ทักษะ ความรู้ และวิธีจัดการ ของกลุ่มการเงินชุมชน ; ข้อคิดจากการลงพื้นที่ : สฤณี อาชวานันทกุล

หลังจากที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศหายใจไม่ทั่วท้องนานกว่าสองเดือน ในที่สุดการชุมนุมปี 2553 ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ได้จบลงอย่างเศร้าสลดในวันที่ 19 พฤษภาคม ด้วยความตายของผู้ชุมนุมรวมแปดสิบกว่าชีวิตตลอดระยะเวลาการชุมนุม รวม 6 ชีวิตที่ตายในเขตอภัยทานของวัดปทุมวนารามในวันสุดท้าย ตลอดจนอาคารร้านค้าที่วอดวายในเปลวเพลิงอันเกิดจากส่วนผสมระหว่าง ความแค้นของผู้ชุมนุม ความเยือกเย็นของนักก่อวินาศกรรมมืออาชีพ ประกอบกับอาการ “เกียร์ว่าง” อย่างน่าเกลียดของเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากที่ยืนมองความวินาศเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา

การชุมนุมจบลงไปแล้ว แต่ความขัดแย้งในสังคมไทยยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง และสาเหตุใหญ่ที่มันจะยังไม่สิ้นสุดไปอีกนาน นอกเหนือจากประเด็นการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยนั้นมีจริงและมีมานานแล้ว และถึงเวลาที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ก็เหมือนกับปัญหาใหญ่ปัญหาอื่นในปัจจุบันตรงที่ “วิธีแก้” เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ความรู้ ความสามารถ และการมีส่วนร่วม แต่ตราบใดที่เรายังไม่ถกกันเรื่องวิธีแก้อย่างจริงจัง เราก็ไม่มีวันแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพราะวิธีแก้เดิมๆหลายวิธีใช้การไม่ได้แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ หรือรู้แต่ยังใช้ต่อไปเพราะนึกว่าไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่า

“วิธีแก้เดิมๆ” วิธีหนึ่งที่ใช้การไม่ได้อีกต่อไปแล้ว คือความพยายามที่จะแก้ปัญหาระดับชุมชนแบบ “จากบนลงล่าง” คือเอารัฐบาลกลางเป็นศูนย์กลาง แต่งตั้งคณะกรรมการอะไรสักอย่างขึ้นมาเขียนแผนกลยุทธ์ที่ฟังดูสวยหรู แต่มีประสิทธิผลต่ำมากในทางปฏิบัติ เพราะมักจะเขียนจากหอคอยงาช้างโดยปราศจากความเข้าใจในบริบทของท้องถิ่น เต็มไปด้วยเป้าหมายลอยๆที่ไร้กลไกการตรวจสอบติดตามผล และตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม และมีความเสี่ยงที่จะถูกนักการเมืองและข้าราชการแต่ละระดับ “ชักหัวคิว” ระหว่างทางจนแทบไม่มีอะไรตกถึงมือชาวบ้าน หรือไม่เช่นนั้น ก็ทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งพานักการเมืองหรือข้าราชการไปเรื่อยๆ เพราะนโยบายรัฐให้ความสำคัญกับเม็ดเงินที่ตอกลิ่มการพึ่งพา มากกว่าศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน

วิกฤตทางการเมืองรอบนี้ จึงชี้ให้เห็นความสำคัญของการ “ปลดแอก” ชาวบ้านออกจากอำนาจของนักการเมืองระดับชาติและระบบราชการส่วนกลาง และเผยความสำคัญของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีแนวคิดการพัฒนาจากฐานรากเป็นหัวใจสำคัญ

ผู้เขียนหวังว่า วิกฤตครั้งนี้ จะช่วยให้ปราชญ์ชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญหลายท่านที่อุทิศตนให้กับการพัฒนาจากฐานรากมายาวนาน ได้รับความสนใจจากสังคมในวงกว้างเสียที ผู้เขียนมีความรู้เรื่องนี้เพียงแค่หางอึ่ง แต่อยากแลกเปลี่ยนข้อสังเกตและข้อคิดบางประการจากภาคสนาม หลังจากที่ได้ทำวิจัยในโครงการชื่อ “โครงการศึกษาและจัดทำเครื่องมือประเมินตนเองขององค์กรการเงินฐานราก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการการเงินและสวัสดิการชุมชน” ร่วมกับอาจารย์หลายท่านมานานกว่า 1 ปีแล้ว (ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ในระยะที่สอง)

1. ชาวบ้านสมัยนี้ไม่ได้ “โง่” เพียงแต่ไม่พูดภาษาที่ “ผู้มีการศึกษา” คุ้นเคย และขาดทักษะการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ

ผู้เขียนคิดว่า นักวิชาการและคนทั่วไปจำนวนมากที่ภูมิใจว่าตน “มีการศึกษา” (ในความหมายที่ตื้นเขินคือจบปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ) ยังไปไม่พ้นมายาคติที่ว่า ชาวบ้านจนเพราะโง่ และดังนั้น จึงเจ็บตัวซ้ำซาก (เรียกสั้นๆว่า วงจรอุบาทว์ “โง่-จน-เจ็บ”)

ผู้เขียนเคยเชื่ออย่างนั้นเหมือนกัน จนกระทั่งได้ค่อยๆเรียนรู้ว่า ความเชื่อนี้เป็นมายาคติที่ไม่สอดคล้องกับความจริง นอกจากจะผิดแล้วยังเป็นอันตรายด้วย เพราะอาจทำให้นักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือใครก็ตามที่ถือตัวว่า “ฉลาด” กว่าชาวบ้าน แนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ไม่ได้ เพราะไม่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นและไม่ ต่อยอดจากฐานความรู้ของชุมชน

ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ลงพื้นที่ไปศึกษากลุ่มการเงินชุมชนแห่งหนึ่งในนครศรีธรรมราช ผู้เขียนรู้สึกอึดอัดปนรำคาญที่เห็นชาวบ้านลงบัญชีไม่ถูกต้องตามหลักบัญชีสากล และหลายรายการก็ดูจะยุ่งยากหรือเยิ่นเย้อเกินความจำเป็น เช่น แยกบัญชีกองทุนสวัสดิการออกมาต่างหากจากบัญชีกลุ่มออมทรัพย์ ต่อเมื่อผู้เขียนตั้งใจฟังเขาอธิบายหลายรอบถึงได้เข้าใจว่า ที่เขาลงบัญชีแบบนั้นมีเหตุผล คือตั้งใจจะ “กัน” ผลกำไรส่วนใหญ่ไปเข้ากองทุนสวัสดิการ เพราะกลุ่มนี้เน้นการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกมากกว่าปล่อยสินเชื่อ ถ้าเขาไม่ลงบัญชีแยกกันแบบนี้ ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกอาจเรียกร้องให้จ่ายเงินปันผลมากกว่าที่เขาจ่ายจริง เพราะจะมองเห็นกำไรก้อนโตทุกปี

ถ้าผู้เขียนยึดติดกับความเชื่อผิดๆ ที่ว่าชาวบ้านโง่ และดังนั้น จึงไม่พยายามเข้าใจเหตุผลของเขาก่อน ผู้เขียนในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน” (ในสายตาของชาวบ้าน) ก็คงแนะนำให้กลุ่มนี้เปลี่ยนวิธีลงบัญชีเสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักสากล และถ้าคณะกรรมการกลุ่มทำตาม กลุ่มนี้ก็จะมีบัญชีที่นักบัญชีอ่านรู้เรื่องและสบายใจ แต่อาจประสบปัญหาจ่ายเงินปันผลมากเกินไปเพราะสมาชิกมองเห็นกำไรที่ชัดเจน กลายเป็นว่าได้อย่างเสียอย่าง

การอดทนทำความเข้าใจกับกลุ่ม และไม่ทึกทักเอาเองว่าชาวบ้านโง่ ทำให้เรามองเห็นประโยชน์ของ “เทคนิค” การทำบัญชีแบบชาวบ้านในแง่ของการบริหารจัดการความต้องการของสมาชิก เมื่อมองเห็นแล้วก็สามารถช่วยชาวบ้านคิดหาวิธีปรับปรุงรูปแบบของการลงบัญชี ให้อ่านง่ายและตรวจสอบง่ายกว่าเดิม แทนที่จะแนะให้เขาเปลี่ยนวิธีการลงบัญชีใหม่หมด

ตัวอย่างนี้สอนให้รู้ว่า ทั้งชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญต่างมีสิ่งที่รู้และไม่รู้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ผู้เชี่ยวชาญมักจะรู้หลักการ แต่ไม่รู้บริบทของท้องถิ่น เช่น ลักษณะความสัมพันธ์ในชุมชน ส่วนชาวบ้านมักจะไม่รู้หลักการใดๆ แต่รู้และเข้าใจบริบทของท้องถิ่นตัวเองเป็นอย่างดี ในเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างมีสิ่งที่ตัวเอง “โง่” ก็จะต้องปรับความเข้าใจกัน ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำอะไรก็ควรจะเข้าใจภาษาของชาวบ้านก่อน จะได้ช่วยต่อยอดจากฐานความรู้ของชาวบ้านที่ใช้การได้ดีแล้วระดับหนึ่ง ไม่ใช่บอกให้โยนทิ้งไปทั้งหมดเพราะไม่ตรงกับองค์ความรู้ในหอคอยงาช้าง

2. “เงิน” ไม่ใช่ทรัพยากรที่กลุ่มต้องการที่สุด

ตัวอย่างข้างต้น นอกจากจะชี้ให้เห็นลักษณะความ “ฉลาด” ของภูมิปัญญาชาวบ้านแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่า เงินมักจะไม่ใช่ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการจัดการกลุ่มการเงินชุมชน โดยเฉพาะในการยกระดับการจัดการให้เป็นระบบ และมีความเป็น “สถาบัน” มากกว่าเดิม แทนที่การพึ่งพาตัวบุคคล เช่น ผู้ใหญ่บ้านที่ริเริ่มแนวคิด ทั้งนี้ เนื่องจาก “นักการเงินชาวบ้าน” หลายท่านเข้าใจหลักการบริหารจัดการเงินกู้ เงินฝาก และสวัสดิการได้โดยสัญชาตญาณและสามัญสำนึก อาศัยการลองผิดลองถูกเพียงเล็กน้อย คือมี “แวว” ด้านนี้อยู่แล้ว

ที่ ชัยนาท เหรัญญิกกลุ่มการเงินชุมชนท่านหนึ่งที่จบ ป.4 สาธิตวิธีคำนวณเงินปันผลตามเดือนที่รับฝากเงินให้ผู้เขียนดู อธิบายว่าคิดว่าต้องใช้สัดส่วนทำนองนี้เพราะรู้สึกว่า คนที่นำเงินมาฝากในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ไม่ควรจะได้รับเงินปันผลเท่ากับอีกคนที่นำเงินจำนวนเดียวกันมาฝากตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว (กลุ่มเพิ่งจ่ายเงินปันผลในเดือนมกราคมปีนี้) แน่นอนว่าสิ่งที่เหรัญญิกท่านนี้พยายามอธิบายคือ หลักการคำนวณตามส่วน (pro rata) สิ่งที่น่าทึ่งคือ ท่านสามารถค้นพบหลักการนี้ได้เองจากความรู้สึกตะหงิดใจที่ว่า สมาชิกที่ฝากเงินไม่พร้อมกันไม่ควรได้รับเงินปันผลเท่ากัน

ตัวอย่างเล็กๆนี้ สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มการเงินชุมชนไทยที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างดีในแง่ของการบริหารจัดการ เงินกู้ เงินฝาก และสวัสดิการ เป็นเวลาเกิน 1 ทศวรรษมาแล้วนั้น ส่วนใหญ่มี “นักการเงินชาวบ้าน” ที่มีสัญชาตญาณของนักการเงิน บริหารจัดการเงินของกลุ่มได้ดีแล้วระดับหนึ่ง และมีกฎเกณฑ์กติกาที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกได้ สิ่งที่พวกเขาต้องการเพื่อยกระดับตัวเองจึงไม่ใช่เงิน หากเป็นทรัพยากรอื่นๆที่หายากในระดับท้องถิ่น เช่น ระบบบัญชีที่รัดกุมและตรวจสอบได้ ความรู้และเครื่องมือที่จะช่วยวางแผนทางการเงิน (หมายถึงการวางแผนเพื่ออนาคตของกลุ่ม) ตลอดจนวิธีคิดเกี่ยวกับการวัดผลตอบแทนทางสังคม เช่น คุณภาพชีวิตของสมาชิก ความมั่นคงของชุมชน สุขภาพแข็งแรง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์กรการเงินฐานรากจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ยังขาดแนวทางในการวัดและติดตามผล

3. การมีส่วนร่วมของสมาชิก เป็นหัวใจสำคัญขององค์กรการเงินชุมชน

ข้อค้นพบเบื้องต้นของทีมวิจัยเรา สอดคล้องกับงานวิจัยสถาบันไมโครไฟแนนซ์ทั่วโลกหลายชิ้นที่ระบุว่า การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญของกลุ่มการเงินชุมชน กลุ่มที่ไปได้ดีมักจะเป็นกลุ่มที่สมาชิก (ชาวบ้านในหมู่บ้าน) มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของกลุ่มอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการนำกำไรจากกลุ่มการเงินชุมชนไปลงทุนในสินทรัพย์ของชุมชนเอง หรือนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ในหมู่บ้าน เพราะถ้าชาวบ้านไม่รู้สึกว่าพวกเขาเป็น “เจ้าของ” กลุ่มการเงินร่วมกัน พวกเขาก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะเลือกตั้งและคอยติดตามการทำงานของคณะกรรมการกลุ่ม และติดตามดูแลลูกหนี้ ทำให้คณะกรรมการอาจเชิดเงินของชาวบ้านหายไปดื้อๆ หรือปล่อยกู้ให้กับพวกพ้องของตัวเองเท่านั้น (นี่เป็นปัญหาใหญ่ของกองทุนหมู่บ้านในระยะแรก)

4. “ขนาด” ของสถาบันไม่สำคัญเท่ากับการ “ทำซ้ำ”

องค์กรการเงินชุมชนของไทยที่บริหารจัดการเงินได้ค่อนข้างดีส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก คือระดับหมู่บ้าน มีสมาชิกไม่ถึงหนึ่งพันคน อย่างมากก็เชื่อมกันหลายกลุ่มเป็นเครือข่ายระดับตำบล แลกเปลี่ยนเรียนรู้และตรวจสอบบัญชีให้กันและกัน นักการเงินชาวบ้านหลายท่านบอกพวกเราว่า ไม่ต้องการขยายกิจการ เพราะอยากช่วยคนในหมู่บ้านของตัวเองเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าเราอยากพัฒนาวงการนี้ “ขนาด” อาจไม่สำคัญเท่ากับการสังเคราะห์และ “ถอด” องค์ความรู้ กติกา และกลไกของกลุ่มที่ประสบความสำเร็จออกมาเป็น “โมเดล” ที่กลุ่มอื่นสามารถนำไป “ทำซ้ำ” โดยประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทในท้องถิ่นของตัวเอง

ถ้านักพัฒนา นักวิชาการ หรือผู้มีอำนาจภาครัฐส่วนใหญ่ยังมัวแต่คิดแบบ “บนลงล่าง” เชื่อว่าตัวเอง “รู้ดี” กว่าชาวบ้าน และเชื่อว่าทุกโครงการจะต้อง “ใหญ่โต” ชนิดอลังการงานสร้าง ผู้เขียนก็ค่อนข้างมั่นใจว่า การส่งเสริมการพัฒนาจากฐานรากที่เป็นระบบและยั่งยืนจะยังอยู่อีกไกลสำหรับสังคมไทย

ทักษะ ความรู้ และวิธีจัดการ ของกลุ่มการเงินชุมชน : ข้อคิดจากการลงพื้นที่

คอลัมน์ การเงินปฏิวัติ

สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org

วันที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4215  ประชาชาติธุรกิจ

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.