลงศพแล้ว แต่เราบอกมา 40 ปีแล้วเรื่องการกระจายรายได้ แต่คุณ(นักธุรกิจ) ไม่ทำอะไร ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน

“ผมคิดว่าถ้านายจ้าง รัฐบาลก็ดี เห็นปัญหานี้อย่างชัดเจน ว่าไม่ทำไม่ได้แล้ว มันอาการหนักแล้ว คนชอบพูดว่า คนเหล่านี้ขี้เกียจ ถ้าขยัน หาโอกาสไปพัฒนาฝีมือตัวเอง ไม่ต้องร้องขอค่าจ้าง นายจ้างเห็นเขาฝีมือดีจะขึ้นค่าจ้างให้เอง ปกติทำงาน 8 ชั่วโมง ยังไม่พอกิน ต้องไปทำงาน 12 ชั่วโมง แล้วจะให้เขาไปพัฒนาฝีมือแรงงานอีก จะเอาเวลาที่ไหนฝึก คุณกำลังพูดถึงเรื่องอะไร ที่ประหลาดใจมากคือ คนที่อยู่ในแผ่นดินเดียวกันที่ผู้คนแตกต่างกันขนาดนี้ คุณบอกว่าเป็นคนพุทธ เห็นอกเห็นใจ ให้เงินขอทาน แต่กลับไม่มองเห็นเรื่องเหล่านี้”

ถ้าถามว่า นโยบายต้องทำอะไรบ้าง เอาข้อเรียกร้องที่แรงงานขอมา 4-5 ปี มาวางเรียงกัน คุณทำตามได้ไหม ไม่ต้องไปคิดใหม่ ก็ทำให้เขา บางเรื่องเรียกร้องซ้ำทุกปี แต่ไม่เห็นแก้ไขให้เขาเลย

วันนี้เรามีกฎหมายแรงงาน กฎหมายคุ้มครองคนงานที่รักษาความเป็นมนุษย์ไว้ในระดับหนึ่ง นั่นคือ มีค่าจ้างขั้นต่ำ สวัสดิการขั้นต่ำ เรายืนยันจุดนี้ไหม รัฐต้องยืนยันให้ชัดเจน

ซึ่งไม่มี…เวลามีความขัดแย้ง สไตรก์ ทุกวันนี้นายจ้างยืมมือกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ไล่คนงานออก ถ้าคุณไม่พอใจไปฟ้องศาล ยิ่งคนงานอยู่ต่างจังหวัดกว่าจะชนะคดีก็ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบร้อยละ 20 ต่อเดือน

อาจารย์ย้ำว่า..ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน ปกติกระบวนการยุติธรรมต้องคุ้มครองคนที่เสียเปรียบ แต่วันนี้คนที่ได้เปรียบเอากระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ แม้กระบวนการยุติธรรม ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดด้วย เอาไปถ่วงเวลา และ “เวลา” มันแพงสำหรับคนจน ลูกจ้าง ทำให้เขาต้องยอมรับ “ความอยุติธรรม” ตั้งแต่ต้น ดีกว่าไปเสีย “ต้นทุนหาความยุติธรรม” เพราะมันแพงสำหรับคนจน

ดังนั้น ปัญหาสังคมเกิดขึ้นเพราะปัญหาเศรษฐกิจไปเบียดเบียนสภาพสังคม ทำให้สังคมขาดๆวิ่นๆ ถูกกัดกินจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจนั่นเอง

May Day…”กรรมกร” ต้อง Cancel ความฝัน เพราะประเทศไทยไม่ยอมปันผลเสียที!

วันที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4207  ประชาชาติธุรกิจ

Author: admin

1 thought on “[บทความแนะนำ] May Day… “กรรมกร” ต้อง Cancel ความฝัน เพราะประเทศไทยไม่ยอมปันผลเสียที! : ประชาชาติธุรกิจ

  1. เป็นบทความที่ดีมากครับ…ตรงประเด็นและโดนใจ ความบิดเบี้ยวของสังคมไทยมาเป็นปัญหาระดับโครงสร้างหลักข้างบน ซึ่งประกอบด้วย สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีความสัมพันธ์และแยกกันไม่ออก ถ้ามันไม่สมดุล…อะไรๆมันก็เลยเป็นอย่างที่เห็น เพราะบางคนพยายามฝืนธรรมชาติ ทำผิดให้เป็นถูก โดยไม่คำนึงถึงชีวิตเพื่อนร่วมชาติ แต่มาบอกให้เราเป็นคนดี ทั้งๆที่ตัวเองสูบแรงงานและทรัพยากรอยู่แค่กลุ่มเดียว …

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.