‘นพ.บำรุง ศรีงาน’ จาก ‘หมอบ้านนอก’ สู่ ‘เซียนหุ้น VI’

เปิดใจ ‘หมอสามัญชน’ ประธานชมรมไทยวีไอดอทคอม จากเงินก้อนแรก 1.4 ลบ. ผ่านไป 9 ปี พอร์ตหุ้นทะยานแตะระดับ ‘ร้อยล้าน’ เขาทำได้ คุณก็ทำได้

ก็อยากรวยจากตลาดหุ้น แต่ใช่ว่าใครๆก็รวยได้ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มต้นคิดถึงอนาคตในวันข้างหน้าของ “ครอบครัวศรีงาน” เขาตัดสินใจนำเงินเก็บก้อนเล็กๆ ที่ทำงานรับใช้คนไข้มาตลอด 7 ปี รวมกับเงินกู้สหกรณ์อีกก้อนหนึ่ง เริ่มเพาะต้นกล้าการลงทุนตามแนวทางแวลูอินเวสเตอร์ โดยมีอนาคตลูกน้อยอีก 3 ชีวิต เป็นเดิมพัน

เวลาผ่านไป 9 ปี มหัศจรรย์ของการลงทุนแบบ “ทบต้น” และการทุ่มเทค้นหาเส้นทางแห่งความสำเร็จ ทำให้หมอบ้านนอกประกาศอิสรภาพทางการเงิน เป็น “นาย” ของเงินนับ “ร้อยล้านบาท” ในปัจจุบัน และใช้เงิน “ทำงาน” ราวกับเครื่องจักรอันทรงพลัง ทั้งยังแบ่งปันความรู้จนเป็นที่นับถือของพี่น้องชาวไทยวีไอดอทคอม ในฐานะ.. “พี่หมอสามัญชน”

กลุ่มนักลงทุน “ไทยวีไอ” ที่ก่อตั้งโดยแกนนำอย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร , ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ฯลฯ เป็นผู้นำแนวคิดของปรมาจารย์การลงทุนหุ้นคุณค่าระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ , เบนจามิน เกรแฮม , ปีเตอร์ ลินช์ มาปรับใช้กับการลงทุนแบบไทยๆได้อย่างลงตัว จนเกิดนักลงทุนทางเลือก ที่เลือกเดินบนเส้นทางสายนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน นพ.บำรุง ศรีงาน เป็นประธานชมรม “ไทยวีไอ” ที่หันเหชีวิตมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลา ส่วนตัวเขาเริ่มไต่ระดับพอร์ตหุ้นจากหลัก “ล้านบาท” สู่ระดับ “ร้อยล้านบาท” จากการเข้าลงทุนในหุ้นโรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) , โรงพยาบาลไทยนครินทร์ (TNH) , ไอที ซิตี้ (IT) , ผาแดงอินดัสทรี (PDI) , เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI) , สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) และ ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY) บางตัวมีกำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek มีนัดพูดคุยกับคุณหมอสามัญชนที่โครงการบ้านจัดสรรแห่งหนึ่งย่านดอนเมือง คุณหมอนักลงทุน เปิดฉากชีวิตก่อนจะมาถึงจุดนี้ให้ฟังว่า ตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ แม้จะมีรายได้ค่อนข้างดีกว่าอาชีพอื่น แต่เริ่มมีความคิดว่าอายุเราก็เพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำงานย่อมลดลง แต่ภาระค่าใช้จ่ายเริ่มมากขึ้นเพราะลูกทั้งสามคนโตขึ้นทุกวัน จึงตัดสินใจมองหาอาชีพเสริม ตอนนั้นคิดจะเปิดร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

“แต่หลังจากไปฟังสรุปข้อมูลจากทางบริษัทคิดว่าไม่คุ้มค่า เพราะต้องลงไปบริหารร้านเองด้วย ต่อมามีโอกาสได้อ่านหนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” ของ โรเบิร์ต คิโยซากิ จับใจความสำคัญได้ว่า เราสามารถใช้เงินให้ทำงานได้ จึงเริ่มวางแผนที่จะนำเงินเก็บที่มีอยู่ 400,000 – 500,000 บาท จากการทำงานมาตลอด 7 ปี บวกกับกู้เงินสหกรณ์อีก 1,000,000 บาท นำไปลงทุน โดยไม่คิดฝากเงินในธนาคารเพราะตอนนั้น (ช่วงปี 2545) ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1% ต่ำมาก”

ตอนนั้นในหัวคุณหมอคิดถึงทฤษฎีของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่พูดถึงสิ่งมหัศจรรย์ “อันดับแปด” ของโลกนั่นคือ “ดอกเบี้ยทบต้น” ถ้าเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 10% ทุกปี ตลอดระยะเวลา 20 – 30 ปีต่อเนื่อง ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ

“จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังได้เห็นโฆษณาขายหุ้นไอพีโอ ปตท. (PTT) แล้วเขาชูเรื่องจ่ายเงินปันผล 7% เยอะกว่าฝากเงินมาก เลยตัดสินใจเปิดพอร์ตเดี๋ยวนั้นเลยกับ บล.เกียรตินาคิน”

ก้าวแรกในการลงทุนของคุณหมอยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดประสบการณ์และความรู้ยังไม่แน่น เริ่มซื้อหุ้นชุดแรก เช่น ซีเฟรชอินดัสตรี (CFRESH) , เจริญโภคภัณฑ์อาหาร , (CPF) , ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) ผ่านไปประมาณครึ่งปี ขาดทุนไป 400,000 บาท

“เหตุผลที่ซื้อหุ้นตอนนั้นเพราะโบรกเกอร์บอกว่า หุ้นกลุ่มเกษตรจ่ายปันผลดีกว่า ปตท. มาขาดทุนหุ้น CFRESH เพราะดูงบการเงินในอดีตและปัจจุบันมันดี แต่ลืมดูแนวโน้มในอนาคต(จากที่คิดว่าถูกก็เลยกลายเป็นแพง)

เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมจนได้มาอ่านหนังสือ “ตีแตก” ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร มาช่วยเติมเต็มความรู้ สิ่งที่ได้เรียนรู้มากขึ้นจากหนังสือตีแตก สิ่งที่ ดร.นิเวศน์ ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการเป็น “เจ้าของกิจการ” กับการเป็น “นักลงทุน”

ข้อดีของการเป็นนักลงทุนคือ เราสามารถเลือกซื้อหุ้นในช่วงเวลาที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงได้ รวมถึงสามารถเลือกขายออกไปในราคาที่มากกว่ามูลค่าทางบัญชีได้ด้วย แต่ถ้าเป็นเจ้าของหุ้น ก็ต้องกอดหุ้นตัวนั้นไปตลอดไม่ว่าธุรกิจจะดีหรือไม่ดี

นอกจากนี้ เราสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจระดับประเทศได้ โดยที่ไม่ต้องลงไปสร้างเองกับมือ คนทั่วไปคงไม่มีเงินเป็นร้อยล้าน เป็นพันล้าน หรือหมื่นล้าน

“ผมเป็นข้าราชการกินเงินเดือน คงไม่มีเงินไปลงทุนธุรกิจใหญ่เองได้ แต่การเป็นนักลงทุนทุกอย่างเปิดโอกาสให้เราได้หมด หนังสือตีแตกยังสอนให้รู้จักการอ่านงบการเงินอย่างถูกต้องด้วย”

ปีที่สองของการลงทุน…กำไรเกือบ 3 ล้าน

พอในปี 2546 หมอบ้านนอกได้ค้นพบหนทางแห่งความร่ำรวยจากการใช้เงินทำงาน ตามแนวคิดของ โรเบิร์ต คิโยซากิ และตีแตกแบบ ดร.นิเวศน์

ปีที่สองของการลงทุน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เริ่มปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 323 จุด (ปี 2545) ทะยานขึ้นไป 802 จุด (ปี 2546) ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังท็อปฟอร์ม พอร์ตของ นพ.บำรุง ก็โตขึ้นมากกว่า 100% ด้วย ปีนั้นสามารถทำกำไรได้เกือบๆ 3,000,000 บาท แต่ปีถัดไปพอร์ตกลับมา “ติดลบ” อีกครั้ง หลังในปี 2547 ดัชนีดิ่งลงมาต่ำสุด 576 จุด เพราะปีก่อนขึ้นไปมากเกินไป รู้ซึ้งสัจธรรมตลาดหุ้นมีขึ้น-มีลง ขึ้นมากได้ก็ลงมากได้เช่นกัน และไม่มีหุ้นอะไรที่ดีตลอดไป

คุณหมอบอกว่า สาเหตุที่ได้กำไรในปี 2546 มาก มาจากภาพรวมดัชนีที่ปรับตัวขึ้นไปมาก แท้จริงแล้วไม่ได้มาจากความรู้ที่แท้จริง ทำให้ต้องเริ่มต้นหาแนวทางการลงทุนของตัวเองใหม่อีกครั้งเพื่อไม่ให้ขาดทุนอีก

จุดเปลี่ยนในฐานะแวลูอินเวสเตอร์อย่างเต็มตัวเกิดขึ้นจากการที่คุณหมอเริ่มเข้าไปพูดคุยในเว็บบอร์ด “ไทยวีไอดอทคอม” เป็นจุดหักเหทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดการลงทุนเชิงบูรณาการ มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเพื่อนนักลงทุน “รู้เขา-รู้เรา” ไม่ได้คิดเองคนเดียว จนถึงปีที่ห้าของการลงทุน เริ่มกลับมาได้กำไรประมาณ 20-30%

ถึงตรงนี้ หมอบำรุงเริ่มอธิบายสไตล์การลงทุนของตัวเองให้ฟังว่า คล้ายๆแต่ไม่เหมือนกับแนวทางของ ดร.นิเวศน์ ที่ยึดหลักของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ คือค้นหา “หุ้นสุดยอด” (Great Stock) ที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนและอยู่กับมันให้นานที่สุด แต่วิธีการของหมอบำรุงจะค่อนไปทาง ปีเตอร์ ลินช์ และแนวทางของ เบนจามิน เกรแฮม ต้นตำรับการลงทุนแนววีไอ

ปีเตอร์ ลินช์ + เกรแฮม = หมอบำรุง

นพ.บำรุง บอกว่า ถ้าเป็นแนวคิดของ เบนจามิน เกรแฮม จะค้นหาหุ้นที่มีทรัพย์สินมากแต่ราคาถูก แต่ของ ปีเตอร์ ลินช์ จะเน้นลงทุนหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock) , หุ้นเติบโต (Growth Stock) และหุ้นเทิร์นอะราวด์ (Turnaround) ในประเทศไทยหาหุ้นแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่มีศักยภาพการแข่งขันที่ยั่งยืนยาก และส่วนตัวมองธุรกิจกลุ่มนี้ได้ไม่ค่อยทะลุปรุโปร่ง(เหมือน ดร.นิเวศน์) จึงเดินตามแนวทางที่ “ใช่” กับตัวเองมากกว่า

แม้แวลูอินเวสเตอร์ในประเทศไทยจะมีหลายแขนง (วอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, จอห์น เนฟฟ์, ฟิลลิป ฟิชเชอร์ ฯลฯ) แต่แก่นของแนวคิดนี้มีอยู่ข้อเดียวคือ ราคาต้อง Under Value เมื่อเทียบกับความสามารถในการทำกำไรในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า ในแง่ราคาหุ้น จะต้องมีค่า พี/อี เรโช ต่ำ ยิ่งต่ำมากระดับเลขตัวเดียวหรือถ้าอยู่ที่ 3-4 เท่าได้จะดีมาก ข้อระวังคือต่อให้ราคาถูกมากแต่ไม่สามารถประเมินกำไรในอนาคตได้อย่างนี้ก็ “ไม่ควรซื้อ”

ถ้าเป็นหุ้นเติบโตค่อนข้างดูง่าย เพราะสามารถอ่านจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ได้ และดูแนวโน้มของอุตสาหกรรมนั้นๆประกอบกันก็พอมองออก ที่ต้องระวังคือความเห็นของผู้บริหารควรต้องมีความเป็นไปได้คู่กับงบการเงินที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์จะดูยากที่สุด ขอให้โฟกัสไปที่ผู้บริหารเป็นหลักว่ามีความสามารถในการบริหารเพียงใด ถ้าย้อนไปดูสาเหตุที่บริษัทตกต่ำแล้ววิเคราะห์ให้ได้ว่าเขาจะสามารถนำธุรกิจกลับมาได้หรือไม่

ส่วนหุ้นวัฏจักร ส่วนมากจะเป็นธุรกิจเดิมๆ อย่างเช่นธุรกิจเกษตรซึ่งมีวงจรสั้นที่สุด ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นระยะกลาง ส่วนตัวจะชอบหุ้นที่มีวัฏจักรระยะยาว 10 ปี และจะเลือกซื้อตอนที่ธุรกิจอยู่ในช่วงสุดท้ายของ “ขาลง” และถ้ากลับมาเป็น “ขาขึ้น” ได้จริง ผลตอบแทนจะสูงมาก

ข้อแตกต่างระหว่าง หุ้นเติบโตกับหุ้นวัฏจักร ถ้าเป็น Growth Stock ส่วนใหญ่รายได้จะเติบโตประมาณ 10% ขึ้นไป และลูกค้าจะหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการต่อเนื่องอย่างเช่น หุ้นกลุ่มค้าปลีก แต่ถ้าเป็น Cyclical Stock รายได้จะโตมากกว่านั้น แต่ลูกค้าใช้บริการครั้งเดียวแล้วหยุดเลยอย่างเช่น พวกบ้านจัดสรร ปีนี้อาจจะดีแต่ปีหน้าไม่รู้แล้ว การคาดเดายากกว่าแต่ก็เป็นโอกาสให้เรามองเห็นช่องที่จะลงทุนได้

“ทุกครั้งหลังวิกฤติ ธุรกิจยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาเสมอ เพราะรัฐบาลจะเข้ามาอุ้มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกอย่างรถยนต์ตอนนี้เป็นปัจจัยที่ห้าไปแล้ว” หมอสื่อว่า ถ้าเรารู้จักสังเกตจะได้กำไรจากวิกฤติอย่างมาก

โฟกัสหุ้น 4 ตัว แทงหนักตัวที่ชอบ

วิธีการเลือกหุ้นของหมอบำรุงจะเลือกแบบโฟกัสหุ้นเพียง 4 ตัว แต่ในพอร์ตจะแบ่งเงินไม่เท่ากัน จะใช้วิธีจัดอันดับและใส่เงินในหุ้นที่ “ชอบที่สุด..มากที่สุด” โดยจะดูที่ปัจจัยพื้นฐานก่อนว่าทำธุรกิจอะไร มีข้อได้เปรียบอะไรบ้าง จุดแข็งคืออะไร วิเคราะห์ SWOT (จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค) ด้วย

หมอเลือกที่จะใช้เวลาในการวิเคราะห์ธุรกิจอย่างหนักในตอนแรก เพื่อที่จะสบายในตอนหลัง โดยเฉพาะงบการเงินจะบอกถึง “สุขภาพ” ของบริษัทนั้นๆได้ดีที่สุดว่า คนคนนั้นอ่อนแอหรือแข็งแรง เก่งหรือไม่เก่ง เหมือนกับการวินิจฉัยโรคตามแนวทางของแพทย์

ในงบการเงิน สิ่งที่หมอย้ำให้ต้องอ่านอันดับแรกคือ “ความเห็นผู้สอบบัญชี” ว่า มีคอมเมนท์พิเศษที่ไม่ดีหรือเปล่า ถ้าเกินสามย่อหน้า (ตามมาตรฐานบัญชี) นี่ต้องระวังแล้ว

“ช่วงปีแรกๆ ผมไปซื้อหุ้นรอยเนท (ผู้บริหารแต่งบัญชี) เพราะดูแค่งบบรรทัดสุดท้ายกำไรสวยอย่างเดียวลืมดูความเห็นผู้สอบบัญชีที่บอกว่า ไม่สามารถออกความเห็นได้ ปรากฏว่าจากนั้นขาดทุนมาตลอด”

ต่อมาคือการประเมิน “ผลกำไรในอนาคต” นักลงทุนควรให้ความสำคัญมากกว่าไปตามข่าวในห้องค้าอย่างเช่น จะแจกวอร์แรนท์ , เพิ่มทุน , ควบรวมกิจการ บางทีก็พิสูจน์ไม่ได้ แต่ถ้าเราประเมินกำไรในอนาคตได้ยังไงก็ไม่ขาดทุน แต่ขอให้คิดแบบอนุรักษนิยมไว้บ้างอย่าคิดเข้าข้างตัวเองมากไป

ที่สำคัญที่สุดคือ “ราคา” หรือ “Valuation” ว่าถูกหรือไม่ ไม่มีประโยชน์ที่จะซื้อหุ้นแพง แม้ว่าจะดีแค่ไหน เพราะเราจะไม่ได้กำไรแถมอาจขาดทุนด้วย ตัวอย่าง รถเบนซ์ ใครก็รู้ว่าดีแต่มีคนมาขายให้เรา 20 ล้านบาท คงไม่มีใครซื้อเพราะสามารถไปซื้อป้ายแดงที่ราคา 3-4 ล้านบาทก็ได้ แต่ถ้าซื้อของถูกมาก่อน เราสามารถขายต่อให้แพงขึ้นได้ถ้าหุ้นนั้นดีจริง …บทสรุปคือ เราต้องรู้มูลค่าที่แท้จริงของกิจการให้ได้ (ไม่จำเป็นต้องเหมือนนักวิเคราะห์)

เขาให้ข้อสังเกตว่าหุ้นแต่ละกลุ่ม จะมีค่า พี/อี เรโชที่เหมาะสมต่างกัน หุ้นที่ “หาเช้ากินค่ำ” คือทำธุรกิจไปเรื่อยๆควรจะมีค่าพี/อี เรโชที่ 5 – 7 เท่า แต่หุ้นที่ “เติบโต” ควรมีมากกว่านั้น ส่วนในภาวะ “วิกฤติ” ค่า พี/อี เรโชที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 3 – 4 เท่า ถึงจะน่าลงทุน

คุณหมอย้ำว่า หุ้นที่ราคายุติธรรมมักจะไม่ใช่หุ้นตัวใหญ่ที่พวกนักลงทุนสถาบันกับนักวิเคราะห์จับตามอง แบบนั้นจะหาราคาถูกๆยาก หุ้นที่ Under Value อาจจะอยู่แบบรอดหูรอดตาเสมอ แต่ต้องระวังหุ้นสภาพคล่องต่ำไว้ด้วย

“พวกนักวิเคราะห์กับสถาบันเขายกหูคุยกับคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.) ได้ แต่รายย่อยอย่างเราทำไม่ได้อย่าคิดไปแข่งเลย แต่ขอให้ดูหุ้นที่มีสภาพคล่องการซื้อขายสักวันละ 2 – 3 ล้านบาทขึ้นไปไม่งั้นเข้าออกลำบาก”

สัปดาห์หน้า..หมอบำรุงจะพาเราไปเจาะลึกถึง “เหตุ” และ “ผล” ในการตัดสินใจ “เลือกซื้อหุ้น” ที่ยกระดับให้เขาก้าวขึ้นเป็นนักลงทุนระดับ “ร้อยล้านบาท” จากหมอบ้านนอกสู่ “เซียนหุ้นวีไอ”

‘นพ.บำรุง ศรีงาน’ จาก ‘หมอบ้านนอก’ สู่ ‘เซียนหุ้น VI’

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

วันที่ 2 สิงหาคม 2553

Author: admin

1 thought on “‘นพ.บำรุง ศรีงาน’ จาก ‘หมอบ้านนอก’ สู่ ‘เซียนหุ้น VI’

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.