Balance of Morality and Ambition : พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน

หลายวันที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสรับชมโฆษณาชิ้นหนึ่ง ผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งภายในโฆษณานั้นได้กล่าวถึง ความสมดุล ระหว่าง “จริยธรรม และความทะเยอะทะยาน” จึงคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ จึงได้นำมาเขียนบทความให้ผู้อ่านทุกๆท่าน ได้รับชมกันครับ

MORALITY แปลว่า ความดีงาม หรือจริยธรรม ส่วน AMBITION แปลว่า ความทะเยอทะยาน ทั้ง 2 คำนี้ บางท่านอาจจะสงสัยว่า มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร? ทั้งๆที่ดูแล้วไม่น่าจะไปด้วยกันได้ และอาจจะเป็นสิ่งที่แตกต่างกันออกไป ตามความหมายของมัน แต่ความจริงแล้ว ทั้ง 2 คำนี้แล่ะครับ ที่มีความหมายมากมาย มากด้วยความสำคัญ และเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินไปอย่างควบคู่กัน ในโลกแห่งธุรกิจ จนถึงชีวิตประจำวันของมนุษย์เราทุกคน

ผมจะยกตัวอย่างเป็นองค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมระดับใหญ่ ติดอันดับของประเทศ มีแรงงานนับพันชีวิต และมีเครื่องจักรในสายการผลิตที่ทันสมัยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่า องค์กรขนาดใหญ่ระดับนี้ ย่อมมีทั้งรายได้ ผลกำไร และแหล่งเงินทุนมหาศาล กอปรกับเทคโนโลยีการผลิต ที่นับวันมีความก้าวหน้าอย่างมากมาย จนเรียกได้ว่า “เครื่องจักร สามารถทดแทนการทำงานของมนุษย์ ได้กว่า 98%” นอกจากจะทำงานทดแทนมนุษย์ได้แล้ว กำลังการผลิตก็เพิ่มสูงขึ้น อัตราข้อผิดพลาด หรือการสูญเสียจากการทำงานโดยเครื่องจักรเอง ก็ย่อมน้อยกว่าการทำงานของมนุษย์อยู่แล้ว ซึ่งบริษัทที่มีเงินทุน และกำไรมหาศาล ย่อมน่าจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเครื่องจักรสมัยใหม่ ไม่ว่าจะในปริมาณมาก หรือปริมาณน้อยได้อย่างไม่ลำบาก แต่…ทำไม ถึงไม่ทำ?

ซึ่งผมจะยังไม่ตอบคำถามนี้นะครับ ผมจะขอยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งเสียก่อน

อีกบริษัท เป็นองค์กรมหาชนขนาดใหญ่ ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทย มีฐานการผลิต การเงิน และศักยภาพระดับสูง และแข็งแกร่งติดระดับโลก ได้ลงทุนจัดตั้งโครงการนับสิบโครงการ ในนิคมอุตสาหกรรม “มาบตาพุด” แต่เนื่องด้วยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมลภาวะที่อาจจะก่อให้เกิดต่อชุมชน ศาลปกครองกลางจึงได้มีคำสั่งระงับโครงการขององค์กรแห่งนี้ ไปจำนวนมากกว่า 70% ของโครงการทั้งหมด โดยอนุญาตให้เพียงบางโครงการ สามารถดำเนินการต่อไปได้ จากคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ทำให้บริษัทต้องชะงักการดำเนินการ และการขยายฐานการผลิตจำนวนมาก เงินทุนจำนวนหนึ่งต้องจมไปกับโครงการที่ยังไม่ทราบว่า เมื่อไหร่จะสามารถกลับมาดำเนินการต่อได้

ซึ่งปัญหาที่กล่าวมา สำหรับองค์กรระดับนี้ ทางแก้ปัญหาที่สามารถทำได้ และง่ายดายกว่านั้น คือการไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอื่นในประเทศเพื่อนบ้านแทน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และมีศักยภาพ ไม่แพ้มาบตาพุดของประเทศไทยเลย

แต่ทำไมองค์กรนี้ ถึงยังเลือกที่จะเดินหน้าลงทุนต่อในประเทศไทย ทั้งยังลงทุนจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินสิ่งแวดล้อม ลงทุนด้านการนำเอาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ จนถึงการจัดทำแผนดำเนินกิจการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ออกมายอมรับได้ทั้งในระดับชุมชนใกล้เคียง ระดับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และระดับประเทศ ซึ่งการลงทุนที่กล่าวมานั้น ล้วนแต่เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจจะมากกว่าการย้ายฐานลงทุน ไปลงทุนในแหล่งอุตสาหกรรมประเทศเพื่อนบ้านด้วยซ้ำ เพราะเหตุใด องค์กรนี้ถึงเลือกที่จะเดินหน้าลงทุนต่อในประเทศไทย?

ทีนี้ผมก็จะมาตอบคำถาม ในเหตุการณ์ทั้ง 2 กรณีข้างต้นที่กล่าวมานะครับ ถ้าสมมติว่า ทั้ง 2 องค์กรที่กล่าวถึงนั้น ได้ทำไปในสิ่งที่หลายๆคนต่างคิดว่าเป็นทางออก หรือเป็นแนวทางที่ดีในการดำเนินธุรกิจ เพราะการดำเนินธุรกิจนั้น มีเป้าหมายอยู่เพียง 1 เดียวที่เป็นเป้าหมายสูงสุด นั่นก็คือ “เพื่อผลกำไรสูงสุด”

ซึ่งแน่นอนว่าถ้าองค์กรทั้ง 2 ทำตามที่หลายๆคนต่างคิดว่าเป็นแนวทางที่ดี องค์กรก็อาจจะได้กำไรจากการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะไม่ต้องเอาเงินทุนมาจมกับโครงการที่ถูกระงับ และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ดำเนินงานต่อ ทั้งยังไม่ต้องเสียเงินลงทุนเพิ่ม เพื่อการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมซะอีก

แต่ทีนี้ผมจะย้อนถามกลับไปนะครับ ว่า “แล้วจริยธรรมอยู่ที่ไหน?” ลองนึกสภาพว่า ถ้าสมมติองค์กรที่กล่าวถึงในเหตุการ์แรกนั้น ได้ทำการจัดซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัย ที่สามารถทดแทนการใช้แรงงานมนุษย์ได้กว่า 98% ผลกระทบที่จะตามมาคืออะไร? คำตอบนั้นง่ายมากครับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นก็คือ “การว่างงาน” ของพนักงาน ลองคิดแบบตัวเลขง่ายๆว่า ถ้าสมมติโรงงานมีพนักงานอยู่ทั้งสิ้น 100 คน ถ้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาใช้ในสายการผลิตนั้น สามารถทดแทนมนุษย์ได้ถึง 98% เท่ากับว่า พนักงานกว่า 98 ชีวิตจะต้องถูกปลดออกจากงาน และกลายสภาพเป็นผู้ว่างงานโดยทันที

แล้วถ้าสมมติว่า โรงงานผลิตแห่งนั้นมีพนักงานหลักพันคนล่ะครับ ผลกระทบด้านการว่างงานก็จะสูงขึ้นไปอีก เมื่อคนว่างงาน ก็ไม่มีรายได้เกิดขึ้น เมื่อไม่มีรายได้ รัฐก็ย่อมไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากประชาชนเหล่านี้ได้ ทำให้รัฐขาดแคลนรายได้ ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูล เชิงปริมาณ ที่สามารถหาค่าที่วัดได้นะครับ แล้วถ้าเป็นข้อมูล เชิงคุณภาพ ที่ไม่สามารถวัดค่าได้ล่ะ? มีอีกมากมายมหาศาลครับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว และที่ร้ายแรงไปกว่านั้น คือ ก่อให้เกิดภาพลบที่รุนแรงต่อบริษัทอย่างมหาศาล ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น แม้วัดค่าไม่ได้ แต่ก็ส่งผลเสียหายเป็นลูกโซ่ทั้งในระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับสังคม!!

ในกรณีของบริษัทที่ 2 ถ้าสมมติองค์กรได้ย้ายฐานการลงทุน ไปเป็นแหล่งอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้านแทน เพื่อประหยัดต้นทุน และไม่ต้องพบกับสภาวะชะงักงันจากการถูกระงับโครงการ สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย อาจจะไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดค่าเป็น “ลบ” แต่จะก่อให้เกิดการสูญเสียโอกาสของหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชน สังคม และประเทศชาติ เพราะอะไรหรอครับ? เพราะถ้าบริษัทที่ว่าไม่ลงทุนในประเทศไทยแล้ว ภาษีที่ประเทศไทยควรจะได้ ก็จะกลายเป็นภาษีของประเทศเพื่อนบ้านไปแทนนั่นเอง องค์กรขนาดใหญ่เหล่านี้ ล้วนสร้างรายได้ให้แก่รัฐในจำนวนอย่างน้อยๆหลายร้อยล้านต่อปี

ซึ่งเงินที่ว่าสามารถนำมาพัฒนาประเทศได้อีกมากมาย หรืออาจจะก่อให้เกิดระบบสาธารณูปโภคที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น ให้แก่หมู่บ้านๆหนึ่งได้ด้วยซ้ำไป รวมไปถึงอัตราการจ้างงาน เพราะโครงการนับสิบโครงการของบริษัท ล้วนแต่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากนับพันคน แต่ถ้าบริษัทได้ย้ายฐานการลงทุนไปที่ประเทศเพื่อนบ้านแทน อัตราการจ้างงานที่จะก่อให้เกิดรายได้ แก่ประชาชนนับพันคน ก็จะหายไปในพริบตา ซึ่งโอกาสประชาชนไทยจะได้มีอาชีพ มีรายได้ และมีความมั่นคงในชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน

การตัดสินใจของทั้ง 2 องค์กร คงจะพอเป็นตัวอย่าง และเป็นแนวทางให้แก่ผู้อ่านทุกๆท่านได้ เพียงแต่ท่านนำมาประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน และการดำเนินธุรกิจของตัวท่านเอง จริงอยู่ที่การดำเนินตามวิสัยทัศน์ การเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย รวมไปถึงความทะเยอทะยานที่จะทำความฝันให้สำเร็จ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดี และเป็นแรงผลักันที่มีประสิทธิภาพทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดนี้เอง ก็เป็นดาบสองคมเช่นกัน

องค์กรหลายๆองค์กร หรือคนบางคน มุ่งแต่ที่จะไปข้างหน้า จนลืมมองบุคคล หรือสิ่งที่อยู่รอบตัวไป จนบางครั้ง “ความทะเยอะทะยาน ก็ทำให้มนุษย์ลืม แม้กระทั่งความดีงาม หรือจริยธรรมไป” ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ต่างเป็นสิ่งที่มนุษย์ต่างพูดถึงกันมาแต่นมนานแล้วทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด เพียงแต่เราลืมมันไปเท่านั้น

การหาความสมดุลระหว่าง จริยธรรม และความทะเยอะทะยาน ในชีวิต หรือในธุรกิจ อาจจะเป็นเรื่องยากในบางครั้ง แต่ก็เป็นเรื่องที่ง่ายดายในบางเวลา ซึ่งไม่สำคัญ ว่าคุณจะค้นหาจุดๆนั้นเจอหรือไม่ แต่สำคัญกว่าตรงที่ “คุณจะหาหรือไม่หา” เท่านั้นเอง อย่าลืมว่า “ทางเลือกที่ดีที่สุด หรือทางเลือกที่ให้ประโยชน์สูงสุด อาจจะไม่ใ่ชทางเลือกที่ถูกต้อง หรือเหมาะสม เสมอไป…”


Balance of Morality and Ambition

Our Columnist @ www.sarut-homesite.net

พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน (Sandels)

25 พ.ค. 2553

Author: admin

3 thoughts on “Balance of Morality and Ambition : พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน

  1. เขียนดีครับ เห็นด้วยนะครับ ผมเองก็ชอบแนวคิด Social business enterprise เหมือนกัน เวลาเรียน หากเรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์หรือการเงิน จะมีแต่คนสอนให้ “ได้กำไรสูงสุด” ทั้งๆที่ความจริงกำไรไม่ได้หมายถึงเงินอย่างเดียว คุณค่าทางจิตใจก็เป็นกำไรอย่าางหนึ่งเหมือนกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.