“เศรษฐกิจอเมริกายังจะลงต่อไป” – ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เศรษฐกิจอเมริกาฟื้นแล้วหรือยัง? คำถามดังกล่าวเป็นคำถามยอดนิยมอยู่ในปัจจุบัน ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมพวกเราจึงให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจอเมริกากันมากมาย ทั้งๆที่เศรษฐกิจของอเมริกาแม้ว่าจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก ในฐานะที่เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับทวีปเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและญี่ปุ่นก็ตาม แต่ทุกวันนี้ประเทศอื่นๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ซื้อสินค้าที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียผลิตมากขึ้น ถ้าหากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย และตะวันออกกลาง คือบรรดาประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั้งหลายมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็อาจจะชดเชยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกาได้ อีกอย่างหนึ่งทุกวันนี้การเคลื่อนย้ายของเงินทุนไปมาซึ่งเป็นเหตุให้ราคาสินทรัพย์ทั้งที่เป็นสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น ราคาหุ้น ตราสารทางการเงิน และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียก็อาจจะฟื้นก่อนเศรษฐกิจของอเมริกาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรออเมริกาฟื้นก่อน

เท่าที่ตามดูเงินทุนไหลกลับมาที่ตลาดเอเชียตั้งแต่เริ่มไตรมาส 2 อาจจะด้วยเหตุผล 2 ประการ

 – ประการแรก การที่อเมริกาหลังจากรัฐสภาสหรัฐได้ผ่านกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ความจริงแล้วเงินส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่บอก เพราะรัฐบาลออกพันธบัตรแล้วให้ธนาคารกลางเป็นผู้ซื้อพันธบัตร พูดง่ายๆ ก็คือ ใช้วิธีพิมพ์เงินออกมาใช้แล้วรัฐบาลอเมริกันก็ใช้เงินที่ธนาคารกลางซื้อพันธบัตรเอามาอุ้มสถาบันการเงิน และบริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัทผลิตรถยนต์บ้าง บริษัทน้ำมันบ้าง โดยการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทเหล่านี้ ขณะนี้สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารได้รวมเอาบริษัทวาณิชธนกิจเข้าไปแล้ว รวมทั้งบริษัทใหญ่ๆ ต่างก็กลายเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว เพราะรัฐบาลไปพยุงโดยการแปลงหนี้ธนาคารเป็นหุ้น แล้วรัฐบาลก็เข้าไปซื้อซึ่งขัดกับหลักการและปรัชญาเศรษฐกิจของคนอเมริกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อเพิ่มทุน ตัดบัญชีหนี้สูญต่างๆ มากมายแล้วเงินดอลลาร์ก็หยุดไหลกลับไปอเมริกา แต่กลับจะไหลมาที่เอเชีย ค่าเงินสหรัฐในเอเชียอ่อนลง เงินตราของประเทศเอเชียมีแนวโน้มจะแข็งขึ้น

 – ประการที่ 2 วิกฤตการณ์คราวนี้ไม่สู้จะกระทบจีนและอินเดีย ดังจะเห็นว่าประเทศยักษ์ใหญ่ของประเทศนี้ยังรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ได้ แม้ว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงแต่ก็ยังขยายตัวอยู่ และยังถูกชดเชยโดยการเร่งการลงทุนในประเทศอย่างมโหฬาร ขณะเดียวกัน ก็ลดการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบ เช่น น้ำมันดิบ พลังงาน สินแร่ต่างๆ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ทองแดง และอื่นๆ ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้ราคาตกอย่างฮวบฮาบหมด เข้าใจว่าจีนน่าจะมีบทบาทอย่างสำคัญต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลก รวมทั้งราคาทองคำ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินตราสกุลสำคัญๆ ของโลก และเนื่องจากจีนยังคงเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศตามมาตรา 14 ไม่ใช่ตามมาตรา 8 จึงยังไม่ต้องเปิดตลาดการเงิน รวมทั้งยังไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลหลายอย่าง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนและอินเดียยังคงเกินดุลอย่างต่อเนื่อง โดยเงินไม่แข็งขึ้นจึงทำให้สามารถรักษาอัตราการขยายตัวไว้ในอัตราที่สูงได้

จีนเป็นประเทศที่จัดการบริหารเศรษฐกิจส่วนรวม หรือ “macroeconomic management” ที่ดีที่สุดในโลกขณะนี้โดยไม่เคยเชื่อไอเอ็มเอฟและแข็งข้อกับข้อเรียกร้องของอเมริกามาโดยตลอด เป็นตัวของตัวเองและเข้าใจเศรษฐกิจของตัวเองดีกว่าประเทศอื่นๆ ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดทั้งหมด อาจจะเป็นเพราะปรัชญาความเชื่อที่ยังมีความคิดทางสังคมนิยมติดอยู่ เพราะยังคงสำนักงานคณะกรรมการวางแผนแห่งชาติ ที่มีการวางแผนจากส่วนกลางที่กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจยังต้องปฏิบัติตามไม่ได้ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดทั้งหมด พร้อมๆ กันก็เอาจริงเอาจังกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงและลงโทษอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้จีนจึงยังคงรักษาอัตราการขยายตัวในอัตราสูงไว้ได้

เมื่อค่าเงินในเอเชียเริ่มแข็งขึ้น พร้อมๆกับราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้นมาใหม่ จีนก็เริ่มสะสมสต๊อกวัตถุดิบ จึงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้ประเทศที่ได้ประโยชน์ไม่น่าจะเป็นอเมริกา สหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นประเทศที่เสียประโยชน์ ส่วนภูมิภาคที่จะได้ประโยชน์จึงน่าจะเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง การค้าและการลงทุนของโลกจึงจะยังหันมาทางเอเชียและตะวันออกกลาง ส่วนเศรษฐกิจของอเมริกาก็จะคงประสบกับปัญหาหนักอยู่ต่อไป และน่าจะยังคงหดตัวต่อไป ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังจะคงมีค่าอ่อนตัวลงไปอีก

สื่อมวลชนในอเมริกาพยายามให้ข่าวว่า เศรษฐกิจของอเมริกาน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้วด้วยอัตราดอกเบี้ยระยะยาว หรือผลตอบแทนของตราสารระยะยาวเกินกว่า 1 เดือนขึ้นไปเริ่มผงกหัวขึ้น น่าจะเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจอเมริกาน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และเตรียมที่จะผงกหัวขึ้น ความจริงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เท่าที่ดูยังไม่เห็นมีสัญญาณอันใดที่ว่าเศรษฐกิจของอเมริกาถึงจุดต่ำสุดที่จะฟื้นตัวแล้ว ด้วยเหตุผลหลายอย่างเช่น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในสหรัฐอเมริกายังไม่ฟื้น ขณะเดียวกันราคาน้ำมันมีราคาแพงขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้การบริโภคในสหรัฐอเมริกายังคงต่ำลง

ที่ดอกเบี้ยระยะยาวดูเหมือนจะขยับตัวสูงขึ้น น่าจะเป็นเพราะการคาดการณ์ของตลาดที่คิดว่าค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐคงจะยังอ่อนต่อไป เพื่อสะท้อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอเมริกา เงินที่รัฐบาลสหรัฐได้รับอนุมัติจากรัฐสภาก็มิได้นำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพียงแต่นำมาพยุงสถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ๆ ต่างๆ ไม่ให้ล้ม ความต้องการทุนก็ยังไม่เกิด ธนาคารและสถาบันการเงินได้เพิ่มทุนมาแล้วก็ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ หรือไม่ก็ไม่กล้าปล่อย ในที่สุดสถาบันการเงินก็นำกลับเข้าไปฝากไว้กับธนาคารกลางตามเดิม ไม่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ถ้าหากสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐยังเป็นเช่นนี้ต่อไป โอกาสที่จะเกิดวิกฤตการณ์รอบที่ 2 ในสหรัฐก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก ถ้าหากเงินดอลลาร์ไม่อ่อนอย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะยับยั้งการนำเข้า กระตุ้นการส่งออกและสร้างความต้องการการลงทุนให้เกิดขึ้นด้วย

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาจึงยังคงเปราะบาง โอกาสที่สหรัฐจะต้องขอเงินเพื่อนำมาพยุงสถานการณ์การล้มละลายจากรัฐสภาอีกก็ยังมีอยู่สูง ที่สถานการณ์ยังประคองอยู่ ก็เพราะเงินที่รัฐบาลยืมมาจากธนาคารกลางแล้วเงินก็ไหลกลับมาที่ธนาคารกลางตามเดิม ไม่ได้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็ร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศออกประกาศชักชวนให้ประเทศต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของตนโดยการกู้ยืมจากตลาด ผลก็คงออกมาอย่างเดียวกัน กล่าวคือ ไม่มีผลอะไรที่จะทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เงินเมื่อไหลออกจากธนาคารเพราะปกติผู้ที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็ฝากเงินอยู่ที่ธนาคาร เมื่อรัฐบาลจ่ายออกไปเงินก็กลับสู่ธนาคารตามเดิม ธนาคารก็ไม่ปล่อยสินเชื่อ เงินก็กลับไปฝากธนาคารกลางแห่งเดิม ไม่ทำให้เกิดการจ้างงาน หรือการใช้จ่ายของผู้คน ธนาคารหรือสถาบันการเงินก็เป็น “กับดักสภาพคล่องตามเดิม ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากตัวเลขยอดหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง ปริมาณเงินก็ไม่เพิ่มขึ้นเพราะเงินเพิ่มมาเท่าใดก็ไหลกลับไปที่ธนาคารกลางตามเดิม”

ที่น่าห่วงก็คือ ปฏิกิริยาตอบโต้จากประเทศที่ถือเงินดอลลาร์ไว้เป็นทุนสำรองที่มีจำนวนมาก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อาหรับ เมื่อก่อนญี่ปุ่นและอาหรับเมื่อมีทุนสำรองมากขึ้นก็นำกลับไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอเมริกันหรือสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ในสหรัฐ เท่ากับเป็นการพยุงค่าเงินดอลลาร์ไว้ แต่คราวนี้จีนและอาหรับจะไม่เหมือนญี่ปุ่นและยุโรปที่ทำตัวเป็นลูกไล่ของอเมริกา จีนเริ่มเขย่าฐานะของเงินดอลลาร์โดยออกมาประกาศร่วมกับรัสเซียว่า เงินดอลลาร์ไม่ควรจะเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศต่อไปแล้ว โลกควรจะสร้างเงินตราชนิดใหม่ที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ แต่เป็นขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ โดยมีการรื้อฟื้นเงิน “สิทธิถอนเงินพิเศษ” หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “SDR” มาใช้อีก แม้ว่าในระยะใกล้ๆ นี้คงทำไม่ได้เพราะเคยคิดจะทำแต่ก็ล้มเหลวมาแล้วเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน

มาเที่ยวนี้จีนเขย่าเงินดอลลาร์โดยประกาศว่าจีนจะปรับสัดส่วนการถือเงินดอลลาร์และเงินตราสกุลอื่นๆ ซึ่งทันทีที่จีนประกาศออกไปค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนลงทันที เมื่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบเงินยูโร เงินยุโรปสกุลอื่นๆ รวมทั้งเงินเยน เงินหยวน การวิพากษ์วิจารณ์ฐานะทางเศรษฐกิจของอเมริกาที่เป็นฐานรองรับค่าเงินดอลลาร์จึงเดินไปในทิศทางที่ทำให้เงินไหลออกจากอเมริกามากยิ่งขึ้น หลายคนวิตกว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินอาจจะเกิดขึ้นอีกในสหรัฐ ถ้าจีนร่วมมือกับญี่ปุ่น กับอาหรับ และกับรัสเซีย เขย่าแรงๆ อีกที

วิธีเขย่าก็อาจจะเริ่มประกาศว่า ต่อไปนี้การซื้อขายน้ำมันจะไม่รับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่จะรับเงินที่มีเสถียรภาพหรือ SDR แทน และในไม่กี่อึดใจค่าเงินดอลลาร์ก็จะอ่อนลงไปอีก การที่จีนออกมาหาแนวร่วมเขย่าเงินดอลลาร์ในยามที่เศรษฐกิจของอเมริกายังอยู่ในสถานการณ์วิกฤต สถานการณ์การเงินยังอยู่ใน “กับดักสภาพคล่อง” อย่างนี้น่าจะเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาที่ย่ำแย่อยู่แล้ว แทนที่จะช่วยพยุงประคับประคองเพื่อมิให้มูลค่าของทรัพย์สินที่อยู่ในรูปของเงินดอลลาร์ให้ตกต่ำลง เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า “จีนกำลังคิดอย่างไร” ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ในฐานะที่จีนถือทรัพย์สินในรูปของดอลลาร์มากที่สุด หากค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงจีนน่าจะเป็นประเทศที่เสียหายมากที่สุด แต่จีนก็ทำ การติดต่อสัมพันธ์กับจีนนั้นต้องระมัดระวัง เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ต่อไปคงจะเป็นมหาอำนาจแทนรัสเซีย ถ่วงดุลอเมริกาในภูมิภาคนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกาในตอนนี้จึงน่าคิด น่าติดตามมาก

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.