เจ้าของ supply-side economics ผู้จากไป : วรากรณ์ สามโกเศศ

071029_surowebfinal_p233
เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2548 โลกได้สูญเสีย Jude Wanniski นักหนังสือพิมพ์-นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญผู้ประดิษฐ์วลี supply-side economics ในปี ค.ศ. 1975 ไปในวัย 69 ปี Wanniski ถึงจะไม่ได้เรียนจบเศรษฐศาสตร์มาโดยตรง (จบปริญญาตรีการเมือง และปริญญาโทวารสารศาสตร์ จาก UCLA) แต่จากการที่เป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal หลายปีและเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทำให้เขามีความรอบรู้ใน เรื่องเศรษฐกิจ จนทำให้ไอเดียของเขาในเรื่อง supply-side economics ได้รับความสนใจและก่อให้เกิดประโยชน์ ในการพิจารณาปัญหาเศรษฐกิจจากหลายแง่มุมยิ่งขึ้น

เรื่องหวือหวา เกี่ยวกับตัวเขาที่เป็นตำนานเล่าขานถึงทุกวันนี้ก็คือ วันหนึ่งในปี 1974 ขณะที่เขานั่งดื่มเหล้าอยู่กับ Arthur Laffer (นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานให้กับ Office of Management and Budget ของทำเนียบขาว) และ Dick Cheney (รองหัวหน้าสำนักงานของทำเนียบขาวในตอนนั้น และขณะนี้คือรองประธานาธิบดี) Laffer ได้เอากระดาษเช็ดปากมาเขียนกราฟเพื่อแสดงให้เห็นว่าการลดอัตราภาษีลงจะทำให้ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และทำให้สามารถจัดเกิดรายได้จากภาษีอากรได้เพิ่มขึ้น เส้นกราฟนี้เป็นที่รู้จักกันต่อมาเป็นอย่างดีในนามของ Laffer Curve

หน้า ตาของ Laffer Curve ก็ไม่มีอะไรพิสดาร จินตนาการว่าแกนนอน คือภาษีอากรที่จัดเก็บได้ แกนตั้งคืออัตราภาษี Laffer Curve ก็คือรูปวงรีที่ตัดผ่าครึ่งและเอาฐานมาปะไว้บนแกนตั้ง เมื่อมองดูจากซ้ายไปขวาแบบดูกราฟธรรมดาก็จะเห็นว่า ในตอนแรกถ้าเก็บภาษีในอัตราเพิ่มขึ้น ก็จะจัดเก็บภาษีอากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Laffer Curve จะพุ่งสูงขึ้น) แต่เมื่อถึงอัตราภาษีหนึ่งแล้ว(จุดปลายสุดของวงรี) ถ้าเก็บในอัตราสูงขึ้นไปอีกภาษีอากรที่จัดเก็บได้ก็จะลดลงทันที(Laffer Curve จะวกกลับไปทางซ้าย)

ไอเดียการลดอัตราภาษีอากรนี้สอดคล้องกับ ความเชื่อของ Wanniski ในเรื่องบทบาทที่ควรลดลงของภาครัฐ ตัวเขานั้นจัดอยู่ในค่ายความคิด “ฝ่ายขวา” ของการเมืองอเมริกัน กล่าวคือเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจเสรีแบบสุดสุด ภาครัฐควรแทรกแซงเสรีภาพทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด กิจกรรมทางเศรษฐกิจควรดำเนินไปตามครรลองของกลไกตลาด นักการเมืองในพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่มีแนวคิด เช่นนี้(ประธานาธิบดีเรแกน คือแชมเปี้ยนของแนวคิดนี้เช่นเดียวกับนางมากาเร็ต แทตเชอร์)

ฝ่ายตรง ข้ามของความคิดดังกล่าว หรือ “ฝ่ายซ้าย” ในการเมืองอเมริกันเชื่อว่าภาครัฐต้องแทรกแซงในการทำงานของกลไกตลาด และเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ไม่อาจปล่อยให้เป็นไปตามครรลองของเศรษฐกิจเสรีได้อย่างเต็มที่เพราะจะเกิดผล เสีย นโยบายของฝ่ายนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของพรรคเดโมแครต ได้แก่ การประกันสังคม การควบคุมค่าจ้างและราคา(หากจำเป็น) การประกันการจ้างงาน การจัดเก็บภาษีเพื่อโครงการสำคัญของภาครัฐ การแทรกแซงระบบเศรษฐกิจด้วยมาตรการการคลังและการเงิน ฯลฯ

Laffer นั้นเป็นลูกศิษย์ผู้มีความเชื่อมั่นในสิ่งเดียวกับอาจารย์ คือ Robert Mundell นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง จากการเสนอแนะมาตรการลดอัตราภาษี เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งประสบความสำเร็จในยุคของประธานาธิบดีเคเนดี้ และจอห์นสันในยุคต้น และต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ใน ค.ศ.1999

จากการได้ Laffer Curve เป็นตัวจุดประกายความความคิด Wanniski อาศัยความคิดของ Mundell เป็นหลัก โดยมี Laffer เป็นกุนซือ ขยายความเชื่อในเรื่องการลดอัตราภาษีซึ่งเป็นเรื่อง เกี่ยวพันกับการผลิตหรือสัพพลาย(Supply) โดยใช้บทความของเขาใน The Asian Wall Street Journal เป็นตัวสนับสนุนและแพร่แนวคิด เหล่าบรรดานักธุรกิจที่เป็นฐานสำคัญของพรรครีพับลิกันต่างพออก พอใจแนวคิดนี้ Wanniski ประดิษฐ์วลีขึ้นมาใหม่เป็นตัวแทนแนวคิดนี้ว่า supply-side economics และได้กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดของนักการเมืองอเมริกันในยุคต้น ทศวรรษ 1980

นักการเมืองคนสำคัญที่รับความคิดในเรื่อง supply-side economics เข้าไปเต็มๆ และได้รับเลือกตั้งในปี 1980 เป็นประธานาธิบดีก็คือ โรนัลด์ เรแกน (ในช่วงหาเสียงแข่งกันเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน คู่แข่งของเรแกน ซึ่งต่อมาเป็นรองประธานาธิบดีของเขาเองคือ บุชผู้พ่อ ได้เรียก supply-side economics นี้ว่า voodoo economics หรือเศรษฐศาสตร์หมอผี) ดังนั้น Wanniski จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจคนหนึ่งของประธานาธิบดีเรแกน

ก่อน หน้านั้นในปี 1978 Wanniski ได้เขียนหนังสือชื่อ The Way the World Works ซึ่งกล่าวถึงสาเหตุการล่มของตลาดหุ้น New York ใน ค.ศ.1929 โดยสอดแทรกไอเดียหลักของ supply-side economics เข้าไปด้วย หนังสือเล่มนี้ได้รับการเลือกจากนิตยสาร “ฝ่ายขวา” New Republic ว่าเป็นหนังสือ 1 ใน 100 เล่ม ที่มีอิทธิพลที่สุดของศตวรรษที่ 20

Wanniski ชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนั้นเน้นด้านดีมานด์หรือด้าน อำนาจซื้อเป็นหลัก นโยบายการคลังซึ่งเกี่ยวพันกับการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านงบประมาณ และนโยบายการเงินซึ่งเกี่ยวพันกับปริมาณเงิน และอัตราดอกเบี้ยล้วนมุ่งไปที่การควบคุมจัดการอำนาจซื้อของผู้บริโภคในระบบ เศรษฐกิจ โดยละเลยผู้ผลิต ซึ่งอยู่ในซีกของซัพพลาย ตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อมักจะเน้นการควบคุมอำนาจซื้อที่มีมากเกินไป ให้อยู่มืออย่างใกล้เคียงกับสินค้าและบริการที่มีให้ซื้อ โดยไม่ได้สนใจการสนับสนุนให้มีการลงทุน และผลิตสินค้าออกมาอย่างเพียงพอ เพื่อสู้กับอำนาจซื้อที่มีอยู่เกิน

เขาเชื่อว่าการแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจด้วยการให้ความสนใจแก่ด้านสัพพลายหรือที่เรียกว่า supply-side economics เท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาได้ และส่วนสำคัญของเรื่องการผลิตก็คือการลดอัตราภาษี

เศรษฐกิจในช่วง ประธานาธิบดีเรแกนไปได้ดี แต่ก็ไม่ใช่เพราะมาตรการของ supply-side economics ล้วนๆ ผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา Paul Volker ได้ใช้มาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้านดีมานด์ แบบที่ทำกันดั้งเดิมไปก่อนหน้าประธานาธิบดีเรแกนเข้าดำรงตำแหน่ง ดังนั้น กลุ่ม supply-side จึงไม่ได้รับเครดิต

กลุ่ม supply-side economics ที่ปัจจุบันมีนักเศรษฐศาสตร์ เช่น Victor Cato (เขียนหนังสือชื่อ The Foundations of Supply-Side Economics) และ Lawrence Kudlow เป็นหลัก ได้รับความนิยมน้อยลงตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่รุ่นเก่าเช่น Milton Friedman หรือรุ่นใหม่เช่น Paul Krugman ต่างก็ไม่รับแนวคิดนี้

supply-side economics เติบโตมาจากข้อวิจารณ์มาตรการแก้ไขเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม(ดังที่เรียกกันว่า Keynesian Economics) โดยให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขด้านการผลิต ผ่านการลงทุนซึ่งอ้างว่าเป็นหัวใจของมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การบริโภคซึ่งเป็นหัวใจของการแก้ไขแบบดั้งเดิมนั้นเป็นเพียงผลพวง ต่อมาเท่านั้น

เหตุผลที่ supply-side economics ไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งในอดีตและ ปัจจุบัน ก็เพราะมีขอบเขตของมาตรการแก้ไขที่จำกัดและในที่สุดก็ดูจะไม่แตกต่างไปจาก มาตรการแก้ไขดั้งเดิมนัก นอกจากนี้มาตรการของ supply-side economics ยังไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติอย่างเต็มที่ และจริงจังอย่างประสบความสำเร็จอีกด้วย

ถึงแม้ supply-side economics จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่ Wanniski ได้ทิ้งไว้แก่วงการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจก็คือ การให้ความสำคัญแก่ด้านสัพพลายมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เขาเป็นผู้กระตุ้นให้วงการเศรษฐศาสตร์ตื่นตัว และมองปัญหาอย่างรอบด้านยิ่งขึ้น

การพยายามดิ้นรนหาสิ่งใหม่ในทาง วิชาการจนไปสู่ทางตันนั้นไม่ใช่ความล้มเหลว หากเป็นการสร้างสรรค์ เพราะช่วยให้กระบวนการสร้างองค์ความรู้มีชีวิตชีวาอยู่ตลอดเวลา และทำให้เข้าใจความรู้ที่มีมาแต่เดิมนั้นลึกซึ้งยิ่งขึ้น

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ [email protected] มติชนรายวัน วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10064

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.