ที่มาของการผลิตสินค้าด้อยคุณภาพในเมืองจีน : ดร.ไสว บุญมา

มีข่าวว่าสัปดาห์นี้ Paul Midler  จะผ่านมาเมืองไทย ผมไม่แน่ใจว่าเขาจะพบกับใครบ้างในระหว่างที่อยู่ที่นี่ และจะมีสื่อนำเรื่องราวของเขามาเสนอหรือไม่ต้องรอดูไปอีกระยะหนึ่ง ผมไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว แต่ได้อ่านหนังสือของเขาไม่นานหลังหนังสือเล่มนั้นออกจากโรงพิมพ์เมื่อเดือน เมษายน 2552 หนังสือชื่อ Poorly Made in China : An Insider’s Account of the Tactics behind China’s Production Game ชื่อของหนังสือกระตุกความสนใจของผมเป็นพิเศษ เพราะมันบ่งบอกถึงเบื้องหลังของ การผลิตสินค้าด้อยคุณภาพในเมืองจีน คงเป็นที่ทราบกันแล้วว่า การผลิตสินค้าด้อยคุณภาพ ดูจะเป็นข่าวคู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของจีนอย่างต่อเนื่อง เราจึงได้ยินเรื่องจำพวก การใส่สารอันตราย เช่น เมลามีนลงไปในนม การผสมสารตะกั่วลงไปในสี และความละเลยด้านการตรวจตราสารเคมีอย่างถี่ถ้วนในของเด็กเล่นเป็นประจำ

หนังสือมีขนาด 240 หน้า ซึ่งคงใช้เวลาอ่านไม่นานนักสำหรับผู้ที่มีความแตกฉานในด้านการอ่านภาษาอังกฤษ ผู้เขียนเป็นชาวอเมริกันที่เรียนทั้งด้านประวัติศาสตร์จีนและการบริหารธุรกิจ เขาพูดภาษาจีนได้และเข้าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองจีนเป็นเวลานาน เพื่อทำงานด้านเป็นตัวกลางระหว่างบริษัทต่างประเทศที่ต้องการซื้อหรือสั่งผลิตสินค้ากับบริษัทผู้ผลิตในจีน การได้เข้าไปคลุกคลีกับผู้ผลิตสินค้าต่างๆอย่างใกล้ชิด ทำให้เขาเข้าใจความคิดของนักธุรกิจจีนและการปฏิบัติของพวกเขาอย่างทะลุปรุโปร่ง เนื้อหาของหนังสือ จึงมาจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนมากกว่าการศึกษาจากตำรา และประกอบด้วยรายละเอียดมากมายจากหลายแง่มุม ผมจะนำบางประเด็นมาเล่าเคร่าๆ เท่าที่หน้ากระดาษอำนวย

เมื่อมองลึกลงไป ปัจจัยที่ทำให้สินค้าจีนจำนวนมากด้อยคุณภาพมีรากฐานมาจากด้านวัฒนธรรม ซึ่งนำไปสู่ปัจจัยทางด้านเทคนิค ผู้เขียนเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆของนักธุรกิจจีน ว่ามีจุดมุ่งหมายอยู่ที่จะทำอย่างไรจึงจะได้สัญญาสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เมื่อได้สัญญาสั่งซื้อสินค้าแล้ว พวกเขามองว่า ไม่จำเป็นต้องรักษาคำพูด หรือจริยธรรม ฉะนั้น จึงเป็นของธรรมดาที่พวกเขาจะพยายามสร้างภาพให้ปรากฏว่า ตัวเองมีความสามารถในการผลิตสินค้าด้วยวิธีผักชีโรยหน้า และการกุลีกุจอเอาใจผู้จะเป็นลูกค้าในตอนเริ่มต้น ในบางกรณี ผู้ผลิตถึงกับมีการเล่นละคร โดยการตั้งกระบวนการผลิตขึ้นมาตบตาผู้ต้องการจะสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ บางครั้งก็โกหกเอาดื้อๆ ว่ามีความสัมพันธ์กับบริษัทที่มีชื่อเสียง บางทีก็ตั้งบริษัทตัวแทนขึ้นมาในต่างประเทศ เพียงเพื่อขอตัวอย่างสินค้าจากบริษัทต่างๆในประเทศนั้น แล้วนำไปวางเป็นตัวอย่างในงานแสดงสินค้าในเมืองจีนเพื่อโฆษณาว่า นั่นเป็นสินค้าที่ตนผลิต หรือยอมตกลงราคาที่รู้แน่นอนว่าตนเองจะทำไม่ได้ แต่จะใช้วิธีลดต้นทุนแบบลดมาตรฐานของสินค้าในภายหลัง

หลังจากได้สัญญาสั่งซื้อสินค้าแล้ว ผู้ผลิตจะเริ่มผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพตรงตามสัญญาเพียงในตอนต้นๆ หลังจากนั้นก็มักจะค่อยๆลดต้นทุน ด้วยการลดส่วนประกอบบางอย่างทีละเล็กละน้อย หากผู้สั่งซื้อจับไม่ได้ ก็จะทำไปเรื่อยๆ หากถูกจับได้ก็จะหาข้อแก้ตัวไปต่างๆนานาและแก้ปัญหาให้ ส่วนสินค้าที่ผลิตไปแล้วแต่ถูกจับได้ว่าผิดมาตรฐานก็ไม่ยอมทำลาย หากเก็บไว้ขายให้ประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาที่มาตรฐานการตรวจสินค้าไม่ค่อยสูงอยู่แล้ว ในหลายๆกรณี จะมีการใช้ส่วนประกอบที่มีคุณภาพต่ำกว่าแทนสิ่งที่ตกลงกันไว้ เรื่องนี้ผู้สั่งซื้อสินค้ามักจับไม่ค่อยได้ เพราะจะต้องใช้การทดสอบเป็นประจำซึ่งต้องใช้ทุนสูงมาก หรือในกรณีที่จับได้ ก็ไม่รู้จะไปฟ้องร้องเอากับใคร เพราะรัฐบาลจีนไม่ให้ความสำคัญต่องานด้านรักษาสัญญาเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าอยู่แล้ว ส่วนกระบวนศาลยุติธรรมของจีนก็ขาดกฎหมายในด้านนี้ ผู้เขียนคุ้นเคยกับสังคมตะวันตก ซึ่งคนงานมักรายงานการโกงกันตรง ๆแบบนี้ แต่คนงานจีนไม่มีทัศนคติที่จะรายงานการทำผิดจรรยาบรรณ การจะพึ่งการรายงานจากคนงานจึงเป็นไปไม่ได้

สำหรับในด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย ผู้เขียนมองว่าส่วนหนึ่งมาจากทัศคติจีนที่มีมาตั้งแต่โบราณ นั่นคือ ยกย่องผู้ที่มีความสามารถในการเลียนแบบได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากนั้น ผู้ผลิตจีนมักรับผลิตสินค้าที่ลูกค้าในประเทศก้าวหน้าสั่งตามมาตรฐาน แม้การผลิตนั้นจะขาดทุนบ้างก็ตาม แต่พวกเขาจะไม่หยุดเพียงเท่านั้น แต่จะผลิตสินค้าอย่างเดียวกัน แต่ด้วยการลดต้นทุนและคุณภาพจำนวนมาก แล้วขายให้แก่ผู้ซื้อจากประเทศด้อยพัฒนา ส่วนนี้จะทำกำไรให้แก่พวกเขา ฉะนั้น ชาวอเมริกันจึงซื้อสินค้าจีนได้ถูกกว่าที่น่าจะเป็น ส่วนลูกค้าในประเทศด้อยพัฒนาต้องรับกรรมจ่ายส่วนต่างให้ทั้งในด้านการได้สินค้าด้อยคุณภาพ และความเสี่ยงจากการใช้สินค้านั้น

ในด้านของคนงาน ปัญหามาจากหลายด้าน นอกจากจะไม่รายงานเรื่องการละเมิดจริยธรรม เช่น พฤติกรรมการถ่มน้ำลาย ซึ่งในเมืองจีนถือเป็นของธรรมดา ทว่าในโรงงานที่ต้องการความสะอาดสูง พวกเขาก็ยังทำ หรือในด้านมาตรฐานในด้านความสะอาด เมื่ออยู่ที่บ้านคนงานอาจมีระดับความสะอาดระดับหนึ่ง ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของโรงงาน หรือผู้ตรวจสินค้ามองว่าเนื่องจากพวกเขาไม่ได้ใช้สินค้าเอง สินค้าจะบกพร่องก็ปล่อยให้ผ่านไป ดีกว่าสร้างปัญหากับนายจ้าง

อีกด้านหนึ่งได้แก่ สื่อ ซึ่งตามธรรมดาน่าจะทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาแล้วนำมารายงาน แต่สื่อจีนมักไม่ได้มองว่าตนมีหน้าที่เช่นนั้น ความกดดันที่จะทำให้นักธุรกิจรักษาจรรยาบรรณจึงมีน้อย

หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับนักธุรกิจที่ซื้อ หรือสั่งผลิตสินค้าในเมืองจีนเป็นพิเศษ และถ้าเป็นไปได้ ควรจะมีผู้นำมาเสนอให้ผู้บริโภคโดยทั่วไปตระหนักถึงเรื่องราวเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าที่มาจากเมืองจีน โดยเฉพาะสินค้าที่อาจจะสร้างปัญหาด้านสุขภาพไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องสำอาง หรือของเด็กเล่น

ที่มาของการผลิตสินค้าด้อยคุณภาพในเมืองจีน

ดร.ไสว บุญมา
คอลัมน์ บ้านเขาเมืองเรา
หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2553

Author: admin

3 thoughts on “ที่มาของการผลิตสินค้าด้อยคุณภาพในเมืองจีน : ดร.ไสว บุญมา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.