ข้อคิดจาก โจเซฟ สติกลิตซ์ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน : ดร.ไสว บุญมา

r302128_1312672

หลังกลับจากเมืองไทยเมื่อตอนปลายเดือนสิงหาคม ดร.โจเซฟ สติกลิตซ์ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เราอาจนำบางประเด็นมาประกอบการพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าควรทำอย่างไร เขามองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะยังซบเซาต่อไปอีกหนึ่งถึงสองปี ฉะนั้นการเก็บภาษีจะยังได้ในระดับต่ำ ทำให้งบประมาณของรัฐบาลขาดดุลสูงต่อไปเนื่องจากรัฐบาลยังมีโครงการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การขาดดุลนั้นย่อมทำให้หนี้สินของรัฐบาลเพิ่มขึ้น แต่เขามองว่านั่นไม่ใช่ปัญหาที่น่าวิตกตราบใดที่การใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง

หลังจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์พิมพ์บทความนั้นได้สามวัน รัฐมนตรีคลังของไทยแถลงว่า งบประมาณของรัฐบาลไทยจะขาดดุลต่อไปจนถึงปี 2558 นั่นหมายความว่า รัฐบาลต้องปิดงบประมาณด้วยการกู้เงินซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากราว 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในปัจจุบันเป็นเกิน 60% มองจากข้อคิดของ ดร.สติกลิตซ์ หนี้ในระดับนี้ไม่น่าจะมีปัญหา ทว่ามันมีข้อแม้ นั่นคือ หนี้ที่เพิ่มขึ้นต้องนำไปลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง ในสังคมที่มีความฉ้อฉลจนเข้ากระดูกดำเช่นสังคมไทย การจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยรัฐบาลที่มีทั้งความสุจริตและความแข็งแกร่ง ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านๆ มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันนี้ดูจะมีไม่มากนักหากมองจากความฉาวโฉ่ที่กระพือออกมาอย่างต่อเนื่อง อีกไม่นานจะมีโครงการใหม่ๆ จำพวกถนนไร้ฝุ่นและไทยเข้มแข็งที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพิ่มขึ้น หากโครงการเหล่านี้ไม่มีความฉ้อฉลจนฉาวโฉ่ การขาดดุลงบประมาณและการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นคงไม่มีปัญหาจนน่าวิตก ผู้ตรวจสอบและติดตามการทำงานของรัฐบาลจึงควรจะเตรียมการป้องกันความฉ้อฉลไว้ตั้งแต่ต้นมือ

หากเศรษฐกิจอเมริกันฟื้นตัวช้าดังที่ ดร.สติกลิตซ์ ประเมิน บริษัทที่พึ่งตลาดอเมริกันในอัตราสูงย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ส่งออกสินค้าสู่ตลาดเอเชียซึ่งตอนนี้มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวอย่างจริงจังแล้ว นอกจากนั้นตลาดใหญ่ๆ ในยุโรปก็มีทีท่าว่าจะเริ่มฟื้นตัวเช่นกัน  ฉะนั้นเมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มารวมกัน ความถดถอยของเศรษฐกิจโลกน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูงและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำก็ยังอ่านเหตุการณ์ไม่ตรงกันนัก การตัดสินใจทำอะไรที่จะต้องใช้ทุนแบบหมดหน้าตัก หรือมีความเสี่ยงสูงมากๆ ควรรอไว้จนแน่ใจว่าตลาดใหญ่ๆ ทั่วโลกฟื้นตัวแล้วอย่างแน่นอนเสียก่อน  

ประเด็นหลักที่ ดร.สติกลิตซ์ พูดถึงคือ ปัญหาเงินเฟ้อในอเมริกา ค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและบทบาทของเงินดอลลาร์ในฐานะเงินสำรองของโลก ประเด็นเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นและมีผลมาจากการขาดดุลงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐโดยเฉพาะการทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบ สิ่งเหล่านี้มีโอกาสผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงมากเนื่องจากประวัติศาสตร์บ่งว่า ธนาคารกลางอเมริกันมักอ่านเหตุการณ์ผิดยังผลให้ปรับเปลี่ยนนโยบายไม่ทันกับเหตุการณ์ ผลที่ตามมาคือค่าเงินดอลลาร์จะตกต่ำ  

ยิ่งกว่านั้น ดร.สติกลิตซ์ มองว่ารัฐบาลอเมริกันอาจปล่อยให้ภาวะนั้นเกิดขึ้นเพื่อลดภาระหนี้สินที่ตนมีอยู่อย่างท่วมท้น ถึงแม้รัฐบาลอเมริกันจะไม่ทำด้วยความตั้งใจ แต่ค่าของดอลลาร์ก็จะตกต่ำได้เนื่องจากผู้ที่มีทรัพย์สินเป็นดอลลาร์จะเทขายเพื่อไปซื้ออย่างอื่น ทั้งนี้เพราะการถือดอลลาร์ไว้ในปัจจุบันนี้มีความเสี่ยงสูงแต่มีค่าตอบแทนต่ำเนื่องจากดอกเบี้ยตกลงไปจนอยู่ในระดับใกล้ศูนย์  

ความไม่แน่นอนของค่าเงินดอลลาร์กำลังสร้างปัญหาใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลกเพราะเงินดอลลาร์เป็นตัวกลางสำคัญของการค้าและเงินสำรองของประเทศต่างๆ เนื่องจากจำนวนเงินดอลลาร์ที่นำมาทำเป็นเงินสำรองขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ ถ้าสหรัฐไม่ขาดดุล จำนวนเงินดอลลาร์ที่นำมาใช้ได้ย่อมไม่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อสหรัฐขาดดุลและประเทศอื่นต้องถือเงินดอลลาร์ไว้ก็ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมตามมาโดยเฉพาะต่อประเทศยากจนที่ต้องตกอยู่ในสภาพจำใจให้สหรัฐกู้เงินทั้งที่สหรัฐร่ำรวยกว่า เพื่อแก้ปัญหานี้ องค์การสหประชาชาติได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาทางปฏิรูประบบการเงินโลก ดร.สติกลิตซ์ เป็นประธานคณะกรรมการชุดนั้นซึ่งยังไม่มีข้อเสนอว่าจะทำอย่างไร แต่เขาแน่ใจว่าบทบาทของดอลลาร์ทั้งในฐานะตัวกลางของการซื้อขายและในฐานะเงินสำรองของโลกจะลดลง 
 
รัฐบาลอเมริกันต่อต้านการลดบทบาทของเงินดอลลาร์เนื่องจากตอนนี้รัฐบาลอเมริกันไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงพิมพ์กระดาษออกมาก็สามารถแลกสินค้าและบริการของชาวโลกได้ ดร.สติกลิตซ์ มองว่าการต่อต้านนั้นจะไม่เป็นผล โลกจะมีระบบการเงินใหม่ แต่เขาไม่ได้บอกว่าเมื่อไรระบบใหม่จะเกิดขึ้น  นั่นหมายความว่าค่าของเงินดอลลาร์จะผันผวนต่อไปและมีโอกาสตกมากกว่าขึ้นเพราะปัจจัยที่กล่าวถึง ในภาวะเช่นนี้ ผู้ที่มีทรัพย์สินเป็นดอลลาร์ต้องหาทางเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเสียบ้าง ส่วนจะเปลี่ยนอย่างไรก็ตามแต่สถานะของแต่ละคนหรือองค์กร ตามธรรมดาผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำให้แยกถือทรัพย์สินไว้ในหลายรูปแบบเพื่อลดความเสี่ยง แต่อภิมหาเศรษฐีเช่นวอร์เรน บัฟเฟตต์ กลับเสนอให้กระจุกตัวทรัพย์สินไว้ในบางสิ่งบางอย่างเท่านั้นเนื่องจากมันมีโอกาสได้ค่าตอบแทนสูง อย่างไรก็ตาม การทำตามคำแนะนำของบัฟเฟตต์มีข้อแม้สำคัญอยู่ข้อหนึ่งคือ ผู้ทำต้องมีความสามารถที่จะวิเคราะห์สิ่งที่ตนต้องการจะกระจุกตัวทรัพย์สินไว้อย่างถ่องแท้ว่ามันจะคุ้มค่าแน่นอน อย่าทำตามคนอื่นหรือปราศจากการวิเคราะห์ด้วยตนเอง

ดร.ไสว บุญมา

กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.