คุณภาพ กับชีวิตประจำวัน : พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน

หลายๆท่านคงเคยได้ยินคำว่า คุณภาพ มามากกันตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณเข้าใจคำว่า คุณภาพ มากน้อยกันแค่ไหน?

คุณภาพ ถ้าแปลตามความหมายของนักการตลาด หรือนักบริหาร จะได้ความว่า “สินค้า หรือบริการใดๆก็ตาม ที่สามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคได้” ซึ่งจะต่างกับคำว่า มาตรฐาน ที่มีนิยามว่า “สินค้า หรือบริการใดๆก็ตาม ที่สามารถตอบสนองความจำเป็นของผู้บริโภค และสามารถใช้งานได้ตามคุณประโยชน์ของสินค้า หรือบริการนั้นๆ”

ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น คุณลองนึกถึง นาฬิกาข้อมือ 2 ยี่ห้อ ได้แก่ ยี่ห้อ A ราคา 50,000 บาท กับยี่ห้อ B ราคา 200 บาท นาฬิกาทั้ง 2 ยี่ห้อนั้น มีมาตรฐานเหมือนกัน คือสามารถบอกเวลาได้ สามารถสวมใส่ที่ข้อมือได้เหมือนกันทุกประการ คุณก็จะเห็นได้เลยว่าไม่ว่าจะราคาถูกหรือแพง ก็ต่างมีมาตรฐานด้วยกันทั้งคู่ แต่นาฬิกายี่ห้อ A ทางผู้ผลิตได้รับประกันว่า นาฬิกาเรือนนี้ เวลาจะเดินคลาดเคลื่อนไป 1 วินาที ทุกๆ 5 ปี แต่นาฬิกายี่ห้อ B คุณจะต้องมาไขลานใหม่ทุกๆ 24 ชม. เพราะนาฬิกาเรือนนี้จะบอกเวลาคลาดเคลื่อนอยู่ทุกๆวัน ทีนี้คงจะพอเห็นภาพกันแล้วว่า คำว่า คุณภาพ และความแตกต่างของคุณภาพนั้น เป็นเช่นไร

มาถึงตรงนี้ หลายๆท่าน ก็คงคิดว่า “แล้วถ้าเราอยากจะได้สินค้า หรือบริการที่มีคุณภาพ ก็จะต้องจ่ายในราคาแพงๆ เสมอไปงั้นหรือ ?” คำตอบนี้ “ถูก…แต่ไม่เสมอไปครับ” เพราะผู้บริโภคอีกจำนวนมาก ก็ต่างผิดหวังกับสินค้าราคาแพงมามากมายแล้ว แต่ในทางกลับกัน ผู้บริโภคอีกจำนวนมาก นอกจากจะต้องผิดหวังกับสินค้าราคาถูกแล้ว ยังอาจจะต้องได้รับความเดือดร้อน หรือเกิดอันตรายถึงชีวิตมาแล้วด้วยเช่นกัน อย่าลืมว่าในวงการคุณภาพแล้ว “สินค้าราคาถูก ไม่มีวันดีเสมอไป” นะครับ

ทีนี้ ผมอยากให้ลองมองย้อนกลับไปในชีวิตประจำวันของคุณดูว่า คุณเคยสังเกตุไหม ว่าสินค้าที่คุณจับจ่ายใช้สอยกันมาเป็นประจำเสมอนั้น “มีคุณภาพจริงหรือ?” แล้ว “คุณทราบได้อย่างไร ?”

ปัจจุบันนี้ บรรจุภัณฑ์ของสินค้าจำพวกเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็นครีมอาบน้ำ แชมพูสระผม หรือเป็นเครื่องสำอางด้านความงาม คุณทราบหรือไม่ว่า บรรจุภัณฑ์ของสินค้าเหล่านี้ ถูกนำกลับไปใช้บรรจุซ้ำบ่อยครั้งมาก โดยที่ไม่ผ่านการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง ด้วยกรรมวิธีการฆ่าเชื้อโรค หรือการหลอมละลาย แล้วนำกลับมาผลิตใหม่ และที่อันตรายไปกว่านั้น คือเราไม่สามารถทราบได้เลยว่า บรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่เราซื้อมานั้น ได้ถูกนำกลับมาบรรจุซ้ำหรือไม่ ซึ่งผมขอแนะนำว่า เวลาที่คุณซื้อสินค้าเหล่านี้มา เช่น แชมพูสระผม ผมอยากจะให้คุณเสียเวลาสักนิด ที่จะนำเอามีด หรือของมีคม กรีดลงไปที่ฝาขวดให้เป็นรอยชัดเจน เพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้บรรจุซ้ำ โดยไม่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ถูกต้องเสียก่อน

หรือแม้กระทั่งสินค้าเพื่อการบริโภค เช่น อาหารและขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวพวกเราทุกคนมากที่สุด และเราต้องบริโภคเข้าไปในร่างกาย ทีนี้ ผมอยากจะถามหลายๆท่านว่า “เคยสังเกตกันไหม ว่าสินค้าเพื่อการบริโภคเหล่านี้ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานอะไรบ้าง และครบถ้วนตามข้อกำหนดของกฎหมาย หรือไม่ ?”

มันอาจจะดูเป็นเรื่องตลก และน่าแปลกใจ ว่าถ้าสินค้าเหล่านั้น ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานตามข้อบังคับของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเพียงบางส่วน หรือทั้งหมดนั้น ทำไมถึงยังวางจำหน่ายอยู่ในตลาดได้ จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งต้องเรียนตามตรงว่า ผมเองก็ไม่สามารถหาคำตอบในประเด็นเหล่านี้ได้

ขอยกตัวอย่างเป็น ขนมขบเคี้ยวยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากในประเทศไทย มียอดจำหน่ายหลักพันล้านต่อปี มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศไทย แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อยอดนิยมอย่าง 7-11 ก็มีวางจำหน่ายสินค้านี้ด้วยเช่นกัน โดยสิ่งที่ผมสังเกตเห็นจากสินค้าตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลจากทางเว็บไซต์ ของผู้ผลิต และการสังเกตดูที่บรรจุภัณฑ์อย่างละเอียด ก็พบสิ่งที่น่าสนใจว่า “โรงงานที่ผลิตสินค้านี้ ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO” , “ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์” และ “ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานที่โรงงานผู้ผลิตสินค้าจำพวกอาหาร และของบริโภค จะต้องมี” นับว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก สำหรับสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ หรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

จริงอยู่ว่า ถึงแม้สินค้านี้ ยังไม่เคยมีผู้บริโภคร้องเรียนไปว่า เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจมาก จริงอยู่ ที่ยังไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นจากการบริโภคขนมขบเคี้ยวนี้เข้าไป แต่คำถามที่น่าสนใจคือ “แล้วถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา คุณจะทำอย่างไร?” การคิดในลักษณะของ “ละเลย” รอปัญหาให้เกิดก่อน ค่อยกลับมาคิดอีกรอบเพื่อแก้ปัญหา ทั้งที่จริงแล้ว การป้องกันปัญหานี้ นั้นง่ายกว่าการแก้ไขปัญหา เมื่อมันเกิดขึ้นในภายหลังซะด้วยซ้ำ

สุดท้ายนี้ ผมอยากให้ทุกท่าน ทบทวน สังเกต และใส่ใจใน คุณภาพของสินค้าที่บริโภค/อุปโภค กันมากขึ้น จนกลายเป็นสิ่งหนึ่งในพฤติกรรมของคุณ ที่ต้องทำประจำ เมื่อต้องการจะเลือกซื้อสินค้าซักอย่าง เพื่อนำมาตอบสนองความต้องการ และความคาดหวังของตัวคุณเอง รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ที่ละเลยกันไปนั้น เคยก่อให้เกิดปัญหาถึงขั้นร้ายแรงต่อชีวิตกันมามากแล้ว และอย่าลืมว่า คุณภาพไม่เคยถูกจำกัด หรือบังคับว่าจะต้องอยู่ในสินค้าราคาเท่าไหร่ ผู้ผลิตมีชื่อเสียงไหม หรือเป็นโรงงานที่ทันสมัยเพียงใด แต่คุณภาพ จะอยู่ในสินค้าที่ผู้ผลิตมีจริยธรรม ผลิตภายใต้ข้อกำหนดในเรื่องมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างครบถ้วน และใส่ใจในเรื่องของคุณภาพสินค้า เช่นเดียวกัน

คุณภาพ กับชีวิตประจำวัน

Our Columnist @ www.sarut-homesite.net

พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน (Sandels)

16 พ.ค. 2553

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.