ลงทุนปีละ ‘หนึ่งหมื่นสี่พันบาท’ ก็เป็น ‘เศรษฐีร้อยล้าน’ ได้

“… การเก็บเงินปีละ 14,000 บาท จะได้เป็นเศรษฐีร้อยล้านน่าสนใจมาก แต่ถ้าทำตามวิธีการของคุณ ต้องรอถึง 40 ปี ทำให้ใจห่อเหี่ยว …”

“… ต้องรอถึง 40 ปี ค่อยเป็นมหาเศรษฐี ดีไม่ดีตายกลายเป็นผีไปแล้ว คุณมีเคล็ดลับช่วยให้ร่ำรวยเร็วขึ้นมั้ย? …”

การสร้างความร่ำรวยต้องใช้เวลา ภายในเวลาอันสั้นจะไม่เห็นผล คนส่วนหนึ่งรู้คำตอบแล้วว่า ถ้าเก็บเงินลงทุนแบบนี้ 40 ปี จะได้เงินร้อยกว่าล้าน จึงทายว่า 10 ปีน่าจะได้สัก 5 ล้าน บางคนทายว่าประมาณ 1 ล้าน แต่ว่าคำตอบที่คำนวณได้น่าแปลกใจเหมือนกันคือได้แค่ 360,000 บาท เมื่อเทียบกับลงทุน 40 ปี ได้ร้อยกว่าล้าน แตกต่างกันถึง 300 กว่าเท่า

ยังดีที่มีคนตั้งคำถามแบบนี้ ไม่อย่างนั้นมีผู้ทำตามวิธีการนี้ เก็บเงินไปลงทุนปีละ 14,000 บาท นำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนปีละ 20% นึกว่านานเข้าคงร่ำรวยเป็นเศรษฐี คิดไม่ถึงว่าแค่สิบปีมีเงินสะสมแค่สามแสนหก คงเข้าใจว่าถูกหลอกซะแล้ว

ต้องเข้าใจว่านี่เป็นการ “วิ่งมาราธอน” ไม่ใช่ “วิ่งร้อยเมตร” สิ่งที่ต้องเผชิญคือน้ำอดน้ำทน ไม่ใช่แรงฮึดแค่อึดใจเดียว การลงทุนสร้างเนื้อสร้างตัวเงื่อนไขข้อแรกอยู่ที่เวลา คุณต้องผ่านการรอคอยจึงจะเห็นผล

เรามาดูยอดเงินสะสมจากการลงทุนปีละ 14,000 บาท โดยได้รับผลตอบแทนปีละ 20% ทบต้นไปเรื่อยๆในปีต่างๆ

– ปีที่ 5  ยอดเงินสะสม  =  100,000 บาท
– ปีที่ 10  ยอดเงินสะสม  =  360,000 บาท
– ปีที่ 15  ยอดเงินสะสม  =  1,010,000 บาท
– ปีที่ 20  ยอดเงินสะสม  =  2,610,000 บาท
– ปีที่ 25  ยอดเงินสะสม  =  6,610,000 บาท
– ปีที่ 30  ยอดเงินสะสม  =  16,550,000 บาท
– ปีที่ 35  ยอดเงินสะสม  =  41,280,000 บาท
– ปีที่ 40  ยอดเงินสะสม  =  102,810,000 บาท

นี่เป็นข้อสังเกตที่ว่าทำไมหาเงินเพิ่มอีก 10 ล้านบาท ยังง่ายกว่าหาเงิน 1 ล้านบาทแรกมากนัก

สำหรับคนที่ก่อร่างสร้างตัวด้วยมือเปล่า คงมีประสบการณ์อย่างนี้มาแล้ว หมื่นแสนเรื่องราวตอนเริ่มต้นนั้นลำบากที่สุด ตอนแรกเริ่มกว่าจะหาเงินได้ช่างลำบากเลือดตาแทบกระเด็น ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเงินทองหายากหาเย็นถึงเพียงนี้ แต่หลังจากประสบความสำเร็จ เงินทองก็ไหลมาเทมา เรียกว่าอยากจะหยุดยั้ง ก็ยั้งไว้ไม่อยู่ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเงินทองกลายเป็นหาง่ายเพียงนี้

ทุกคนอยากจะหยิบเงินล้านที่สอง หรือหยิบเงินสิบล้านแบบง่ายๆ ไม่อย่างนั้นก็ภาวนาให้เงินไหลมาเทมา ปัญหาอยู่ที่ก่อนจะหยิบเงินล้านที่สอง ต้องมีเงินล้านแรกก่อน ทำอย่างไรจึงจะได้เงินล้านแรก?

เศรษฐีส่วนใหญ่สร้างเนื้อสร้างตัวจากเงินก้อนเล็กๆ ผ่านวันเวลาอันยาวนาน ค่อยๆเก็บสะสม ตอนแรกเป็นเงินก้อนเล็กๆ แทบไม่น่าเชื่อ แต่ความสำเร็จเรียงร้อยจากความสำเร็จเล็กๆทั้งหลาย สะสมพอกพูนเป็นสมบัติกองโต

แสดงให้เห็นว่า “เวลา” มีความสำคัญต่อการลงทุนสร้างฐานะ “ความอดทน” เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต้องมี และไม่ใช่อดทนไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปี ยิ่งอดทนยี่สิบสามสิบปี หรือสี่สิบห้าสิบปี พลังที่จะสร้างความร่ำรวยก็ยิ่งใหญ่โตมโหฬาร

แต่ทุกวันนี้พวกเราตกอยู่ภายใต้กระแสของ “อาหารจานด่วน” ทุกเรื่องเน้นที่ความรวดเร็วและประสิทธิผล เวลาทานอาหารก็รับประทานอาหารแบบฟาสต์ฟู้ด ส่งจดหมายก็ใช้บริการด่วนพิเศษ ขับรถก็ต้องขึ้นทางด่วน แม้แต่การศึกษาก็ยังใช้วิธีเรียนลัด ผู้คนยิ่งมายิ่งหวังผลทันตาเห็น กลายเป็นรีบร้อนเร่งด่วน ขาดซึ่งความอดทน แม้แต่การลงทุนสร้างฐานะก็ไม่มีข้อยกเว้น

ถ้าเป็นกิจกรรมอย่างอื่น อาจเร่งความเร็วได้ แต่การลงทุนสร้างฐานะเร่งเร็วไม่ได้ เพราะ “เวลา” เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการสร้างตัว ยิ่งเร่งเร็วยิ่งไม่บรรลุเป้าหมาย ซึ่งส่วนมากจะ “เลิกล้มกลางคัน” เมื่อเจอกับเงื่อนไขเวลา ก็เกิดความท้อถอย พาลขายหุ้น ขายอสังหาริมทรัพย์ เดินออกจากตลาดหุ้น หารู้ไม่ว่าการขาดความอดทนและความตั้งใจ ยากจะพบกับความสำเร็จได้

การลงทุนสร้างฐานะต้องใช้เวลา ถ้าหากไม่ทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะเกิดความร้อนใจ พอร้อนใจก็ทำเรื่องเสี่ยงๆ ฉะนั้น แทนที่จะพบกับความสำเร็จ กลับกลายเป็นล้มเหลว ไม่ว่าการสร้างสมความร่ำรวยก็ดี การสั่งสมประสบการณ์ก็ดี ไม่สามารถบรรลุได้ในเวลาชั่วข้ามคืน หากแต่ต้องใช้เวลาเข้าแลกมา คนที่อยากรวยทางลัด ได้แต่ใช้วิธีสุ่มเสี่ยงหรือว่าเล่นพนัน หรือทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงๆ แต่ผลของมันคือสิ้นเนื้อประดาตัว จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

คนที่อยากรวยเร็วไม่เหมาะกับการลงทุนสร้างฐานะ เพราะการลงทุนแบบช้าหน่อยแต่ชัวร์แน่นอน พลังที่สร้างฐานะจะใหญ่โตกว่าที่พวกเราคาดคิดไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องใช้เวลานานกว่าที่พวกเรานึกเอาไว้ด้วยเช่นกัน

ลองนึกดูว่าคุณแม่ต้องผ่านการอุ้มท้องกว่าสิบเดือน ชาวนาปลูกข้าวก็ต้องรอน้ำรอฝน ต้นข้าวจึงจะออกรวงได้

การพอกพูนของเงินทองก็เหมือนกับการเติบโตของชีวิต ผ่านวันผ่านเดือนผ่านปี ได้รับดอกเบี้ยทบต้น ไม่ใช่ถึงเป้าที่วางไว้ในเวลาแค่ชั่วข้ามคืน นักลงทุนบางคนทำกำไรมหาศาลในชั่วข้ามคืน แต่ก็สิ้นเนื้อประดาตัวเพียงชั่วข้ามคืนได้เช่นกัน

######

อยากให้อ่านบทความนี้ประกอบด้วยครับ

คุณๆคงเคยได้ยินชื่อ อัลเฟรด เบิร์นฮาร์ด โนเบล มาแล้ว เขาเกิดในปี พ.ศ. 2376 และถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2439 เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน เป็นผู้คิดค้นทำดินระเบิดจนมั่งคั่ง จึงนำเงินที่ได้มาทั้งหมดตั้งเป็นกองทุนให้รางวัล ชื่อว่ารางวัลโนเบล

เดือนตุลาคมของทุกปี คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลจะประกาศรายชื่อบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งมีอยู่หลายสาขาด้วยกันเช่น สาขาฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ อักษรศาสตร์ รวมทั้งรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ สำหรับผู้ที่นำสันติสุขมาสู่โลกมนุษย์ในรอบปี

ผู้ที่ได้รางวัลโนเบล ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของชีวิต ทุกคนไม่เพียงแต่ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ ยังจะได้รับเงินรางวัล 1,000,000 ดอลล่าร์สหรัฐอีกด้วย

แต่ละปี คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลจะประกาศให้รางวัลรวม 5 สาขาด้วยกัน หมายความว่าทุกปีต้องจ่ายเงินรางวัล 5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ จึงมีคนอดถามไม่ได้ว่า กองทุนรางวัลโนเบลมีจำนวนเงินมากน้อยแค่ไหน จึงแบกรับภาระจ่ายเงินรางวัลจำนวนมหาศาลได้ทุกปี

อันที่จริงความสำเร็จของกองทุนรางวัลโนเบล นอกจากเงินทุนของ อัลเฟรด เบิร์นฮาร์ด โนเบลแล้ว ต้องยกประโยชน์ให้แก่คณะกรรมการรางวัลโนเบลที่ลงทุนอย่างถูกทาง

กองทุนรางวัลโนเบลก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2439 ด้วยเงินบริจาคจาก อัลเฟรด เบิร์นฮาร์ด โนเบล จำนวน 9,800,000 ดอลล่าร์สหรัฐ เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน เพื่อจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ฉะนั้นการบริหารเงินกองทุนจะเกิดข้อผิดพลาดไม่ได้เด็ดขาด

เพราะเหตุนี้ตอนแรกจัดตั้งกองทุน ในระเบียบข้อบังคับระบุไว้อย่างชัดเจน ให้ลงทุนในกิจการที่มั่นคง ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน เช่นฝากเงินกับธนาคารและซื้อพันธบัตร ไม่สมควรลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจที่ดินซึ่งมีความเสี่ยงสูง

นี่เป็นวิธีการลงทุนที่ปลอดภัย แต่ผลจากการยอมสละผลตอบแทนสูง ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ปรากฏว่า 50 ปีให้หลัง เงินรางวัลที่จ่ายออกไป บวกกับค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของกองทุน เงินทุนของกองทุนรางวัลโนเบลหดหายไปถึงสองในสาม และเมื่อถึงปี พ.ศ. 2496 เงินกองทุนก็ลดลงเหลือเพียง 3,000,000 ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น

คณะกรรมการบริหารกองทุนรางวัลโนเบล พอเห็นเงินกองทุนร่อยหรอลง ค่อยตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อปี พ.ศ. 2496 จึงแก้ไขข้อบังคับกองทุน จากเดิมซึ่งอนุญาตให้ฝากเงินธนาคารกับซื้อพันธบัตร เปลี่ยนเป็นลงทุนในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก

ผลจากการเปลี่ยนแนวความคิดในการลงทุน ช่วยพลิกสถานะทางการเงินของกองทุนรางวัลโนเบล หลังจากนั้นเป็นต้นมาสามารถจ่ายเงินรางวัลโนเบลตามเดิมติดต่อกัน 40 ปี เมื่อถึง พ.ศ. 2536 ทางกองทุนไม่เพียงทำกำไรในส่วนที่ขาดทุนไปกลับคืนมา สินทรัพย์สุทธิของกองทุนรางวัลโนเบลยังสุงถึง 270 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

ถ้าหากไม่เปลี่ยนแนวความคิดในการลงทุน ยังคงฝากเงินไว้กับธนาคารเป็นหลัก ทุกวันนี้คงไม่มีปัญญาจ่ายเงินรางวัล และคงจะล้มหายตายจากโลกไปแล้ว

จากบทเรียนของกองทุนรางวัลโนเบล ทำให้กองทุนของสหรัฐอเมริกาจำนวนมากเปลี่ยนแปลงวิธีการลงทุน แทนที่จะฝากเงินกับธนาคารหรือซื้อพันธบัตร จึงพากันหันไปซื้อหุ้นและถือครองอสังหาริมทรัพย์แทน

คุณๆอยากให้เงินทองที่หามาด้วยความยากลำบากผ่านไปอีกหลายสิบปี กลับหดตัวเหมือนกับกองทุนโนเบลในระยะแรก หรือเติบโตแบบก้าวกระโดดในภายหลัง?

ปัญหาอยู่ที่คุณลงทุนในรูปแบบอะไร ถ้าหากยังฝากเงินไว้กับธนาคาร รู้ตัวตอนนี้ยังไม่สาย กองทุนรางวัลโนเบลเพียงปรับเปลี่ยนแนวความคิดในการลงทุน ทุกอย่างก็พลิกฟื้นดีขึ้น และอยู่รอดปลอดภัยจนถึงทุกวันนี้

ที่มา : www.thaivi.org

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.