มาร์ก โมเบียส – ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

news_img_39307_1

ราชาของตลาดหุ้นเกิดใหม่คนหนึ่งของโลกในยามนี้ คงหนีไม่พ้นชื่อของ Mark Mobius ผู้บริหารกลุ่มกองทุน Franklin Templeton Funds ซึ่งประกอบไปด้วยกองทุนกว่า 30 กองในตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก ผมเคยพบและพูดคุยกับ “ยูล บรินเนอร์” แห่งวอลสตรีทคนนี้ ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นผู้จัดการฝ่ายวางแผนและบริหารการเงินของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องให้ข้อมูลแก่นักลงทุนคล้าย ๆ กับ IR หรือนักลงทุนสัมพันธ์ในปัจจุบัน แต่เป็นช่วงเวลาย้อนหลังไปกว่า 20 ปีมาแล้ว ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า  มาร์ก โมเบียส เป็นผู้บุกเบิกการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นเขายังไม่ดัง และยังไม่แก่ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเขาไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือ เขายังเฉียบคมเหมือนเดิม เช่นเดียวกับศีรษะที่ยังล้านเลี่ยนแบบ ยูล บรีนเนอร์ ดาราฮอลลีวูดชื่อก้องโลก

ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผมจำความได้ โมเบียสไม่เคยห่างจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศไทย เขามาๆไปๆและผมเชื่อว่าเขารักเมืองไทย และเขาลงทุนในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนหุ้นอื่น ในระยะหลังๆ เขามาพูดในเมืองไทยบ่อยขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มาพูดที่สถาบันศศินทร์ ผมเองไม่ได้พบโมเบียสมานาน แต่รู้สึกได้ว่าเขายังคงแข็งแร็งคึกคัก ยังสามารถทำงานหนักและเดินทางไปทั่วโลก ทั้งๆ ที่มีอายุ  73 ปีเข้าไปแล้ว

ประวัติคร่าวๆ ของ มาร์ก โมเบียส ก็คือ เขาจบปริญญาตรีและโททางด้านการสื่อสารจาก Boston University แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ไปจบปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จาก  MIT ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของโลกทางด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ

หลังจากนั้นเขาก็เข้าร่วมงานกับ เซอร์ จอห์น เทมเปิลตัน ตำนานนักลงทุนผู้บุกเบิกการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ของโลก เกียรติประวัติสำคัญของ มาร์ก โมเบียส ก็คือ เขาได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งในสิบนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในศตวรรษที่ยี่สิบจากนักลงทุนมืออาชีพ 300 คน ที่ทำการสำรวจโดย  Carson Group ในปี  1999

ลองมาดูกฏการลงทุนต่างๆ ที่ มาร์ก โมเบียส ใช้ กฏเหล่านี้ผมดึงมาจากหนังสือที่เขาเขียนชื่อ Passport to Profit ซึ่งเขาเขียนถึงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในปี  1999 หรือ สองปีหลังจากเกิดวิกฤติในเอเซียที่เริ่มจากประเทศไทย

กฎของโมเบียส

ข้อที่ 1. การป้องกันที่ดีที่สุดของคุณก็คือ การกระจายความเสี่ยงโดยการกระจายการลงทุน

กฎข้อที่ 2. ความผันผวนที่รุนแรงคือคุณสมบัติของตลาดหุ้นทุกแห่ง  ไม่เว้นแม้แต่ตลาดที่พัฒนาที่สุด

กฎข้อที่ 5.  ถ้าคุณตัดปัจจัยเรื่องของอารมณ์ออกไปและกลยุทธ์ของคุณอิงอยู่กับพื้นฐานระยะยาวแล้ว คุณจะสามารถชนะทั้งในช่วงตลาดหุ้นตกและตลาดหุ้นขึ้น

กฎข้อที่ 7.  เวลาที่ย่ำแย่อาจจะเป็นเวลาที่ดี

กฎข้อที่9. เมื่อข้อมูลที่จัดเตรียมโดยสถาบันระหว่างประเทศ และรัฐบาลถูกเผยแพร่ออกมา   ราคาหุ้นก็สะท้อนข่าวสารเหล่านั้นไปหมดแล้ว

กฎข้อที่ 10.  ซื้อหุ้น  “ดี”  ในเวลาที่  “แย่” และซื้อหุ้น  “แย่” ในเวลาที่  “ดี”

กฎข้อที่ 11.  เวลาที่คนคิดว่าเลวร้ายมักจะเป็นเวลาที่ดี

กฎข้อที่  12.  หุ้นที่คนคิดว่าแย่มักจะดี

กฎข้อที่ 14.  คุณภาพของผู้บริหารเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด

กฎข้อที่  16.  การอดทนรอคอยให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

กฎข้อที่18.เวลาที่คนมองโลกในแง่ร้ายที่สุดคือเวลาดีที่สุดที่จะซื้อ

กฎข้อที่ 19.เวลาที่คนมองโลกในแง่ดีที่สุดคือเวลาดีที่สุดที่จะขาย

กฎข้อที่ 20.  ถ้าคุณสามารถเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมง  มันก็สายไปเสียแล้วที่จะซื้อ  (หรือขาย)

กฎข้อที่ 22.  ซื้อหุ้นเมื่อราคาลง  ไม่ใช่ตอนขึ้น

กฎข้อที่  23. ถ้าตลาดตกลงไป 20%  หรือมากกว่าจากจุดสูงสุดและเราเห็นคุณค่าของหุ้น  ก็เริ่มทยอยซื้อได้

กฎข้อที่  24.  เวลารักษาความเจ็บป่วยได้เกือบทุกโรค

กฎข้อที่34. ถ้าสินทรัพย์สุทธิหารด้วยจำนวนหุ้นของบริษัทได้ตัวเลขสูงกว่าราคาหุ้นในตลาด คุณก็อาจพิจารณาได้ว่า มันคือหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน

กฎข้อที่ 38.  มองหาบริษัทระดับรองที่มี  Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดน้อยแต่มีศักยภาพในการเติบโตสูง

กฎข้อที่ 39. รอให้ตลาดหุ้นเกิด Panic แล้วก็เข้าซื้ออย่างสงบเยือกเย็น

กฎข้อที่  42.  บ่อยๆ  ที่ภาพใหญ่ขัดแย้งกับภาพเล็ก

กฎข้อที่43. การศึกษาให้เข้าใจช่องว่างระหว่างภาพใหญ่ และภาพเล็ก คุณจะสามารถอยู่ในตำแหน่งที่นำหน้าฝูงชนได้

กฎข้อที่  45.  ตรวจสอบดูพอร์ตของตนเองอย่างละเอียด หาหุ้นทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ในเวลาหนึ่งปีหรือน้อยกว่านั้น ที่บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นไม่มากเท่า และการคาดการณ์ในอนาคต 5 ปีข้างหน้า ถ้าไม่ดี พิจารณาขายหุ้นเหล่านั้นทิ้งเสีย

กฎข้อที่46.อย่ารักษาผลการลงทุนที่ดีเยี่ยม โดยการถือหุ้นบลูชิพตัวเก่าที่ไม่เป็นบลูชิพอีกต่อไปแล้ว

กฎข้อที่47. หากลุ่มหุ้นบลูชิพล็อตต่อไปก่อนที่มันจะเริ่มเป็นหุ้นบลูชิพ

และทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนของกฎของโมเบียส ที่ประยุกต์ใช้กับตลาดเกิดใหม่ต่างๆ ทั่วโลก ประสบการณ์ที่ยาวนานผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก คงทำให้โมเบียสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นมากมาย และทำให้เขาสามารถฉกฉวยโอกาสสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่า

โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติตลาดหุ้นและการฟื้นตัวของมัน ตัวอย่างที่เราเห็นก็อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา โมเบียสได้ให้สัมภาษณ์และบอกอย่างชัดเจนว่า เขาคิดว่าตลาดหุ้นกำลังจะบูม โดยเฉพาะในครั้งนี้จะนำโดยตลาดหุ้นเกิดใหม่ และแล้วตลาดหุ้นก็บูมจริงๆ และโมเบียสก็คงสามารถทำกำไรได้อย่างงดงาม หลังจากที่เขาบาดเจ็บอย่างหนักก่อนหน้านั้น และนี่อาจจะเป็นอย่างที่เขาพูดไว้ในกฎของโมเบียสข้อที่  70. ที่ว่า ในบางครั้งคุณอาจจะต้องทำได้แย่กว่าดัชนีตลาดหุ้น เพื่อที่ว่าคุณจะสามารถเอาชนะมันในอนาคต

โลกในมุมมองของ Value Investor
23 พฤษภาคม  2552

Author: admin

1 thought on “มาร์ก โมเบียส – ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.