คำสารภาพของนักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ : ดร.ไสว บุญมา

ขอเรียนว่า ผมเป็นนักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์มากว่า 43 ปี และตอนนี้ก็กำลังเรียนอยู่ ผมรู้สึกว่ายิ่งเรียนก็ยิ่งรู้

…แต่ยิ่งเรียนนาน กลับยิ่งเป็นการรู้ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์คงไม่สามารถแก้ปัญหาที่เผชิญหน้าเราอยู่ได้ 

ความรู้สึกนี้ถูกตอกย้ำครั้งสุดท้ายด้วยรายงานบนหน้า A13 ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555 หน้านั้นพาดหัวด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่ ซึ่งมีใจความว่า “โรงเรียนรัฐบาลจำนวนมากขึ้นเลี้ยงอาหารนักเรียนวันละสามมื้อ” 

เนื้อเรื่องทำให้ผมตะลึงเพราะคาดไม่ถึงว่าคนอเมริกันจะยากจนลง จนต้องอาศัยรัฐบาลมากขึ้นถึงขนาดนั้น จริงอยู่ผมรู้เรื่องความยากจนของคนอเมริกันมากพอสมควร เพราะได้ติดตามความเป็นไปในด้านนี้มานาน และได้เห็นภาพด้วยตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องผู้ขาดที่อยู่อาศัยจนต้องใช้สวนสาธารณะเป็นที่หลับนอน รวมทั้งในใจกลางกรุงวอชิงตันเองด้วย

การสำรวจเรื่องนี้เมื่อปีที่แล้วพบว่า ในกรุงวอชิงตันและปริมณฑลมีคนขาดที่อยู่อาศัยเกือบ 2 หมื่นคน ทั่วสหรัฐจำนวนผู้ขาดที่อยู่อาศัยและใช้ที่สาธารณะหลับนอนอาจสูงถึง 5 แสนคน นอกจากนั้น ผมยังทราบเรื่องการช่วยเหลือคนจนผ่านโครงการเลี้ยงอาหารกลางวันและอาหารเช้าแก่นักเรียนและการแจกอาหารผ่านคูปองอีกด้วย

โครงการอาหารกลางวันเริ่มตั้งแต่ปี 2489 จุดมุ่งหมายของโครงการมีอยู่ด้วยกันสองด้าน คือ เพื่อซื้ออาหารที่มีปริมาณล้นตลาดอันเป็นการพยุงราคามิให้ตกต่ำจนเกษตรกรอยู่ไม่ได้ และเพื่อช่วยคนจนด้วยการนำอาหารนั้นไปแจกและขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดให้นักเรียน ตอนนี้มีรายงานว่า รัฐบาลแจกและขายอาหารกลางวันผ่านโครงการนี้ให้นักเรียนวันละราว 30 ล้านคน หลังจากโครงการอาหารกลางวันดำเนินการได้ 20 ปี ก็มีโครงการเลี้ยงอาหารเช้าเข้ามาเสริม

มาถึงวันนี้ มีเด็กจำนวนมากที่ครอบครัวยากจนถึงขนาดไม่สามารถหาอาหารเย็นมาให้เด็กได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งที่รัฐบาลมีโครงการแจกอาหารผ่านคูปองแลกอาหารที่เรียกกันว่าฟู้ดแสตมป์ รายงานล่าสุดบ่งว่า ชาวอเมริกันกว่า 46 ล้านคน หรือเกือบ 15% ของประชาชนทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือผ่านโครงการนี้ และโดยเฉลี่ยแต่ละคนได้รับ 133 ดอลลาร์ต่อเดือน

โรงเรียนที่ทราบเรื่องความหิวโหยของเด็กจึงเริ่มแสวงหาอาหารเย็นมาให้ จริงอยู่รายงานในวอชิงตันโพสต์ไม่ได้พูดถึงภาพรวมทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร แต่ข้อมูลของบางเขตการศึกษาก็ทำให้น่าตะลึง อาทิเช่น ในย่านเมืองเมมฟิสของรัฐเทนเนสซี โรงเรียนเลี้ยงอาหารเย็นเด็กราว 14,000 คน จากเด็กทั้งหมดราว 110,000 คน เมืองแคนซัสก็เลี้ยงอาหารเย็นเด็กในสัดส่วนใกล้กัน

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า สหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าสูงกว่าประเทศอื่นในหลายด้านโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และมีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่ได้รับรางวัลโนเบลมากกว่า 62% ของผู้ที่ได้รับรางวัลด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด 69 คน มหาวิทยาลัยชิคาโกเพียงแห่งเดียวมีอาจารย์ที่ได้รับรางวัลด้านนี้ถึง 26 คน

ความยากจนในสหรัฐที่หนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้นนี้เป็นการบ่งชี้ว่า ความก้าวหน้าต่างๆ รวมทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ ยิ่งตอนนี้มีการถกเถียงกันมากอันเนื่องมาจากความเรื้อรังของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2551 ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นที่ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์จะสามารถแก้ปัญหาได้ลดลงไปอีก

เนื่องจากตอนนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า แนวคิดของขั้วระบบคอมมิวนิสต์ขจัดความยากจนไม่ได้ การถกเถียงกันของนักเศรษฐศาสตร์ จึงจำกัดอยู่ในกรอบของขั้วระบบตลาดเสรี

ผู้โจมตีได้แก่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่ออกมาจากฐานของการคิดตามกระแสหลัก ซึ่งตำราวิชาเศรษฐศาสตร์มักบอกว่าประกอบด้วยสมมติฐานเบื้องต้น 3 ข้อ ต่อด้วยแนวคิดของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์

สมมติฐาน 3 ข้อได้แก่ 1. บุคคลใช้เหตุผลในการตัดสินใจ 2. การตัดสินใจนั้นวางอยู่บนฐานของข้อมูลที่สมบูรณ์แบบ และ 3. บุคคลแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดในขณะที่บริษัทห้างร้านและผู้ประกอบการแสวงหากำไรสูงสุด

สมมติฐานเหล่านี้ถูกโจมตีมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการวิจัยที่ได้ข้อสรุปว่ามันไม่น่าเป็นจริง 

อนึ่ง คอลัมน์นี้อ้างถึงแนวคิดของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ หลายครั้ง ขอทบทวนสั้นๆ ว่า ถ้าเราเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาหรือถดถอย เขาเสนอให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายผ่านการทำงบประมาณแบบขาดดุลพร้อมกับกระตุ้นให้เอกชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นผ่านการลดภาษี ลดดอกเบี้ยและอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบ

นโยบายในกรอบนี้ได้ผลดีมานาน จนกระทั่งถึงวิกฤติครั้งล่าสุดที่ยังยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ผลของการแก้ปัญหาไม่ได้อย่างหนึ่ง คือ ความยากจนในสหรัฐที่หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น หนึ่งในอาการของความสาหัสนั้นได้แก่โรงเรียนต้องเลี้ยงอาหารเด็กวันละสามมื้อ 

เนื่องจากความยากจนในแนวดังกล่าวนี้มิได้มีอยู่แต่ในสหรัฐเท่านั้น หากยังมีอยู่ในประเทศก้าวหน้าทั้งหลายทั้งที่ได้พยายามแก้ปัญหากันมาเป็นเวลานานแล้วอีกด้วย ฉะนั้น คงพอสรุปได้ว่า การแก้ปัญหาความยากจน คงต้องใช้วิชาอื่นนอกเหนือจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เรามักใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 

‘คำสารภาพของนักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์’

โดย ดร.ไสว บุญมา

กรุงเทพธุรกิจ

9 มีนาคม 2555

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.