Growth Investing Defined : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

มีหลายท่านสังเกตออกว่า ผมมักเน้นลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ค่อนข้างจะตรง ผมก็เลยอยากถือโอกาสคุยเรื่อง Growth Investing สักหน่อยนะครับ

ทุกวันนี้สไตล์การลงทุนหลายแนวถูกนำชื่อไปใช้อ้างชื่อกันมาก ทำให้ความหมายของมันค่อยๆเปลี่ยนไป จนในที่สุดก็ไม่เหลือใครที่มีบารมีมากพอที่จะผูกขาดนิยามของแนวการลงทุนเหล่านั้นได้อีกต่อไป

Growth Investing ก็เช่นกัน เวลาจะใช้คำนี้จึงต้องขยายความให้ชัดหน่อยว่าหมายถึงอย่างไรกันแน่ มิฉะนั้นจะเกิดการเข้าใจผิดกันได้ง่าย

นิยามของ Growth Investing ที่ผมไม่ชอบมากที่สุดตั้งแต่เคยได้ยินมาคือนิยามที่บอกว่า Growth Investing คือการลงทุนในหุ้นที่มีค่าพีอีเรโชสูง นิยามนี้แบ่งหุ้นออกเป็นสองจำพวกชัดเจนคือ Growth Stock vs. Value Stock โดยใช้ค่าพีอีเรโชเป็นตัวแบ่ง หุ้นเติบโตคือหุ้นที่มีพีอีสูง หุ้นคุณค่าคือหุ้นที่มีพีอีต่ำ

นิยามนี้เป็นนิยามที่ทำให้ความหมายของคำว่าการลงทุนผิดเพี้ยน เพราะ พีอี เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่มีราคาตลาดของหุ้นมาเกี่ยวข้อง (P) แต่ราคาหุ้นนั้นเป็นเรื่องของตลาดหลักทรัพย์ ไม่เกี่ยวกับตัวกิจการเลย พีอีเรโชจึงไม่ได้บ่งบอกถึง “การเติบโต” (หรือแม้แต่คุณค่า) ของบริษัทเลยแม้แต่น้อย

หุ้นตัวหนึ่งจะเป็นหุ้นเติบโตหรือไม่นั้น จะต้องดูจากตัวธุรกิจได้แก่การเติบโตของธุรกิจเป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับค่าพีอี  หุ้นที่มีค่าพีอีเรโชต่ำๆ ก็เป็นหุ้นเติบโตได้หากกำไรของธุรกิจนั้นเติบโตสูง ผมเองเน้นลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นหลัก แต่ผมไม่ได้ชอบหุ้นพีอีสูงแต่อย่างใด ถ้าหากกำไรเติบโตสูงแล้วพีอีต่ำด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ (เพียงแต่โอกาสดีๆ ขนาดนั้น มักไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับหุ้นเติบโต)

ที่จริงแล้ว Growth กับ Value เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด เพราะแม้แต่ Growth Investor เอง ก็ยังต้องซื้อหุ้นให้ได้ในราคาที่ยังต่ำกว่า Growth Potential ของมันอยู่ดี (แบบเดียวกับ value investing) มิฉะนั้น ซื้อไปแล้วก็จะไม่ได้อะไรจากการเติบโตอยู่ดี เพราะราคาหุ้นสะท้อนการเติบโตไปหมดแล้ว

โดยรวมๆ Growth Investing หมายถึง การลงทุนที่ให้น้ำหนักกับ “โอกาสในการเติบโตของกิจการ”  ในการประเมินค่าหุ้นมากเป็นพิเศษเท่านั้นเอง วิธีการลงทุนในหุ้นคุณค่าหรือ หุ้นเติบโตนั้นไม่ได้ต่างกัน

เหตุที่ผมสนใจหุ้นเติบโตมากกว่าหุ้นแบบอื่น มาจากเป้าหมาย,ความถนัด ตลอดจนความเชื่อส่วนตัวของผมเป็นหลัก โดยส่วนตัว ผมอยากซื้อหุ้นแล้วถือทิ้งไว้ในพอร์ตได้นานๆ โดยไม่ต้องคอยหาตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการบริหารพอร์ตมากเกินไป ซึ่งผมคิดว่า หุ้นเติบโตตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีกว่าหุ้นแบบอื่น เพราะหุ้นเติบโต แม้เราถือทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่คอยหาทางทำกำไรด้วยการซื้อๆขายๆกินส่วนต่าง มูลค่าของหุ้นก็ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว เพราะกิจการยังมีการลงทุนใหม่ๆอยู่ ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นได้อีก เมื่อกำไรเพิ่ม มูลค่าหุ้นก็เพิ่มได้

แต่ถ้าเราซื้อหุ้นคุณค่า ในราคาที่คิดว่าต่ำกว่ามูลค่าของกิจการแล้วถือไว้ สมมติว่าผ่านไปแค่สองเดือนราคาหุ้นเกิดปรับตัวขึ้นจนสะท้อนมูลค่าหมดแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะถือต่อไปอีกด้วยเหตุผลอะไร เพราะกิจการเท่าเดิมทุกปี มูลค่าของกิจการก็เท่าเดิม ราคาหุ้นก็ควรเท่าเดิม ถือทิ้งไว้เฉยๆ พอร์ตก็ไม่โตขึ้น เราจึงต้องขายออกมา แล้วหาตัวใหม่ที่คิดว่า undervalued เข้าลงทุนแทนอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เงินของเรายังทำงานให้เราอยู่ตลอดเวลาได้ ผมมีความเชื่อว่า หุ้นคุณค่าเมื่อราคาสะท้อนแล้ว ควรขายออกไปได้เลย ไม่ควรถือต่อไปในระยะยาว หุ้นที่ควรถือในระยะยาวมีเพียงหุ้นเติบโตประเภทเดียวเท่านั้น (ความเชื่อส่วนบุคคล)

นี่เป็นเหตุผลเดียวกันด้วย ที่ทำให้ผมไม่นิยมลงทุนในหุ้นกลับตัว (Turnaround) ด้วย เพราะแม้ว่าหุ้นกลับตัว(ถ้าเล่นเก่งๆ) มักให้ผลตอบแทนที่สูงมาก แต่ก็ต้องเหนื่อยหาตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะเมื่อหุ้นกลับตัวได้แล้ว ก็มักไม่มีเหตุผลที่จะถือต่อไป (ส่วนใหญ่แล้ว หุ้นกลับตัวมักเป็นกิจการที่อ่อนแอ มิฉะนั้นมักคงไม่แย่ให้เราซื้อตั้งแต่แรก ถือต่อไปคงมีแต่ downside เสียมากกว่า upside)

ภายใต้คำว่า Growth Investing ด้วยกันเอง ยังมีแนวทางแยกย่อยได้อีกหลายแนว แต่ละแนวก็มีวิธีที่ค่อนข้างต่างกันมาก ราวกับเป็นคนละแนวทางเลยทีเดียว ระยะหวังผลของนักลงทุนแต่ละคนคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Growth Investing แต่ละแนวมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป

Growth Investing แบบที่แพร่หลายมากที่สุดคือ การเลือกหุ้นโดยดุจากแผนการเติบโตของบริษัทนั้นๆ เป็นหลัก วิธีนี้คือดูว่าบริษัทนั้นๆมีแผนเติบโตธุรกิจอย่างไร เช่น โรงงานอาจมีแผนเพิ่มกำลังการผลิต ธุรกิจค้าปลีกอาจมีแผนขยายสาขา ผู้รับเหมาอาจมีโปรเจ็คใหม่ๆ ที่กำลังวิ่งอยู่ เป็นต้น จากนั้นก็คำนวณหากำไรที่เพิ่มขึ้นที่น่าจะเป็นไปได้ ลองดูว่าราคาหุ้น ปัจจุบันคิดเป็น P/E กี่เท่าเมื่อเทียบกับกำไรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ถ้าค่าพีอีนี้ยังไม่สูงก็ลงทุนได้ ถ้าสูงจนสะท้อนการเติบโตไปหมดแล้ว ก็ไม่เอา

วิธีนี้เหมาะกับนักลงทุนที่มีระยะหวังผล 1-3 ปี เพราะธุรกิจส่วนใหญ่มักวางแผนธุรกิจล่วงหน้าไว้ 1- 3 ปี ทำให้หาข้อมูลมาสนับสนุนการวิเคราะห์หุ้นได้ง่าย วิธีนี้ถือว่ามีเหตุมีผลมี ที่มาที่ไปชัดเจน เพราะมีแผนธุรกิจของบริษัทรองรับการตัดสินใจลงทุน ทำให้เป็นที่นิยมของนักลงทุนสถาบัน เป็นการให้มูลค่าหุ้นไปตามการเติบโตเฉพาะที่มองเห็นได้เท่านั้น

เรื่องที่ต้องระวังคือต้องคิดด้วยว่า แผนของผู้บริหารมีความเป็นไปได้แค่ไหน ไม่ใช่ผู้บริหารวาดฝันยังไงก็เชื่อตามทุกอย่าง หากดูแล้ว aggressive เกินไป ก็ต้องลดทอนความคาดหวังลงมาเองด้วย

Growth Investing อีกแบบหนึ่งเป็นการมองหาแนวโน้มการเติบโตใหญ่ (Megatrends) ที่กินระยะเวลายาวนาน แล้วลงทุนไปกับบริษัทที่คิดว่าน่าจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มใหญ่นั้นแบบถือยาวไปเลย ตัวอย่างเช่น ถ้ามองว่าแนวโน้มใหญ่ของคนกรุงเทพคือการหันมาอยู่คอนโดมากขึ้น เพราะการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ เราก็ซื้อหุ้นคอนโดเก็บไว้ หรือถ้าเชื่อใน aging economy ก็ซื้อหุ้นโรงพยาบาลเก็บไว้ เป็นต้น

วิธีนี้ดีตรงที่ไม่ต้องเหนื่อยทำการบ้านมาก เพราะไม่จำเป็นต้องคอยติดตามข่าวบริษัทอย่างใกล้ชิดทุกไตรมาส ใช้วิธีอดทนกับความผันผวนของราคาหุ้นระหว่างทางแทน ตราบใดที่ภาพใหญ่ยังไม่เสีย หุ้นจะขึ้นบ้างลงบ้างก็ช่างมัน เพราะยังไงเสียในระยะยาวแนวโน้มใหญ่ก็จะช่วยพาบริษัทให้เติบโตขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้วจะไปวิตกกับความผันผวนระหว่างทางไปทำไม

ระยะหลังนี้ ผมหันมาเน้นการลงทุนด้วยวิธีการนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตรงกับเป้าหมายส่วนตัวของผมที่อยากเล่นหุ้นแบบไม่ต้องเหนื่อยมาก ถ้าเราสามารถหาแนวโน้มใหญ่ให้ได้สัก 4-5 แนว แล้วกระจายการลงทุนออกไป เราก็สามารถลงทุนแบบใจสงบได้แล้ว ระยะหวังผลของหุ้นแต่ละตัวที่ซื้ออาจเป็นได้ตั้งแต่ 3 ถึง 10 ปี แล้วแต่ความต่อเนื่องของแนวโน้มใหญ่

สุดท้ายคือ Growth Investing แนวบู๊ล้างผลาญ วิธีนี้มีระยะหวังผลไม่เกิน 3-6 เดือนต่อหุ้นแต่ละตัวที่ซื้อ เมื่อได้กำไร 20 – 100% แล้ว ก็หาตัวเล่นใหม่เปลี่ยนสร้างผลตอบแทนอย่างไม่หยุดนิ่ง คาดหวังผลตอบแทนต่อปีในระดับที่ค่อนข้างสูง

“ข้อมูลข่าวสาร” คืออาวุธที่สำคัญที่สุดของแนวบู๊ล้างผลาญ ข้อมูลที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึง “ข้อมูลอินไซด์” เสมอไป แต่หมายถึง “ข่าวสาธารณะ” นั่นแหละครับ (ที่จริงแล้ว พวกข่าวอินไซด์กลับจะน่ากลัว เพราะเราอาจตกเป็นเหยื่อได้ด้วย) ยิ่งเราเข้าถึงข้อมูลได้มาก-ลึก-เร็ว และแม่นยำกว่าคนอื่นเท่าไร เราก็จะยิ่งได้เปรียบในการลงทุนแบบนี้มากขึ้นเท่านั้น ที่จริงแล้ว วิธีนี้ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ธุรกิจเลยก็ยังได้ เพราะในระยะแค่ 3-6 เดือน การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแทบไม่เกี่ยวกับอะไรกับปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ แต่เกี่ยวกับข่าวที่เข้ามากระทบหุ้นตัวนั้นๆเป็นสำคัญ หุ้นที่พื้นฐานไม่ค่อยดีกลับน่าสนใจมากกว่าหุ้นพื้นฐานดีเสียด้วย ซ้ำ เพราะหุ้นพวกนี้มักจะมีกำไรระยะสั้นที่ผันผวนสูงมากกว่า ทำให้เราสามารถทำกำไรระยะสั้นได้เยอะกว่า

ตามความเห็นของผม การลงทุนในวิธีนี้สามารถให้ผลตอบแทนสูงได้จริงสำหรับตลาดหุ้นไทย แต่จะต้องขยันทำการบ้านให้มาก ลงทุนตามข้อมูลเป็นหลัก ไม่ใช่ลงทุนตามความรู้สึก ผลตอบแทนที่ได้จะแปรผันตามไปข้อได้เปรียบเรื่องข้อมูลของเรา ยิ่งได้เปรียบเรื่องข้อมูลมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากเท่านั้น ไม่มีปฏิหารย์ครับ

คนที่ใช้วิธีนี้บางคนใช้วิธีมองหาหุ้นที่ EPS รายไตรมาสกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากๆ เช่น +100% yoy แล้วรีบเข้าไปถือก่อนคนอื่น รอให้ข่าวค่อยๆกระจายออกสู่นักลงทุนในวงกว้างมากขึ้นจนราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากๆในช่วงเวลาอันรวดเร็ว แล้วก็รีบขายทิ้งทำกำไรออกมาตั้งแต่ก่อนที่ข่าวที่ดีที่สุดจะออกมา ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆให้ได้หลายๆรอบในหนึ่งปี คนที่ขยันหาข่าวจริงๆจะทำผลตอบแทนได้สูงมากจากวิธีการลงทุนแบบนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียสำคัญของ Growth Investing แนวสุดท้ายนี้ก็คือ ในระยะสั้น ตลาดหุ้นคือ Money Game จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องเข้าไปเล่นในเกมนี้ด้วย คนที่จะเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ได้จึงต้องมีภูมิต้านทานสูง รู้เท่าทันคนอื่นจึงจะเอาตัวรอดได้

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้ลงทุนด้วยวิธีนี้เลย เพราะไม่ใช่ทางของผมครับ

Growth Investing Defined

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

8 Jul 2010

Author: admin

1 thought on “Growth Investing Defined : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.