ความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

salary

ถ้าถามคนทั่วไปว่า เขามีเงินหรือความมั่งคั่งแค่ไหน ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาคิด ไม่ใช่ว่าเขามีมากเสียจนนับไม่ไหว แต่เป็นเพราะว่าคนทั่วไปมักจะไม่ได้สนใจคำนวณ หรือติดตามว่าทรัพย์สมบัติของตนนับแล้วที่เท่าไร คนส่วนมากคงรู้ว่าเงินในบัญชีของตนเป็นเท่าไรในแต่ละช่วง แต่ทรัพย์สมบัติอย่างอื่นทั้งหมดเมื่อนำมารวมกันหักด้วยหนี้สิน ซึ่งจะทำให้ได้ค่าของความมั่งคั่งนั้น คนจำนวนมากไม่ได้คิดถึง

เรื่องของความมั่งคั่ง โดยเฉพาะของคนที่เป็นลูกจ้างกินเงินเดือนประจำที่เป็นกลุ่มคนชั้นกลางของไทยนั้น ผมคิดว่ามีคนศึกษาน้อยมาก ว่าที่จริง เรื่องที่เกี่ยวกับเงินๆทองๆของคนชั้นกลาง ซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆและมีความสำคัญต่อธุรกิจที่ขายของให้กับคนชั้นกลางนั้น เรายังมีความรู้น้อยมาก ผมเองไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลความมั่งคั่งของใครในอาชีพของตนเอง แต่บางครั้งก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าเพื่อนที่มีพื้นฐานการเรียน การทำงาน และอาชีพคล้ายๆกัน หลังจากทำงานมากว่า 20 ปี บัดนี้มีทรัพย์สมบัติที่เกิดจากความมั่งคั่งเท่าไรแล้ว เหตุผลหนึ่งก็เพื่อจะได้เปรียบเทียบความมั่งคั่งของตนเอง เพื่อจะดูว่าเราทำได้ดีแค่ไหนทางการเงิน พูดง่ายๆก็คือ อยากจะมีดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งเอาไว้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบ

การหาดัชนีวัดความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือนนั้น ถ้าจะให้ถูกต้องก็คงต้องมีการออกสำรวจ สอบถามคนจำนวนมากเป็นเรื่องเป็นราว ผมเองยังไม่เห็นการศึกษาแบบนั้น แต่จากการคุยกับเพื่อนบ้าง จากการศึกษาและการคำนวณบนกระดาษโดยใช้สมมุติฐานบางอย่างผมก็ได้สมการซึ่งน่าจะนำมาใช้อ้างอิงได้อย่างหยาบๆว่า คนที่มีรายได้ประจำแต่ละคน หรือแต่ละครอบครัวควรมีความมั่งคั่งเท่าไร

สูตรของผมก็คือ ความมั่งคั่งของคนมีรายได้ประจำควรมีช่วงระหว่าง 0.1 x รายได้ต่อปี x อายุ ถึง 0.15 x รายได้ต่อปี x อายุ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินมีเงินเดือนเดือนละ 200,000 บาท มีโบนัสปีละสองเดือน และคุณอายุ 50 ปี คุณควรจะมีความมั่งคั่งระหว่าง 0.1 x (200,000 x 14) x 50 หรือ 14 ล้านถึง 21 ล้านบาท

ถ้าข้อเท็จจริงก็คือ คุณมีทรัพย์สมบัติทั้งหมดหลังจากหักหนี้สินที่มีอยู่น้อยกว่า 14 ล้านบาท ผมคิดว่า คุณคงจะเป็นคนที่ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือไม่ก็คงจะมีภาระในการเลี้ยงดูลูกเมีย หรือสนับสนุนคนอื่นมากจนทำให้คุณมีความมั่งคั่งต่ำกว่าเพื่อนๆที่มีสถานะในระดับเดียวกัน

ตรงกันข้าม ถ้าคนมีความมั่งคั่งมากกว่า 21 ล้านบาท ผมคิดว่าคุณคงเป็นคนที่มัธยัส หรือมีภาระที่จะต้องใช้จ่ายเงินน้อย หรืออาจจะมีความสามารถในการหารายได้อื่น หรือประสบความสำเร็จจากการลงทุนในเงินที่มีอยู่

แน่นอนว่าคนที่มีภรรยาทำงานประจำด้วย และมีลูกน้อยคน โอกาสที่ความมั่งคั่งจะสูงกว่าครอบครัวที่สามีทำงานเพียงคนเดียว และมีลูกหลายคนก็คงจะมีมาก เพราะรายได้จะเป็นสองคนในขณะที่รายจ่ายกลับน้อยกว่า

สูตรความมั่งคั่งข้างต้นนั้นคงจะใช้ได้ดีสำหรับคนที่มีอายุเกิน 35 -40 ปีขึ้นไปแล้ว สำหรับคนที่อายุน้อยเพิ่งทำงานได้เพียงไม่กี่ปี สูตรนี้คงจะต้องปรับลดลงมา เหตุเพราะว่าคนที่อายุการทำงานน้อยโอกาสที่จะสะสมเงินจะยังมีน้อย และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ เงินสะสมและนำไปลงทุนนั้นยังมีเวลาเติบโตน้อย หรือถ้าเป็นการลงทุนซื้อบ้านราคาก็ยังไม่ปรับตัวขึ้นมามากที่จะทำให้ความมั่งคั่งเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากมีข้อจำกัดเรื่องอายุแล้ว สมการความมั่งคั่งดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่คิดจากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งภาวะเศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วมาก และที่สำคัญผลตอบแทนจากการฝากเงินธนาคารอยู่ในระดับที่สูงมาก จนมนุษย์เงินเดือนไม่จำเป็นต้องบริหารเงินเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม

ดังนั้น คนที่จะใช้ดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งดังกล่าวในอนาคต เพื่อที่จะวัดผลงานของตนเองจะต้องตระหนักว่า การลงทุนในทรัพย์ที่เก็บออมไว้จะต้องมีการศึกษา และวางแผนเป็นอย่างดี โดยหลักการใหญ่ก็คือจะต้องพยายามให้ได้ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปีโดยเฉลี่ยทุกปีของความมั่งคั่งทั้งหมด นอกจากนั้น จะต้องกระจายการถือครองทรัพย์สมบัติอย่างเหมาะสมทั้งที่เป็นที่ดิน บ้าน ตราสารการเงิน หุ้น เงินฝากธนาคาร และรวมถึงการกู้เงินถ้ามี

นับจากนี้ไปมนุษย์เงินเดือนที่หวังจะสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง ในอนาคตจะต้องศึกษาเรื่องการเงินส่วนบุคคลอย่างจริงจัง ซึ่งรวมไปถึงการคิดคำนวณรายได้ และค่าใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ โดยมีกฎเหล็กก็คือรายได้จะต้องมากกว่ารายจ่าย และเหลือเงินเก็บไม่น้อยกว่า 10% โดยที่วิธีเพิ่มรายได้ถ้าจำเป็นนั้นมีวิธีการมากมาย เช่นเดียวกับการตัดรายจ่ายต่างๆ ซึ่งก็ง่ายไม่แพ้กันถ้ามีความตั้งใจจริง

เรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ารายได้และค่าใช้จ่ายก็คือ การลงทุน ซึ่งมนุษย์เงินเดือนยุคใหม่จะต้องเรียนรู้ เริ่มตั้งแต่การซื้อบ้าน ซึ่งในอดีตมักจะมองแต่เฉพาะความสามารถในการผ่อน และขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ ผมคิดว่าจะต้องเปลี่ยนไปเป็น การพิจารณาในประเด็นของความเหมาะสมในแง่ของการลงทุนด้วย เพราะการซื้อบ้านที่ใหญ่เกินไปและลงทุนมากเกินสมควร ในที่สุดจะเป็นภาระและดึงให้ผลตอบแทนของทรัพย์สินรวมต่ำลง

การลงทุนที่สำคัญที่สุด สำหรับคนกินเงินเดือนในอนาคตก็คือเรื่องเกี่ยวกับหุ้น เพราะผมคิดว่าการฝากเงินในธนาคารนับจากนี้ไปคงให้ผลตอบแทนที่ต่ำไปอีกนานมาก คล้ายๆกับในประเทศอย่างญี่ปุ่น หรือเกาหลี ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นสิบๆปี เพราะประเทศมีเงินเหลือเฟือ ดังนั้นการที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเงินในอนาคต จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องลงทุนในหุ้น

การลงทุนในหุ้น ที่จะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมคืออย่างน้อยประมาณ 10 % ต่อปี ผมคิดว่ามีเพียงสองวิธีถ้าคุณไม่ใช่เซียนเล่นหุ้นจริงๆก็คือ การลงทุนในหน่วยลงทุนหุ้นที่มีอยู่มากมาย พยายามเลือกหน่วยลงทุนที่กระจายการลงทุนมากที่สุด อย่าลงในกองทุนที่ลงเฉพาะหุ้นบางประเภท เช่น หุ้นไฮเทค หุ้นพลังงาน หรือแม้แต่หุ้นปันผล เมื่อเลือกบริษัทที่ดีมีมาตราฐานแล้ว ก็ถือหน่วยลงทุนไว้ยาวนาน หรือตลอดไป

ถ้าต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากการลงทุนในหุ้น คุณจะต้องศึกษาวิธีการลงทุนอย่างลึกซึ้ง และแน่นอนต้องเป็นการลงทุนแบบ Value Investment ที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุน จนคุณรู้สึกสบายใจที่จะลงทุนเอง และถือหุ้นไว้ยาวนานแทบจะตลอดชีวิต

ทำได้ดังที่ว่า ผมเชื่อว่า คุณจะเป็นมนุษย์เงินเดือนผู้มั่งคั่ง และมีทรัพย์สินเหนือกว่าดัชนีอย่างแน่นอน

ความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือน
โลกในมุมมองของ Value Investor

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Author: admin

1 thought on “ความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.