ทำไมต้อง “ให้” : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

อยากจะฝากให้ท่านเริ่มปีใหม่ด้วยการแนะนำหนังสือที่มีคุณค่าเล่มหนึ่ง คือ หนังสือชื่อ ทำไมต้อง “ให้” ของหลวงพ่ออลงกต ติกขปญโญ แห่งวัดพระบาทน้ำพุ ดิฉันได้รับหนังสือเล่มนี้จากเพื่อนร่วมงาน หลังจากที่เขาไปกราบนมัสการหลวงพ่อที่วัดพระบาทน้ำพุ เมื่อต้นเดือนธันวาคม

หลวงพ่ออลงกต เป็นพระนักพัฒนา ผู้อุทิศให้กับผู้ติดเชื้อเอดส์  ในคำนำของหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า ปกติหลวงพ่อจะมีกิจมากมาย จึงไม่มีการตีพิมพ์คำสอนของหลวงพ่อออกมาเป็นเล่ม  หนังสือ  ทำไมต้อง “ให้” ถือว่าเป็นการตีพิมพ์ข้อคิดและคำสอนของหลวงพ่อออกมาเป็นครั้งแรก

หลวง พ่อกล่าวถึงการ “ให้” ว่ามีหลายลำดับชั้น  ตั้งแต่การให้ในระดับสัญชาตญาณ เช่น การเลี้ยงดูลูกที่เกิดมา  เป็นการ “ให้” แบบตรงไปตรงมา ซึ่งสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ต่างรู้จักการให้ในรูปแบบนี้ทั้ง สิ้น

อย่างไรก็ดี การให้ จะถูกพัฒนาให้ละเอียดซับซ้อนขึ้น เมื่อผู้ให้มีสติปัญญาหรือมีองค์ความรู้มากขึ้น และเมื่อพัฒนาสูงขึ้นจะเป็นการให้ในระดับ จริยธรรม

ในทางพุทธศาสนา การให้คือ จาคะ  ซึ่งแปลว่า ความเสียสละ จะมี 2 นัย คือ สละวัตถุและสละอารมณ์  สละวัตถุคือการสละทรัพย์หรือสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น  ส่วนการสละอารมณ์นั้นเป็นการปล่อยวางอารมณ์ (ที่ไม่ดี)

หลวงพ่อได้ยก ตัวอย่างถึงการให้วัตถุ แต่เพิ่มระดับด้านจิตใจด้วย เมื่อเรามีการเสียสละ  แม้ว่าในทางกฎหมายไม่มีใครว่าอะไรถ้าเราจะไม่ให้ของซึ่งเราหามาได้กับคน อื่น  แต่ในด้านจริยธรรมแล้ว หากเราไม่เคยให้ เพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่นเลย เราอาจถูกมองในแง่ลบ และเมื่อส่วนที่เราให้ได้ เราไม่ได้ให้ เมื่อตายไปก็ไม่สามารถให้ได้ จึงเท่ากับว่าเราสร้างทุกข์ให้กับชีวิตอื่นเหมือนกัน

การให้ ทำให้คนพ้นจากความทุกข์ คือ การเวียนว่าย เกิด แก่ เจ็บ ตาย  โดยการหลุดพ้นจากความทุกข์ เกิดได้จากการฝึกจิต ที่เริ่มจาก ทาน ศีล ภาวนา

“ทาน” ถือเป็นระดับต้นของการฝึก คนไหนไม่ให้ ไม่แบ่งปัน ก็ไม่ควรจะหวังที่จะพ้นทุกข์  นอกจากนี้ การให้ไม่ควรมีข้ออ้าง ไม่ควรมีเงื่อนไข  เช่น ไม่ให้ถ้าเขาเป็นคนไม่ดี หรือเคยทำผิดพลาด

หลวงพ่อกล่าวว่า  “คนเรามีใครบ้างที่ไม่เคยทำชั่ว ไม่เคยทำเลว ไม่เคยทำผิดพลาด หลวงพ่อไม่เคยเห็นเลย”  แต่เมื่อพลาดแล้ว หากไม่มีคนให้อภัย ไม่มีคนให้กำลังใจ ไม่มีคนช่วยเหลือ  คนนั้นก็จะต้องรับทุกข์ที่ตนเองทำลงไปด้วยความประมาทพลาดพลั้ง โลกนี้ก็จะไม่ดีขึ้น

สังคมปัจจุบันอาจมีคนมองว่า คนที่มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่น หรือเป็นคนดีนั้น เป็น “คนโง่”  หรือสังคมอาจจะมีคนที่แข็งแรงกว่า ฉลาดกว่า เอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่า โง่กว่า

หลวงพ่อสอนว่า แม้สังคมจะว่าอย่างไร เราก็ควรจะ “ให้”อยู่ต่อไป   การให้ต้องเกิดจากการฝึกฝน เป็นทักษะ หากให้ไม่ถูกวิธี เราจะไม่มีความสุขกับการให้

ความสุขของการให้ ไม่ได้อยู่ที่มีคนรู้ว่าเราให้ หรือได้รับคำชมจากผู้อื่น  แต่อยู่ที่ความปีติที่เกิดขึ้นในใจเราต่างหาก  ผู้ที่เข้าถึงการให้ที่แท้จริงแล้ว จะแบ่งปันให้กับผู้อื่นจนเป็นนิสัยติดตัว เพราะมีความสุขที่ได้ให้ โดยไม่ต้องมีใครมาบอก มาสอน

ในหนังสือบอกว่า “การให้” ถ้าให้ไม่เป็น ก็เป็นทุกข์ ถ้าให้ไม่เป็นก็วุ่นวายเหมือนกัน เพราะการให้ มีพื้นฐานมาจากเจตนารมณ์ที่เราจะทำให้คนพ้นจากความทุกข์ แล้วก็พัฒนาไปสู่การเป็นคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น   ถ้าให้โดยไม่ดูอะไรเลย  ไม่ระมัดระวังเลย ก็เกิดผลเสียเหมือนกัน

“การ ให้” โดยหวังให้ผู้รับได้ดิบได้ดีนั้น ไม่ถือเป็นการให้โดยหวังสิ่งตอบแทนแก่ตนเอง เพราะเป็นการหวังให้เขาพ้นจากความทุกข์ มีประโยชน์กับสังคม ถือเป็นคนละอย่างกับการหวังให้เขามาตอบแทนเรา

“การให้” เป็นการทำให้เราปฏิบัติตนให้พ้นจากทุกข์ ความยึดมั่นถือมั่น  อย่างไรก็ดี ให้น้อยไปก็เป็นทุกข์ ให้มากไปก็เป็นทุกข์  หลวงพ่อแนะนำให้ใช้วิจารณญาณของตนเองเป็นสิ่งตัดสิน ถ้าอยากให้ ก็ให้ไปเถิด  หลวงพ่อเล่าว่า บางทีหลวงพ่อรู้ว่าถูกหลอก หลวงพ่อก็ยัง “ให้”

แต่ การให้ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องให้ไปหมดทุกอย่าง  หลวงพ่อได้เตือนให้ระมัดระวังไม่ให้เสียความสมดุล ทั้งในเรื่องความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน อาชีพ ครอบครัว และรับผิดชอบต่อตนเอง  ต้องให้เกิดความพอดี

การให้ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับจากใกล้ตัวไปไกลตัว ทุกอย่างเป็นเรื่องของสถานการณ์และความเหมาะสม

หลวง พ่อสอนถึงการให้แบบพ่อ-แม่-ลูก  แบบลูก-พ่อ-แม่  การให้แบบคู่รัก  การให้ต่อคนภายนอก ต่อสังคม  ต่อโลก  การให้ที่ไม่ต้องใช้เงิน เช่น ให้กำลังใจ ให้สติ  และการให้ที่ยิ่งใหญ่ คือการให้ “ธรรมะ” และในตอนท้ายของเล่ม มีเรื่องของการให้ในสไตล์ของหลวงพ่อ

ดิฉันขอจบด้วย คำสอนสองคำสอนของหลวงพ่อคือ

“….ชีวิตที่อยู่บนเงื่อนไขมากมาย มันไม่ใช่เรื่องง่าย  มันเป็นศาสตร์ที่จะทำให้ชีวิตเกิดความสุข มันเป็นศิลปะที่จะทำให้ชีวิตเกิดความพอดี”

“ชีวิตคนเราเกิดมาต้องมี ศรัทธา ต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ และอย่ามองชีวิตเป็นเศรษฐศาสตร์ กำไรขาดทุน แต่จงมองชีวิตเป็นศิลปะเพื่อจะได้อยู่อย่างมีความสุข”

เป็น หนังสือที่ดีมากๆ เหมาะที่จะซื้อเป็นของขวัญให้ตัวเองในปีใหม่นี้ค่ะ  ราคาเล่มละ 160 บาท พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ เลซีย์เดย์ สั่งซื้อได้ที่สำนักพิมพ์บิสซีย์เดย์ www.busy-day.com <http://www.busy-day.com>

ใน ปี 2553 นี้ ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุข มีสุขภาพกายแข็งแรง มีสุขภาพการเงินที่ดี สมปรารถนาในสิ่งดีงามทุกประการ   ขอให้ประเทศไทยเรามีความสงบสุข  แคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง และขอให้ทุกคนในชาติมีความรักและสามัคคีกันด้วยเทอญ

ทำไมต้อง “ให้”
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.