.
มีนักลงทุนหลายท่านมักเปรียบเปรยการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นเหมือนการทำ ‘ศึกสงคราม’ ซึ่งประกอบไปด้วย นักรบหลากหลาย ที่ต่างก็มุ่งหวังที่จะนำชัยชนะมาสู่ตนเอง ผู้ชนะ ก็ได้รางวัลกลับไปเป็นผลกำไรจากการลงทุน ส่วนผู้แพ้ ก็เสียเงินและขาดทุนจากการสู้รบคราวนั้น จากนั้นต่างคนต่างก็หวนกลับมา สู้รบกันใหม่ในสมรภูมิเดิมต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในระยะยาวผู้ชนะเท่านั้นที่จะอยู่รอดจากสงครามอันโหดร้ายนี้ได้
.
ฟังดูเหมือนนิยาย แต่ในความเป็นจริงก็มีนักลงทุนหลายท่าน ที่มุ่งมั่นจะเอาชัยชนะให้ได้ในสงครามการเงินครั้งนี้ ถึงแม้จะเสียหายและขาดทุนจากการลงทุนในตลาดหุ้น แต่ก็ยังมีความหวังว่า จะได้กำไรกลับคืนมา ขอแค่เท่าทุนก็ยังดี
.
บางท่านถึงกับบอกว่า ถ้าได้เท่าทุนแล้วจะเลิก ‘เล่นหุ้น’ ก็เลยนำ ‘นิสัยการพนัน’ มาใช้ในการลงทุน
.
นั่นคือ ทุ่มเงินลงไปมากกว่าเดิม เพื่อที่จะได้กลับมาเท่าทุนเร็วขึ้น ผลปรากฏว่า ยิ่งขาดทุนหนักมากไปกว่าเดิม จะถอยก็เสียดาย จะสู้ต่อก็ไม่ค่อยมีกำลังใจ คิดอะไรไม่ออก กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปที่จะถอนตัวจากตลาดหุ้นเสียแล้ว แต่ถึงยังไงก็ขอให้ ‘ชนะ’ ตลาดสักทีก็ยังดี ซึ่งก็มีบ้างที่ได้กำไรแต่มักจะได้กำไรน้อย แต่เมื่อตอนเสียจะขาดทุนมาก ไม่รู้ทำไม
.
จริงๆแล้ว นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มีมากมายหลายประเภท และต่างคนต่างก็คาดหวังว่าจะได้ ‘กำไร’ จากตลาดหุ้นด้วยกันทั้งนั้น คงไม่มีใครคิดที่จะเข้าตลาดหุ้นเพื่อที่จะ ‘ขาดทุน’ ถ้าใครคิดว่า ตัวเองจะขาดทุนจากการลงทุนในตลาดหุ้นคงไม่เข้ามาในตลาดตั้งแต่แรก
.
แต่ความจริงอีกข้อก็คือว่า คนที่ได้ ‘กำไร’ จากตลาดหุ้นได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวนั้น มีจำนวนน้อยมากทีเดียวเมื่อเทียบกับผู้ลงทุนทั้งหมดในตลาด
.
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งๆทุกคนต่างคาดหวังที่จะได้กำไรกลับไป แต่สุดท้ายกลับขาดทุนจากการลงทุนซะเป็นส่วนใหญ่
.
ถ้าคิดว่า การลงทุนในตลาดหุ้นคือ การทำสงคราม เราก็จำเป็นจะต้องมี ‘ตำราพิชัยสงคราม’ ไว้ สำหรับการวางแผนและการทำศึก ถ้าปราศจากการวางแผนตามตำราที่มีแล้ว ไพร่พลมากพร้อมแค่ไหนก็ไม่สามารถรับประกันชัยชนะในการศึกสงครามได้ เหมือนนักลงทุนที่มีเงินทุนมากและคิดว่า เพียงแค่มีเงินก็ชนะศึกการเงินครั้งนี้ได้อย่างง่ายดาย
.
แต่ในความเป็นจริง เงินมากเงินน้อยไม่ใช่สิ่งสำคัญ มีเงินมากก็อาจจะหมดตัวได้ ถ้าขาดการวางแผนและปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
.
นักการสงครามส่วนใหญ่จะถือว่า ตำราพิชัยสงครามของ ‘ซุนวู’ เป็นหนึ่งในสุดยอดตำราเกี่ยวกับการทหารที่มีมานานหลายพันปี และยังคงใช้ได้อย่างไม่ล้าสมัย หลายท่านได้นำตำราพิชัยสงครามฉบับนี้มาใช้กับศาสตร์ต่างๆมากมาย ทั้งการเมือง การตลาด หรือแม้แต่การบริหารบุคคล เห็นได้จากหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการนำตำราพิชัยสงครามซุนวูมาประยุกต์ใช้ ได้ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมาก
.
ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะสามารถใช้หลักการจากตำราพิชัยสงครามของท่านซุนวูในการลงทุนในตลาดหุ้นได้อย่างไรบ้าง
.
ในตำรามีคำกล่าวคลาสสิกของท่านซุนวูประโยคหนึ่งก็คือ ‘รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง รู้เราแต่ไม่รู้เขา ชนะหนึ่งแพ้หนึ่งสลับกันไป ไม่รู้เราไม่รู้เขา รบร้อยครั้งแพ้ร้อยครั้ง’
.
บางท่านอาจจะบอกว่า เชยจัง ชาวบ้านเขาได้ยินกันมาตั้งนานแล้วประโยคนี้
.
ถ้าได้ยินแล้วเข้าใจและนำไปปฏิบัติจริง คงหาคนที่ขาดทุนจากการลงทุนในตลาดหุ้นได้น้อยมาก เราได้ยินประโยคคลาสสิกนี้มาเป็นเวลานานหลายสิบปี แต่มีสักกี่คนที่ทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติในการลงทุนจริงๆ
.
นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่มักจะซื้อหุ้นตามที่มีคนบอกว่าดี ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติ หรือแม้แต่โบรกเกอร์ โดยที่ไม่ได้วิเคราะห์หุ้นที่จะลงทุนด้วยตนเอง บางท่านกระโดดเข้าร่วมวงหุ้นที่กำลังถูกมะรุมมะตุ้มในตลาด ขณะที่ราคาหุ้นบริษัทนั้นกำลังวิ่ง โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทนั้นทำอะไร การทำเช่นนี้เท่ากับว่า ไม่ได้ทำตามประโยคคลาสสิกของท่านซุนวู ที่ว่าเราไม่ได้ ‘รู้เขา’ อย่างแท้จริง
.
นั่นคือ เราไม่ได้รู้หุ้นที่จะลงทุนเป็นอย่างดีนั่นเอง นับว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่กำไรบ้างขาดทุนบ้าง ดังคำกล่าวของท่านซุนวูไม่มีผิดเพี้ยน
.
การซื้อหุ้นที่เราไม่รู้จักทำให้นักลงทุนตัดสินใจผิดพลาด ตัวอย่างเช่น เมื่อราคาหุ้นขึ้นไปในระยะแรกๆ นักลงทุนจะยังไม่มั่นใจ ยังกล้าๆกลัวๆ เลยลังเลที่จะซื้อ แต่ราคาหุ้นกลับวิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อราคาขึ้นมาสูง นักลงทุนก็จะยิ่งมั่นใจในหุ้นตัวนั้น และคิดว่าราคาจะวิ่งไปต่อ รวมทั้งกลัวตกรถไฟ เลยกระโดดเคาะซื้อแทบจะไม่ทัน
.
แต่หารู้ไม่ว่าที่ระดับราคานั้นเป็นราคาที่เกินพื้นฐานไปมาก เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นสักเพียงเล็กน้อย หรือนักลงทุนรายใหญ่ขายออกมาเป็นจำนวนมาก ราคาหุ้นก็จะร่วงลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนที่เข้าซื้อหลังๆที่ยังคิดว่าราคาหุ้นจะวิ่งไปต่อก็จะ ‘ติดดอย’ เป็นประจำ
.
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นมาแล้วปรากฏว่า ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่ได้เข้าใจหุ้นที่ลงทุนดีพอก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เมื่อเห็นราคาหุ้นต่ำลงมากๆ ก็กลัวจะขาดทุนมากกว่าเดิม เลยตกใจขายออกไป แต่หารู้ไม่ว่าราคาที่ขายออกไปนั้นเป็นราคาที่ต่ำกว่าพื้นฐานมาก ราคาหุ้นจึงดีดกลับมาที่ราคาสูงขึ้นได้
.
ภาษานักลงทุนทั่วไปเรียกอาการแบบนี้ว่า ‘ขายหมู’ คือขายหุ้นเสร็จ ราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้น นักลงทุนก็ ‘ขาดทุน’ ตามระเบียบ
.
ทั้งสองกรณีนี้ ถ้านักลงทุนสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองว่าที่ระดับราคาไหนที่เกินพื้นฐานไปแล้วก็จะไม่เข้าไปไล่ซื้อให้ติดดอย หรือ พบว่า ราคาต่ำกว่าพื้นฐานแล้วก็ไม่ขายหมูให้เจ็บใจ ซึ่งการวิเคราะะห์หุ้นเพื่อพิจารณาราคาพื้นฐานนั้น ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจในหุ้นที่จะลงทุนเป็นอย่างดี เรียกว่าต้อง ‘รู้เรารู้เขา’ ถึงจะรบชนะได้
.
นักลงทุนที่กำไรบ้างขาดทุนบ้าง อาจจะต้องมาพิจารณาพิชัยสงครามของท่านซุนวูดูอย่างจริงจัง ว่า ท่าน ‘รู้เรารู้เขา’ มากน้อยแค่ไหน จริงหรือไม่ที่เรา ‘ไม่รู้เขา’ อย่างที่ท่านซุนวูกล่าวไว้จริงๆ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะต้องพัฒนาตนเองให้เข้าใจในหุ้นที่เราจะลงทุนให้มากขึ้น นอกเหนือจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์แล้ว การหาความรู้จากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุน รวมทั้งรายงานประจำปีของบริษัท ก็จะช่วยให้ท่านได้เข้าใจในการที่จะ ‘รู้เขา’ มากขึ้น
.
ส่วนนักลงทุนที่แพ้สงครามมาโดยตลอด หรือขาดทุนจากการลงทุนเป็นประจำ นอกเหนือจากการที่จะต้อง ‘รู้เขา’ ด้วยการเข้าใจในหุ้นที่จะลงทุนแล้ว ควรจะทำการ ‘รู้เรา’ ให้มากขึ้นไปด้วย นั่นคือต้องพิจารณาตนเองว่า เราเป็นนักลงทุนประเภทไหนกันแน่
.
หลายท่านเป็นนักเก็งกำไรแต่ชอบถือลงทุนยาว เพราะไม่กล้าขายขาดทุน ทำให้ต้องขาดทุนเป็นจำนวนมาก แต่เวลามีกำไรกลับรีบขายเพราะกลัวหุ้นตก เลยได้กำไรน้อย รวมๆออกมาเลยกลายเป็น กำไรน้อย ขาดทุนมาก ถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ไพร่พลหรือเงินทุน มากเท่าไหร่คงไม่เพียงพอที่จะรบชนะสงคราม
.
การศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาการลงทุนจะช่วยให้ท่านเข้าใจตนเองมากขึ้น รวมทั้งเข้าใจว่าเหตุใดนักลงทุนถึงมีทัศนคติ และพฤติกรรมที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลในการลงทุนเท่าใดนัก
.
ดังนั้น ถ้าท่านคิดว่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เปรียบเสมือนการทำสงครามแล้วเช่นไร ท่านก็ยิ่งต้อง ‘รู้เขารู้เรา’ มากขึ้นเท่านั้น
.
‘ซุนวู’ กับ การลงทุน
.
Value Way
.
วิบูลย์ พึงประเสริฐ
1 thought on “‘ซุนวู’ กับ การลงทุน : วิบูลย์ พึงประเสริฐ”