เวียดนามแซงโค้งดูดเงินนอก ชิงแชมป์แหล่งลงทุน : ทีมข่าวต่างประเทศ Posttoday

ธุรกิจข้ามชาติกำลังจับจ้องไปยังประเทศเวียดนาม ในฐานะประเทศที่น่าลงทุน เพราะมีหลายปัจจัยที่เอื้อประโยชน์

โวฮองฟุก รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม ยังคาดการณ์ว่า ในปีนี้จะสามารถดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้ถึง 2.2-2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 10%

การคาดการณ์ของโว สอดคล้องกับการสำรวจของ JBIC ที่ชี้พบว่า เวียดนามยังคงรั้งตำแหน่งเป้าหมายการลงทุนอันดับ 3 ของญี่ปุ่น รองจากจีน และอินเดีย ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 4 โดยที่แนวโน้มการลงทุนที่จะเข้าเวียดนามอยู่ในด้านบวก ขณะที่ไทยมีภาพลักษณ์ติดลบอย่างเห็นได้ชัด

ไม่เพียงเท่านั้น จากการวิจัยโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ยังพบว่า เวียดนามเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศ ที่มีบรรยากาศที่เป็นใจต่อการลงทุนมากจากต่างประเทศที่สุดในปีนี้

เหตุใดเวียดนามจึงมีเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง?

คำตอบแรก คือ ค่าแรงในเวียดนามที่ถูกกว่าหลายประเทศในแถบนี้ แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นถึง 12-22% แต่ยังนับว่าถูกกว่าอยู่ดี โดยค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในธุรกิจของชาวต่างชาติอยู่ที่ระหว่าง 1.34 ล้านด่อง 9.2 แสนด่อง หรือราว 2,300-1,600 บาทต่อเดือน

เปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำใน อินโดนีเซีย อยู่ที่ระหว่าง 1.1 ล้าน 5.4 แสนรูเปียห์ หรือราว 3,900-1,900 บาทต่อเดือน ส่วนค่าแรงขั้นต่ำในไทยอยู่ที่ 151-206 บาทต่อวัน

มาตรการทางภาษี มีการลดภาษีให้กับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมในระดับสูงถึง 15 – 50% นอกจากนี้ ในแต่ละจังหวัด ยังเสนอมาตรการช่วยเหลือด้านนี้ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อช่วงชิงการลงทุนเข้ามายังพื้นที่ของตน

เวียดนาม ยังมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก และอาจเรียกได้ว่าเป็นภาพที่หาดูได้ยากมาก

คุณลักษณะเช่นนี้เป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่ง สำหรับนักลงทุนที่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ทางการเมืองได้ง่าย เพราะเวียดนามจะรับประกันว่า จะไม่มีการสไตรก์หรือชุมนุมปิดล้อมสาธารณูปโภคสำคัญๆของประเทศ

ที่สำคัญก็คือ เมื่อเทียบกับปัจจัยร่วมกันภายในกลุ่มอาเซียน เวียดนาม ยังอยู่ในฐานะที่กังวลน้อยกว่าสมาชิกร่วมกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อการค้าของอาเซียน ภายหลังข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนจีน มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ที่เวียดนามกังวลกับเอฟทีเอ อาเซียน-จีน น้อยกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างจีนกับเวียดนามอยู่ในระดับที่แนบแน่นมาก่อนการลงนามเอฟทีเอกับอาเซียน ไม่เพียงเท่านั้น เวียดนามยังไม่เพียงมองจีนในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ที่จะนำเงินมากองให้เท่านั้น แต่ยังมองจีนเป็นตลาดขนาดมหึมาสำหรับเวียดนาม และบริษัทต่างชาติที่มีฐานการผลิตในเวียดนามด้วย

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเวียดนามจะไม่มีจุดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจทีไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้ในระยะยาวอาจประสบปัญหาได้

การพึ่งพาทุนจากภายนอกเป็นปัญหาเช่นกันในระยะยาว เพราะเป็นการบั่นทอนศักยภาพ และความมุ่งมั่นในการพัฒนาตัวเองทางเศรษฐกิจ ดังเช่นที่ไทยสูญเสียศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง และยังกลายเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ต่างจากเกาหลีใต้และสิงคโปร์ ที่พยายามสลัดหลุดจากการพึ่งพาทุนภายนอกและการส่งออก จนกลายเป็นประเทศที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและตลาดภายในเป็นหลัก

อีกปัญหาหนึ่งของเวียดนามคือ ปัญหาขาดดุลการค้าอย่างรุนแรง และปัญหานี้อาจเป็นหนึ่งในตัวการที่ฉุดรั้งไม่ให้เวียดนามไล่ตามเพื่อนบ้านในอาเซียนได้อย่างรวดเร็วเท่าที่ควร อีกทั้ง ยังบีบให้ค่าเงินด่องต้องอ่อนลง ทั้งที่อ่อนค่าตามกลไกตลาด และอ่อนค่าโดยมาตรการของธนาคารกลาง

แต่กลับกลายเป็นว่า ค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลงคืออานิสงส์อย่างใหญ่หลวงของธุรกิจที่เข้ามาลงทุน โดยใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตและการส่งออก เพราะค่าเงินด่องที่อ่อนลง จะช่วยหนุนศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดส่งออก

โจฮันนา ชัว หัวหน้าคณะนักวิจัยเศรษฐกิจเอเชียของซิตี้กรุ๊ป จึงคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ม.ค. ก่อนที่เวียดนามจะปรับค่าด่องอีกครั้งในเดือนนี้ว่า ภาคส่งออกของเวียดนามจะแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากในปีนี้ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีศักยภาพด้านการแข่งขันที่เหนือกว่า

ศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่เย้ายวนใจให้นักลงทุนยิ่งแห่แหนกันเข้ามาจับจองโอกาสทางธุรกิจในเวียดนาม แม้จะเป็นเพียงระยะสั้นก็ตาม

อีกปัจจัยที่ต้องจับตา เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติในเวียดนาม คือระบบราชการและกฎหมายที่ยังไม่รองรับความต้องการของนักลงทุนมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการขอเปิดธุรกิจที่ล่าช้า นโยบายกระตุ้นการลงทุนที่ปราศจากความชัดเจน สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ยังมีประสิทธิภาพต่ำ ต้นทุนทรัพยากรการผลิตที่สูงมาก (อันเป็นตัวการของปัญหาขาดดุลการค้า) และขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีปัจจัยลบล่าสุดอย่างเช่น ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งรัฐบาลลดมาตรการช่วยเหลือด้านภาษี

สำหรับประเทศเพื่อนบ้าน หากคิดจะแข่งขันกับเวียดนามเพื่อรักษาสถานภาพของตนเองเอาไว้ จะต้องไม่มองเพียงปัจจัยต่างๆที่ระบุมาเท่านั้น แต่ต้องมองถึงแนวโน้มด้านการลงทุนในเวียดนามที่กำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากภาคหนึ่งไปสู่อีกภาคหนึ่ง

พิจารณาจาก FDI ที่เข้าเวียดนามเมื่อปีที่แล้วจะพบว่า กระแสทุนไหลเข้าธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวมากที่สุดที่ 8,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 7,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาคการผลิตกลับอยู่ในอันดับ 3 ที่ 2,970 ล้านเหรียญสหรัฐ

ความเปลี่ยนแปลงนี้ แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการปรับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม แต่นับเป็นสัญญาณหลายๆอย่าง ด้านการลงทุนภายในภูมิภาค

โดยเฉพาะกับไทย ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันจากเวียดนามมากกว่าการแข่งขันในภาคการผลิต ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

เวียดนามแซงโค้งดูดเงินนอก ชิงแชมป์แหล่งลงทุน

ทีมข่าวต่างประเทศ Posttoday

25 กุมภาพันธ์ 2553

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.