Dividend VS Value Stock : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

dividendsbusiness

คนจำนวนมากในตลาดหุ้นมักจะเข้าใจผิดคิดว่า Value Stock หรือหุ้นคุณค่าก็คือหุ้นที่มีการจ่ายปันผลที่ดี ยิ่งปันผลสูงเมื่อเทียบกับราคาหุ้นมากเท่าไรหุ้นนั้นก็เป็นหุ้น Value มากขึ้นเท่านั้น บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะตลาดไม่คึกคัก โบรกเกอร์และหนังสือพิมพ์ก็จะนำเสนอหุ้นที่จ่ายปันผลงามที่สุด 10-20 อันดับ และแนะนำว่า เป็นหุ้นที่น่าลงทุน

บางครั้งผมเองก็เคยพูดว่า “ปันผลเป็นคำตอบสุดท้าย” นั่นคือมีหุ้นที่จ่ายปันผลดีบางตัวน่าสนใจเข้าข่ายเป็น Value Stock และต่อมาก็พิสูจน์ว่าสิ่งนั้นเป็นจริงคือ หุ้นที่จ่ายปันผลดีเหล่านั้นทำกำไรให้กับคนที่ถืออย่างงดงาม

พูดไปพูดมามากๆเข้า คนจำนวนไม่น้อยก็เลยเข้าใจผิด คิดว่าหุ้น Value ก็คือหุ้นปันผล และคิดว่าผมในฐานะ Value Investor “พันธุ์แท้” ชอบลงทุนซื้อหุ้นที่จ่ายปันผลงาม และจะถือเก็บเพื่อกินปันผลเป็นหลักโดยไม่สนใจกำไรจากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น

นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะคำว่า Value Stock นั้น ความหมายก็คือเป็นหุ้นที่มีคุณค่า(มูลค่า)สูงกว่าราคาหุ้นมาก โดยที่คุณค่านั้นคิดจากความสามารถในการทำกำไร และ / หรือ การสร้างกระแสเงินสดของบริษัทในอนาคตระยะยาว ส่วน “หุ้นปันผล” ที่พูดกันนั้น มักจะเป็นปันผลที่จ่ายในปีที่แล้วหรือปีที่กำลังถึงเมื่อเทียบกับราคาหุ้นในปัจจุบัน

ความแตกต่างระหว่าง หุ้นปันผล กับ Value Stock นั้นชัดเจนก็คือ ใน Value Stock เราพยายามหาความสามารถในการทำกำไรหรือเงินสดในระยะยาวของบริษัท ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆมากมายตั้งแต่เรื่องของภาวะอุตสาหกรรม การตลาด การผลิต การบริหารงาน และการเงินของบริษัท ความได้เปรียบเสียเปรียบของบริษัทเทียบกับคู่แข่ง และอื่นๆอีกมาก ในขณะที่ หุ้นปันผล ดูเฉพาะการจ่ายปันผลปีที่แล้วปีเดียวเทียบกับราคาหุ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อมูลของอดีตที่ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรเลย

ในสายตาของ Value Investor แล้ว ปันผลเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งหรือเป็นคุณค่าของหุ้นที่นำมาพิจารณาประกอบกับองค์ประกอบอื่นอีกหลายๆอย่าง บางคนคิดว่าผลตอบแทนจากปันผลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก บางคนก็เฉยๆ

ส่วนผมเองนั้น ผมคิดว่าปันผลเป็นเพียง “ ผลตอบแทนของการรอคอย ” นั่นก็คือ เวลาผมซื้อหุ้นที่เป็น Value Stock นั้น ผมซื้อเพราะผมเชื่อว่าเป็นกิจการที่ดีราคาถูก แต่ผมไม่รู้ว่าราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นไปเมื่อไร บางครั้งผมต้อง “รอคอย” นานมาก ซึ่งถ้าในระหว่างนั้นผมไม่ได้อะไรตอบแทนเลยผมก็จะรู้สึกแย่มาก และก็ทำใจได้ยาก ดังนั้น หุ้นที่มีการจ่ายปันผลน้อยนิดเมื่อเทียบกับราคาหุ้นจึงเป็นหุ้นที่ผมไม่ชอบเลย

แต่ผมเองก็ไม่ชอบและมักจะไม่สนใจหุ้นที่จ่ายปันผลอย่างงดงามมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้น เช่น จ่ายถึง 10% ของราคาหุ้นที่เรียกกันว่าหุ้นปันผล เหตุผลไม่ใช่เพราะผมรังเกียจปันผล หรือคิดว่านี่เป็นผลตอบแทนที่น้อยเทียบกับการขึ้นของราคาหุ้น แต่เป็นเพราะว่า “หุ้นปันผล” เหล่านั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นหุ้นที่จ่ายปันผลมาก “ชั่วคราว” นั่นก็คือ จ่ายมากเฉพาะปีที่ผ่านมา แต่อนาคตคงไม่สามารถที่จะจ่ายได้เท่าเดิม เนื่องจากกำไรของบริษัทในอนาคตจะลดลง เพราะฉะนั้น “หุ้นปันผล” ของวันนี้ อาจจะกลายเป็นหุ้นที่จ่ายปันผลน้อยในวันข้างหน้า

บริษัทบางแห่งทำกำไรปีที่แล้วได้ 8 บาทต่อหุ้น และจ่ายปันผล 8 บาทต่อหุ้นเหมือนกัน เพราะไม่มีความจำเป็นต้องเก็บกำไรเอาไว้ลงทุนต่อ ราคาหุ้นของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดเท่ากับ 100 บาท ดังนั้น ผลตอบแทนปันผลเท่ากับ 8% คนพูดว่านี่คือหุ้นที่จ่ายปันผลดีมากเป็นหุ้นปันผล

อีกบริษัทหนึ่งกำไร 10 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้นเท่ากับ 100 บาทเท่ากัน แต่จ่ายปันผลเพียง 3 บาท เพราะต้องนำกำไรส่วนที่เหลืออีก 7 บาทต่อหุ้นไปลงทุนขยายงานต่อ คำนวณดูแล้วผลตอบแทนปันผลเพียง 3%

แต่มองดูแล้วบริษัทนี้น่าจะดีกว่าบริษัทแรกและมีคุณค่ามากกว่า เพราะบริษัทน่าจะเติบโตมากกว่าเพราะมีการลงทุนขยายกิจการ และราคาหุ้นเมื่อคิดจากค่า PE ก็ถูกกว่า คือเท่ากับ 10 เท่า (100/10) ในขณะที่บริษัทแรกนั้นค่า PE เท่ากับ 12.5 (100/8)

หุ้นที่จ่ายผลตอบแทนปันผลสูงนั้นคงจะไม่เลวร้ายดังตัวอย่างข้างต้นเสมอไป แต่หุ้นหลายตัวก็มีลักษณะดังกล่าว ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อหุ้น “ ปันผล ” ควรที่จะศึกษาตัวบริษัทอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนว่าปันผลที่ได้รับนั้นจะไม่ลดลงในอนาคต ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง การได้ปันผลงามก็ไม่มีประโยชน์ เพราะในวันที่เราได้รับปันผล ราคาหุ้นกลับลดลงมากกว่า ปันผลดีกลายเป็นกับดัก และนี่ไม่ใช่หุ้น Value ที่เราเสาะแสวงหาเลย

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.