ก่อนที่เวทีประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (จี8) จะเปิดฉากขึ้นที่อิตาลี พญามังกรจีนก็ได้ออกมาอุ่นเครื่องเขย่าความพร้อมก่อนใคร ด้วยการย้ำความจำเป็นถึงสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศที่ควรหลากหลาย หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่ควรถูกผูกขาดอยู่แต่ดอลลาร์สหรัฐอีกต่อไป
บางคนอาจ ไม่ให้ค่ากับข่าวนี้มากนักและฟังเป็นเรื่องขำๆ เพราะมองว่าการเปลี่ยนสกุลเงินเป็นแค่เรื่อง “เพ้อฝัน” ขนาดเงินยูโรของ 27 ชาติกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีมานานนับ 10 ปียังสู้ไม่ได้ แล้วประสาอะไรกับเงินหยวนของจีนแค่ประเทศเดียว
ทว่า อีกหลายฝ่ายที่ติดตามความเคลื่อนไหวของโลกมาอย่างใกล้ชิด และรู้ดีว่าอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้หลังผ่านเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. และแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส คงไม่มีใครขำไปกับข่าวนี้ โดยเฉพาะเมื่อรู้ดีว่า จีนกำลังแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกใบนี้มากขนาดไหน ทั้งการกว้านกักตุนสินค้าโภคภัณฑ์ และการรับบทเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก
จีนเองก็เป็นนักปฏิบัติมากกว่านักฝัน เหอ หย่าเฟย รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศของจีน ซึ่งรับบทเป็นผู้กระทุ้งเรื่องความหลากหลายของทุนสำรองระหว่างประเทศก่อน เปิดม่าน จี8 ยอมรับว่า ตำแหน่งสกุลเงินที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอันดับ 1 ของโลกนั้น คงไม่มีใครมาแทนที่สกุลดอลลาร์สหรัฐไปได้ง่ายๆ
ทว่าอย่างน้อยที่สุด ระบบสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ “ในอนาคต” ก็น่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น และเชื่อแน่ว่าเรื่องนี้ก็เป็นความปรารถนาของประชาคมโลกทั้งหมดด้วยเหมือน กัน
เพราะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยไปพร้อมกับค่าเงินดอลลาร์ที่ ผันผวนจนอ่อนปวกเปียกสุดขีดเช่นนี้ ไม่เพียงทำให้ดีมานด์หดจนทั่วโลกส่งออกสินค้ากันไม่ได้เท่านั้น แต่ยังทำให้หลายประเทศต้องขาดทุนกันย่อยยับจากค่าเงินของตนเองที่ดีดตัวแข็ง โป๊กสุดในรอบหลายปี โตโยต้า มอเตอร์ ค่ายรถยนต์อันดับ 1 ของโลกจากญี่ปุ่น ยอมรับก่อนหน้านี้ว่า การขาดทุนเป็นครั้งแรกและครั้งประวัติศาสตร์ถึง 7.658 แสนล้านเยน (เกือบ 2.7 แสนล้านบาท) ในปีงบประมาณที่เพิ่งผ่านมานั้น ไม่ได้เป็นปัญหาจากยอดขายที่ลดลงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะปัจจัยการแข็งค่าของเงินเยนด้วย
แม้จะไม่สามารถผลักดัน ให้เงินหยวนเป็นบิ๊กสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศได้ทันทีทันใด แต่ความสำคัญและร้อนแรงของเงินหยวนในเวลานี้ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา หลายประเทศกำลังพิจารณาใช้เงินหยวนในการทำข้อตกลงค้าขาย และบางฝ่ายกำลังพิจารณาให้เงินหยวนเป็นหนึ่งในสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ ของตนเอง
หากยังจำกันได้ วิกฤตการณ์การเงินครั้งล่าสุดนี้ไม่ได้มีเพียงแค่การสวอปเงินดอลลาร์ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กับธนาคารกลางชาติอื่นๆ เท่านั้น แต่ธนาคารกลางจีน ยังได้เปิดสวอปเงินหยวนกับธนาคารอีกหลายชาติด้วย อาทิ กับประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาในวงเงิน 8 หมื่นล้านหยวน (เกือบ 4 แสนล้านบาท) เพื่อรองรับการค้าระหว่างกันโดยภายใต้สกุลเงินหยวน และเงินริงกิตของมาเลเซีย
ล่าสุดในเดือนนี้ ธนาคารกลางมาเลเซีย ได้ประเดิมซื้อและถือครองพันธบัตรจีนในจำนวนที่ไม่เปิดเผย เข้าเป็นหนึ่งในทุนสำรองระหว่างประเทศของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จีนก็ได้จรดปากกาลงนามในหลักการร่วมกับบราซิล ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เขตเศรษฐกิจที่น่าจับตามองในประเทศกลุ่มบริค (BRIC : Brazil Russia India China) เพื่อเตรียมเดินหน้าการค้าใหม่โดยใช้เงินสกุลหยวนของจีน และเงินสกุลรีลของบราซิล ในการทำการค้าและชำระหนี้ระหว่างกันแล้ว หลังจากที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มตกต่ำลงจากแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส
หาก นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2551 ที่ผ่านมา รัฐบาลกรุงปักกิ่ง ได้เปิดสวอปค่าเงินหยวนกับอีก 6 สกุลเงิน ประกอบด้วย อาร์เจนตินา เบลารุส ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกาหลีใต้ รวมแล้วถึง 6.5 แสนล้านหยวน (ราว 3.3 ล้านล้านบาท)!
และเป้าหมายต่อไปของจีน ย่อมหนีไม่พ้นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สมาคมประชาชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่จีนขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปีที่ผ่านมานอง รอง รองเลขาธิการสำนักงาน จีนอาเซียน เอ็กซ์โป เปิดเผยกับบลูมเบิร์กเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จีนกำลังเตรียมโครงการนำร่องเสนอให้บริษัทผู้ส่งออกแดนมังกรสามารถค้าขายกับ ชาติสมาชิกอาเซียนโดยใช้สกุลเงินหยวนชำระหนี้ในการค้าระหว่างประเทศได้ ในเร็วๆ นี้ เพื่อลดความเสี่ยงขาดทุนค่าเงินจากการผันผวนของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเรื่องนี้อาจต้องดูต้นแบบจากการค้าชายแดนที่จีนเพิ่งเปิดใช้ไปเมื่อไม่ นานมานี้
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2552 รัฐบาลกรุงปักกิ่งเพิ่งอนุมัติการใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินชำระหนี้ในการค้า ข้ามพรมแดนกับฮ่องกง หลังจากเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ได้อนุมัติให้นครเซี่ยงไฮ้ รวมถึงอีก 4 เมืองใหญ่ในมณฑลกวางตุ้ง สามารถใช้เงินหยวนชำระหนี้ในการค้าระหว่างประเทศได้ โดยเสนอมาตรการพักชำระภาษี เป็นการจูงใจให้กับบริษัทต่างๆ
เห็นได้ชัด ว่าแม้จะยังไม่อาจเทียบรัศมีดอลลาร์สหรัฐหรือยูโรได้ แต่ความต้องการเงินสกุลหยวนนั้น ก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นทีละนิดในหลายประเทศทั่วโลก และถือเป็นย่างก้าวสำคัญที่อาจนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศ ในสกุลเงินหยวนได้ในอนาคต
หรืออย่างน้อยที่สุดก็หวังว่า ระบบเอสดีอาร์ (Special Drawing Right) หรือระบบทุนสำรองแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งประกอบไปด้วยตะกร้าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน และปอนด์สเตอร์ลิง จะมีเงินหยวน ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในฐานะน้องเล็กหน้าใหม่กับเขาได้บ้างในอนาคต
เพราะ น้องเล็กรายนี้ก็มีบทบาทในเวทีโลกอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบทบาทเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ จากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐราว 7.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 26.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่สหรัฐไม่ค่อยจะกล้าตอบโต้จีนอย่างรุนแรงในหลายๆ เรื่อง เหมือนที่ผ่านมาในอดีต
หากสหรัฐยังไม่สามารถฟื้นตัวในฐานะมหา อำนาจโลกแบบเบ็ดเสร็จกลับมาได้ในเร็ววัน โอกาสที่เงินหยวนจะได้เบียดแทรกพื้นที่ในเวทีโลกนั้น ก็ดูจะแจ่มชัดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
Post Today 1 ก.ค. 2552
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=happytogether&month=02-07-2009&group=1&gblog=2