มองอนาคตของเอเชีย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

roach-stephen

ดร. Stephen Roach เคยเป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของวาณิชธนกิจ Morgan Stanley ที่ได้รับการยกย่องจากนักลงทุนสถาบันว่า มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานของ Morgan Stanley ดูแลธุรกิจของบริษัทในภูมิภาคเอเชียทั้งหมด ผมได้ติดตามผลงานของ ดร.Roach มาโดยตลอด จึงอยากนำเอาบทสรุปของหนังสือเล่มใหม่ของ ดร.Roach คือ The Next Asia มาเขียนถึงในวันนี้ครับ

51ITjkmugVL._SL500_

ภูมิภาคเอเชียนั้นได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจ เห็นได้จากการที่รายได้ต่อหัวของเอเชียเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวในระยะเวลาเพียง 12 ปี หลังจากประสบวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 เป็นต้นมา นอกจากนั้น ยังเห็นได้ว่าความเจริญทางเศรษฐกิจที่กระจายไปโดยทั่วนั้น ได้ทำให้คนเอเชียจำนวน 400 ล้านคน จาก 3,500 ล้านคน หลุดพ้นจากสภาวะอดอยาก (poverty) ในระยะเวลาเพียง 20 ปี กล่าวคือ ปัจจุบันมีรายได้ต่อหัวมากกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน

แม้ เอเชีย จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ถึงเวลาที่จะเปิดแชมเปญฉลองศตวรรษเอเชียดังที่บางคนกล่าวถึงในขณะนี้

ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในปี 2008-2009 ในขณะที่เอเชียพึ่งพาการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ สัดส่วนของการส่งออกต่อจีดีพีของเอเชียนั้นเพิ่มขึ้นจาก 37% มาเป็น 47% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (นับจากปี 2007) ทั้งนี้ โดย 50% ของการส่งออก เป็นการขายสินค้าไปยังตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชีย จึงได้รับผลกระทบโดยตรงและต่อเนื่อง จึงเป็นการเปิดโปงให้เห็นได้ว่า ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของเอเชียนั้นมีจุดอ่อนที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

เห็นได้จากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี เวิน เจีย เป่า ในเดือนมีนาคม 2007 ที่ยอมรับว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะดูเสมือนว่ามีความแข็งแกร่งอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากการขยายตัวของจีดีพีและการจ้างงาน แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว ประธานาธิบดีจีนแสดงความเป็นห่วงว่า เศรษฐกิจจีนขาดความสมดุล ขาดเสถียรภาพ ขาดการประสานงานที่ดี และขาดความยั่งยืน (unbalanced unstable uncoordinated and unsustainable) ซึ่งอาจจะแปลกที่เห็นผู้นำประเทศออกมายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าประเทศมีจุดอ่อนอะไรบ้าง แตกต่างจากเมืองไทยที่เราจะไม่อยากเอ่ยถึงข้อเสีย เพราะต้องการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งมีไม่มากอยู่แล้ว

คำเตือนของผู้นำจีนนั้น สามารถนำมาใช้ได้กับประเทศเอเชียโดยรวม ในกรณีของจีนนั้น ต้องพึ่งพาการส่งออกและการลงทุน (ซึ่งอาศัยเงินร่วมทุนจากต่างประเทศ) รวมสูงถึง 80% ของจีดีพี ดังนั้น เมื่อจีนชะลอตัวลง ก็ส่งผลให้ประเทศเอเชียอื่นๆที่พึ่งพาประเทศจีนต้องได้รับผลกระทบอย่างมากตามไปด้วย ประเด็นคือเศรษฐกิจจีน (และเอเชีย) ขาดความสมดุลเพราะพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป นอกจากนั้น นโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผูกกับเงินดอลลาร์ ก็ยังส่งเสริมให้ความไม่สมดุลดังกล่าวยืดเยื้อต่อไป

ผลที่ตามมาคือ จีน จึงต้องซื้อเงินดอลลาร์เป็นจำนวนมาก เพื่อคงอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนกับเงินดอลลาร์ให้คงที่ เมื่อมีเงินดอลลาร์เป็นจำนวนมาก ก็ต้องนำไปซื้อสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ซึ่งช่วยเอื้อให้ดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ จีนเป็นผู้อุดหนุนการใช้จ่ายเกินตัวของสหรัฐ ซึ่งในที่สุด ได้นำไปสู่การสร้างฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้แตกสลายและนำไปสู่ความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ความโดดเด่นของผู้บริโภคสหรัฐนั้น เห็นได้จากการที่ประชาชนสหรัฐ ที่มีสัดส่วนเพียง 4.5% ของประชากรโลก แต่บริโภคมากถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2008 (หรือกว่า 25% ของการบริโภคของโลก) ในทางตรงกันข้าม คนจีนและอินเดีย ซึ่งมีจำนวนเท่ากับ 40% ของประชากรของโลก บริโภคเพียง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2008 หรือ 1/4 ของการบริโภคของชาวอเมริกัน ดังนั้น จีนและประเทศเอเชียอื่นๆ ซึ่งได้ประโยชน์อย่างสูงในการเน้นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคของ สหรัฐ จึงได้ประโยชน์อย่างมากในอดีต แต่ก็กลายเป็นยาเสพติดซึ่งยากที่เอเชียจะถอนตัว เพราะมิได้คิดทางเลือกอื่นๆเอาไว้เลย ดังนั้น หากการบริโภคของสหรัฐจะต้องชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องใน 2-3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเอเชียจึงจะต้องได้รับผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนั้น เอเชียก็ยังพึ่งพาวิธีการผลิตและใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองอย่างมาก ซึ่งจะกดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นภาระต่อเศรษฐกิจของเอเชียอย่างมาก ดังนั้น การปรับลดความไม่สมดุลดังกล่าว จึงน่าจะเป็นประเด็นนโยบายที่ต้องแก้ไขอย่างรีบด่วน กล่าวคือ จะต้องเปลี่ยนจากนโยบายส่งเสริมการส่งออกเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการบริโภคภายในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก พร้อมๆไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและวัตถุดิบ รวมถึงการดูแลสภาวะสิ่งแวดล้อม เพื่อมิให้การสร้างมลพิษเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมของเอเชีย อาทิเช่น จากเมืองใหญ่ที่มีปัญหามลพิษมากที่สุด 10 แห่งนั้น เป็นเมืองใหญ่ในประเทศจีนมากถึง 7 แห่ง เป็นต้น

จริงอยู่เอเชียจะอ้างว่า ตนสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าประเทศพัฒนาในอดีต และปัจจุบัน นอกจากนั้น ก็ยังควรมีสิทธิที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชนต่อไป แต่ตัวเลขปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า เอเชียเป็นผู้ที่สร้างปริมาณมลพิษเพิ่มขึ้นมากกว่าภูมิภาคอื่นๆของโลก

การเพิ่มการประสานงานในเอเชีย รวมทั้งการขยายความร่วมมือและการรวมตัวทางเศรษฐกิจของเอเชีย จะเป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้ จะต้องมีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ที่กระชับกันมากขึ้นระหว่างประเทศจีนกับ ประเทศญี่ปุ่น เพราะแม้ว่าสองประเทศจะมีความขัดแย้งไม่ลงรอยกันมาในเชิงการเมืองและในทางประวัติศาสตร์ แต่ในเชิงเศรษฐกิจนั้นประเทศทั้งสองเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาประชากรแก่ตัวและขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่จีนต้องพัฒนาเทคโนโลยีและประสิทธิภาพทางการผลิต ตลอดจนการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ประเทศเอเชียอื่นๆ ก็จะสามารถแสวงหาโอกาสที่จะผนึกกำลังทางเศรษฐกิจจากความสัมพันธ์ระหว่างจีน และญี่ปุ่น ทำให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจของเอเชีย มีพลังพลวัตและความสมดุล

ดังนั้น วิกฤติทางเศรษฐกิจของสหรัฐ จึงเป็นการกระตุ้นให้เอเชียตื่นจากการพึ่งพายุทธศาสตร์การพึ่งพาการส่งออกไป สู่โอกาสในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจของเอเชียให้เดินไปสู่ความเจริญมั่งคั่งที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ในศตวรรษที่ 21 ต่อไปครับ

“มองอนาคตของเอเชีย”

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.