เคล็ดลับสำหรับ “ผู้ประกอบการ” จาก ‘กาย คาวาซากิ’ : นิตยสาร เส้นทางเศรษฐี

จริงๆมันมี 3 ตอนนะครับ แต่หาในเนตมาได้แค่ 2 ตอนครับ
บทความนี้สรุปข้อคิดสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ 
(แต่ผมว่าเราสามารถนำไปใช้ได้กับหลายเรื่องเลย) 
จากการบรรยายในหัวข้อ "คุณอยากเป็นผู้ประกอบการไหม" โดย 'กาย คาวาซากิ' 
อ้างอิงจากหนังสือ "วิชาสุดท้าย ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน" เล่มที่ 2 ครับ
####
เคล็ดลับ "ผู้ประกอบการ" ตอนที่ 1
เพื่อความต่อเนื่องจาก "คลิกนอกกรอบ" 2 ฉบับที่แล้ว ที่เขียนถึงคนวัยเกษียณพร้อมกับยกตัวอย่างให้เห็นว่า
คนที่อายุมากๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ เพียงแต่ให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจ
และขั้นเริ่มต้นอาจจะหวังแค่ให้การประกอบกิจการของคนวัยหลังเกษียณ เป็นงานอดิเรก
หรือ "ดับเบิ้ลไลฟ์" ชีวิตที่ 2 เท่านั้นเอง
แต่สำหรับเคล็ดลับผู้ประกอบการไม่ใช่จะเป็นประโยชน์ เฉพาะคนวัยเกษียณเท่านั้น
แต่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่อยากเป็นผู้ประกอบการ
คนหนุ่มคนสาวทั้งหลายที่อยากเป็น "เจ้าของกิจการ" หรือ "ผู้ประกอบการ"
ก็สามารถนำไปปรับ นำไปประยุกต์ใช้ได้
ข้อมูลหลักๆที่นำมาเรียงร้อยนี้ มาจากหนังสือชื่อ "วิชาสุดท้าย ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน" เล่มที่ 2
เรียบเรียงโดย "คุณสฤณี อาชวานันทกุล" หญิงเก่งแห่งยุคสมัยนี้ ที่มีผลงานมากมาย
บทความนี้ คุณสฤณี ได้เรียบเรียงจาก ปาฐกถาปัจฉิมนิเทศ สำหรับนักศึกษาที่จบเป็นบัณฑิตใหม่
ธรรมเนียมของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ทุกๆปีในวันมอบปริญญาบัตรแก่นักศึกษาที่จบการศึกษา
จะมีประเพณี เชิญศิษย์เก่าและคนที่มีชื่อเสียงมาบรรยายเรื่องราวต่างๆ ให้กับบัณฑิตใหม่ฟัง
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องวิธีคิด การใช้ชีวิต เพื่อเตรียมตัวออกไปเผชิญชีวิตภายนอก
"คุณอยากเป็นผู้ประกอบการไหม" เป็นหัวข้อการบรรยายของ "กาย คาวาซากิ"
นักธุรกิจชาวฮาวาย นักรณรงค์ในยุคแรกเริ่มของบริษัทแอปเปิ้ล
ใครๆก็รู้ว่า บริษัทแอปเปิ้ล ไม่ใช่บริษัทขายผลไม้
แต่เป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ไอพอด ไอโฟน
แต่หลังจากที่เขาทำงานให้กับแอปเปิ้ลมาได้ระยะหนึ่ง เขาก็ออกมาตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง
ธุรกิจเขาเติบโตเรื่อยๆ เขาจึงบุกเบิกอีก 3 บริษัท
ความจริงชื่อนี้ ไม่ต้องอรรถาธิบายให้มากความ คนไทยส่วนใหญ่ก็รู้จักชื่อนี้ดีอยู่แล้ว
นอกจากจะเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จแล้ว เขายังมีผลงานการเขียนหนังสืออีกมากมาย
ดังนั้น จึงเข้าเรื่องเลยก็แล้วกัน
"กาย คาวาซากิ" ได้เรียงหัวข้อ ในการพูดคราวนั้น
เรียงจาก ข้อ 10 ไล่ลงมาจนถึงข้อที่ 1 ซึ่งเป็นข้อสุดท้าย
เพื่อไม่ให้เสียอรรถรส จึงจะขออนุญาตยึดตามแนวของ "กาย คาวาซากิ"
โดยจะไล่เรียงตามข้อที่เขาบรรยายก็แล้วกัน
10. อ้าแขนรับสิ่งที่คุณไม่รู้
จะว่าไปแล้วอันนี้ก็เป็นกฎทั่วๆไป
การหาความรู้เป็นเรื่องสำคัญ 
สิ่งใดไม่รู้ต้องเปิดใจให้กว้างอย่าปิดประตูลงกลอน ด้วยความเคยชินแบบเก่าๆ
นั่นเท่ากับเป็นการปิดโอกาสของคุณ
หากใครได้ศึกษาชีวประวัติของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่เปิดรับสิ่งที่ไม่รู้
"กาย คาวาซากิ" ได้ยกตัวอย่างให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยแบ็บสัน
ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องการเป็นผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในโลก ในวันนั้นฟังว่า
สมัยปลายทศวรรษ 1800 แถวนี้มีอุตสาหกรรมน้ำแข็งที่เจริญรุ่งเรือง
พ่อลูกหลายคู่ช่วยกันตัดน้ำแข็งในทะเลสาบและบึง เป็นก้อนๆส่งไปขายทั่วโลก
นักน้ำแข็งเหล่านี้ ถูกบริษัทที่คิดค้นโรงงานน้ำแข็งบีบให้ออกจากธุรกิจ
ไม่จำเป็นต้องตัดและขนส่งน้ำแข็งอีกต่อไป
เพราะบริษัทเหล่านั้นสามารถผลิตน้ำแข็งที่เมืองไหนก็ได้ตามฤดูกาล
หลังจากนั้น บริษัทน้ำแข็งก็ถูกบริษัทผลิตตู้เย็น บีบให้ออกจากธุรกิจ
ถ้ามันสะดวกสบายในการผลิตโรงงานน้ำแข็งในเมืองไหนก็ได้
คุณลองนึกดูว่า มันจะดีกว่านั้นแค่ไหนถ้าเราสามารถทำน้ำแข็งและสามารถเก็บไว้ที่บ้านเราทุกคน
ที่น่าสนใจ ไม่มีบริษัทไหนเลยเปลี่ยนสถานะจากการเป็นบริษัทตัดน้ำแข็ง 
ไปเป็นโรงงานทำน้ำแข็ง
ไปเป็นบริษัทผลิตตู้เย็น
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวง เพราะพวกเขาเหล่านั้นต่อต้านสิ่งที่ไม่เคยรู้ และยอมรับแต่สิ่งที่รู้แล้ว
ถ้าคุณอยากเป็นผู้ประกอบการ จงทำตรงกันข้าม นั่นคือ
จงรัก อ้าแขนรับ ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และสร้างสรรค์สิ่งที่คุณไม่เคยรู้
"กาย คาวาซากิ" ยกตัวอย่างเห็นได้ชัดว่า
หากเรายังยึดติดกรอบเก่าๆ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง 
สักวันหนึ่งก็จะต้องเจอผู้เล่นใหม่ เข้ามาแย่งตลาด 
ดั่งสัจธรรมที่ว่า "คลื่นลูกใหม่ ย่อมไล่คลื่นลูกเก่า" ที่เห็นกันดาษดื่นในโลกของธุรกิจ
ไม่ว่าในต่างประเทศหรือประเทศไทยเรา
ที่ใกล้ตัว เมื่อก่อนโรงหนังในบ้านเรา จะตั้งอยู่โดดๆ ที่เรียกว่า "สแตนด์อะโลน"
จะสร้างโรงหนังทีต้องสร้างตึกหลังใหญ่ๆ เพื่อทำเป็นโรงหนังโดยเฉพาะ
หรือที่เห็นได้ชัดคือ ธนาคาร เมื่อก่อนธนาคารสาขาต้องมีตึกของตัวเอง
แต่ตอนหลัง โรงหนังได้เข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า
จากตึกใหญ่ๆ ก็กลายเป็นห้องขนาดกลางๆ บางแห่งแบ่งออกเป็นหลายๆห้อง ฉายหนังไม่ซ้ำกัน
ในที่สุด โรงหนังที่แยกเดี่ยว แบบสมัยก่อนต้องปิดตัวตายสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว
อยู่ในห้างสรรพสินค้าต้นทุนต่ำกว่า แถมยังกลายเป็นแหล่งรวมผู้คนมากมาย
ธนาคารก็หันมาใช้ยุทธวิธีนี้ ตอนหลังธนาคารเข้าไปอยู่ในห้าง ลดการสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ๆลง
นี่คือ การเปลี่ยนแปลง
เอาอีกสักตัวอย่างที่เห็นชัดๆ นั่นคือ โชห่วยของคนไทย
ที่เป็นร้านขายของชำเก่าๆ ดูรกรุงรัง ไม่เคยปรับปรุง
เมื่อห้างสะดวกซื้อจากต่างประเทศเข้ามา ที่ให้ความสะดวกสบาย สะอาดสะอ้าน ไม่เอาเปรียบลูกค้า ทันสมัย
โชห่วยไทยปรับตัวไม่ทัน ก็ต้องทยอยปิดตัวเองไปทีละรายสองราย
ทุกวันนี้จะเหลืออยู่บ้างก็ตามตรอกซอกซอย ที่ร้านสะดวกซื้อ ยังไม่สะดวกเข้าไปเท่านั้น
นี่คือ บทเรียน ของคนที่ไม่ยอมเปิดใจรับในสิ่งที่ไม่รู้ 
ฉะนั้น หากคิดจะเป็นผู้ประกอบการ ต้องฝึกเรื่องนี้ให้เป็นความเคยชินในชีวิตประจำวันของเราให้ได้
กฎข้อต่อมา ข้อที่ 9 อย่าขอให้คนทำอะไรที่คุณไม่อยากทำ
"กาย" ได้ยกตัวอย่างว่า สมมติว่า คุณเป็นคนสร้างกับดักหนูที่เจ๋งที่สุดในโลก
โดยใช้ระเบิดปรมาณูขนาดจิ๋ว คุณฆ่าหนูได้ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
อย่างไรก็ตาม สิ่งประดิษฐ์ของคุณ มีข้อกังขา
- คนที่ติดตั้งกับดัก ต้องจบปริญญาตรีเอกฟิสิกส์
- คุณต้องหาพื้นที่ทิ้งหนูตายเจือกัมมันตภาพรังสีที่อยู่ห่างออกไป 100 ไมล์
- ราคาของกับดักนี้คือ 50,000 ดอลลาร์
คุณไม่ซื้อสินค้าแบบนี้แน่ๆ แล้วทำไมคุณคิดว่าคนอื่นจะซื้อล่ะครับ? 
ลองจินตนาการว่า ผู้บริหารสายการบิน
ยอมมานั่งเครื่องบินชั้นประหยัด แล้วลองกินอาหารที่ผู้โดยสารถูกบังคับให้กิน
โลกคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป - อย่าขอให้คนอื่นทำอะไรที่คุณไม่อยากทำ
ความจริงกฎข้อนี้ของ "กาย คาวาซากิ" หากจะถอดรหัสออกมา ก็น่าจะหมายถึงว่า
จะทำอะไรต้องนึกถึงอกเขาอกเราเสียก่อน 
ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากทำแล้วบังคับคนอื่นทำ แต่เราต้องทำเป็นแบบอย่าง จึงจะสำเร็จ
ข้อสุดท้ายสำหรับฉบับนี้ กฎข้อที่ 8 'เน้นการปฏิบัติ'
"กาย คาวาซากิ" บอกว่า
ในช่วง 15 ปีแรกอาชีพของผม
ผมคิดว่ากุญแจของการเป็นผู้ประกอบการ คือ คุณภาพของไอเดีย 
แต่ผมคิดผิด
ไอเดียดีๆ นั้นเป็นเรื่องง่าย แม้แต่ไอเดียสุดยอดก็ง่ายเหมือนกัน
ไอเดีย ไม่ใช่กุญแจของผู้ประกอบการ 
การลงมือปฏิบัติต่างหากที่เป็นกุญแจ 
และยิ่งไปกว่านั้น กุญแจของการลงมือปฏิบัติคือ การสร้างทีมที่ดี
ทุกคนสามารถนั่งคิดไอเดียดีๆ ได้ทั้งวัน
ผมจะให้ไอเดียที่มีค่าหลายพันล้านเหรียญกับคุณตรงนี้เลย
- สร้างระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ที่ทำงานเร็ว มีขนาดเล็ก ใช้ง่าย และไม่มีบั๊ก
โอเคครับ เอามันไปใช้ได้เลย มาหาผมนะ คุณทำได้และต้องการเงินทุน
คำท้าทายของ "กาย คาวาซากิ" เป็นคำท้าทายที่เข้าใจความเป็นจริงมากที่สุด
หลายๆคนกำลังเห่อเรื่อง "ครีเอทีฟ"
บางครั้งการครีเอทีฟ เป็นเรื่องหลุดโลก เอามาปฏิบัติไม่ได้
แต่คนยังให้ความสำคัญกับไอเดีย คนที่คิดอย่างนี้ อาจจะต้องหันกลับมาคิดใหม่
เพราะไอเดียดีแค่ไหน หากไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ มันก็กลายเป็นแค่ความฝันเท่านั้นเอง
ส่วนที่เหลืออีก 7 ข้อ คงจะเอามาว่ากันใหม่ในฉบับหน้า
####
เคล็ดลับ "ผู้ประกอบการ" ตอนจบ
เคล็ดลับผู้ประกอบการที่นำมาจากหนังสือวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน
โดย "สฤณี อาชวานันทกุล" โดยเป็นปาฐกถาของ "กาย คาวาซากิ"
นักธุรกิจชาวฮาวาย นักรณรงค์ยุคแรกของบริษัทแอปเปิ้ล ผู้ผลิต แมคอินทอช ไอพอด และไอโฟน
ซึ่งไปเป็นองค์ปาถกของมหาวิทยาลัยแบ็บสัน เมื่อปี 2000 หรือ 10 ปีที่แล้ว
ต้องยอมรับว่าได้อ่านปาฐกถาบทนี้แล้ว อ่านแล้ววางไม่ลง
เนื้อหาสาระกระชับ ชัดเจน จนมิอาจสรุปใจความ
ก็เลยต้องขออนุญาตผู้รวบรวมว่า
จำเป็นที่จะนำสาระทั้งหมดมา เพื่อเป็นวิทยาทานให้ผู้ที่อยากประสบความสำเร็จ
อาจจะมีบางช่วงบางตอนที่ต้องขออนุญาตเสริมความคิดเห็นบ้าง
แต่พยายามรักษาหลักใหญ่ใจความเอาไว้ เพื่อไม่ให้เสียอรรถรส
เมื่อ 2 ตอนที่แล้ว ว่ามาตั้งแต่ข้อที่ 10 แล้วถอยหลังมา
จนถึงฉบับนี้เหลือเพียง 3 หัวข้อสุดท้าย คือ
ข้อที่ 3 เคารพในสิ่งสัมบูรณ์
"กาย คาวาซากิ" บอกว่า สิ่งต่างๆ ในโลกนี้เปลี่ยนแปลงจากสิ่งสัมบูรณ์ มาเป็นสิ่งเปรียบเทียบ
ตอนที่คุณยังเป็นเด็ก การโกหก การคดโกง หรือการลักขโมย ล้วนเป็นเรื่องผิดอย่างสัมบูรณ์
เมื่อคุณโตขึ้น และโดยเฉพาะไต่ลำดับขั้นในธุรกิจ 
คุณอาจจะถูก "ระบบ" เย้ายวนให้คิดในเชิงเปรียบเทียบ
"ผมไม่ได้โกงภาษีเท่ากับเพื่อนร่วมงานของผม"
"ผมไม่ยัดไส้ใบเบิกเท่ากับคนอื่นๆ"
"ผมไม่ตกแต่งบัญชีเท่ากับบริษัทอื่น"
คิดแบบนี้ผิด โลกมีสิ่งที่ถูกอย่างสัมบูรณ์ และผิดอย่างสัมบูรณ์
ผู้ประกอบการเป็นตำแหน่งที่สังคมชื่นชม 
ดังนั้น คุณจึงมีพันธะทางศีลธรรมในการสร้างบรรทัดฐานให้สูง
คิดถึงการจบปริญญาของคุณว่าเป็น ไอพีโอ ของคุณ
โลกทั้งโลกเฝ้าดูคุณอยู่ ดังนั้น จงทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี 
ข้อที่ 2 เล่นเพื่อเอาชนะ
เล่นเพื่อเอาชนะ และอย่ายอมให้ไอ้งั่งทั้งหลาย ทำให้คุณเชื่อว่าควรทำอะไรที่น้อยกว่านั้น
อันที่จริง ยิ่งมีไอ้งั่งบอกคุณมากเท่าไหร่ ว่าคุณประสบความสำเร็จไม่ได้
คุณก็น่าจะยิ่งกำลังเข้าใกล้มันมากขึ้นเท่านั้น
การเล่นเพื่อเอาชนะ คือ หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะทำมันได้
มันช่วยให้คุณเติมเต็มศักยภาพของตัวเอง มันช่วยให้คุณปรับปรุงโลกใบนี้
และในระหว่างนั้น ก็ยกระดับความคาดหวังสำหรับคนอื่นๆทุกคนด้วย
แล้วถ้าคุณแพ้ละ?
คุณก็แค่ต้องมั่นใจว่าคุณแพ้ ในระหว่างที่กำลังพยายามทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ 
ชีวิตที่ไม่เคยสำรวจตรวจสอบตัวเองอาจไม่คุ้มค่าแก่การใช้
แต่ชีวิตที่ไม่เคยใช้ ก็ไม่คุ้มค่าแก่การสำรวจตรวจสอบเช่นกัน
จงมั่นใจว่าชีวิตของคุณคุ้มค่าแก่การสำรวจตรวจสอบ
ข้อสุดท้าย หรือข้อที่ 1 มีความสุขกับครอบครัว มิตรสหาย และเพื่อนร่วมงานของคุณ ก่อนที่เขาจะจากไป
ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการโดยตรง มันเป็นภาพที่ใหญ่กว่านั้นอีก
นี่คือ บทเรียนสำคัญที่สุดในบรรดาบทเรียนทั้งหมด 
ไม่มีอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง อำนาจ หรือชื่อเสียง 
ที่จะสามารถทดแทนครอบครัวและเพื่อนๆของคุณได้ 
หรือนำพาพวกเขากลับมาหลังจากที่พวกเขาลาจากไปแล้ว
ผมพยากรณ์ว่าลูกๆ (ที่พวกเราในซิลิคอนวัลเลย์ เรียกว่า "spinoffs")
จะนำพาความเบิกบานสูงสุดมาให้กับชีวิตของพวกคุณ
โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาจบปริญญาเหมือนกับคุณ และสามารถชำระใบเสร็จของตัวเองได้แล้ว
คิดว่า ปาฐกถาของ กาย คาวาซากิ น่าจะเป็นประโยชน์
สำหรับผู้ประกอบการที่จะนำไปปรับใช้กับการทำธุรกิจ
อย่างน้อยการเรียนรู้ธุรกิจนั้น จะต้องเรียนรู้จากวิธีคิดของคนอื่น 
แล้วนำมาสังเคราะห์ เป็นวิธีการของตัวเอง 
เชื่อว่า ทั้ง 10 ข้อ ที่กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่
ข้อ 10 อ้าแขนรับในสิ่งที่คุณไม่รู้
ข้อ 9 อย่าขอให้คนทำอะไรในสิ่งที่คุณไม่อยากทำ 
ข้อ 8 เน้นที่การลงมือปฏิบัติ 
ข้อ 7 อย่าวิตก
ข้อ 6 เป็นผู้ประกอบการด้วยเหตุผลที่ถูก 
ข้อ 5 เรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง
ข้อ 4 ทำทุกอย่างให้กระชับ
ข้อ 3 เคารพในสิ่งสัมบูรณ์ 
ข้อ 2 เล่นเพื่อเอาชนะ 
ข้อ 1 มีความสุขกับครอบครัว มิตรสหาย และเพื่อนร่วมงานของคุณ ก่อนที่พวกเขาจะจากไป
นี่คือ กฎของผู้ประกอบการ ที่ "กาย คาวาซากิ" พิสูจน์มาแล้วว่าได้ผล
ลองนำไปปรับใช้กับการทำงานของท่าน
อย่าเพียงอ่านอย่างเดียว แต่ต้องลงมือปฏิบัติ 
กฎทองทั้ง 10 ข้อนี้จึงจะสัมฤทธิผล
'เคล็ดลับ "ผู้ประกอบการ"'
คอลัมน์ คลิกนอกกรอบ
โดย เศรษฐีหนุ่ม
เส้นทางเศรษฐี ปีที่ 16 ฉบับที่ 263 วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553
ที่มา : http://soclaimon.wordpress.com/
และ http://www.atproengineer.com/index.php/knowledge/general/455--qq-
Author: admin

1 thought on “เคล็ดลับสำหรับ “ผู้ประกอบการ” จาก ‘กาย คาวาซากิ’ : นิตยสาร เส้นทางเศรษฐี

  1. ข้อที่ 4 – 7 นะครับ

    ที่มา : http://www.ipattt.com/2009/ผู้ประกอบการ/

    ####

    7. อย่าวิตกจริต

    ถ้าคุณมีไอเดีย แบ่งปันให้คนอื่นรู้ หารือกับคนอื่น ถามว่าคนอื่นคิดยังไง อย่าเก็บมันไว้คนเดียว สร้างพันธมิตรและแนวร่วม ออกใบอนุญาตให้คนอื่นเอาไปใช้

    ทำทั้งหมดนี้เพราะอย่างที่ผมพูดไปแล้วว่า กุญแจไม่ได้อยู่ที่ความพิเศษของไอเดีย แต่อยู่ที่ความสามารถของคุณที่จะทำให้มันเป็นจริง

    ถ้าคุณมีไอเดียดี ตั้งสมมติฐานได้เลยว่ามีคนอีกห้าคนที่กำลังทำเรื่องเดียวกันนี้อยู่ ถ้าคุณมีไอเดียสุดยอด ก็ตั้งสมมติฐานได้เลยว่ามีคนอีกสิบคนกำลังทำเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

    ผมไม่เคยพบผู้ประกอบการคนไหนที่วิตกจริต ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จล้วนแบ่งปันไอเดียของพวกเขา แบ่งปันหุ้นของพวกเขา แบ่งปันความฝันของพวกเขา และเปลือยจิตวิญญาณของพวกเขา

    6.เป็นผู้ประกอบการด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง

    นี่คือบทเรียนที่ยากที่สุดในบรรดาบทเรียนทั้งหมด คุณอาจจะคิดว่าเป้าหมายของการเป็นผู้ประกอบการคือการแสวงหาสภาพคล่องในฐานะเครื่องมือที่จะทำให้คุณ “มีความสุข” และคุณอาจจะคิดว่าความสุขเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้

    ไอพีโอ (การเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก-ผู้แปล)
    บ้านหลังใหญ่
    รถสปอร์ต
    เครื่องบินส่วนตัว
    “ความสุข”เป็นสิ่งที่อยู่เพียงชั่วคราวและไม่ยั่งยืน มันไม่ควรเป็นเป้าหมายของการเป็นผู้ประกอบการ

    ความเบิกบานใจคือเป้าหมายที่ถูกต้อง ความเบิกบานใจอยู่ตรงข้ามกับความสุขที่มันคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ มันมาจากการวิ่งไล่ตามความสนใจและสิ่งที่คุณรัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่”ชัดเจน”ว่าจะนำไปสู่ความสุข มันมาจากการสร้างทีมงานที่ดี มาจากครอบครัว มาจากเพื่อนฝูง และมาจากสิ่งของต่างๆที่ราคาไม่แพง หรือไม่อย่างงั้นก็ไม่ตอ้งใช้เงินซื้อเลย มันมาจากการทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม

    ดังนั้น จงไปพัฒนาสินค้าหรือบริการที่คุณรัก สิ่งนั้นจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น เมื่อชีวิตของคุณเดินทางมาถึงจุดจบพระเจ้าจะไม่ถามคุณว่าบริษัทของคุณมีมูลค่าตลาดเท่าไหร่ เธออาจจะถามว่าคุณทำให้โลกนี้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง

    5.เรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง

    การเรียนรู้เป็นกระบวนการ ไม่ใช่เหตุการณ์หนึ่ง ผมเคยคิดว่าการเรียนรู้จะสิ้นสุดเมื่อผมได้รับปริญญา นั่นไม่เป็นความจริง ผู้ประกอบการไม่เคยหยุดเรียนรู้และอันที่จริง การเรียนรู้มันง่ายกว่าเดิมที่จะมองเห็นความเกี่ยวโยงที่อธิบายว่าเหตุใดคุณถึงจำเป็นต้องเรียนรู้

    อย่างสับสนระหว่างโรงเรียนกับการเรียนรู้ คุณอาจจะไปโรงเรียนแต่ไม่ได้รู้อะไรเลย และคุณก็สามารถเรียนรู้อะไรๆได้มหาศาลนอกรั้วโรงเรียน

    ถ้าคุณอยากเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ คุณจะต้องเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง

    4.ทำทุกอย่างให้กระชับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.