เราเป็นคนล้มเหลว เมื่อเริ่มตำหนิผู้อื่น : ประภาส ทองสุข

dare_to_fail_keychain-p146656712122000356qjfk_400

ตอนที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ เคยมีหนังโฆษณาน้ำยาลบคำผิดยี่ห้อหนึ่ง ใช้แนวคิดการสื่อสารเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความสนใจรู้จักตรา(ยี่ห้อ)และประโยชน์ของสินค้า โดยใช้ข้อความว่า “ของมันผิดกันได้”

พอผมมาทำงานบริษัทโฆษณา ถึงได้รู้ว่าเจ้านายผมเวลานั้น เป็นหนึ่งในทีมงานที่เคยทำโฆษณาให้กับสินค้านี้  เขาเล่าให้ฟังว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นตอนนั่งประชุมคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อหาแนวคิดของโฆษณา มีใครคนหนึ่งในทีมงานพูดขึ้นว่า คนเรานั้นทำผิดกันได้ ถ้าพิมพ์หรือเขียนผิดก็ลบด้วยน้ำยาลบคำผิดแล้วก็พิมพ์หรือเขียนใหม่ คำพูดประมาณนี้ทีม  Creative เลยต่อยอดเป็น Theme ของงานโฆษณาซะเลย

ผมชวนคุยเรื่องนี้เพราะเชื่อว่า ความผิดพลาดหรือล้มเหลวในการทำงานนั้น เกิดขึ้นกับใคร เมื่อไหร่ ก็ได้ แม้คนคนนั้นจะมีความตั้งใจทำงาน และมีความระมัดระวังอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม เพราะความสำเร็จนั้นมีปัจจัยต่างๆเกี่ยวข้องมากมาย

ผมเคยอ่านหนังสือชื่อ Dare To fail เขียนโดย Billy Lim ชาวมาเลเซีย วันนี้เขาเป็นทั้งนักเขียนและวิทยากรที่พูดเพื่อสร้างกำลังใจให้กับองค์กรต่างๆมากมาย หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลหลายภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วย

ผมซื้อหนังสือเล่มนี้เพราะชอบเหตุผลของผู้เขียนที่เลือกเขียนเรื่องของความล้มเหลวในช่วงนั้น โดยบอกไว้ในช่วงต้นๆของหนังสือว่า

“there are many books in the market today that talk about success. How to be successful, how to achieve, etc,.. To my knowledge so far little has been written on the subject of failure. I guess the reason why it has been widely touched on is that our society has been programmed to shun failure.”

แม้วันนี้มุมมองหรือข้อคิดต่างๆที่พูดถึงความล้มเหลว หรือ การทำผิดพลาดจะเปลี่ยนไปเยอะแล้ว เพราะมีคนพูดถึงข้อดี และการเรียนรู้ที่เกิดจากความล้มเหลวและความผิดพลาดจากชีวิตและการทำงานกันมากมาย

โดยเฉพาะคำพูดของอดีตประธานาธิบดี Theodore Roosevelt ของสหรัฐที่ว่า “The only man who makes no mistakes is the man who never does anything.” เป็นหนึ่งในคำพูดที่ผมชอบและเชื่อว่า เป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนกล้าพอที่จะตัดสินใจหรือลงมือทำ โดยไม่เกรงกลัวต่อความผิดพลาด ซึ่งใกล้เคียงกับที่ Albert Einstein บอกไว้ว่า “If someone feels that they never made a mistake in their life, then it means they had never tried a new thing in their life”

แต่ผมเชื่อว่าความจริงอย่างหนึ่งที่  Billy Lim บอกไว้ยังไม่เปลี่ยน ความผิดพลาดและล้มเหลวเป็นอะไรบางอย่างที่คนเราอยากหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการทำงานร่วมกับผู้อื่น และเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาความขัดแย้งในองค์กร เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นมักมีคำถามว่า “เป็นความผิดพลาดของใคร”

หลายครั้งเพื่อนสนิทของผมเล่า(บ่น)ให้ฟังว่า ในที่ทำงานของเขา เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น สิ่งที่เถียงกันอย่างแรกกลับไม่ใช่ประเด็นว่า จะแก้ไขหรือดำเนินการอย่างไร เพื่อหาวิธีแก้ข้อผิดพลาดนั้น หรือเตรียมการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น แต่กลับเป็นเรื่อง “ใครทำผิด” หรือ “เป็นความผิดของใคร” แล้วต่างฝ่ายต่างก็พยายามแสดงให้เห็นว่าสิ่งตนทำนั้นถูกต้อง อีกฝ่ายต่างหากที่ผิดพลาด

เพื่อนร่วมงานของเขาบางคนนั้น บอกเลยว่า “จะเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นก็ตามแต่ แต่คนผิดต้องไม่ใช่ฉัน” แปลว่าองค์กรจะเสียหายอย่างไร ไม่รู้ รู้อย่างเดียวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะคนอื่นเป็นสาเหตุ สิ่งที่เขาทำดีแล้ว ถูกต้องแล้ว

ทัศนคติเช่นนี้ ผมเชื่อว่าคงเป็นเพราะหลายคนคงโปรแกรมความคิดของตนเองไว้ว่า ความผิดพลาดเป็นความขายหน้า อับอาย และเสียฟอร์ม ยิ่งถ้าเป็นเรื่องความผิดต่อหน้าเจ้านายยิ่งไปกันใหญ่

ซึ่งในสถานการณ์การทำงานจริงๆ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันเป็นทีมนั้น  โอกาสผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่จำเป็นจะต้องมีสาเหตุมาจากความบกพร่องหรือการไร้ความสามารถหรือความผิดพลาดของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

เรื่องบางเรื่อง หรือปัญหาบางอย่าง แม้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่คนทำงานที่อยู่กันต่างฝ่ายต่างแผนกอาจตีความต่างกัน จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการประสานงานหรือทำงานร่วมกัน ผมเชื่อว่า คนทำงานทุกคนล้วนเคยผ่านปัญหาในลักษณะนี้กันมาแล้วนับไม่ถ้วน

ผมยังเชื่ออีกว่า คนทำงานทุกคนต่างมีความตั้งใจที่ดีที่จะทำงานในหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง และเกิดความสำเร็จทั้งต่อตนเองและองค์กร คงไม่น่าจะมีใครที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำงานโดยหวังผลให้เกิดข้อผิดพลาด

ผมเขียนเรื่องนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำงานทุกคนไม่ให้หวั่นกลัวความผิดพลาด และความล้มเหลวในการทำงาน เพราะเมื่อเร็วๆนี้ ผมได้ข้อคิดของ John Burroughs นักเขียนร้อยแก้วเกี่ยวกับธรรมชาติชาวอเมริกันที่บอกว่า “A man can get discouraged many times but he is not a failure until he begins to blame somebody else and stops trying”

และได้แปลความเองว่า แม้เราอาจจะคิด หรือ ถูกตำหนิว่า ผิดพลาดหรือล้มเหลว ตราบใดที่เราไม่ไปกล่าวโทษ ตำหนิ  ปัด หรือโยนความผิดให้กับทุกคนยกเว้นตัวเอง และไม่ยอมหยุดยั้งที่จะพยายามเรียนรู้ต่อไป John Burroughs บอกว่าเรายังไม่ใช่คนที่ล้มเหลว

หรือหากมันเป็นความผิดพลาดและล้มเหลวจริงๆ ขอให้นึกถึงข้อคิดของ Theodore Roosevelt ที่มีต่อจากข้อความที่เขากล่าวไว้ข้างต้น โดยกล่าวว่า “Don’t be afraid of mistakes providing you do not make the same one twice”

หนังสือที่พูดถึงความล้มเหลวและข้อผิดพลาดหลายๆเล่ม บอกตรงกันว่านอกจากเราจะได้เรียนรู้เพื่อที่จะไม่ทำผิดพลาดอีกแล้ว บางครั้งมันอาจช่วยให้เราได้ความคิดหรืองานที่ดีกว่าเดิม คนที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เกือบทุกคน ล้วนเคยมีภูมิหลังที่ผ่านความผิดพลาด และล้มเหลวกันมาแล้วเกือบทั้งสิ้น

ยังมีข้อคิดจากหนังสือเรื่อง  Dare to fail ที่ช่วยให้เราตัดสินหรือมีมุมมองความสามารถและความตั้งใจของคนอื่น แม้เขาอาจจะมีข้อผิดพลาดที่อาจขึ้นจากการทำงานโดยบอกว่า “Judge not those who try and fail, judge those to fail to try”

ทั้งนี้ ใครจะกล้าล้มเหลวและผิดพลาดมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เรื่องแบบนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัวไม่สามารถลอกเลียนได้ครับ

‘เราเป็นคนล้มเหลว เมื่อเริ่มตำหนิผู้อื่น’

คอลัมน์ คิดข้ามฟาก

ประภาส ทองสุข

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.