‘ตามรอย คุณปู่วอเร็น’ (How Buffett Does It!) : Artemis

สรุปเนื้อหาจากหนังสือ โดยเพื่อนผมคนเดิมครับ งวดนี้เนื้อหายาวและดีมากเช่นเคยครับ

“When investing, keep it simple”

####

ตามรอย คุณปู่วอเร็น (How Buffett Does It)

โดย Artemis

9 พฤศจิกายน 2012

..กลับมาอีกครั้งกับหนังสือที่น่าสนใจเพื่อเอาใจแฟนๆ Value Investor

เนื้อหาที่จะกล่าวถึงนี้ เกี่ยวกับเคล็ดลับการลงทุนของปรมาจารย์การลงทุนหุ้นของเรา จะเป็นใครไปได้ คุณปู่ ‘วอเร็น บัฟเฟตต์’ นี่เอง

เคล็ดลับง่ายๆที่ไม่ง่าย 24 ข้อ นำมาจากหนังสือ How Buffet Does It .. ขอให้เพื่อนๆเพลิดเพลินไปด้วยกันเลยยยย เย่ๆๆ

####

ข้อ 1 เลือกความเรียบง่ายมากกว่าความซับซ้อน

– บัฟเฟตต์แนะนำว่า “เมื่อลงทุน ทำให้เรียบง่าย ชัดเจน อย่าพยายามหาคำตอบที่ซับซ้อน จากคำถามที่ซับซ้อน”

ทำให้ง่าย คือ เป้าหมายของเรา ซื้อหุ้นของบริษัทที่ดี ดำเนินการบริหารโดยคนที่ซื้อสัตย์สุจริตและเชื่อถือได้ ซื้อหุ้นในราคาถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง คำนวณถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจในอนาคต (มองว่าในอนาคตบริษัทจะยังอยู่ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่) อยู่กับอุตสาหกรรมที่เราเข้าใจ

– จงมองหาธุรกิจที่ทำอย่างเดียวกันกับที่เคยทำเมื่อทศวรรษที่แล้ว เพราะมันทำให้เขาสามารถคาดเดาอนาคตของบริษัทได้ง่ายขึ้น ส่วนบริษัทที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น จะทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย

ข้อ 2 ตัดสินใจลงทุนด้วยตัวคุณเอง

– อย่าเชื่อโบรกเกอร์,นักวิเคราะห์ หรือผู้รู้ จงเชื่อตัวคุณเอง แต่ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะปิดหู ปิดตา ไม่รับข้อมูลใดๆจากพวกเขาเหล่านี้ เพียงแต่เมื่อได้ข้อมูลมาให้เรานำมาวิเคราะห์ แยกแยะ และตัดสินใจด้วยเหตุผล รวมทั้งคุณต้องศึกษาประวัติ พื้นฐานของบริษัทมาให้ดีก่อนที่จะลงทุน

ไม่ลงทุนโดยฟังมาจากผู้เชี่ยวชาญในตลาดโดยปราศจากการไตร่ตรอง เพราะเขาเหล่านี้ทำเงินมาจากค่าคอมมิสชั่นและภาษีของคุณ

ข้อ 3 จงมีสติ

– “ปล่อยให้คนอื่นๆตื่นตระหนกไปกับตลาด แล้วเมื่อมันสงบคุณจะได้ประโยชน์จากมัน” การมีสตินั้นยังหมายถึงการมีวินัยเมื่อตลาดพุ่งทะยานขึ้น และคนอื่นๆกำลังละโมบและดีใจ เพราะสติจะเป็นตัวจักรสำคัญเมื่อสิ่งต่างๆไม่ได้เป็นไปตามที่คุณหวังไว้

เกรแฮมพูดไว้ว่า “ปัญหาใหญ่และศัตรูตัวฉกาจของนักลงทุนคือ ตัวเขาเอง”

– บัฟเฟตต์มีเกณฑ์สำคัญที่คุณควรจะนำไปใช้ คือ ถ้าใครไม่สามารถรับได้ว่า หุ้นที่ถืออยู่ราคาจะตกลงครึ่งหนึ่งในช่วงข้ามคืน ก็ไม่ควรเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่แรก คุณจะต้องมีความสามารถที่จะลงทุนในบริษัทที่ดี และมีความมั่นใจกับมันหรือไม่ก็อย่าซื้อมัน คุณปู่ยังบอกอีกว่า “มันจะไม่เข้าท่าเลย ถ้าคุณขายหุ้นของบริษัทดีๆเมื่อมีความกลัวลอยอยู่ในอากาศ”

ข้อ 4 จงอดทน

– ชาลี มังเกอร์ พูดถึงเรื่องของความอดทนไว้อย่างน่าสนใจว่า “การลงทุน คือ การหาบริษัทดีๆ 2-3 บริษัท แล้วนั่งทับมันไว้” และ “ความผิดพลาดในการลงทุนเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิด ความอดทนที่น้อยเกินไปคือส่วนหนึ่งของความหงุดหงิดนั้น”

– สำหรับบัฟเฟตต์ เป็นนักลงทุนทศวรรษ แทนที่จะเป็นนักลงทุนรายวัน เพราะเขามองหาทางทำกำไรจากบริษัทไม่ใช่การทำกำไรจากตลาดหุ้น ตลาดหุ้นเป็นเพียงแค่สื่อกลางในการที่จะเสนอราคาเท่านั้น ง่ายๆคือ บัฟเฟตต์ ซื้อหุ้นแล้ว Let Profit Run เพียงแต่คุณต้องหาบริษัทที่ดีมากกกกกกกๆๆๆ แล้วกอดมันไว้ แล้วถ้าบริษัทที่ดีนั้น ราคาตก ก็ซื้อเก็บ รอให้ตลาดมองเห็นมูลค่าที่แท้จริงของมัน

ข้อ 5 ซื้อธุรกิจไม่ใช่ซื้อหุ้น

บัฟเฟตต์กล่าวว่า “จงจำไว้ว่าเมื่อคุณซื้อหุ้น คุณได้ซื้อส่วนของธุรกิจนั้นจริงๆ หุ้นไม่ได้มีอะไรในตัวมันเองนอกจากการเป็นตัวแทนของกิจการ”

การลงทุนไม่ใช่การเล่นกับตลาด แต่มันเกี่ยวกับการซื้อธุรกิจที่ดี ถึงแม้ในระยะยาวแล้วธุรกิจที่ดีอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ในทางกลับกันธุรกิจที่ไม่ดี ไม่ได้ช่วยอะไรเลยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องทำก่อนจะซื้อหุ้น คือ คิดให้ไกลและคิดให้หนัก เกี่ยวกับพื้นฐานและอนาคตของธุรกิจ แล้วให้มองว่าตัวเราเป็นนักธุรกิจไม่ใ่ช่นักเล่นหุ้น

หลักการสำคัญที่บัฟเฟตต์ใช้เลือกซื้อหุ้น

– เขาสามารถเข้าใจธุรกิจนั้นได้

– บริษัทมีประวัติการดำเนินงานที่ดีเป็นระยะเวลายาวนาน

– ดำเนินธุรกิจโดยผู้บริหารที่มีความสามารถและมีความซื่อสัตย์สุจริต

– ราคาหุ้นน่าสนใจ

ข้อ 6 จงมองหาบริษัทที่มีแฟรนไชส์

– บริษัทที่มีแฟรนไชส์ เปรียบเสมือนธุรกิจที่มีกำแพงและคูเมืองล้อมรอบอยู่ เพราะสามารถป้องกันและต้านทานศัตรูที่จะบุกเข้ามาได้ ธุรกิจแฟรนไชส์ในความหมายของเขา หมายถึงธุรกิจที่มีสิทธิพิเศษบางอย่างและสามารถรับประกันความสำเร็จของธุรกิจได้

ธุรกิจที่มีแฟรนไชส์นั้นต้องขายผลิตภัณฑ์หรือให้บริการที่

1. จำเป็นหรือที่ตอบสนองความต้องการ (ความโลภ)

2. ไม่ต้องการเงินลงทุนที่มากเกินไป เช่น บริษัทเทคโนโลยี นี่ไม่ใช่แล้ว ไม่เข้าข่ายเลย เพราะว่าต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อปรับปรุงและพัฒนาสินค้าตลอดเวลา

3. เป็นผู้นำตลาดและไม่มีคู่แข่งที่ใกล้เคียง

4. สามารถขึ้นราคาสินค้าหรือบริการได้อย่างอิสระ ผลักภาระให้ผู้ซื้อได้

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเมื่อคุณจะซื้อธุรกิจที่มีแฟรนไชส์นั่นก็คือ การรอซื้อในราคาที่เหมาะสม

ข้อ 7 ซื้อโลเทค ไม่ใช่ไฮเทค

– บัฟเฟตต์ ซื้อบริษัททำอิฐ บริษัทสี บริษัทพรม บริษัทเฟอร์นิเจอร์ และบริษัทชุดชั้นใน ธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่บัฟเฟตต์รักที่จะเป็นเจ้าของ เพราะมันสามารถเข้าใจได้ง่าย มั่นคงด้วยกระแสเงินสดที่คาดเดาได้ ไม่มีอะไรหวือหวาน่าตื่นเต้น แต่เป็นธุรกิจที่ดี บริษัทเข้มแข็งจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง สามารถนำรายได้และผลกำไรที่เติบโตขึ้นทุกๆปี แต่เขาจะไม่ซื้อบริษัทที่เป็นคลื่นลูกใหม่ ใช้เทคโนโลยีล่าสุด เพราะผลตอบแทนที่ได้จากธุรกิจประหลาดๆเหล่านี้มักจะไม่ค่อยตกไปถึงมือนักลงทุน

– ลองเปรียบเทียบหุ้นกับผู้หญิง ผู้หญิงประเภทไหนที่คุณจะชวนไปเต้นรำ? ระหว่างสาวหน้าใหม่น่าตื่นเต้นที่คุณเพิ่งพบที่ทุกคนคิดว่าเซ็กซี่แต่ไม่มีใครรู้จักเธอ  หรือสาวข้างบ้าน ที่ดูน่าเบื่อแต่เพรียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติ

บัฟเฟตต์แนะนำให้ชวนสาวข้างบ้าน เพราะความเซ็กส์ซี่ของธุรกิจคลื่นลูกใหม่ จะสร้างปัญหาให้กับการคาดเดาอนาคตของบริษัทในระยะยาว แม้ว่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะสั้นแต่มันจะจบลงในระยะเวลาไม่นาน

จงหลีกเลี่ยงหุ้นที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขัน ให้มองหาธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็ต่อเมื่อจะขยายธุรกิจเท่านั้น

ข้อ 8 ลงทุนแบบมุ่งเน้น

– บัฟเฟตต์กล่าวว่า “ถ้าคุณพบหุ้นที่ดี ทำไมคุณถึงซื้อหุ้นแค่นิดเดียว” เขาเชื่อมั่นในการลงทุนแบบมุ่งเน้น และปฏิเสธการกระจายความเสี่ยง เพราะจะสร้างผลตอบแทนอย่างน่าอัศจรรย์ในระยะยาว

บัฟเฟตต์แนะนำว่า ให้ซื้อหุ้น 5-10 บริษัทที่ดีๆ ในราคาถูกและซื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะคุณสามารถติดตามผลการดำเนินการรวมทั้งข้อมูลข่าวสารของบริษัทได้ง่ายกว่าการลงทุนในหุ้น 20-30 ตัว

– พอร์ตการลงทุนแบบมุ่งเน้น เป็นกลยุทธ์ที่ตรงกันข้ามกับการกระจายความเสี่ยง คุณจะอยู่ห่างไกลจากสิ่งที่กระตุ้นและอารมณ์เมื่อคุณเอาไข่ทั้งหมดใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว นี่คือพลังของการลงทุนแบบมุ่งเน้นที่จะทำให้คุณควบคุมตัวเองได้

ข้อ 9 ฝึกที่จะอยู่นิ่ง

บัฟเฟตต์ชอบซื้อหุ้น แต่การขายหุ้นนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง เขาเปรียบนักลงทุนที่ชอบการเคลื่อนไหวว่า เหมือนกับผึ้งที่ชอบตอมดอกไม้ไปเรื่อยๆไม่มีวันจบสิ้น

เขาแนะนำว่า ถ้าคุณเจอดอกไม้ที่คุณชอบ จงติดอยู่กับมัน พยายามต้านอารมณ์ความเคลื่อนไหวในตัวคุณ การเคลื่อนไหวบ่อยๆ จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ค่านายหน้า หรือภาษี ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับนักลงทุนระยะยาว

การซื้อขายหุ้นเพราะเห็นแก่กำไรเล็กๆน้อยๆ การซื้อขายมากๆ เป็นเครื่องหมายการค้าของนักลงทุนที่โลเล ซึ่งมักจะจบลงด้วยการขาดทุนมากกว่าจะกำไร

ข้อ 10 อย่ามองตัววิ่ง (ราคาหุ้น)

ราคาเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของนักเก็งกำไร แต่การลงทุนเป็นอะไรที่มากกว่าราคา ถ้าคุณเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าที่ไม่สนใจในการเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงของราคาหุ้นในระยะเวลาสั้นๆ ถ้าคุณเป็นเจ้าของหุ้นในธุรกิจที่ดี คุณไม่จำเป็นจะต้องใส่ใจกับราคาหุ้นในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวนั้น พื้นฐานของธุรกิจจะเป็นผู้ดูแลราคาของคุณเอง

เพราะการดูราคาหุ้นทุกวัน จะนำคุณไปสู่อารมณ์ของการเคลื่อนไหวในราคาหุ้น ราคาหุ้นในที่สุดแล้วจะสะท้อนมูลค่าของธุรกิจเสมอ เพียงแต่ราคาของหุ้นในอนาคตนั้นจะไม่ถูกขับเคลื่อนไปด้วยความบ้าคลั่งของวันนี้ แต่จะถูกขับเคลื่อนด้วยผลกำไรของวันพรุ่งนี้

บัฟเฟตต์เปรียบเทียบการลงทุนกับการดูเบสบอลว่า “จุดสำคัญอยู่ที่การดูเกมส์ในสนามไม่ใช่การดูที่สกอร์บอร์ด” การจะดูว่าคุณภาพของทีมที่คุณเชียร์เป็นอย่างไรแล้วมีโอกาสที่จะชนะในอินนิ่งต่อไปหรือไม่ ที่ๆคุณจะดูผู้เล่นของทีมคุณคือ ในสนาม

เบน เกรแฮม พูดไว้ว่า “ในระยะสั้นตลาดหุ้นเป็นเพียงเครื่องมือในการออกความเห็น (เรื่องของราคา) แต่ในระยะยาวแล้วตลาดจะเป็นเครื่องชั่งน้ำหนัก (เรื่องของมูลค่า)

ข้อ 11 มองตลาดหุ้นขาลงในเป็นโอกาส

– การลงทุนของบัฟเฟตต์ครั้งสำคัญๆ ส่วนมากแล้วจะเกิดขึ้นตอนตลาดหมี เมื่อราคาหุ้นของกิจการที่ดีลดราคา หรือเมื่อบริษัทดีๆประสบกับปัญหาที่เข้ามารุมล้อมชั่วคราว และราคาของหุ้นได้ถูกกดดันให้ลดต่ำลง ซึ่งทำให้เกิดโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในการซื้อหุ้นที่ราคาย่อมเยา ฉะนั้น จงมองหาบริษัทที่มีคุณภาพที่กำลังลดราคา สำหรับคุณภาพนั้นหมายถึง พื้นฐานที่รองรับธุรกิจและคุณภาพของทีมบริหาร

– เบน เกรแฮม เขียนไว้ว่า “ถ้านักลงทุนผู้ใดยอมให้ความตื่นกลัวหรือความไม่เหมาะสมเข้ามาครอบงำจิตใจ และกังวลใจจากการตกต่ำของตลาดอย่างไม่เหมาะสม นักลงทุนผู้นั้นจะถูกแปลงสภาพจากความได้เปรียบไปสู่ความเสียเปรียบ การแกว่งตัวของราคานั้นมีความหมายที่สำคัญอย่างเดียวกับนักลงทุน คือ มันสร้างโอกาสให้ซื้ออย่างชาญฉลาดเมื่อราคาตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว และขายอย่างชาญฉลาดเมื่อราคาพุ่งสูงมากอย่างไม่เหมาะสม”

ข้อ 12 อย่าตีบอลทุกลูกที่ขว้างมา

วอเร็น พูดว่า”การตัดสินใจลงทุนที่ถูกต้องปีละครั้ง นั้นถือว่าทำได้ดีมากแล้ว” การตัดสินใจลงทุนน้อยคร้ังก็สามารถรับประกันความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้เขาเปรียบนักลงทุนว่า เหมือนกับผู้เล่นเบสบอลที่ยืนอยู่บนโฮมเบสที่พร้อมจะตีลูก ตลาดหุ้นก็เหมือนกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามที่ขว้างลูกมาให้นักลงทุนตีอยู่ตลอดเวลา

แต่บัฟเฟตต์แนะนำว่า อย่าตีบอลทุกลูกที่ขว้างมา จงอดทนแล้วให้ลูกบอลถูกขว้างผ่านไป ให้รอเฉพาะลูกสวยๆ ตีง่ายๆ ที่ถูกขว้างมาแล้วค่อยตี

เขาอธิบายว่า ให้ซื้อธุรกิจที่ดีที่มาพร้อมด้วยกำไรในอนาคดที่เข้มแข็ง บริหารโดยผู้ที่มีความสามารถ และมีจริยธรรม สามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม แต่ถ้าบอลที่ขว้างมาไม่เข้าข่ายเหล่านี้ เขาก็จะปล่อยให้ผ่านไป

ข้อ 13 อย่าสนใจเรื่องมหภาค สนใจแต่เรื่องจุลภาค

บัฟเฟตต์เคยพูดไว้ว่า เรื่องใหญ่ๆอย่างเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจเป็นเรื่องภายนอกธุรกิจอย่าไปใส่ใจกับมัน จงสนใจแต่เรื่องเล็กๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง

เขาแนะนำว่า อย่าสนใจเรื่องระยะสั้นของตลาดหุ้น จงสนใจแต่เรื่องโอกาสทางธุรกิจในระยะยาวในหุ้นที่จะลงทุน เพราะถ้าคุณใช้เวลาไปกับการกังวลว่าตลาดจะไปในทิศทางไหนในเดือนหน้าหรือปีหน้า คุณจะเสียเวลาเปล่า คุณควรจะเป็นนักวิเคราะห์ธุรกิจ มากกว่าที่จะเป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศ, ตลาดหุ้น หรือหลักทรัพย์

คุณควรใช้เวลาที่มีกับข้อมูลของบริษัทที่แน่ชัด มันไม่คุ้มกับการที่คุณจะนำเอาข้อมูลที่ไม่ชัดเจน(การเดา) มาทดแทนกับข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทของคุณซึ่งคุณได้ไตร่ตรองมาเป็นอย่างดีแล้ว

ข้อ 14 จับจ้องมองการบริหาร

วอเร็น บัฟเฟตต์ มักจะมองหาธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับผู้บริหารที่ยิ่งใหญ่เสมอ ต่อไปนี้คือสิ่งสำคัญที่ควรจะพิารณาก่อนที่จะเริ่มลงทุน

1. ทีมผู้บริหารทำงานเพื่อผู้ถือหุ้น หรือทำงานเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเขาเองโดยใช้ทรัพยากรของผู้ถือหุ้น (เช่น เงินเดือนก้อนโต, โบนัสก้อนใหญ่, สิทธิในการซื้อหุ้น และสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ)

2. ผู้บริหารใช้งบประมาณของบริษัทอย่างรอบคอบ หรือเป็นผู้บริหารที่ใช้เงินสิ้นเปลือง

3. ผู้บริหารทุ่มเทเพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัทให้กับผู้ถือหุ้นและใช้จ่ายเงินลงทุนอย่างเหมาะสมหรือไม่

4. ผู้บริหารมีโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและหลีกเลีี่ยงการออกหุ้นใหม่ที่จะทำให้มูลค่าของหุ้นลดลงหรือไม่

5. ผู้ถือหุ้นถูกปฏิบัติอย่างหุ้นส่วนหรือเป็นเพียงแค่หุ่นไล่กา

6. รายงานประจำปีของบริษัทเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องตรงไปตรงมาหรือว่ามีแต่เรื่องไร้สาระ

7. ผู้บริหารรายงานข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้อง หรือพยายามที่จะปกปิดข้อมูลความจริง

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ จริยธรรมและความสามารถของผู้บริหาร เมื่อบัฟเฟตต์ตัดสินใจที่จะลงทุนเขาจะต้อง ลงเรือลำเดียวกันกับผู้นำของบริษัท บัฟเฟตต์พูดว่า คุณสามารถขาดทุนกับผู้บริหารที่ดีๆได้ แต่คุณไม่มีวันที่จะทำกำไรได้จากผู้บริหารที่แย่ๆ (นอกจากจะมีการตกแต่งตัวเลข)

ข้อ 15 ราชาแห่งวอลสตรีทนั้น ไม่ใส่เสื้อผ้า

การวิเคราะห์ทางเทคนิกนั้นสวนทางกับกรอบแนวความคิดการลงทุนของบัฟเฟตต์โดยสิ้นเชิง การวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้นอยู่บนพื้นฐานของการดูปริมาณ กราฟ และการเคลื่อนไหวของตลาดในการเลือกหุ้น ส่วนวิธีของบัฟเฟตต์นั้นอยู่บนพื้นฐานของการดู’มูลค่าของธุรกิจ’

(คาดว่า การไม่ใส่เสื้อผ้า น่าจะเป็นอะไรที่กล่าวถึงความไม่ซับซ้อนของการวิเคราะห์ข้อมูล แต่คำนึงถึงพื้นฐานและมูลค่าของธุรกิจ ไม่ได้หมายความว่าคุณปู่ของเราไม่ใส่เสื้อผ้านะฮะ)

ข้อ 16 ฝึกที่จะคิดให้เป็นอิสระ

บัฟเฟตต์เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญมาจาก เบน เกรแฮม นั่นคือ “คุณไม่ถูก และไม่ผิด เพราะว่าคนอื่นๆเห็นด้วยกับคุณ แต่คุณจะถูกเพราะว่าข้อเท็จจริงและเหตุผลของคุณนั้นถูกต้อง”

ไม่ว่าคนส่วนมากหรือคนที่มีชื่อเสียงจะเห็นด้วยกับคุณ มันไม่ได้ทำให้คุณถูกหรือผิด ความคิดที่ถูกนั้นต้องมาจากข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง นั่นจะทำให้คุณถูก นี่คือหัวใจของการคิดอย่างอิสระ และนั่นคือการใช้ข้อมูลและเหตุผลเพื่อหาบทสรุป แล้วยึดอยู่กับบทสรุปนั้น โดยไม่สนใตว่าจะมีหรือไม่มีคนเห็นด้วยกับคุณ

มองย้อนกลับไปในช่วงฟองสบู่ดอทคอม แสดงให้เห็นคุณค่าของการคิดอย่างอิสระของบัฟเฟตต์ เพราะถ้าเขาหลงมัวเมาไปกับราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นอย่างมากมายและตัดสินใจลงทุนไปกับมวลชน ก็อาจจะไม่มีคุณปู่ในตำนานอย่างตอนนี้ แต่คุณปู่เลือกที่จะมองคนอื่นเริงระบำไปบนกำไรก้อนโตจากหุ้นไฮเทค อีกทั้งยังถูกเยาะเย้ยจากนักลงทุนและนักวิชาการหลายๆคนถึงความสามารถของเขา แต่เขาก็ไม่สนใจ เพราะบริษัทไฮเทคเหล่านี้อยู่นอกเหนือความเข้าใจของเขา

เมื่อฟองสบู่แตกคนอื่นได้รับผลกระทบและเจ็บหนัก แต่คุณปู่ของเราไม่ได้รับผลกระทบน้อยมากถ้าเทียบกับคนอื่นๆ

กลยุทธ์การลงทุนใดๆที่อยู่บนพื้นฐานของการทำโพลความคิดเห็นของผู้อื่นมากกว่าการใช้ความคิดของตัวเอง กลยุทธ์แบบนั้นคือกลยุทธ์ที่แย่ที่สุด

ข้อ 17 จงอยู่ในขอบเขตความรู้ของคุณ

เมื่อถึงเวลาที่บัฟเฟตต์ต้องเลือกว่าจะลงทุนในธุรกิจไหนดี เขาจะลงทุนในอุตสาหกรรมและบริษัทที่เขารู้สึกสบายใจที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แล้วเขายังเคร่งครัดมากในเรื่องที่เกี่ยวกับขอบเขตของความรอบรู้

เขาจะไม่ลงทุนในอะไรก็ตามที่อยู่นอกขอบเขตนั้น และเขายังอดกลั้นต่อความเย้ายวนที่จะทำให้ขอบเขตของเขาใหญ่ขึ้น

ที่จริงแล้วเขาพูดว่าขนาดของขอบเขตความรู้นั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการรู้ว่าขอบเขตของมันอยู่ที่ไหน และให้อยู่แต่ภายในขอบเขตนั้น

ขอบเขตที่เลือนลางจะเป็นหนทางสู้ความผิดพลาดในการลงทุนอย่างมหันต์ เรื่องที่อยู่นอกขอบเขต เรื่องใหม่ๆ เรื่องน่าตื่นเต้นนั้นจะนำไปสู่ความอลหม่านของฝูงชน

ข้อ 18 อย่าสนใจการพยากรณ์ตลาดหุ้น

สิ่งสำคัญก็คือ ให้มองที่ผลการดำเนินงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว มากกว่าการมองด้วยการคาดคะเนและการคาดเดา อย่าปล่อยให้การทำนายแหกลูกตาคุณ จงจับจ้องอยู่กับอะไรก็ตามที่สำคัญจริงๆ จงอยู่กับฐานะบริษัท ไม่ใช่ฐานะของตลาด

ใช้เวลาของคุณไปกับการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานในอดีตและในปัจจุบันของบริษัท เพื่อที่จะได้ข้อมูลและไอเดียเกี่ยวกับบริษัทในอนาคต

มองหาโอกาสที่น่าเชื่อถือ และอย่าปล่อยให้เสียงรบกวนของการทำนายตลาดเข้ามาขวางทางในการติดสินใจของคุณ

ยิ่งตลาดมีการเก็งกำไรมาก มีการแปรปรวนมาก ยิ่งจะทำให้คนหันไปพึ่งพาความช่วยเหลือของการพยากรณ์ตลาดมากเท่านั้น แต่ในเมื่อการพยากรณ์นั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะถูก ยิ่งมีคนอ้างว่าการพยากรณ์ของเขานั้นแม่นยำมากเพียงใดในตลาดที่แปรปรวน คุณยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น

ข้อ 19 รู้จักกับ นายตลาด และ Margin of Safety

บัฟเฟตต์อธิบายถึงนายตลาดว่า เขาคือหุ้นส่วนทางธุรกิจของคุณคนหนึ่งที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ เขาจะปรากฏตัวขึ้นทุกๆวัน และเขาจะเสนอราคาที่จะขอซื้อหุ้นในส่วนของคุณ และไม่ต้องการขายหุ้นของเขา เมื่อเขามองเห็นแต่สิ่งดีๆในธุรกิจ แต่เขาจะขายหุ้นในส่วนของเขาให้กับคุณ เมื่อเขาเห็นว่าทุกอย่างในตลาดเป็นปัญหาไปหมด

บัฟเฟตต์บอกว่ากุญแจสำคัญอยู่ที่คำพูดของเกรแฮมที่ว่า “อย่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายตลาด” ความหดหู่ของเขาสามารถปกคลุมไปได้ทั่วและความอิ่มเอิบใจของเขาก็สามารถทำให้คุณหลงมัวเมาได้เช่นกัน

บัฟเฟตต์พูดว่า “อ่านอารมณ์ของเขาให้ออก และควรพิจารณาอารมณ์นั้นอย่างถี่ถ้วน แต่อย่าตกลงไปอยู่ในหลุมพรางของอารมณ์นั้นซะเอง”

หลักการสำคัญอีกข้อหนึ่งของ เบน เกรแฮม ก็คือ Margin of Safety นั่นคือ ราคาของหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าของธุรกิจนั้นมากๆ คุณคงไม่ต้องการให้ราคาของหุ้นที่ซื้อกับมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจใกล้เคียงกัน แต่คุณคงต้องการช่องว่างมากๆ นั่นคือ การที่คุณซื้อหุ้น 1 ดอลล่าร์ ในราคา 40 เซ็นต์

คุณควรใช้ความไร้เหตุผลของนายตลาดให้เป็นประโยชน์ เมื่อเขาเกิดอาการหดหู่อย่างร้ายแรง เขาจะทำให้ตลาดหุ้นดิ่งลงเหว นั่นจะเป็นโอกาสสำหรับคุณที่สามารถสร้าง Margin of Safety ให้กับคุณได้เมื่อซื้อหุ้น

ข้อ 20 จงกลัวเมื่อคนอื่นกำลังโลภ และจงโลภเมื่อคนอื่นกำลังกลัว

เมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่กำลังโลภ บัฟเฟตต์จะระมัดระวังตัว แต่เมื่อใดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ตื่นกลัว บัฟเฟตต์ก็จะโลภ และช่วงนี้เป็นเวลาที่เขารอคอย เพราะเขาจะฉกฉวยโอกาสในการซื้อบริษัทที่ดีในราคาหุ้นที่ตกต่ำ

เป็นที่รู้กันว่าบัฟเฟตต์ตื่นกลัวในช่วงของตลาดกระทิงอินเตอร์เน็ต เมื่อทุกคนกำลังซื้อหุ้นด้วยความโลภ เขาไม่เสียเงินเลยสักกะดอลล่าร์ในขณะที่คนอเมริกันเป็นล้านจบลงด้วยความสูญเสีย บางคนถึงกับหมดตัวออกจากตลาดไปเลย

ข้อ 21 อ่าน อ่านให้มาก แล้วคิดให้ดี

บัฟเฟตต์เชื่อว่า อุตสาหกรรมการลงทุนนั้นไม่เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ การที่จะลงทุนนั้นคุณต้องสะสมความรู้ แต่เราก็ควรที่จะเลือกอ่านแต่หนังสือที่มีประโยชน์เหมาะสมต่อนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (หรือที่เหมาะกับการลงทุนของคุณ) แล้วหนังสือประเภทไหนที่ไม่เหมาะกับคุณก็อย่าไปสนใจเพราะมันจะทำให้คุณเสียเวลาเปล่า

ข้อ 22 ใช้แรงม้าของคุณให้เต็มที่

วอเร็น บัฟเฟตต์ บอกว่าคนทั่วๆไปมีเครื่องยนต์ขนาด 400 แรงม้า แต่สามารถใช้ได้จริงเพียง 100 แรงม้าเท่านั้น (อีกนัยหนึ่ง คนที่ฉลาดมักจะถูกกวนใจจากงานที่ล้นมือ และจะทำในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล)

บัฟเฟตต์ พูดว่าใครก็ตามที่สามารถใช้แรงม้าได้เต็มที่จากเครื่องยนต์ขนาดแค่ 200 แรงม้า ก็สามารถทำได้ดีกว่าคนอื่นๆมาก

ข้อ 23 อย่าทำพลาด แต่ให้เรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น

ชาลี มังเกอร์ เพื่อนและหุ้นส่วนของบัฟเฟตต์ ให้ความสำคัญกับการศึกษาความผิดพลาด และเรียนรู้ที่จะไม่ทำมันซ้ำสอง

ข้อ 24 ก้าวสู่การเป็นนักลงทุนผู้รอบรู้

บัฟเฟตต์พูดว่า การลงทุนของเบน เกรแฮม นั้นเป็นการลงทุนแบบรอบรู้ เขาไม่ใช่นักลงทุนอัจฉริยะ หรือนักลงทุนผู้บ้าคลั่งและลงทุนตามสมัยนิยม

สิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการลงทุนแบบรอบรู้ก็คือ มันสามารถสร้างความมั่งคั่งให้คุณได้ ถ้าคุณไม่รีบร้อนจนเกินไปและมันจะไม่ทำให้คุณจนลง

สไตล์การลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นไม่ใช่สไตล์รวยเร็ว แต่เป็นการรวยช้าๆอย่างมีแบบแผน มันใช้เวลาที่จะปลูกต้นกล้าให้เป็นต้นไม้ใหญ่ ฉะนั้นคุณควรฝึกที่จะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง

####

ขอบคุณทุกๆคนที่ติดตามอ่านมาถึงตรงนี้นะก๊าบบบบ ^^ ขอให้ทุกคนตั้งใจศึกษาหาความรู้กันเยอะๆ

แล้วเรามาเจอกันใหม่กับหนังสือที่น่าสนใจเล่มหน้า ^^

Author: admin

1 thought on “‘ตามรอย คุณปู่วอเร็น’ (How Buffett Does It!) : Artemis

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.